การตรวจแร่ธาตุและสารละลายในร่างกาย
โซเดียมที่มีในร่างการมนุษย์ คือ โซเดียมคลอไรด์ หรือ เกลือธรรมดาทั่วๆไป

ค่าอิเล็กโทรไลต์ คือ

Electrolyte หรือสารละลายของธาตุระดับโมเลกุลที่มีประจุไฟฟ้า คือ แร่ธาตุอันเป็นสารเคมีที่สามารถนำไฟฟ้าได้ซึ่งแตกตัวออกจนเป็นส่วนย่อยเล็กที่สุด ( ระดับไอออน ) ละลายอยู่ในในปัสสาวะ เนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ และเลือดภายในร่างกายด้วยจำนวนอันน้อยนิด แต่เพียงพอที่จะทำให้เกิดสภาวะสมดุลระหว่างแร่ธาตุที่ละลายอยู่ด้วยกัน

การตรวจค่าอิเล็กโทรไต์ ( Electrolyte ) เพื่อจะทราบว่า สารละลายสื่อนำไฟฟ้า Electrolyte ชนิดต่างๆ ของแร่ธาตุ ( Mineral ) ในเลือดว่ามีค่าอยู่ในสภาวะสมดุลหรือไม่ หรือเพื่อจะทราบว่าค่าแร่ธาตุใดมีปริมาณสูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์ปกติไปมากน้อยเพียงใด เนื่องจากความผิดปกติของแร่ธาตุตัวใดๆ นั้น อาจบ่งชีถึงความไม่เป็นปกติภายในร่างกายของผู้รับการตรวจเลือดได้

แร่ธาตุซึ่งเป็น Electrolyte ในร่างกายที่สำคัญ
1 Na ธาตุโซเดียม
2 K ธาตุโปแตสเซียม
3 CI สารคลอไรด์ จากธาตุคลอรีน CI2
4 CO2 CO2 คือ สารประกอบคาร์บอนไดออกไซด์

 

แร่ธาตุหรือสารเคมีชนิดต่างๆ ใน อิเล็กโทรไลต์ ตามปกติจะมีหน้าที่โดยทั่วไปในการช่วยร่างกายให้ดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติสุข

  • ช่วยสร้างศักย์ไฟฟ้า Generate Electricity เพียงพอที่จะให้ธาตุแต่ละตัวแสดงค่าประจุไฟฟ้าเป็นบวกหรือลบ กล่าวคือ

ไอออน (+) เรียกว่า “ แคทไออน ” Cation เช่น โพแทสเซียม

ไอออน ( – ) เรียกว่า “ แอนไอออน ” Anion เช่น คลอไรด์

  • ช่วยควบคุมการยืด-หดตัวของกล้ามเนื้อ
  • ช่วยอำนวยให้เกิดการเคลื่อนไหวของน้ำและของเหลวในร่างกายเพื่อสร้างสภาวะสมดุล
  • ร่างกายเสริมปฏิกิริยาชีวเคมีทั้งหลายให้ดำเนินไปด้วยความราบรื่น

ร่างกายควบคุมความเข้มข้นหรือควบคุมค่าปกติของแร่ธาตุใน

Electrolyte ผ่านทางฮอร์โมนจากแหล่งผลิตต่างกัน

ฮอร์โมนเรนิน ( Rennin ) ผลิตจากไต
ฮอร์โมนแองจิโอเทนซิน ( Angiotensin ) ผลิตจากปอด สมอง และหัวใจ
ฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน ( Aldosterone ) ผลิตจากต่อมอะดรินัล
ฮอร์โมนแอนตี้ไดอูเรติค ( Antidiuretic Hormone, ADH ) ผลิตจากต่อมพิตูอิทารีในสมอง

แร่ธาตุหรือสารประกอบละลายในของเหลวของร่างกาย

โปแตสเซียม ( Potassium )

