ลาน
ต้นลาน Fan palm, Lontar palm, Talipot palm เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวอยู่ในตระกูลปาล์มสารพัดประโยชน์นี้ชอบดินร่วนที่มีการระบายน้ำดี และสามารถปลูกกลางแจ้งได้ทนแล้ง ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Corypha umbraculifera L. และมีชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ว่า Bessia sanguinolenta Raf., Corypha guineensis L. จัดอยู่ในวงศ์ปาล์ม (ARECACEAE) ซึ่งแต่เดิมใช้ชื่อวงศ์ว่า PALMAE หรือ PALMACEAE มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ลานบ้าน, ลานวัด, ลานหมื่นเถิดเทิง, ปาล์มพัด เป็นต้น[1],[4] มีถิ่นที่กำเนิดอยู่ทางแถบอเมริกาและในแถบเมดิเตอร์เรเนียน โดยทั่วไปแล้วต้นจะขึ้นในพื้นที่ที่มีอากาศชื้นเย็นและมีฝนตกค่อนข้างมาก ต้นลานทนทานต่อภัยธรรมชาติได้เป็นอย่างดี ตอนต้นยังเล็กนั้นแม้ว่าจะถูกไฟไหม้แต่ก็สามารถที่จะงอกขึ้นมาใหม่ได้ เนื่องจากรากของต้นลานนั้นอยู่ลึกมาก พรรณไม้ในสกุลลานมีอยู่ด้วยกัน 6 ชนิดทั่วโลก
ชนิดต้นลานในประเทศไทย
- ลานพรุ (gehang palm, ebang Palm) มีชื่อในทางวิทยาศาสตร์ว่า Corypha utan Lam. มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ประเทศอินเดียไปจนถึงฟิลิปปินส์ และรวมไปถึงทางตอนเหนือของออสเตรเลียและในประเทศไทยด้วย ในประเทศไทยนั้นจะพบต้นไม้ชนิดนี้ได้มากในแถบภาคใต้แถว ๆ จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา กระบี่ และพังงา ปาล์มชนิดนี้มักจะขึ้นตามแนวชายฝั่งแม่น้ำหรือในพื้นที่ที่ชุ่มน้ำ ลักษณะลำต้นสูงคล้ายกับต้นตาล มีความสูงประมาณ 30 เมตร ขนาดของลำต้นไม่รวมกาบใบมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 40-60 เซนติเมตร และส่วนใหญ่มักขึ้นรวมกันเป็นจำนวนมากในที่ราบท้องทุ่ง แม้ในบริเวณที่มีน้ำขัง[1],[3],[4]
- ลานป่า หรือ ลานทุ่ง (Indochinese fan palm) มีชื่อในทางวิทยาศาสตร์ว่า Corypha lecomtei Becc. Ex Lecomte พบได้ในประเทศไทยและเวียดนาม จัดอยู่ในพันธุ์ไม้ดั้งเดิมของไทย จะพบได้มากที่จังหวัดปราจีนบุรี ขอนแก่น และสระบุรี และยังพบได้ทั่วไปในจังหวัดลพบุรี ตาก นครปฐม และพิษณุโลก และต้นลานป่าชนิดนี้มีขนาดใหญ่ไม่เท่าลานวัด ซึ่งมีความสูงเพียง 15 เมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของต้นไม่รวบกาบใบอยู่ที่ประมาณ 45-75 เซนติเมตร[1],[3],[4]
- ลานวัด หรือ ลานบ้าน หรือ ลานหมื่นเถิดเทิง (ทั่วไปเรียกว่า “ลาน” หรือ “ต้นลาน”) (Fan palm, Lontar palm, Talipot palm) มีชื่อในทางวิทยาศาสตร์ว่า Corypha umbraculifera L. เป็นปาล์มชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในประเทศศรีลังกาและอินเดีย และยังเป็นต้นไม้ประจำชาติของประเทศศรีลังกาอีกด้วย ในประเทศไทยนั้นจะไม่พบตามธรรมชาติ แต่มักจะนำมาเพาะปลูกในภาคเหนือของไทย[1],[3],[4]
ลักษณะของต้นลาน
