ผลตรวจเลือด
ผลตรวจเลือด ( Blood Tests ) สามารถบอกข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพของเราได้มากมาย ตั้งแต่การประเมินระบบภูมิคุ้มกัน การทำงานของอวัยวะ เช่น ตับและไต ไปจนถึงการตรวจสอบภาวะโลหิตจางหรือระดับน้ำตาลในเลือด การรู้จักค่าเลือดปกติและวิธีแปลผลแลปจึงมีความสำคัญ เพราะจะช่วยให้เข้าใจสัญญาณสุขภาพและความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในร่างกายได้อย่างทันท่วงที บทความนี้จะเจาะลึกข้อมูลต่างๆ ที่ผลตรวจเลือดบอกได้ พร้อมทั้งแนะนำวิธีการอ่านค่าเลือดหลักๆ เพื่อให้ทุกคนสามารถนำไปใช้ประเมินสุขภาพตนเองได้อย่างมั่นใจ
1. ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ( Complete Blood Count : CBC ) คือ การตรวจสุขภาพโดยการนับปริมาณและการดูรูปร่างของเซลล์ทั้งหมดที่มีอยู่ในเลือด ซึ่งผลของการวัดค่าต่าง ๆ จะบ่งบอกถึงสุขภาพโดยรวมและค่าสภาวะของเลือดของผู้เข้ารับการตรวจว่าเป็นอย่างไรบ้าง โดยการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด จะแสดงข้อมูลผลเลือดที่สำคัญในมนุษย์ 3 กลุ่ม ได้แก่
- เม็ดเลือดแดง ( Red Blood Cell : RBC )
- เม็ดเลือดขาว ( White Blood Cell : WBC )
- เกล็ดเลือด ( Platelet : PLT )
การแปลผลความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ค่าแต่ละชนิดสามารถแปลความความหมายโดยละเอียดได้ดังนี้
1.1 ฮีโมโกลบิน
ฮีโมโกลบิน ( Hemoglobin : Hb / HGB ) คือ ค่าระดับโปรตีนหรือสารสีแดงในเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ทำหน้าที่จับกับออกซิเจน เพื่อนำออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายและนำคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกาย การตรวจสารฮีโมโกลบินเป็นการตรวจเพื่อบ่งบอกว่าร่างกายมี ภาวะเลือดจาง หรือมี ค่าเลือดจาง หรือไม่ ซึ่งได้มีการกำหนดค่าผลเลือดมาตรฐานไว้ดังนี้
ค่าเลือดปกติของฮีโมโกลบินสำหรับเพศชายและเพศหญิง คือ
ค่าฮีโมโกลบินมาตรฐานสำหรับผู้ชาย = 13.5-17.5 g/dL |
ค่าฮีโมโกลบินมาตรฐานสำหรับผู้หญิง = 12.0-15.5 g/dL |
ถ้าค่าฮีโมโกลบินที่ตรวจวัดได้มีค่าน้อยกว่ามาตรฐานในตารางด้านบนแสดงว่าผู้เข้ารับการตรวจมีภาวะ โลหิตจาง ( Anemia ) เกิดขึ้น ส่งผลให้เลือดไม่สามารถพาออกซิเจนไปเข้าสู่ร่างกายได้เพียงพอต่อความต้องการ หรือหากค่าฮีโมโกลบินที่ตรวจวัดได้มีค่าสูงกว่ามาตรฐานในตารางด้านบนแสดงว่าผู้เข้ารับการตรวจมีภาวะ เลือดแดงมาก หรือ ภาวะเลือดหนืด
ภาวะเลือดหนืด ( Polycythemia ) คือ ภาวะที่ไขกระดูกผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงในจำนวนที่มากผิดปกติ ส่งผลให้เลือดมีความเข้มข้นสูง ไหลเวียนได้ช้าลง และมีความเสี่ยงที่เม็ดเลือดแดงเกิดการอุดตันที่หลอดเลือดฝอยได้ ซึ่งลักษณะนี้จะพบได้น้อยมาก
1.2 ฮีมาโทคริต
ฮีมาโทคริต ( Hematocrit : HCT ) คือ ค่าปริมาณความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงต่อปริมาตรของเลือดทั้งหมด ซึ่งค่านี้จะแสดงโดยการวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ เป็นค่าที่ใช้บ่งบอกสภาวะโลหิตจางเช่นเดียวกับค่าฮีโมโกลบิน ซึ่งได้มีการกำหนดค่าผลเลือดมาตรฐานว่าความเข้มข้นของเลือดปกติเท่าไหร่ดังนี้
