จมูกปลาหลด ดอกอมชมพูสวยงาม ต้นรสขมเย็น เป็นยาดีต่อสตรี
จมูกปลาหลด ดอกและใบของต้นสวยงาม ใบอ่อนและดอกมารับประทานเป็นผักสด

จมูกปลาหลด

จมูกปลาหลด (Sarcostemma secamone) เป็นต้นที่มีชื่อเรียกแปลกประหลาดไม่เหมือนใคร มักจะพบตามบริเวณน้ำตื้นริมบึงทั่วไป ดอกและใบของต้นนั้นสวยงามมากโดยเฉพาะช่วงดอกบานจะยิ่งสวยงามเป็นทวีคูณจึงกลายเป็นไม้ประดับยอดนิยมชนิดหนึ่ง นอกจากความสวยงามแล้วนั้นยังนำใบอ่อนและดอกมารับประทานเป็นผักสดได้ ซึ่งชาวอีสานจะนำมารับประทานร่วมกับลาบ ส่วนชาวใต้จะใช้ใบมาหั่นผสมกับข้าวยำ เป็นต้นที่นิยมนำมาปรุงหรือทานร่วมกับอาหาร และยังเป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาได้อย่างน่าทึ่ง

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของจมูกปลาหลด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sarcostemma secamone (L.) Bennett และ Oxystelma esculentum (L. f.) Sm.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Rosy Milkweed”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “สอึก สะอึก” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “ผักจมูกปลาหลด” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ผักไหม” จังหวัดมหาสารคามเรียกว่า “เครือไส้ปลาไหล” จังหวัดเพชรบูรณ์เรียกว่า “จมูกปลาไหลดง” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “ตะมูกปลาไหล” ราชบัณฑิตเรียกว่า “กระพังโหม”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)
ชื่อพ้อง : Periploca secamone L. และ Oxystelma esculentum (L. f.) R. Br. ex Schult., Periploca esculenta L. f., Sarcostemma esculentum (L. f.) R.W. Holm

ลักษณะของจมูกปลาหลด

จมูกปลาหลด เป็นพรรณไม้เถาเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่นที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดียถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยมักจะพบบริเวณน้ำตื้นริมบึงทั่วไป
เถา : เถามีลักษณะกลมขนาดเล็กเป็นสีเขียวและมียางสีขาวอยู่ภายในเถา
ยอดอ่อน : มีขนเล็กน้อย
ลำต้น : เมื่อลำต้นแก่นำมาขยี้แล้วดมจะมีกลิ่นเหม็น
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปยาวแคบหรือเป็นรูปดาบเรียวแคบ ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบไม่มีจัก เนื้อใบบางเรียบ แผ่นใบเป็นสีเขียว เส้นใบโค้งจรดกันใกล้ ๆ ขอบใบ ก้านใบสั้นและเล็ก เมื่อใบแก่นำมาขยี้แล้วดมจะมีกลิ่นเหม็น
ดอก : ออกดอกเดี่ยวหรือออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ตามซอกใบ ช่อละประมาณ 2 – 3 ดอก บางครั้งช่อใหญ่อาจมีดอกถึง 6 – 9 ดอก ในดอกหนึ่งมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ปลายกลีบแหลม ส่วนกลีบดอกโคนติดกัน ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ลักษณะคล้ายรูปดาว ริมขอบกลีบดอกมีขน ด้านนอกเป็นสีขาวหรือสีขาวอมชมพู ส่วนด้านในเป็นสีชมพูมีลายเส้นสีม่วงเข้มและจุดประสีน้ำตาลอยู่ตอนโคนกลีบที่ติดกัน เมื่อดอกบานจะมีลักษณะคล้ายรูปจาน
ผล : ผลมีลักษณะเป็นฝัก ปลายฝักแหลมโค้งเรียว โคนฝักกว้าง เปลือกฝักนิ่ม ภายในพองลม เมื่อผลแก่จะแตกออกด้านเดียวและจะเห็นเมล็ดติดอยู่กับไส้กลางผลเป็นจำนวนมาก
เมล็ด : เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไข่สีน้ำตาล ที่ปลายของเมล็ดมีขนสีขาวติดอยู่เป็นกระจุก ซึ่งช่วยให้ลอยไปตามลมเพื่อกระจายพันธุ์ได้ไกล

