แร่ธาตุฟอสฟอรัส คือ
ฟอสฟอรัส ( Phosphorus ) คือ แร่ธาตุอีกชนิดหนึ่งที่พบมากเป็นอันดับสองของร่างกายเลยทีเดียว โดยส่วนมากจะพบในกระดูกในรูปของเกลืออนินทรีย์ประมาณร้อยละ 80 และพบอยู่ในเนื้อเยื่อและเยื่อบุเซลล์ของกล้ามเนื้อประมาณร้อยละ 20 รวมถึงกระจายอยู่ตามผิวหนังและเนื้อเยื่อประสาทบางส่วนอีกด้วย ส่วนการทำงานของฟอสฟอรัสนั้น มักจะถูกนำมาใช้ร่วมกับแคลเซียม ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการนำมาใช้งานที่สุด
หน้าที่ของฟอสฟอรัส
ฟอสฟอรัสมีหน้าที่สำคัญต่อร่างกาย โดยสามารถสรุปได้ดังนี้
1. ทำงานร่วมกับแคลเซียม เพื่อเป็นโครงสร้างของกระดูกและฟัน เพื่อให้กระดูกและฟันมีความแข็งแรงยิ่งขึ้น
2. ทำหน้าที่เป็นบัพเฟอร์เพื่อควบคุมความสมดุลของกรดและด่างในเลือดให้เป็นกลาง
3. มีส่วนช่วยในกระบวนการเมแทบอลิซึมของไขมัน คาร์โบไฮเดรตและโปรตีน ให้เกิดการเมแทบอลิซึมที่สมบูรณ์มากขึ้น
4. เป็นส่วนประกอบสำคัญของสารพลังงานสูง
5. มีส่วนช่วยในการกระตุ้นให้กล้ามเนื้อเกิดการหดตัว โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจ
6. ช่วยกระตุ้นให้เกิดการย่อยไนอาซีนและไรโบเฟลวินดีขึ้น ซึ่งหากไม่มีฟอสฟอรัสจะทำให้กระบวนการย่อยดังกล่าวไม่สามารถเกิดขึ้นได้
7. เป็นส่วนประกอบที่มีความจำเป็นของนิวคลีโอโปรตีน ซึ่งจะช่วยในการแบ่งตัวของเซลล์และถ่ายทอดพันธุกรรมจากพ่อแม่ไปสู่ลูก
8. มีความจำเป็นต่อการทำงานของไต และช่วยส่งแรงกระตุ้นของประสาทได้อย่างดีเยี่ยม
9. ทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบของฟอสโฟลิปิด โดยมีความสำคัญต่อการขนส่งไขมันและกรดไขมัน รวมถึงช่วยป้องกันการสะสมที่มากเกินไปของกรดและด่างในเลือด และส่งเสริมการขับของฮอร์โมนจากต่อมต่างๆ ได้ดี นอกจากนี้ฟอสโฟลิปิด ก็ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการทำงานของจิตใจและระบบประสาทได้อีกด้วย
การดูดซึมและการเก็บฟอสฟอรัส
ฟอสฟอรัส สามารถถูกดูดซึมได้ดีบริเวณลำไส้เล็กตอนกลางและตอนปลาย ซึ่งจะถูกดูดซึมในรูปของฟอสเฟตอิสระได้ดีกว่าในรูปอื่นๆ ส่วนการจัดเก็บฟอสฟอรัสไว้ในร่างกายนั้น ส่วนใหญ่จะถูกเก็บไว้ในกระดูกและฟันร่วมกับแคลเซียม และมีการขขับเอาฟอสฟอรัสส่วนเกินออกมาทางปัสสาวะ และอุจจาระในปริมาณน้อยมาก ซึ่งจะมีไตทำหน้าที่ในการควบคุมระดับของฟอสฟอรัสในเลือดนั่นเอง
ฟอสฟอรัสมักจะถูกนำมาใช้ร่วมกับแคลเซียม ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการนำมาใช้งานที่สุด