ค่าเลือดปกติของฮีมาโทคริตสำหรับเพศชายและเพศหญิง คือ
ค่ามาตรฐานสำหรับผู้ชายมีค่าประมาณ = 40-50 % |
ค่ามาตรฐานสำหรับผู้หญิงมีค่าประมาณ = 35-47% |
ถ้าค่าฮีมาโทคริตมีค่าน้อยกว่าค่ามาตรฐานแสดงว่าร่างกายอาจจะอยู่ในสภาวะโลหิตจาง แต่ถ้าค่าฮีมาโทคริตมากกว่ามาตรฐานแสดงว่ามีภาวะเลือดหนืดเช่นเดียวกับค่าของฮีโมโกลบิน ซึ่งในการตรวจเลือดทั่วไปแล้วผลเลือดของฮีโมโกลบินและฮีมาโทคริตจะไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเป็นการยืนยันว่าเป็นโรคโลหิตจางหรือไม่ และค่าฮีมาโทคริตจะมีค่ามากกว่าค่าฮีโมโกลบินประมาณ 3 เท่าเสมอ
นอกจากนี้ฮีมาโทคริตยังมีมีชื่อเรียกอื่นอีกได้แก่ Erythrocyte Volume Fraction ( EVF ) หรือ Packed cell volume ( PCV )
1.3 การตรวจนับจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว
การตรวจนับจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว ( White Blood Cell Count : WBC ) คือ จำนวนของเม็ดเลือดขาวทุกชนิดที่มีทั้งหมดในเลือดในขณะที่ทำการตรวจ
ค่าผลเลือดปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาว คือ
ค่ามาตรฐานของเซลล์เม็ดเลือดขาว ( ค่า WBC ) ที่สภาวะปกติ คือ ประมาณ 4,500-10,000 cell/ml ( cells/mm3 ) |
- ถ้าค่าจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวมีค่าต่ำกว่ามาตรฐาน แสดงว่า ร่างกายอยู่ใน สภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ( Leukopenia ) อาจเกิดจากภาวะติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย ความผิดปกติของไขกระดูก ภาวะแพ้ภูมิตัวเอง
- ถ้าค่าจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวมีค่าสูงกว่ามาตรฐาน แสดงว่า ร่างกายอยู่ใน สภาวะเม็ดเลือดขาวสูง ( Leukocytosis ) ซึ่งมีสาเหตุมาจากการอักเสบหรือติดเชื้อภายในร่างกายทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดขาวเพื่อมาจัดการกับเชื้อโรคหรือไขกระดูกมีความผิดปกติ ( Myeloproliferative Disorder ) ที่ส่งผลให้ไขกระดูกสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวมากขึ้นผิดปกติ เป็นต้น
การรายงานจำนวนของเม็ดเลือดขาวนั้น นอกจากจะรายงานเป็นผลรวมของเซลล์เม็ดเลือดขาวทั้งหมดที่ตรวจพบแล้ว ยังสามารถรายงานแยกเป็นจำนวนเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิดได้ด้วย ซึ่งเรียกการรายงานผลแบบนี้ว่า White Blood Cell Differential ( WBC Differential )
ชนิดของเม็ดเลือดขาว
- นิวโทรฟิล ( Neotrophil : NEUT ) คือ เม็ดเลือดขาวที่มีพบอยู่ในเลือดมากที่สุด มีหน้าที่ต่อต้าน เชื้อรา ( Fungi ) และ เชื้อแบคทีเรีย ( Bacteria ) จากภายนอกที่เข้ามาในร่างกาย นิวโทรฟิลเป็นเม็ดเลือดขาวด่านแรกมีหน้าที่ดักจับเชื้อโรค เมื่อนิวโทรฟิลตายจะกลายเป็น น้ำหนอง ( Pus ) ค่าของนิวโทรฟิลจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 cells/ml หรือประมาณ 40-80% ค่าของนิวโทรฟิลจะมีค่าสูงเมื่อร่างกายของผู้ตรวจสุขภาพอยู่ในสภาวะติดเชื้อ