สรรพคุณของจมูกปลาหลด

  • สรรพคุณจากทั้งต้น รักษาโรคมะเร็ง รักษาอาการอักเสบบริเวณปากและคอ แก้ไข้รากสาด แก้บิด แก้ประจำเดือนผิดปกติ รักษาบาดแผลและรักษาแผลสด ขับน้ำนม
  • สรรพคุณจากเถา
    – แก้เจ็บคอ ด้วยการนำเถาที่มีรสขมเย็นมาต้มกับน้ำแล้วใช้กลั้วคอ
  • สรรพคุณจากราก
    – รักษาโรคดีซ่าน ตัวเหลืองและตาเหลือง ด้วยการนำรากที่มีรสขมเย็นมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
  • สรรพคุณจากน้ำยาง ล้างแผลที่เป็นหนอง
  • สรรพคุณจากใบและเถา เป็นยาระบายอ่อน ๆ ในเด็ก รักษาบาดแผลและรักษาแผลสด
    แก้ไข้และลดความร้อนในร่างกาย ด้วยการนำใบและเถาที่มีรสขมและกลิ่นเหม็นเขียวมาคั้นแล้วดื่ม

ประโยชน์ของจมูกปลาหลด

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อน ใบอ่อนและดอกนำมาทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก ชาวอีสานจะทานร่วมกับลาบ ชาวใต้จะใช้ใบมาหั่นผสมกับข้าวยำ ผลสามารถนำมารับประทานได้ นำมาย้อมสีเขียวในขนมขี้หนูด้วยการนำน้ำคั้นจากเถาและใบมาผสมในขนมขี้หนู
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ นิยมปลูกลงกระถางซึ่งจมูกปลาหลดปลูกง่าย โตเร็วและทนทาน อีกทั้งดอกยังสวยงามมาก
3. เป็นส่วนผสมในยาสมุนไพร ต้นใช้ปรุงเข้ายาเขียวน้ำมูตร ยาเขียวมหาคงคา ยามหากะเพราและยาขนานต่าง ๆ

จมูกปลาหลด เป็นต้นที่มีรสขมเย็นจึงเป็นยาที่นิยมนำมาเป็นส่วนผสมอย่างยาเขียวและยาขนาน จุดเด่นของต้นอยู่ที่ดอกสีขาวอมชมพูซึ่งสวยงามมากจนคู่ควรแก่การปลูกประดับบ้าน มักจะนำส่วนของยอดอ่อน ใบอ่อนและดอกมารับประทานเป็นผักสด เป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาได้ทุกส่วน มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาโรคมะเร็ง รักษาโรคดีซ่าน แก้ไข้ แก้ประจำเดือนผิดปกติ ถือเป็นต้นที่เหมาะสมต่อผู้หญิงเพราะช่วยในเรื่องของน้ำนมและประจำเดือนได้ดี

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “จมูกปลาหลด”. หน้า 218-219.
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “จมูกปลาหลด”. หน้า 107.
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “จมูกปลาหลด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [10 ม.ค. 2015].
ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “จมูกปลาหลด”. อ้างอิงใน : หนังสืออนุกรมวิธานพืช อักษร ก. (ราชบัณฑิตยสถาน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [10 ม.ค. 2015].
สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “จมูกปลาหลด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [10 ม.ค. 2015].
จุลสารสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ปีที่ 8 ฉบับที่ 3, พันธุ์ไม้ที่ใช้เป็นสมุนไพรและอาหาร. (ศ.ดร.พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ). “จมูกปลาหลด”. หน้า 6.