“ โปแตสเซียม ” ( Potassium ) สัญลักษณ์ทางเคมีคือ K เป็น แร่ธาตุ ซึ่งมีละลายอยู่ในน้ำเลือดในฐานะ อิเล็กโทรไลต์ นั้น มีปริมาณสูงต่ำกว่าเกณฑ์ปกติมากน้อยเพียงใด โปแตสเซียมมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการส่งเสริมการทำหน้าที่ของหัวใจ ผู้ที่ถูกสั่งให้ต้องกินยาขับน้ำปัสสาวะ ( กลุ่มยา Diuretics ) เพื่อลดความดันเลือด หรือผู้ที่กำลังอยู่ในห้วงการบำบัดโรคหัวใจใดๆ ก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหมั่นติดตามตรวจหาระดับค่าโปแตสเซียม K ในเลือดของตนเองให้ทราบไว้เสมอ

หน้าที่ของโปแตสเซียม

  1. โปแตสเซียม ( K ) เป็นธาตุที่จำเป็นต้องมีอยู่ในน้ำเลือดโดยเป็นสารละลายเช่นเดียวกับโซเดียม ( Na ) แต่ระดับความเข้มข้นของโปแตสเซียมนั้นจะเป็นปฏิภาคกลับกันกับโซเดียม เมื่อใดหากน้ำเลือดมีความเข้มข้นของโซเดียมอยู่ในระดับสูง เมื่อนั้นโปแตสเซียมก็จะมีความเข้มข้นอยู่ในระดับต่ำ ในทางกลับกัน หารโซเดียมต่ำ โปแตสเซียมก็จะอยู่ในระดับสูง
  1. แหล่งที่โปแตสเซียมมีความเข้มข้นสูงสุดปกติประมาณ 150 mEq / L ก็คือ ภายในเซลล์ทุกเซลล์ของมนุษย์โดยมีประจุไฟฟ้าเป็นบวก (+) ส่วนภายนอกเซลล์นั้น จะมีโปแตสเซียมที่มีความเข้มข้นเพียงระดับประมาณ 4 mEq / L โดยค่าโปแตสเซียม ( K ) ที่ตรวจหาได้จากการเจาะเลือดออกมาทราบระดับให้เป็นตัวเลขนี้ ก็คือ ค่าความเข้มข้นของโปแตสเซียมภายนอกเซลล์นี้เอง

ค่าความแตกต่างในความเข้มข้นของระดับโปแตสเซียมที่อยู่ภายในเซลล์และภายนอกเซลล์ ซึ่งเป็นอัตราส่วนต่อกันนี้ อาจเป็นตัวบ่งชี้ถึงบทบาทในการทำหน้าที่ของผนังเซลล์ซึ่งได้แก่

1) การส่งผ่านสารอาหาร Nutrients เข้าสู่ภายในเซลล์

2) การชักนำเอาของเสีย ( Wastes ) ออกทิ้งภายนอกเซลล์

3) การส่งผ่านสัญญาณไฟฟ้าของเซลล์ประสาท ( Nerve Impulse Transmission ) ตามเส้นใยประสาท เริ่มต้นผ่านจากตา หู จมูก ลิ้น หรือผิวหนัง ( จากการสัมผัส ) ไปสู่สมอง ซึ่งเป็นศูนย์กลาง และส่งผ่านกลับมายังหัวใจ ( ให้เต้นเร็วขึ้นหรือแรงขึ้น ) หรือส่งไปยังกล้ามเนื้อเพื่อเป็นปฏิกิริยาใดๆ ในการตอบสนอง เช่น ขณะเล่นกีฬา ขณะประสบอันตราย

อัตราส่วนระหว่างความเข้มข้นของโปแตสเซียมที่อยู่ภายในและภายนอกเซลล์ดังกล่าวนั้น หากผิดไปจากเกณฑ์ปกติ ก็ย่อมอาจมีผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ถึงขั้นทำให้หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ หรืออาจทำให้การบังคับกล้ามเนื้อส่วนอื่นของร่างกายลดประสิทธิภาพลง

