การจัดการและการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน
เบาหวานเกิดจากน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เป็นดรคที่รักษาไม่หายต้องได้รับการดูแลตลอดชีวิต

โรคเบาหวาน ( Diabetes )

โรคเบาหวาน ( Diabetes ) เป็น ภาวะที่ในกระแสเลือดมีระดับน้ำตาลสูงกว่าปกติ อันเนื่องมาจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือประสิทธิภาพในการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินลดลง เป็นเหตุให้น้ำระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น

กระบวนการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน

การค้นหา คัดกรอง กลุ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและการเข้าสู่การวินิจฉัยโรค

การให้ความรู้และเสริมพลังผู้ป่วยและครอบครัวในการป้องกันและเกิด โรคเบาหวานอย่างต่อเนื่อง

ความจำเป็นและความเหมาะสมของการรักษาพยาบาล

1. ประชนทั่วไป หรือผู้มาใช้บริการในโรงพยาบาลควรได้รับค้นหาความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ด้วยการทำแบบประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานในอนาคต

2. ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานได้รับการคัดกรอง โรคเบาหวานเพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เริ่มแรก ด้วยตรวจพลาสมากลูโคสขณะอดอาหา ( Fasting plasma glucose, FPG ) ถ้าไม่สามารถตรวจ FPG ให้ตรวจ Fasting Capillary Blood Glucose ได้

3. ผู้ที่มีผลการตรวจ FPG หรือ Fasting Capillary Blood Glucose มีค่า ≥ 126 มก./ดล. ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน ได้รับการลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน และส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโดยทีมบุคลากรทางการแพทย์

4. ผู้ที่มีระดับ FPG 100-125 มก./ดล. วินิจฉัยเป็น IFG ควรได้รับคำแนะนำให้ป้องกันโรคเบาหวาน โดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ติดตาม FPG ซ้ำทุกๆ 1-3 ปี ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงที่มีและคัดแยกเป็นรายกรณีไป

5.การจัดการรายบุคคล
5.1 ได้รับความรู้และคำปรึกษาเรื่อง Life Style Modification ด้านการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการงดสูบบุหรี่ ( ปฏิบัติได้ทั้งรายบุคคล/รายกลุ่ม ) ทุก 3 เดือน
5.2 ได้รับการตรวจประเมิน BMI รอบเอว ความดันโลหิต (ใช้สถานบริการสุขภาพในชุมชน) ทุก 1 เดือน
5.3 ได้รับการตรวจเลือดประเมินระดับ FPG, Total Cholesterol, Triglyceride, HDL ทุก 6 เดือน
5.4 มีสมุดบันทึกสุขภาพ ( Record book ) ประจำตัวผู้ป่วย เพื่อบันทึกน้ำหนักตัว BMI รอบเอว ระดับความดันโลหิต ผลการตรวจเลือดและบันทึกพฤติกรรมสุขภาพเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย

6.การจัดการกับชุมชน
6.1 ให้มีการจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องพฤติกรรมสุขภาพ รณรงค์เรื่องการลดพฤติกรรมเสี่ยงอย่างต่อเนื่องในชุมชนทุก 6 เดือน 

6.2 เตรียมผู้นำทางสุขภาพในชุมชน เพิ่มบทบาทของ อสม.โดยจัดอบรมผู้นำทางสุขภาพในชุมชนทุก 1 ปี เพื่อเป็นแกนนำในการติดตามพฤติกรรมสุขภาพและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับบุคลากรสุขภาพ

ผู้ป่วยสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตได้ภายหลังการได้รับความรู้และคำปรึกษาแนะนำ

ความผันแปร

ไม่มีการค้นหาและคัดกรองกลุ่มเสี่ยงในโรงพยาบาลและในชุมชน

1. ไม่สามารถควบคุมภาวะ Metabolic Syndrome ได้ ภายใน 6 เดือน
: ระดับความดันโลหิต > 130/85 และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ
: BMI สูงเกินเกณฑ์และมีแนวโน้มสูงขึ้นตลอด
: ระดับTriglyceride, HDL สูงเกินมาตรฐานมาตลอดและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ

2. ไม่ได้รับการตรวจเลือดประเมินระดับ FPG, Total Cholesterol, Triglyceride, HDL

การจัดการทรัพยากรเพื่อลดความผันแปร

จัดให้เจ้าหน้าที่ทางสาธารณะสุขทำการค้นหากลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานในชุมชน

1. จัดโปรแกรมให้ความรู้และคำปรึกษารายบุคคล
2. ประสานรพ.ชุมชน/รพ.จังหวัดเพื่อส่งผู้ป่วยไปรับความรู้และคำปรึกษาเรื่อง Life style modification ทุก 3 เดือน รวมทั้งตรวจประเมินระดับ FPG, Total Cholesterol, Triglyceride, HD ทุก 6 เดือน
3. นัดผู้ป่วยพบแพทย์อายุรกรรมในโรงพยาบาล หากผลการตรวจเลือดวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคเบาหวาน 

ผลลัพธ์ที่คาดหวัง

อัตราความชุก ( Prevalence ) และ อัตราการเกิดโรคเบาหวาน ( Incidence ) ลดลง

อัตราผู้ป่วยโรคเบาหวานรายใหม่ จากกลุ่มเสี่ยง Impaired Fasting Glucose ( IFG ) ลดลง

การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน

1. ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 การรักษาควรเริ่มด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตก่อนหารให้ยา หรือพร้อมกับการเริ่มยา
2. สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 การเริ่มยากิน ควรเริ่มขนานเดียว ถ้าผู้ป่วยมีลักษณะของการขาดอินซูลินให้เริ่มด้วยซัลโฟนีลยูเรีย หรือถ้ามีลักษณะของการดื้ออินซูลินให้เริ่มด้วยเม็ทฟอร์มิน
3. ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานควรเน้นย้ำเรื่องการปรับพฤติกรรมที่เหมาะสมกับผู้ป่วยทุกรายในทุกขั้นตอนของการรักษา
4. ระยะเวลาที่พิจารณาผลการรักษา เมื่อเริ่มการรักษาควรติดตามและปรับขนาดยาทุก 1-4 สัปดาห์จนได้ระดับน้ำตาลในเลือดตามเป้าหมาย ในระยะยาว เป้าหมายการรักษาใช้ระดับ HbA1c เป็นหลักโดยติดตามทุก 2-6 เดือนหรือโดยเฉลี่ยทุก 3 เดือน
5.ไม่สามารถควบคุมเบาหวานได้ ภายใน 2-3 เดือนภายหลังได้รับการรักษา : HbA1c > 7%
FPG >130มก.ดล.
6. เริ่มมีภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน ทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง
7. ไม่มีการส่งตรวจระดับ HbA1c, ไขมันในเลือด การทำงานของไต การตรวจเท้า การตรวจจอประสาทตา
8. ผู้ป่วยควบคุมเบาหวานได้โดยพิจารณาจาก

  • HbA1c < 7%
  • BP < 130/80 mmHg
  • TC < 170 mg/dl.
  • LDL < 100 mg/dl.
  • TG < 150 mg/dl.
  • HDL ≥ 40 mg/dl. (ช)
    ≥ 50 mg/dl. (ญ)
  • ไม่พบการ Admitted ด้วยภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันจากโรคเบาหวาน

9. ผู้ป่วยได้รับการตรวจจอประสาทตาการทำงานของไตและตรวจเท้าปีละ 1 ครั้ง 

ผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแลต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ป่วยควบคุมเบาหวานไม่ได้ เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งชนิดเฉียบพลัน และเรื้อรังจากเบาหวานสูงขึ้น

การให้ความรู้และเสริมพลังผู้ป่วยและครอบครัว

1. การให้ความรู้ผู้ป่วยเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่ม โดยให้ตรงกับปัญหาในแต่ละครั้งที่ไปตรวจเยี่ยมทุก 2-3 เดือนดังนี้
1.1 ความรู้เกี่ยวกับเบาหวานและภาวะแทรกซ้อน
1.2 ยารักษาโรคเบาหวาน
1.3 บำบัดและการออกกำลังกาย
1.4 การดูแลเปิดเองในภาวะปกติและไม่สบาย
1.5 การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดและแปลผล
1.6 ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงผิดปกติและวิธีป้องกันแก้ไข
1.7 การสังเกตอาการที่ต้องมาพบแพทย์ก่อนวันนัด
1.8 การดูแลรักษาเท้า
2. ได้รับคำปรึกษาในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิต ( Life Style Modification ) ด้านการรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ และการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม ร่วมกับมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เช่น งดสูบบุหรี่ ทันทีที่ได้รับการวินิจฉัยโรค โดยตั้งเป้าหมายระดับการควบคุมให้เหมาะสมกับอายุและภาวะของผู้ป่วย
3. เสริมพลังให้ผู้ป่วยสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิต ได้สำเร็จด้วยกิจกรรมต่างๆเช่น จัดกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน ค่ายเบาหวาน ชมรมผู้ป่วยเบาหวาน เป็นต้น
4. ประสานพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเบาหวาน เพื่อให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตเพื่อป้องกัน
ภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้สูง
5. จัดโปรแกรมให้ความรู้รายบุคคลที่เฉพาะเจาะจง อย่างครอบคลุมและต่อเนื่องทุก 3 เดือน

การประสานการดูแลต่อเนื่อง

1. ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรได้รับการติดตามประเมินผลการรักษา เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามเป้าหมายภายใน 3-6 เดือน
2. ผู้ป่วยควรได้รับการติดตามประเมินความสามารถในการดูแลตนเอง ที่บ้านว่ามีการปฏิบัติตามแผนการรักษาอย่างสม่ำเสมอและถูกต้องหรือไม่ หรือมีอุปสรรคในการรักษาอย่างไร โดยใช้การโทรศัพท์เยี่ยม
3. จัดระบบพยาบาลเจ้าของไข้ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการติดตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตโดยพยาบาลคนเดิมเพื่อช่วยในการควบคุมเบาหวานได้สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด
4. จัดทำแบบบันทึกการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานในแต่ละครั้งที่ไปตรวจเยี่ยมและบันทึกสรุปประจำปีเพื่อประเมินผลการดูแลรักษาผู้ป่วย

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

ศิริอร สินธุม พิเชต วงรอต, การจัดการรายกรณีผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง. สมาคมผู้จัดการรายกรณีประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 3. 2558. วัฒนาการพิมพ์ กรุงเทพฯ 242 หน้า ISBN : 978-616-92014-0-3.