- ลิมโฟไซต์ ( Lymphocytes : LYMP ) คือ เซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ในการต่อต้าน เชื้อไวรัส ( Virus ) ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
- T Cell มีหน้าที่ในการกำจัดเชื้อโรค
- B Cell มีหน้าที่ในการสร้าง Antibody เพื่อจับเชื้อโรคที่เข้ามาในร่างกาย
- NK Cell มีหน้าที่ในการกำจัดเซลล์ที่เกิดการติดเชื้อการอ่านค่าผลเลือดโดยรวมของเซลล์ทั้ง 3 ชนิด จะมีค่าประมาณ 20-40% หรือประมาณ 1,000-3,000 cells/ml ค่าลิมโฟไซต์จะมีค่าสูงเมื่อมีการติดเชื้อไวรัสอย่างเฉียบพลัน เช่น การติดเชื้ออีสุกอีใส การติดเชื้อหัด การติดเชื้อวัณโรค เป็นต้น
- โมโนไซต์ ( Monocyte : MONO ) คือ เซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่จับกินเชื้อโรคและจดจำลักษณะของเชื้อโรคที่เข้ามาในร่างกาย เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนี้จะพบได้เล็กน้อยในกระแสเลือด การตรวจจะมีค่ามาตรฐานประมาณ 2-10 % หรือประมาณ 200-1,000 cell/ml ซึ่งจะมีค่าสูงเมื่อผู้ตรวจสุขภาพอยู่ในระยะฟื้นตัวจากการติดเชื้อ
- อีโอซิโนฟิล ( Eosinophils : EOS ) คือ เซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ในการต่อต้านพยาธิ อารอักเสบหรืออาการแพ้ต่างๆ โดยอีโอซิโนฟิลจะปล่อย เอ็นไซม์ ( Enzyme ) และสารเคมีกลุ่ม ไซโตไคน์ ( Cytokine ) มีค่ามาตรฐานประมาณ 1-6% หรือ 20-500 cell/ml ซึ่งจะมีค่าสูงเมื่ออยู่ใน สภาวะภูมิแพ้ ( Allergy ) หรือสภาวะที่มีพยาธิอยู่ในร่างกาย
- เบโซฟิล ( Basophils ) คือ เซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่เหมือนกับอีโอซิโนฟิล แต่เบโซฟิลจะปล่อย สารฮีสตามีน ( Histamine ) ซึ่งมีหน้าหน้าที่ในการก่อ ปฏิกิริยาภูมิแพ้ ( Anaphylaxis ) ซึ่งมีค่ามาตรฐานน้อยกว่า 1-2 % หรือ 20-1,000 cell / ml ซึ่งจะมีค่าสูงเมื่อเกิดอาการแพ้ เช่น การแพ้อาหาร ลมพิษ หรือการเกิดการอักเสบชนิดเรื้อรัง เช่น โรคลำไส้อักเสบ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น
1.4 ค่าเกร็ดเลือด
ค่าเกร็ดเลือด ( Platelet Count : PLT ) คือ จำนวนของเกร็ดเลือดหรือเม็ดเลือดที่มีขนาดเล็กที่สุดที่มีอยู่ในเลือด เกร็ดเลือดสร้างจากไขกระดูก เกร็ดเลือดจะมีอายุอยู่ประมาณ 8-9 วัน หลังจากที่เกร็ดเลือดหมดอายุจะถูกกำจัดโดยตับและม้าม เกร็ดเลือดมีหน้าที่ทำให้ เลือดแข็งตัว ( Blood Clotting ) ป้องกันไม่ให้ร่างกายสูญเสียเลือดมาก โดยเมื่อร่างกายเกิดบาดแผลหรือมีเลือดไหล เกร็ดเลือดจะมีการพองตัวและรวมตัวกันเป็นกลุ่มทำเลือดเป็นก้อนเหนียวในหลอดเลือด เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลออกจากหลอดเลือดเป็นการหยุดการไหลของเลือดนั่นเอง ค่าเกร็ดเลือดปกติมาตรฐานอยู่ที่ 130,000 – 400,000 cell/ml