โปแตสเซียม นับเป็นธาตุสำคัญยิ่งต่อการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อตลอดทั่วทั้งร่างกายมนุษย์ และโปรดระลึกว่า หัวใจ ที่เป็นก้อนเนื้อขนาดประมาณเท่ากับกำปั้นของตัวเจ้าของร่างกายนั้น โดยแท้จริงแล้วก็คือ ก้อนกล้ามเนื้อที่สำคัญที่สุด ซึ่งจำเป็นต้องมีและใช้โปแตสเซียมมากยิ่งกว่าก้อนกล้ามเนื้ออื่นใด

  1. โดยที่ค่าระดับโปแตสเซียมในเลือดนับว่ามีปริมาณน้อยมากอยู่แล้วกล่าวคือ เพียงประมาณ 4 mEq / L หากมีสาเหตุใดๆ ที่มากระทบต่อความเข้มข้นของโปแตสเซียมให้ต่ำลงไปอีก ย่อมจะมีผลร้ายแรงต่อสุขภาพ สภาวะผิดปกติที่อาจพบได้เมื่อระดับโปแตสเซียมต่ำก็คือ ความดันเลือดจะขึ้นสูง จนอาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดในสมองแตก ( Stroke ) นั่นเอง
  2. ยิ่งกินเค็มมากเท่าใด ก็จะยิ่งทำให้โปแตสเซียมในเลือดต่ำลงมากเท่านั้น และเมื่อโปแตสเซียมต่ำลงและต่ำลง ความดันเลือดก็จะสูงขึ้นและสูงขึ้นจึงควรงดอาหารเค็ม

เพื่อรักษาระดับโปแตสเซียมมิให้ต่ำลง มีข้อแนะนำเพิ่มเติมควรเลือกทานอาหารที่มีโปแตสเซียมสูงและโซเดียมต่ำ โดยยกมาแสดงเฉพาะอาหารบางชนิด ดังนี้

อาหารที่มีโปแตสเซียมสูงและโซเดียมต่ำ
ชนิดอาหาร (100 กรัม) โปแตสเซียม (มก.) โซเดียม (มก.)
แป้งถั่วเหลือง 1,650 9
น้ำมะเขือเทศต้ม 1,150 28
ลูกเกด 1,020 60
จมูกข้าวสาลี 950 5
กล้วยหอม 400 1
ถั่วเหลืองต้ม 510 2
มันฝรั่งอบทั้งเปลือก 600 12

 

  1. โปแตสเซียม เป็นธาตุที่อาจถูกขังทิ้งออกจากร่างกายโดยการกรองของไต จากเลือดส่งผ่านทางน้ำปัสสาวะ (คล้ายโซเดียม)
  2. การกินอาหารที่อุดมด้วยธาตุโปแตสเซียม สำหรับท่านผู้อ่านที่มีร่างกายเป็นปกติ ไตไม่เสื่อม อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพสำคัญ 3 ประเภทดังนี้
  • ช่วยลดความเสี่ยงมิให้เกิดสภาวะความดันเลือดสูง
  • ช่วยให้กล้ามเนื้อ ( รวมทั้งกล้ามเนื้อหัวใจ ) และระบบประสาททั่วร่างกาย ทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม ถูกต้อง และสมบูรณ์แบบ
  • ช่วยรักษาสภาวะสมดุลของของเหลวสารละลาย อิเล็กโทรไลต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ควบคุมดุลยภาพความเป็นกรด-ด่าง ( Acid-Base Balance ) ไม่ให้เกิดความเป็นกรดในร่างกายมากเกินไป ธาตุที่สร้างความเป็นกรดในร่างกายได้อย่างน่ากลัวก็คือ โซเดียมจากเกลือ ( จากน้ำปลา ) หรือจากอาหารเค็มทั้งหลายนั่นเอง

