ตะบูนดำ
เป็นพันธุ์ไม้ยืนต้น โคนต้นพูพอน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ดอกเป็นช่อสีขาวเขียว ผลงกลมมีร่องเล็กน้อย

ตะบูนดำ

ตะบูนดำ เป็นหนึ่งในไม้ป่าของป่าชายเลน เจริญเติบโตและขึ้นกระจายได้ดีในบริเวณที่เป็นดินเลนค่อนข้างแข็ง[1] ชื่อวิทยาศาสตร์ Xylocarpus moluccensis (Lam.) M. Roem. จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์กระท้อน (MELIACEAE) ชื่ออื่น ๆ ตะบูน ตะบัน (ในภาคกลาง และภาคใต้) เป็นต้น[1]

ลักษณะของต้นตะบูนดำ

  • ต้น
    – เป็นพันธุ์ไม้ประเภทยืนต้นที่มีต้นขนาดใหญ่
    – ต้นมีความสูงประมาณ 20-35 เมตร
    – ลำต้นมีลักษณะเป็นต้นเปลาตรง ลำต้นจะออกใบเป็นรูปทรงยอดลักษณะเป็นพุ่มกลม และโคนต้นจะมีลักษณะเป็นพูพอนที่มีขนาดเล็ก เป็นไม้ผลัดใบ
    – เปลือกต้นมีผิวขรุขระ เปลือกมีสีน้ำตาลเข้ม ตามเปลือกจะแตกเป็นร่องตามยาว และเมื่อต้นแก่เปลือกจะลอกออกเป็นแถบแคบ ๆ รวมไปถึงภายในลำต้นที่มักจะเป็นโพรง
    – ระบบรากของต้นจะมีหลายลักษณะ โดยหลัก ๆ จะเป็นรูปกรวยคว่ำหรือแบนทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละสภาพของดิน
  • ใบ
    – ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก โดยใบจะออกเรียงสลับกันไม่มียอดใบ
    – ใบย่อยส่วนมากที่พบจะมีประมาณ 1-3 คู่ที่เรียงตัวกันอยู่ตรงข้ามกัน
    – ลักษณะรูปร่างของใบเป็นรูปรีถึงรูปขอบแกมรี ที่ปลายใบมน ส่วนโคนใบแหลม
    – ลักษณะเนื้อผิวของใบจะเป็นผิวมัน และใบมีสีเป็นสีเขียวเข้ม แต่เมื่อต้นมีอายุมากขึ้นใบก็จะเปลี่ยนสีเป็นสีส้มอมเหลืองทั้งต้น ก่อนที่ใบทั้งต้นนั้นจะร่วงหล่นลงสู่พื้นดิน[1]
    – ใบย่อยมีขนาดความกว้างอยู่ที่ประมาณ 2-6 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 5-15 เซนติเมตร
    – ก้านใบย่อยมีขนาดความยาวที่สั้นมาก
  • ดอก
    – ช่อดอกจะเป็นแบบช่อแยกแขนง โดยจะออกดอกที่บริเวณง่ามใบ มีดอกย่อยเป็นจำนวนมากอยู่ภายในช่อดอก
    – ดอกย่อยนั้นจะมีกลีบดอกอยู่ 4 กลีบ กลีบจะเรียงตัวออกห่างกันเล็กน้อย ส่วนกลีบเลี้ยงมีอยู่ 4 กลีบ
    – ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่จำนวน 8 อัน
    – โดยจะออกดอกพร้อมกับการแตกใบใหม่ในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม[1]
  • ผล
    – ลักษณะรูปทรงของผลค่อนข้างกลม เปลือกผลมีร่องผลเล็กน้อย
    – ผลอ่อนจะมีสีเขียว โดยผลจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ประมาณ 7-12 เซนติเมตร
    – โดยผลจะเริ่มแก่ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม[1]
  • เมล็ด
    – ภายในผลมีเมล็ดอยู่ที่ประมาณ 7-11 เมล็ด
    – ลักษณะรูปร่างของเมล็ดเป็นรูปโค้งนูน ในหนึ่งด้านจะมีความกว้างอยู่ที่ประมาณ 4-6 เซนติเมตร