- ค่าเกร็ดเลือดต่ำ ( Thrombocytopenia ) คือ มีค่าเกร็ดเลือดต่ำกว่า 100,000 cell/ml จะส่งผลให้เลือดหยุดไหลช้าเมื่อเกิดบาดแผล และมีการเกิด จุดเลือดออก ( Petechia ) ขึ้นตามผิวหนัง
- ค่าเกร็ดเลือดสูง ( Thrombocytosis ) คือ มีค่าเกร็ดเลือดมากกว่า 400,000 cell/ml จะส่งผลให้เลือดจะแข็งตัวเร็วกว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เลือดมีการแข็งตัวในหลอดเลือดจนเกิดการอุดตันของหลอดเลือด
ตัวอย่างตารางผลตรวจเลือด
ผลตรวจเลือด คือ หนึ่งในขั้นตอนการตรวจสุขภาพเพื่อตรวจสอบค่าต่าง ๆ ที่อยู่ในเลือดของผู้ที่เข้ารับการตรวจ
2. กรุ๊ปเลือด
กรุ๊ปเลือด ( Blood Group ) คือ การบ่งบอกว่าเลือดอยู่ในหมู่เลือดใด ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
2.1 ระบบ ABO System
ระบบ ABO System คือ ระบบที่นิยมนำมารายงานผลของกรุ๊ปเลือดโดยทั่วไป โดยจะระบุว่าเลือดของผู้เข้ารับการตรวจเลือดอยู่ในกลุ่มใด ซึ่งกลุ่มเลือดจะแบ่งออกเป็น 4 กรุ๊ป คือ กรุ๊ป A กรุ๊ป B กรุ๊ป O และกรุ๊ป AB
2.2 ระบบ Rh system
ระบบ Rh system คือ การระบุหมู่เลือดตาม Antigen บนเม็ดเลือด
ระบบ Rh จะมีอยู่ 2 หมู่ คือ
– Rh+ve หรือ +ve คือ เม็ดเลือดแดงที่มี Rh ( Rhesus ) Antigen ซึ่งคนไทยส่วนมากจะมีกลุ่มเลือดอยู่ในกลุ่มเลือดนี้ |
– Rh-ve หรือ –ve คือ เม็ดเลือดแดงที่ไม่มี Rh ( Rhesus ) Antigen ซึ่งคนที่มีเลือดในกลุ่มนี้จะพบได้ไม่มากนักในคนไทย |
3. ระดับน้ำตาลในเลือด
ระดับน้ำตาลในเลือด ( Fasting Blood Sugar ) คือ การตรวจวัดระดับ น้ำตาลกลูโคส ( Glucose ) ในเลือด สำหรับการเลือดเพื่อคัดกรองว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ ในการตรวจนี้ผู้ตรวจควรงดน้ำ และงดอาหารก่อนการตรวจอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง เพื่อให้ที่ค่าที่ตรวจได้มีความแม่นยำ โดยค่าเลือดปกติของระดับน้ำตาลในเลือดจะอยู่ที่ 75-110 mg/dl
การอ่านค่าระดับน้ำตาลในเลือดตามมาตรฐาน มีดังนี้
- ระดับน้ำตาลมีค่ามากกว่า 110 – 140 mg/dl คือ ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือมีแนวโน้มที่จะมีอาการของโรคเบาหวาน
- ระดับน้ำตาลมีค่ามากกว่า 140 – 200 mg/dl คือ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานในระยะเริ่มต้น
- ระดับน้ำตาลมีค่ามากกว่า 200 mg/dl คือ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและต้องได้รับการรักษาจากแพทย์
4. การตรวจระดับไขมันในเลือด
การตรวจระดับไขมันในเลือด คือ การวัดค่าของไขมันที่มีอยู่ในเลือด การตรวจนี้ก็เพื่อที่ต้องการทราบถึงค่าปริมาณของไขมันที่มีอยู่ในเลือดว่าไขมันชนิดไหนมีปริมาณเท่าไหร่บ้าง ซึ่งการรู้ว่าในเลือดมีไขมันชนิดดีหรือไม่ดีในปริมาณเท่าไหร่จะทำให้ผู้เข้ารับการตรวจ สนใจดูแลเรื่องอาหารและการออกกำลังกายมากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคในอนาคตได้ ซึ่งการตรวจจะมีการตรวจไขมัน 4 ชนิด ดังนี้
- คอเรสเตอรอลรวม ( Total Cholesterol : TC ) เป็นการวัดปริมาณ คอเลสเตอรรอล ทั้ง คอเลสเตอรอลชนิดดี และ คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี ที่มีอยู่ในกระแสเลือด ซึ่งค่าเลือดปกติของคอเลสเตอรอลควรมีค่าไม่เกิน 200 mg / dl