[adinserter name=”แบนเนอร์ checkup”]

  1. สภาวะของคนที่มีโปแตสเซียมต่ำหรือน้อย ซึ่งถูกเรียกว่า ( Hypokalemia ) นั้นโดยมากมักจะปรากฏอาการที่แสดงให้เห็นความจำเป็นว่าจะต้องรีบบริโภคอาหารซึ่งอุดมด้วยโปแตสเซียมเข้าไปช่วยแก้ไขร่างกาย นั่นคือ อาการคล้ายคลึงกับ Hypernatremia หรือมีโซเดียมมากเกินไป กล่าวคือ มักปรากฏอาการบางอย่าง ดังนี้
  • ท้องร่วงต่อเนื่องเรื้อรัง
  • ปัสสาวะบ่อยครั้งจากการกินยาขับปัสสาวะ ( Diuretics )
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • เหนื่อยอ่อน
  • เกิดปัญหาโรคหัวใจบางโรค
  • ความคิดสับสน
  • กระสับกระส่าย
  1. เนื่องจากระดับโปแตสเซียมปกติในเลือดมีค่าเพียงประมาณ 4 mEq / L ซึ่งไม่สูงมากนัก โดยเหตุนี้ การเติมโปแตสเซียมจากอาหารจึงนับว่าพอเพียงและปลอดภัย เนื่องจากสูงเกินเกณฑ์เมื่อใด ก็จะมีไตช่วยกรองขับทิ้งออกไปนอกร่างกาย

ในทุกกรณีจึงมีข้อห้าม ที่มิให้ผู้ใดไปซื้อเกลือโปแตสเซียม (Potassium Chloride หรือ Potassium Bicarbonate) มากินเอง เนื่องจากหากระดับโปแตสเซียมในเลือดสูงมากกว่าเกณฑ์ปกติไปมากๆ จะเกิดเป็นพิษแก่ร่างกาย โดยอาจเกิดอันตรายด้วยอาการนับตั้งแต่ คลื่นเหียน อาเจียน ท้องร่วง หัวใจเต้นผิดจังหวะ จนถึงขั้นหัวใจพิบัติ ( Heart Attack ) ในทางการแพทย์ท่านจะเรียกสภาวะของผู้ที่โพแทสเซียมในเลือดสูงเกินปกติว่า ไฮเปอร์คาเมเมีย ( Hyperkalemia )

ค่าปกติของโปแตสเซียม ( K )
  1. ให้ยึดถือตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด
  2. ค่าปกติทั่วไป
ผู้ใหญ่/ผู้สูงอายุ K : 3.5 – 5.0 mEq/L
ค่าวิกฤติ K : < 2.5 หรือ > 5.0 mEq/L
หมายเหตุ K : 1 mEq/L = 39.1 mEq/L

ค่าผิดปกติโปแตสเซียม ( K )

  1. ค่าผิดปกติในทางน้อย ( Hypokalemia ) อาจแสดงผลว่า
  • ในกรณีผู้เป็นโรคเบาหวานและได้รับการรักษาด้วยวิธีฉีดอินซูลินผลแห่งการใช้อินซูลินให้พากลูโคส ( น้ำตาลในเลือด ) เข้าสู่ภายในเซลล์ มันก็จะช่วยพาโปแตสเซียมจากน้ำเลือดเข้าสู่ภายในเซลล์พร้อมกันไปด้วย โดยเหตุนี้ จึงอาจมีผลต่อผู้ฉีดอินซูลินว่า โปแตสเซียมในเลือด ( ส่วนที่อยู่ภายนอกเซลล์ ) มีโอกาสที่จะต่ำกว่าระดับปกติได้
  • ในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการท้องมาน ( Ascites ) ซึ่งจะทำให้ของเหลวในช่องท้องไปกดทับหลอดเลือดเลือดแดงจนอาจทำให้เลือดไหลไปสู่ไตไม่สะดวกหรือกรณีผู้ป่วยมีอาการปรากฏว่าหลอดเลือดไตตีบเอง ( Renal Artery Stenosis ) ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ย่อมจะทำให้ฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน ( Aldosterone ) ออกมาทำหน้าที่บังคับไตให้ดูดกลับโซเดียมมากกว่าปกติ
  • บริโภคอาหารที่อุดมด้วยโพแทสเซียมน้อยไป
  • เนื่องจากกินยาบางประเภทที่มีผลต่อการขับทิ้งโพแทสเซียม เช่น

