หนามแน่แดง
หนามแน่แดง (Thunbergia coccinea Wall) เป็นไม้เลื้อยที่มีดอกสีส้มอมแดงแต่เมื่อดอกบานจะมีสีเหลืองโผล่ออกมา เป็นไม้หายากที่นิยมนำมาใช้เป็นไม้ปลูกประดับ ชาวเย้า ตำรับยาพื้นบ้านล้านนา ชาวเขาเผ่าปะหล่องไทใหญ่และพม่านิยมนำหนามแน่แดงมาใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาอาการต่าง ๆ โดยเฉพาะการดูดพิษจากสัตว์มีพิษทั้งหลาย นอกจากนั้นยังนิยมนำดอกมาประกอบอาหารเพื่อใช้ทำเป็นแกงได้
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของหนามแน่แดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Thunbergia coccinea Wall.
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “น้ำปู้ หนามแน่แดง เครือนกน้อย” ชาวเย้าเชียงใหม่เรียกว่า “เหนอะตอนเมื่อย” ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า “จอละดิ๊กเดอพอกวอ” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “จอลอดิ๊กเดอพอกวอ ปังกะล่ะกวอ” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “รางจืด รางจืดแดง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)
ชื่อพ้อง : Hexacentris coccinea (Wall.) Nees
ลักษณะของหนามแน่แดง
หนามแน่แดง เป็นไม้พุ่มเลื้อยพันที่มักจะพบตามป่าดิบชื้น บริเวณที่โล่งหรือตามชายป่าและตามภูเขาสูง พบได้มากทางภาคเหนือและทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
ลำต้น : มีการแตกกิ่งก้านสาขามากจนปกคลุมต้นไม้อื่น ลำต้นเป็นไม้เนื้อแข็ง ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก
เปลือกต้น : เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอมแดงไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกจากข้อของลำต้นหรือกิ่ง โดยจะออกเป็นคู่ตรงข้ามกันแบบเวียนรอบและทิ้งระยะค่อนข้างห่างระหว่างข้อ ก้านใบมีลักษณะกลม ผิวเกลี้ยงและไม่มีขน ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปไข่แกมใบหอก ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบโค้งมน ป้านหรือเว้าลึกเล็กน้อย ขอบใบหยักคล้ายซี่เลื่อยหรือเป็นลูกคลื่นแบบห่างไม่สม่ำเสมอกัน เนื้อใบค่อนข้างบาง หลังใบเกลี้ยงเป็นสีเขียว ท้องใบมีสีอ่อนกว่าและมีนวลสีขาวขึ้นปกคลุม
ดอก : ออกดอกเป็นช่อห้อยลง โดยจะออกตามซอกใบใกล้กับปลายกิ่ง เป็นดอกแบบสมบูรณ์โดยมีประมาณ 20 – 60 ดอกต่อช่อออกเรียงตัวแบบเวียนรอบแกนช่อ มีใบประดับลักษณะเป็นรูปไข่ปลาแหลมหรือมนเล็กน้อย ดอกเป็นสีส้ม สีส้มอมแดงไปจนถึงสีแดงอมม่วงหุ้มดอกเมื่อดอกตูม เมื่อดอกเริ่มบานกลีบดอกสีเหลืองอ่อนไปจนถึงเหลืองเข้มจะโผล่ออกมาทางด้านล่างของใบประดับ กลีบเลี้ยงดอกมีขนาดเล็กมาก มีลักษณะเป็นแถบเล็กอยู่บริเวณโคนกลีบดอก กลีบดอกมีช่วงโคนเชื่อมติดกันเป็นท่อยาว ช่วงปลายแยกเป็นกลีบ 5 กลีบ โดยกลีบบนจะมีขนาดใหญ่กว่ากลีบอื่นและมีลักษณะตั้งขึ้น ส่วนกลีบที่เหลือมักพับลง ผิวด้านในของกลีบจะมีสีอ่อนกว่าด้านนอก ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน โดยจะอยู่ลึกลงไปในท่อกลีบดอก ก้านเกสรสั้น มีรังไข่ 1 อัน
ผล : ผลมีลักษณะเป็นฝักประเภทแห้งและแตกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ปลายฝักเป็นจะงอยแข็งยาว ภายในฝักมีเมล็ดหลายเมล็ด โดยจะออกดอกและผลในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนกุมภาพันธ์
สรรพคุณของหนามแน่แดง
- สรรพคุณจากเถา
– แก้อาการเด็กนอนไม่หลับ โดยชาวเย้านำเถามาต้มกับน้ำให้เด็กอาบ - สรรพคุณจากราก
– รักษาอาการปวดท้องน้อยของผู้ป่วยกามโรค โดยตำรับยาพื้นบ้านล้านนานำรากมาผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นอย่างเช่น รากพญาดง (Persicaria chinensis) แล้วนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา - สรรพคุณจากเครือ
– แก้พิษจากสัตว์มีพิษ เช่น แมงป่อง ตะขาบ แมงมุมพิษ งู ด้วยการนำเครือมาต้มกับน้ำกินเวลาที่โดนพิษ - สรรพคุณจากเถาและใบ
– แก้ไข้ โดยชาวเขาเผ่าปะหล่องไทใหญ่และพม่านำเถาอ่อนและใบมาต้มกับน้ำอาบเป็นยา - สรรพคุณจากใบและเครือ
– แก้อาการเคืองตา ตาแดงและเจ็บตา ด้วยการนำใบและเครือมาต้มหรือใช้น้ำที่อยู่ภายในลำต้นมาล้างตา - สรรพคุณจากดอกและผล
– ดูดพิษงูกัด ด้วยการนำดอกและผลมาตำพอกแผลที่โดนงูกัด - สรรพคุณจากรากและใบ
– แก้พิษยาเบื่อ แก้พิษจากยาฆ่าหญ้าหรือยาฆ่าแมลง โดยเชื่อว่าจะมีฤทธิ์แรงกว่ารางจืด (Thunbergia laurifolia Linn.)
ประโยชน์ของหนามแน่แดง
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ดอกนำมาใช้ประกอบอาหารอย่างการทำแกงได้
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับบ้านทั่วไปหรือปลูกเป็นไม้ประดับซุ้ม
หนามแน่แดง เป็นต้นไม้หายากและมีดอกที่สวยงามจึงนิยมนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ เป็นพืชในวงศ์เหงือกปลาหมอที่มักจะพบทางภาคเหนือและทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชาวเผ่านิยมนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้หลากหลาย หนามแน่แดงมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยทุกส่วนมีความสำคัญในการรักษาพอกัน มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้พิษจากสัตว์มีพิษ แก้ไข้ แก้พิษยาเบื่อหรือยาฆ่าแมลง แก้อาการเคืองตาได้ ถือเป็นต้นที่เหมาะอย่างมากในการรักษาหรือดูดพิษในแบบธรรมชาติ
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หนามแน่แดง”. หน้า 209.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “หนามแน่แดง, รางจืด, รางจืดแดง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือองค์ความรู้เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของไทย เล่ม 3. (สุธรรม อารีกุล, จำรัส อินทร, สุวรรณ ทาเขียว, อ่องเต็ง นันทแก้ว). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [29 ก.ย. 2014].
พืชถิ่นเดียวและพืชหายากของประเทศไทย, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “หนามแน่แดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th. [29 ก.ย. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/