- ไตรกลีเซอรไรด์ ( Triglyceride ) คือ ไขมันที่ได้จากการสังเคราะห์ในร่างกายและการรับประทานอาหารที่มีไขมันเข้าไป ไตรกลีเซอไรด์จะมีการเปลี่ยนไปเป็นไขมันที่สะสมอยู่ในร่างกาย ถ้าไตรกลีเซอไรด์มีค่าสูง แสดงว่าร่างกายมีการสะสมของไขมันเพิ่มมากขึ้น มีความเสี่ยงในการเป็น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันอุดตัน หลอดเลือดแข็งตัว เมื่อมีการสะสมมากจะทำให้เกิด ภาวะอ้วน ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคอื่น ๆ ตามมา ค่าเลือดปกติของไตรกลีเซอไรด์ควรมีค่าไม่เกิน 150 mg/dl
- ไขมันชนิดดี ( High Density Lipoprotein : HDL ) คือ ไขมันดีที่ตับสังเคราะห์ขึ้นมา ซึ่งค่าเลือดปกติควรมีค่า HDL ไม่ต่ำกว่า 40 mg/dl จึงจะอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม เพราะว่า HDL มีหน้าที่ป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ
- ไขมันชนิดเลว ( Low Density Lipoprotein : LDL ) คือ ไขมันชนิดไม่ดี ซึ่งไขมันชนิดนี้มาได้จากการรับประทานเข้าไปและการสังเคราะห์ที่ตับ LDL สามารถเข้าไปสะสมอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ กลายเป็นไขมันส่วนเกิน และสามารถสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดตีบหรืออุดตันได้ ซี่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ ค่าเลือดปกติภายในร่างกายควรมี LDL ไม่เกิน 100 mg/dl เพราะถ้าเกินกว่านี้ร่างกายจะเกิดการสะสมไม่สามารถกำจัดหรือใช้งานได้หมด
การที่จะให้ผลการตรวจมีความแม่นยำมากที่สุด ผู้ตรวจควรอดน้ำ อดอาหารอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงก่อนทำการเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจ
หลังการตรวจเลือดผู้เข้ารับการตรวจจะได้รับตารางรายงานผลค่าผลเลือดต่าง ๆ ซึ่งในตารางผลการตรวจจะมีการระบุค่าเลือดปกติไว้ด้านหลังค่าของผู้เข้ารับการตรวจด้วย โดยค่าเลือดปกติจะเป็นค่ามาตรฐานที่จะมีค่าไม่เท่ากันทุกคน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วย เช่น อายุ เพศ ความสูง น้ำหนัก เป็นต้น ซึ่งเมื่อผลการตรวจออกมาแล้ว เราควรทำความเข้าใจและดูค่าโดยรวมว่ามีค่าผลเลือดใดเกินค่าเลือดปกติบ้าง และถ้ามีข้อสงสัยหรือมีความกังวลว่าจะเป็นโรคใดหรือไม่ ผู้เข้ารับการตรวจควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์เพื่อทำการตรวจวิเคราะห์อีกครั้งถึงจะสามารถสรุปได้ว่าท่านเป็นโรคจริงหรือไม่ และเมื่อทราบค่าผลตรวจเลือดแล้วพบว่าเรามีความเสี่ยงในด้านใด เราควรใส่ใจเลือกอาหารให้เหมาะสมกับสภาวะร่างกายของเรา เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรงต่อไป
ร่วมตอบคำถามกับเรา
เอกสารอ้างอิง
ประสาร เปรมะสกุล, พลเอก. คู่มือแปลผลตรวจเลือด เล่มสอง. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์, 2554. 416 หน้า. 1. เลือด – การตรวจ I.ชื่อเรื่อง. 616.07561 ISBN 978-974-9608-49-4.