กลุ่มยาระบาย ( Laxatives ) ใช้แก้อาการท้องผูก

กลุ่มยาขับปัสสาวะ ( Diuretics ) ใช้ลดความดันเลือดสูง

กลุ่มยาแก้ปวด ( Steroids ) ใช้แก้อาการอักเสบต่างๆ

กลุ่มยาเหล่านี้ ล้วนอาจมีส่วนช่วยขับทิ้งโพแทสเซียมออกไปนอกร่างกาย ถึงขั้นสร้างผลเสียหายร้ายแรงได้ทั้งสิ้น

  • ในร่างกายคนที่สุขภาพไม่ดีอาจเกิดสภาวะฮอร์โมนแอลโดสเตอโรนทำงานเกิน ( Hyperaldosteronism ) โดยฮอร์โมนตัวนี้ตามปกติมันจะมีบทบาทไปบังคับให้ไตดูดกลับโซเดียมก่อนที่จะปล่อยทิ้งไปกับปัสสาวะ หากมันทำงานเป็นปกติ มันก็จะไปบังคับไตให้ดูดกลับโซเดียมเพียงเท่าที่ร่างกายจำเป็นจะต้องมีใช้ทำให้โซเดียมในเลือดอยู่ในระดับปกติ กรณีมันทำงานเกิดปกติ มันก็จะไปบังคับไตให้ดูดกลับโซเดียมคืนมาให้ร่างกายมากเกินไป จนทำให้มีโซเดียมในเลือดสูงเกินเกณฑ์ปกติ ในน้ำเลือดนั้นถ้าโซเดียมสูงขึ้นเมื่อใด โพแทสเซียมก็จะต่ำลง โซเดียมสูงเมื่อใด โพแทสเซียมก็ต่ำลงเมื่อนั้น
  1. ค่าผิดปกติในทางมาก ( Hyperkalemia ) อาจแสดงผลว่า
  • อาจเกิดอาการบาดเจ็บ หรือการฟกช้ำต่อเนื้อเยื่อ ซึ่งมีผลกระทบต่อเซลล์ จนอาจทำให้โปแตสเซียมที่มีอยู่เข้มข้นภายในเซลล์ต้องหลุดลอดออกมาสู่กระแสเลือด จึงทำให้ค่าโปแตสเซียมในเลือดสูงขึ้น
  • อาจเกิดสภาวะโลหิตจางเพราะเหตุเม็ดเลือดแดงแตก ( Hemolysis ) จึงทำให้โปแตสเซียมหลุดออกจากเซลล์เม็ดเลือดแดง
  • บริโภคอาหารที่อุดมด้วยโปแตสเซียมมากเกินไป มนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งกินอาหารประเภทผัดสด และผลไม้สดด้วยอัตราส่วนที่ต่ำกว่าเนื้อสัตว์มากมาย จึงยากนักหนาที่จะเกิดมีโปแตสเซียมระดับสูงจากอาหารที่กินเข้าไป
  • อาจมีโรคหรือเหตุสำคัญทำให้เกิดสภาวะฮอร์โมนแอลโดสเตอโรนทำงานต่ำเกินไป ( Hypoaldosteronism ) ซึ่งหมายถึงว่า ร่างกายมีปริมาณฮอร์โมนตัวนี้น้อยเกินไป จึงไปบังคับไตให้ดูดกลับโซเดียมไม่ได้เต็มที่ เป็นผลทำให้โซเดียมถูกปล่อยทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะโดยไร้การควบคุม ซึ่งจะเป็นเหตุทำให้โซเดียมในเลือดมีค่าลดระดับต่ำลง