- ต้น เป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดกลาง มีลำต้นตรงและแข็ง เป็นไม้ต้นเดี่ยวไม่แตกหน่อหรือกอ ส่วนเนื้อไม้จะเป็นเส้นใย ไม่มีกิ่ง ลำต้นมีกาบใบที่ติดคงทน เรียงเวียนกันอยู่โดยรอบ และมีหนามคล้ายกับฟันเลื่อยสั้น ๆ อยู่ทั้งสองข้างที่ริมขอบก้านใบ ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 80 เซนติเมตร ต้นเมื่อแก่แล้วจะมีอายุราว 20-80 ปี เมื่อตอนต้นลานอายุ 20-30 ปี ลำต้นมีความสูง 25 เมตร ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนต้นจะออกดอกและผล ซึ่งหมายถึงชีวิตช่วงสุดท้ายของต้น โดยผลเมื่อแก่แล้วจะหลุดร่วงหล่นลงพื้น เมล็ดในผลสามารถงอกเป็นต้นขึ้นมาใหม่ได้มากมาย [1],[2],[3]
- ใบ ลักษณะใบนั้นมีขนาดใหญ่ คล้ายรูปฝ่ามือหรือรูปพัด ค่อนข้างกลมคล้ายใบตาล บางครั้งเรียกว่า “ปาล์มพัด” ใบนั้นมีสีเขียวอมเทา แผ่นใบมีขนาดประมาณ 2.5-3×2.5-3 เมตร ส่วนก้านใบเป็นสีเขียวขนาดอ้วนสั้น ยาวประมาณ 2.5-3 เมตร และขอบก้านใบมีหนามแน่นเป็นฟันคมเป็นสีดำยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และมีเส้นโค้งกลางใบยาวอยู่ที่ประมาณ 1 เมตร แผ่นใบหยักเป็นรูปคลื่น และมีร่องแฉกแยกแผ่นใบ 110 แฉก แต่ละแฉกนั้นมีขนาดประมาณ 75-150×4.6-5 เซนติเมตร เป็นพรรณไม้ที่ทิ้งใบได้เองตามธรรมชาติและยังได้ชื่อว่าพันธุ์ไม้นี้มีใบใหญ่ที่สุดในโลก[1],[2],[3]
- ดอก ออกเป็นช่อขนาดใหญ่คล้ายรูปพีระมิดตรงส่วนยอดของลำต้น มีความยาวอยู่ที่ประมาณ 6 เมตร ก้านชูช่อดอกนั้นสั้นหรืออาจไม่มี ส่วนแกนช่อดอกยาวประมาณ 6 เมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 35 เซนติเมตร โดยแกนช่อดอกนั้นจะมี 30 ก้าน แขนงของก้านช่อดอกย่อยมี 40 ก้าน แต่ละก้านมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 5-25 เซนติเมตร ในช่อดอกหนึ่งจะมีดอกจำนวนมาก มีดอกเป็นจำนวนถึงล้าน ๆ ดอก โดยดอกนั้นมีสีเหลืองอ่อน (บ้างก็ว่าดอกมีสีขาวครีม) และดอกส่งกลิ่นหอม ถ้านับระยะเวลาตั้งแต่เมื่อเริ่มออกช่อดอกและบานกลายเป็นผลที่สุกพร้อมรับประทาน จะใช้เวลาประมาณ 1 ปีขึ้นไป[1],[2],[3]
- ผล มีลักษณะกลมรี สีเขียว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.5-4.5 เซนติเมตร หนึ่งผลมีหนึ่งเมล็ด เมล็ดนั้นมีลักษณะกลมมีสีดำ ส่วนเนื้อภายในผลนั้นจะคล้ายกับลูกจากหรือลูกชิด นำมารับประทานได้ ผลเมื่อแก่จะร่วงหล่นลงพื้นดิน และสามารถงอกเป็นต้นเล็ก ๆ มากมาย[1],[3] ส่วนเนื้อของลูกมีลักษณะคล้ายกับลูกชิดแต่จะมีลักษณะที่กลม และมีรสชาติที่จืดและค่อนข้างเหนียวหนืด[5]
สรรพคุณของลาน
1. รากมีฤทธิ์ช่วยรักษาไข้หวัด โดยนำรากมาฝนแล้วรับประทาน [1],[2]
2. รากสามารถนำมาฝนใช้รับประทานเป็นยาแก้ร้อนในและช่วยขับเหงื่อได้ (ราก)[1],[2]
3. ลูกนำมารับประทานเป็นยารักษาโรคกระเพาะ ช่วยฆ่าเชื้อในลำไส้ และช่วยระบายได้[5]
4. เปลือกของผลสามารถนำมารับประทานเป็นยาขับระบายได้เป็นอย่างดี [1]
5. ต้นนั้นมีสรรพคุณเป็นยาที่สามารถแก้พิษต่าง ๆ ได้ (ต้น)[2]
6. บางแห่งนั้นได้มีการนำใบที่เผาไฟมาใช้เป็นยาช่วยดับพิษอักเสบ แก้อาการฟกช้ำบวมได้ โดยทั่วไปจะเรียกว่า “ยามหานิล” (ใบแก่)[1],[2]
ประโยชน์ต้นลาน
1. เนื้อในของผลนั้นมักนิยมนำมารับประทานได้เช่นเดียวกัน เหมือนลูกจากหรือลูกชิด สามารถใช้ทำเป็น ลูกลานเชื่อมหรือลูกลอยแก้วได้[1],[5]
2. ทุบทั้งเปลือกแล้วเอาไปโยนลงน้ำจะช่วยทำให้ปลาเมา (แต่ไม่ถึงตาย) ทำให้จับปลาได้สะดวก[1]
