มะอึก
มะอึก (Solanum) เป็นมะเขือป่าชนิดหนึ่งที่คนส่วนมากไม่ค่อยรู้จัก เป็นพืชผลที่นิยมทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนคนเมืองหรือภาคอื่น ๆ อาจจะไม่เคยได้ยินชื่อและไม่รู้ว่ามะอึกคืออะไร เป็นผลที่มีรสเปรี้ยวเป็นหลัก ซึ่งรสและกลิ่นจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มะอึกไม่ใช่พืชตลาดที่คนนิยมแต่มีสรรพคุณแก้อาการต่าง ๆ ได้อย่างน่าทึ่ง
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของมะอึก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Solanum stramoniifolium Jacq.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Solanum” และ “Bolo Maka”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “มะอึก” ภาคเหนือเรียกว่า “มะเขือปู่ มะปู่ มะเขือขน หมากขน” ภาคอีสานเรียกว่า “หมากอึก หมักอึก บักเอิก” ภาคใต้เรียกว่า “อึก ลูกอึก” ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า “ยั่งคุยดี”
ชื่อวงศ์ : วงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)
ลักษณะของมะอึก
มะอึก เป็นไม้พุ่มในกลุ่มมะเขือที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักจะพบอยู่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
ลำต้น : ทุกส่วนของต้นจะมีขนละเอียดสีน้ำตาลอ่อนปกคลุมอยู่ ลำต้นมีหนามและมีขนอ่อนปกคลุม
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้าง โคนใบเว้าหรือตัด ขอบใบหยักเว้าเป็นพู แผ่นใบสีเขียว มีขนอ่อนปกคลุมผิวใบทั้งด้านบนและด้านล่าง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ซอกใบ ดอกมีสีขาว ปลายแหลม มีเกสรตัวผู้สีเหลืองเป็นเส้นรวมกันเป็นยอดแหลม
ผล : เป็นรูปทรงกลม ที่ผิวมีขนยาวหนา ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลืองแกมน้ำตาล
เมล็ด : มีเมล็ดแบนจำนวนมากเรียงเป็นแถวอยู่ภายในผล
สรรพคุณของมะอึก
- สรรพคุณจากราก ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย ช่วยแก้ไข้ต่าง ๆ อย่างแก้ไข้เพื่อดีและแก้ไข้สันนิบาต แก้น้ำลายเหนียว แก้ปวด แก้น้ำดีพิการ แก้อาการดีฝ่อ แก้อาการดีกระตุก แก้อาการนอนสะดุ้ง ผวาหรือเพ้อ ช่วยกระทุ้งพิษไข้หัวทุกชนิดหรืออาการของไข้ที่มีตุ่มออกเป็นผื่นตามผิวหนังอย่างเหือด หิด หัด และอีสุกอีใส
- สรรพคุณจากผล ขับเสมหะในลำคอ แก้อาการไอ แก้น้ำดีพิการ เพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย
- สรรพคุณจากใบ แก้ปอดบวม ใช้เป็นยาพอกแก้อาการคันหรือผดผื่นคัน ใช้ตำแก้พิษฝี
- สรรพคุณจากเมล็ด แก้อาการปวดฟันด้วยการใช้เมล็ดมาเผาแล้วสูดดมควันเข้าไป
- สรรพคุณจากขน ช่วยขับพยาธิ
ประโยชน์ของมะอึก
เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลอ่อนหรือผลสุกนำมารับประทานได้หรือเป็นส่วนประกอบในเมนูน้ำพริกมะอึก ใส่ในแกงส้มกับหมูย่างหรือใส่ในส้มตำ ช่วยเพิ่มรสชาติเปรี้ยวให้อาหาร ผลมะอึกใช้เป็นอาหารของนกได้
คุณค่าทางโภชนาการของผลมะอึก
คุณค่าทางโภชนาการของผลมะอึก ต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 53 กิโลแคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ |
คาร์โบไฮเดรต | 9.5 กรัม |
เส้นใย | 3.6 กรัม |
ไขมัน | 0.8 กรัม |
โปรตีน | 1.9 กรัม |
วิตามินบี1 | 0.07 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 | 0.05 มิลลิกรัม |
วิตามินบี3 | 4.9 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 3 มิลลิกรัม |
แคลเซียม | 26 มิลลิกรัม |
เหล็ก | 0.8 มิลลิกรัม |
ฟอสฟอรัส | 41 มิลลิกรัม |
มะอึก เป็นผลที่มีลักษณะโดดเด่น มีขนขึ้นอยู่ทุกส่วนของต้น และมีรสเปรี้ยวเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนมะนาวหรือผลที่ให้ความเปรี้ยวอื่น ๆ มีการนำมะอึกมาใช้ประโยชน์ในด้านอาหารและยามานานแล้ว ตำรายาสมุนไพรได้บันทึกสรรพคุณของมะอึกไว้หลากหลาย สรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้อาการไข้ แก้น้ำดีพิการ ขับเสมหะและแก้อาการไอ เป็นพืชสมุนไพรที่ช่วยบรรเทาพิษไข้ได้มาก
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
แหล่งอ้างอิง
เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, หนังสือเภสัชกรรมไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช), ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง จังหวัดกาญจนบุรี, หนังสือคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย (กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข), เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, เว็บไซต์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), กรมวิชาการเกษตร, มูลนิธิหมอชาวบ้าน (เดชา ศิริภัทร)