เถาคัน
เถาคัน (Virginia creeper) เป็นไม้เลื้อยชนิดหนึ่งที่มักจะขึ้นตามป่า ส่วนมากมักจะรู้จักกันจากการนำลูกเถาคันมาใส่ในแกงส้มจนกลายเป็นเมนู “แกงส้มลูกเถาคัน” สามารถพบได้ 2 ชนิด แต่ละชนิดของเถาคันจะแยกตามสี ได้แก่ เถาคันแดงและเถาคันขาว ในที่นี้เถาคันแดงจะมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรมากกว่า นอกจากนั้นยอดอ่อนของต้นจะมีรสจืดและสามารถนำมารับประทานเป็นผักได้
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเถาคัน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Parthenocissus quinquefolia (L.) Planch.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Virginia creeper” “True Virginia creeper” “Victoria creeper” “Five – leaved ivy” “Five – finger”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “เครือหุนแป เถาคันแดง เถาคันขาว” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “หุนแปแดง หุนแปขาว”
ชื่อวงศ์ : วงศ์องุ่น (VITACEAE)
ชื่อพ้อง : Ampelopsis hederacea DC.
ลักษณะของเถาคันแดง
เถาคันแดง เป็นพรรณไม้เลื้อยเนื้อแข็ง
เถา : เถามีสีเขียวขนาดเล็ก มีมือเกาะแตกจากข้อไม่มีขน
ใบ : เป็นใบประกอบ มีใบย่อย 3 หรือ 5 ใบ แตกจากก้านใบจุดเดียวกัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ ปลายใบค่อนข้างแหลม โคนใบป้าน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยหรือเป็นคลื่น แผ่นใบเรียบ เส้นกลางใบนูนจนเห็นได้ชัด แผ่นใบเป็นสรเขียวเข้มและมันเรียบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่ม ดอกแตกออกจากก้านช่อดอกหลักจุดเดียวกัน ออกเป็นช่อใหญ่สีแดง ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก มักจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน
ผล : ผลมีลักษณะกลม ผิวเรียบเป็นมัน ผลดิบเป็นสีเขียว ผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ถ้าบีบจะมีน้ำออกเป็นสีม่วงแดง ออกผลในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม
สรรพคุณของเถาคัน
- สรรพคุณจากเถา
– เป็นยารักษาโรคกษัย เป็นยาฟอกเลือด เป็นยาขับเสมหะและขับลม รักษาอาการฟกช้ำภายในและช่วยทำให้เส้นเอ็นหย่อนหรือผ่อนคลาย ด้วยการนำเถามาต้มแล้วรับประทาน - สรรพคุณจากใบ
– ช่วยปิดฝีบ่มหนองเพื่อให้ฝีแตกและดูดหนองออก ด้วยการนำใบไปอังกับไฟให้พอเหี่ยวแล้วทำการแปะลงบนแผล - สรรพคุณจากราก แก้อาการอักเสบเนื่องจากเป็นแผลในกระเพาะอาหาร
– เป็นยาขับพยาธิไส้เดือน ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว เป็นยาฟอกโลหิต แก้ฟกช้ำภายใน ขับเลือดเน่า ขับน้ำคาวปลาและรักษาอาการฟกช้ำภายใน ด้วยการนำรากมาต้มแล้วดื่ม
ประโยชน์ของเถาคัน
เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลดิบใช้กินเป็นอาหารด้วยการนำมาใส่ในแกงส้มหรือใส่ในน้ำพริก ยอดอ่อนนำมาลวกหรือต้มแล้วจิ้มกับน้ำพริกหรือรับประทานเป็นผักสดได้
คุณค่าทางโภชนาการของเถาคันต่อ 100 กรัม
คุณค่าทางโภชนาการของเถาคันต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 27 กิโลแคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ |
คาร์โบไฮเดรต | 5.5 กรัม |
ไขมัน | 0.4 กรัม |
โปรตีน | 0.4 กรัม |
วิตามินเอ | 39 ไมโครกรัม |
วิตามินบี1 | 0.02 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 | 0.09 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 8 มิลลิกรัม |
วิตามินอี | 2.64 มิลลิกรัม |
เบตาแคโรทีน | 236 ไมโครกรัม |
ไนอะซิน | 1.62 มิลลิกรัม |
น้ำ | 93.4 กรัม |
เถ้า | 0.3 กรัม |
พิษของเถาคัน
มีข้อมูลระบุว่า ผลเถาคันแดงมีกรดออกซาลิกซึ่งเป็นสารพิษ หากได้รับในปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการคันซึ่งเป็นส่วนของน้ำที่บีบออกมาเป็นสีม่วงแดง ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผนังกระเพาะลำไส้และจะถูกดูดซึมผ่านผนังที่อักเสบจนทำให้เกิดเป็นแคลเซียมออกซาเลต ส่งผลกระทบต่อแคลเซียมในร่างกาย การทำงานของหัวใจ ประสาทส่วนกลางและเกิดอาการไตพิการได้
เถาคัน มีขนาดของผลเท่ามะแว้งหรือเท่าปลายนิ้วก้อยและมักจะนำมาใส่ในแกงส้มหรือในน้ำพริก เป็นผลที่มีพิษต่อร่างกายด้วยเช่นกันหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินควร แต่ถ้ารับประทานอย่างถูกต้องแล้วเถาคันก็จะมีโภชนาการที่ดีต่อร่างกาย มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาอาการฟกช้ำภายใน ช่วยฟอกเลือด เป็นยาขับพยาธิและขับปัสสาวะ ขับเสมหะและแก้นิ่วได้ เป็นต้นที่มีสรรพคุณแก้อาการพื้นฐานและดีต่อระบบเลือดในร่างกาย
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “เถาคัน”. หน้า 341-342.
พืชกินได้ในป่าสะแกราช, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “เถาคันแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.tistr.or.th. [13 ก.ค. 2015].
พืชพิษ, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “รายงานการเกิดพิษในคน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/poison/poison.htm. [13 ก.ค. 2015].
ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “เถาคันขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : clgc.agri.kps.ku.ac.th. [13 ก.ค. 2015].