3. ในส่วนของลำต้นเมื่อนำมาตัดเป็นท่อน ๆ แล้วนั้น สามารถนำมาทำเป็นที่นั่งเล่น หรือนำไปเพื่อตกแต่งหรือประดับสวนก็ได้ และยังนำมาทำฟืนเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการหุงต้ม ในทางภาคใต้บางท้องที่อาจมีการนำมาใช้ทำเป็นครกและสาก[1] นอกจากนี้ลำต้นสามารถนำมาใช้เลี้ยงด้วงได้เป็นอย่างดี ส่วนต้นที่แก่จัด ๆ ยังสามารถนำมาเลื่อยเอากาบมาใช้สำหรับทำเป็นโรงเรือนสำหรับไว้เลี้ยงสัตว์ หรือใช้ทำเป็นที่อยู่อาศัยได้[6]
4. ต้นลานป่านั้น มีลำต้นและใบที่สวยงาม จึงมักนำมาใช้สำหรับตกแต่งเป็นไม้ประดับไว้ตามสวนเพื่อใช้ปรับภูมิทัศน์ให้ดูสวยงามขึ้น[2]
5. ใบอ่อนหรือยอดอ่อน นิยมเป็นที่เขียนจารึกตัวอักษรในหนังสือพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา โดยการใช้เหล็กแหลมจารบนใบลานแล้วใช้ยางรักทา แล้วเอาทรายมาลบ ยางรักจะแทรกอยู่ในตัวหนังสือที่จารเป็นเส้นสีดำ หรือจะนำเขม่าไฟมาใช้แทนก็ได้ โดยจะเรียกหนังสือจากใบลานนี้ว่า “คัมภีร์ใบลาน” (หรือใบลานป่าก็ใช้ได้เช่นกัน) นอกจากนี้ยังสามารถที่จะนำมาพิมพ์เป็นการ์ด หรือนามบัตร ที่คั่นหนังสือ หรือจะนำไปใช้ในงานจักสานต่าง ๆ เพื่อใช้ทำเป็น พัด หมวก กระเป๋า เสื่อ งอบ ภาชนะต่าง ๆ ในครัวเรือน รวมไปถึงการทำเป็นเครื่องประดับสำหรับใช้ในงานตกแต่งบ้าน เช่น การทำเป็นโมบายรูปสัตว์ อย่างเช่น ปลาตะเพียน[1]
6. ใบที่แก่ นำมาใช้สำหรับมุงหลังคา ทำเป็นผนังหรือฝาบ้านได้[1]
7. ก้านใบนำมาใช้ทำเป็นโครงสร้าง ไม้ขื่อ ไม้แป รวมไปถึงผนัง หรือสามารถใช้แทนเชือกเพื่อมัดสิ่งของก็ได้เป็นอย่างดีเพราะมีความเหนียวมาก[1]
8. กระดูกหรือก็คือส่วนที่ใกล้กับบริเวณหนามแหลมนั้น จะมีความแข็งและเหนียวมากกว่าก้านใบ สามารถที่จะนำมาใช้ทำเป็นคันกลดพระธุดงค์ได้ หรือนำไปใช้ทำเป็นขอบภาชนะจักสานทั่ว ๆ ไป เช่น ขอบตะกร้า ขอบกระด้ง กระบุง ตะแกรง ฯลฯ[1]
9. ทางภาคใต้นั้นจะนำยอดของลานพรุมาฉีกเป็นใบ แล้วสางออกเป็นเส้น ๆ แล้วนำไปปั่นเป็นเส้นยาวคล้ายกับด้าย สามารถนำไปใช้ต่อยอดในการทอเป็นแผ่น หรือที่เรียกว่า “ห่งอวน” หรือ “หางอวน” ทำเป็นถึงรูปสามเหลี่ยมใช้สำหรับไว้ต่อที่ปลายอวน ใช้สำหรับเป็นถุงจับกุ้ง หรือสานเป็นถุงใส่เกลือ ซองใส่ยาเส้น ซองใส่แว่นตา หรือใช้ทำเป็นเคยสำหรับทำกะปิ ฯลฯ[1]
สั่งซื้ออาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1.เทรคกิ้งไทยดอตคอม. “เรื่องของ ต้นลาน ใบลาน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.trekkingthai.com. [2 พ.ย. 2013].
2.สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [2 พ.ย. 2013].
3.สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ลาน พืชสืบสานวิถีชีวิตไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: oamc.ku.ac.th. [2 พ.ย. 2013].
4.หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. สวนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. (เต็ม สมิตินันทน์).
5.GotoKnow. “ลูกลาน หาทานยาก (60 ปีมีทานหนึ่งครั้ง ?)”. (เจษฎา). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.gotoknow.org. [2 พ.ย. 2013].
6.โรงเรียนเชียงใหญ่. “ต้นลาน”. (สุนันท์ รักช้าง). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.cy.ac.th. [2 พ.ย. 2013].
อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.rbgsyd.nsw.gov.au/plants/plant-families/arecaceae-family