ข้อควรรู้
โดยสภาพของลำต้นนั้นอาจจะแตกต่างกันออกไปได้บ้าง ตามแต่ละพื้นที่ที่เจริญเติบโต เช่น มีเปลือกเรียบ สีจากสีน้ำตาลปกติก็จะออกสีแดง เป็นสีน้ำตาล และตามเปลือกต้นก็มีร่องลำต้นเป็นสีขาวมีลักษณะเป็นทางยาวตามลำต้น

สรรพคุณของต้นตะบูนดำ

1. เปลือกไม้นำมาใช้ทำเป็นยาสำหรับรับประทานมีสรรพคุณในการช่วยแก้อาการอักเสบในลำไส้และอาการผิดปกติในช่องท้องได้ (เปลือกไม้)[2]
2. เปลือกไม้นำมาใช้ทำเป็นยาลดไข้ (เปลือกไม้)[2]
3. ผล มีสรรพคุณทางยาเป็นยาช่วยแก้บิดได้ โดยการปรุงยานั้นก็ให้ใช้ผลนำลงไปต้มกับน้ำใช้ดื่ม (ผล)[2]
4. ผลแห้งนำมาตากแห้งเผาไฟร่วมกับเห็ดพังกาและน้ำมันมะพร้าว นำมาใช้ทา โดยจะมีสรรพคุณเป็นยาสำหรับแก้มะเร็งผิวหนังได้ (ผลแห้ง)[2]
5. ผลและเมล็ดนำมาทำเป็นยาสำหรับแก้อาการไอได้ (ผล, เมล็ด)[2]
6. ผลและเมล็ดนำมาใช้รับประทานสำหรับเป็นยาแก้อาการท้องร่วง (ผล, เมล็ด)[2]
7. ผลและเมล็ดนำมาใช้เป็นยาสำหรับใช้บำรุงร่างกายได้ (ผล, เมล็ด)[2]
8. ผลนำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่มช่วยแก้อาการท้องเสีย (ผล, เปลือกไม้)[2]
9. เปลือกและผลมีสรรพคุณเป็นยาช่วยแก้อหิวาตกโรคได้ (ผล, เปลือก)[2]
10. เปลือกและผลนำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่มช่วยรักษาแผลภายในได้ (เปลือก, ผล)[2]
11. เปลือกและผลนำมาต้มจากนั้นนำมาตำให้ละเอียด ใช้สำหรับพอกรักษาแผลสด แผลฟกช้ำ แผลบวม และแผลที่เป็นหนองได้ (เปลือก, ผล)[2]
12. เปลือกและผลนำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับชะล้างบาดแผล จะช่วยทำความสะอาดแผลได้ (เปลือก, ผล)[2]

ประโยชน์ของต้นตะบูนดำ

1. สามารถนำไปใช้ทำดินสอได้ด้วย[2]
2. เปลือกไม้นำมาใช้ในการฟอกหนังเพื่อนำมาใช้ทำเป็นพื้นรองเท้า (Heavy leather)[2]
3. น้ำฝาดจากเปลือกต้นนั้น สามารถนำมาใช้ย้อมสีผ้า ย้อมแหหรืออวนประมงได้ โดยจะให้สีที่เป็นสีน้ำตาล[2]
4. เนื้อไม้แข็ง และมีลวดลายและสีไม้ที่สวยงาม มักนำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์สำหรับตกแต่งบ้าน หรือตามอาคารได้
5. ลำต้นมักนำมาใช้ทำเป็นพื้นไม้กระดาน [1],[2],[3]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ. “ตะ บูน ดํา“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.nectec.or.th. [15 พ.ย. 2013].
2. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ต้น ตะบูน ดำ“, “ตะ บูน ดํา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [15 พ.ย. 2013].
3. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ตะ บูน ดํา“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th. [15 พ.ย. 2013].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.flickr.com/
2. http://www.northqueenslandplants.com/