แข้งกวางดง ผักสำหรับชาวลัวะและไทใหญ่ ช่วยแก้โรคประดง บรรเทาปวดบั้นเอว

0
1696
แข้งกวางดง ผักสำหรับชาวลัวะและไทใหญ่ ช่วยแก้โรคประดง บรรเทาปวดบั้นเอว
แข้งกวางดง ไม้ยืนต้นผลัดใบ ดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง สีขาวและมีกลิ่นหอม ไม้ใช้ทำรั้ว ใช้สร้างบ้าน
แข้งกวางดง ผักสำหรับชาวลัวะและไทใหญ่ ช่วยแก้โรคประดง บรรเทาปวดบั้นเอว
แข้งกวางดง ไม้ยืนต้นผลัดใบ ดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง สีขาวและมีกลิ่นหอม ไม้ใช้ทำรั้ว ใช้สร้างบ้าน

แข้งกวางดง

แข้งกวางดง (Wendlandia paniculata) มักจะพบตามป่าเบญจพรรณหรือป่าดิบเขา เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบที่มีดอกสีขาวและส่งกลิ่นหอมมาจากบนต้น เป็นต้นที่นิยมนำมาทานเป็นผักของชาวลัวะและไทใหญ่ แข้งกวางดงยังเป็นไม้เนื้ออ่อนที่สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมไม้และใช้ก่อสร้างได้ และที่สำคัญยังเป็นส่วนผสมในตำรายาพื้นบ้านล้านนา ถือเป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์หลากหลายและน่าสนใจ

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของแข้งกวางดง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Wendlandia paniculata (Roxb.) DC.
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “กว้างดง ซั่ง จ่อล่อ น้าน” จังหวัดสุโขทัยเรียกว่า “ประดงแดง” จังหวัดเลยเรียกว่า “ฮุนเต้า” คนเมืองเรียกว่า “แข้งกวาง” คนเมืองและไทใหญ่เรียกว่า “ไม้กว้าว” ชาวลัวะเรียกว่า “ไม้กว๊าง” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “เส่ควอบอ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์เข็ม (RUBIACEAE)

ลักษณะของแข้งกวางดง

แข้งกวางดง เป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กที่มักจะพบตามป่าเบญจพรรณหรือป่าดิบเขา
ต้น : เรือนยอดเป็นทรงกลมโปร่ง
เปลือกต้น : เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอมเทาแตกเป็นร่องตื้นตามขอบลำต้น
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากกัน ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีหรือรูปวงรีแกมใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่มหรือสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบบาง ท้องใบมน เส้นแขนงใบเป็นร่องลึกชัดเจนข้างละ 10 – 12 เส้น มีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงโดยจะออกที่ปลายกิ่งเป็นสามเหลี่ยม ดอกย่อยมีจำนวนมาก ดอกเป็นสีขาวและมีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงและกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกออกเป็นแฉก 4 – 5 แฉก ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม
ผล : เป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม แตกออกได้ตามพู ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก จะออกผลในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม

สรรพคุณของแข้งกวางดง

  • สรรพคุณจากลำต้น
    – แก้โรคประดง ตำรายาพื้นบ้านล้านนานำลำต้นมาผสมกับสมุนไพรจำพวกประดงรวม 9 ชนิด แล้วต้มกับน้ำเพื่อดื่มแก้อาการ
    – แก้ปวดบั้นเอว ด้วยการนำลำต้นมาผสมกับแก่นขี้เหล็ก แก่นราชพฤกษ์ แก่นมะดูก แก่นไม้เล็มและรากเดือยหิน จากนั้นนำมาต้มกับข้าว ทำการรับประทานเป็นข้าวและน้ำเพื่อแก้อาการ

ประโยชน์ของแข้งกวางดง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ชาวลัวะนำยอดอ่อนมาทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก ชาวไทใหญ่นำดอกมาลวกทานกับน้ำพริก
2. ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง นำไม้เนื้ออ่อนมาทำรั้ว ใช้สร้างบ้าน ทำโครงสร้างต่าง ๆ ของบ้านอย่างเสาบ้าน ทำที่พักชั่วคราวและทำฟืน

แข้งกวางดง เป็นต้นที่มีดอกสีขาวกลิ่นหอมและมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง รวมถึงเป็นยาในตำรับยาสมุนไพรพื้นบ้านล้านนาที่ช่วยแก้อาการพื้นฐานเป็นหลัก โดยเฉพาะแก้โรคที่เกี่ยวกับประดงซึ่งเป็นโรคที่มีอาการหลากหลาย ดังนั้นชาวล้านนาจึงนำแข้งกวางดงมาเป็นส่วนผสมในยาสมุนไพรแก้อาการ นอกจากนั้นยังมีสรรพคุณแก้ปวดบั้นเอวได้อีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “แข้งกวางดง”. หน้า 226.
ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “แข้งกวางดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [26 ม.ค. 2015].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “แข้งกวางดง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [26 ม.ค. 2015].