นอกจากนี้ฟอสฟอรัสก็จะถูกดูดซึมได้ดีขึ้นเมื่อมีแคลเซียม วิตามินดีและพาราธัยรอยด์ฮอร์โมนเป็นตัวช่วย แต่ในขณะเดียวกันก็จะถูกขัดขวางการดูดซึมได้ เมื่อร่างกายมีอลูมิเนียม เหล็กและแมกนีเซียมในปริมาณที่มากเกินไปเช่นกัน เพราะแร่ธาตุเหล่านี้จะรวมเข้ากับฟอสฟอรัสจนเกิดเป็นฟอสเฟตที่ไม่ละลายและทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมไปได้นั่นเอง
แหล่งที่พบฟอสฟอรัส
สำหรับแหล่งที่พบฟอสฟอรัส ส่วนใหญ่จะพบได้มากในอาหารที่มีโปรตีนสูง จำพวกเนื้อสัตว์ เป็ด ไข่ ไก่ และปลา ซึ่งอาหารเหล่านี้ก็จะมีปริมาณของฟอสฟอรัสที่สูงมากเช่นกัน
ปริมาณฟอสฟอรัสอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทยวัยต่าง | |||
เพศ | อายุ | ปริมาณที่ได้รับ | หน่วย |
เด็ก | 1-3 ปี | 460 | มิลลิกรัม/วัน |
4-8 ปี | 500 | มิลลิกรัม/วัน | |
วัยรุ่น | 9-18 ปี | 1,000 | มิลลิกรัม/วัน |
ผู้ใหญ่ | 19-≥71 ปี | 700 | มิลลิกรัม/วัน |
ผลจากการขาดฟอสฟอรัส
เมื่อร่างกายได้รับฟอสฟอรัสในปริมาณที่น้อยเกินไป โดยเฉพาะเมื่อมีภาวะการขาดวิตามินดีและแคลเซียมร่วมด้วย จะส่งผลให้การเจริญเติบโตช้าลง โดยเฉพาะในวัยเด็ก และทำให้กระดูกและฟันไม่แข็งแรงอีกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการขาดฟอสฟอรัสจะพบขาดร่วมกับแร่ธาตุอื่น ๆ เสมอ ส่วนการขาดฟอสฟอรัสเพียงอย่างเดียวมักจะไม่ค่อยพบมากนัก นอกจากในคนที่มีความผิดปกติบางอย่าง หรือคนที่กินยาลดกรดที่ประกอบไปด้วย สารอลูมินัมไฮดรอกไซค์ ( Aluminum Hydroxide ) เป็นระยะเวลานานอย่างต่อเนื่อง เพราะจะไปลดการดูดซึมฟอสฟอรัสของร่างกาย จนทำ ให้ขาดฟอสฟอรัสได้ในที่สุด และโรคจากการขาดฟอสฟอรัส ได้แก่ โรคเหงือกอักเสบและโรคกระดูกอ่อนในเด็ก ซึ่งก็จะทำให้มีอาการหายใจผิดปกติ เหนื่อยล้าง่ายและในบางคนก็อาจมีน้ำหนักลดหรือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย
การเป็นพิษของฟอสฟอรัส สำหรับการเป็นพิษจากการได้รับฟอสฟอรัสมากเกินไป ยังไม่มีรายงานในส่วนนี้
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง
เอกสารอ้างอิง
Ellis, Bobby D.; MacDonald, Charles L. B. (2006). “Phosphorus(I) Iodide: A Versatile Metathesis Reagent for the Synthesis of Low Oxidation State Phosphorus Compounds”. Inorganic Chemistry.
Lide, D. R., ed. (2005). “Magnetic susceptibility of the elements and inorganic compounds”. CRC Handbook of Chemistry and Physics (PDF) (86th ed.). Boca Raton (FL): CRC Press. ISBN 0-8493-0486-5.
Meija, J.; et al. (2016). “Atomic weights of the elements 2013 (IUPAC Technical Report)”. Pure Appl. Chem.