แร่ธาตุโซเดียมในเลือดลดลงมากเท่าใด โปแตสเซียมก็จะสูงขึ้นมากเท่านั้น

  • อาจเกิดจากเหตุที่คาดไม่ถึงซึ่งสามารถนับเป็นเหตุสำคัญได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ จากยาที่กินเข้าไปด้วยวัตถุประสงค์จะรักษาโรคใดโรคหนึ่งแต่ยานั้นกลับมีพิษ หรือมีผลข้างเคียงที่ทำให้โพแทสเซียมในเลือดสูงขึ้น เช่น

กลุ่มยา Heparin ( ใช้ช่วยให้เลือดมีความใส )

กลุ่มยา Captopril ( ใช้รักษาโรคความดันเลือดสูง )

กลุ่มยา Antineoplastic Drugs ( ใช้รักษาโรคมะเร็ง )

กลุ่มยา Aminocaproic Acid ( ใช้ยับยั้งการแข็งตัวของเลือด )

กลุ่มยา Antibiotics ( ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรคทั้งหลาย )

  • อาจเกิดสภาวะไตวายอย่างเฉียบพลันหรือเรื้อรัง จึงทำให้ลดหรือหมดขีดความสามารถในการขับทิ้งโปแตสเซียม

โซเดียม ( Sodium )

“ โซเดียม ” Sodium เป็น แร่ธาตุ สัญลักษณ์ทางเคมี คือ Na ซึ่งมีละลายอยู่ในน้ำเลือดในฐานะ อิเล็กโทรไลต์ มีปริมาณอยู่ในระดับเท่าใด สูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์ปกติมากน้อยหรือไม่ อย่างไร ค่าใดๆ ที่ผิดปกติในทางมาก ไม่ว่าสูงมากเกินไป หรือต่ำมากเกินไปล้วนอาจเกิดอันตรายร้ายแรงได้

โซเดียม คือ เกลือแร่ หรือสารอาหารชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย โดยโซเดียมจะทำหน้าที่ควบคุมความสมดุลของเหลวในร่างกาย รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ช่วยในการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อต่างๆ ตลอดจนการดูดซึมสารอาหาร บางอย่างในไตและลำไส้เล็ก

โซเดียมที่ร่างการมนุษย์เกี่ยวข้องมากที่สุด คือ โซเดียมคลอไรด์ ( Sodium chloride, NaCI ) ก็คือ เกลือธรรมดาๆ นี่เอง

หน้าที่ของโซเดียม

  1. โซเดียม เป็น แร่ธาตุ ที่นับว่าอยู่ในสารละลาย อิเล็กโทรไลต์ ซึ่งแสดงประจุไฟฟ้าเป็นบวก ( Cation ) โดยมีปริมาณส่วนใหญ่อยู่ภายนอกเซลล์ ด้วยความเข้มข้นประมาณ 140 mEq/L ด้วยขนาดความเข้มข้นดังกล่าว โซเดียม จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้รักษาความดันออสโมติก ( Osmotic Pressure ) สำหรับของเหลวหรือน้ำ ( เลือด ) ภายนอกเซลล์เม็ดเลือดแดงขณะเดียวกันก็สร้างแรงดันภายในหลอดเลือด ทำให้สามารถวัดความดันเลือดได้
  1. มีหลักการที่ควรจำไว้อย่างหนึ่งว่าในร่างกายมนุษย์นั้นถ้ามีโซเดียมอยู่ ณ บริเวณที่ใดมากเท่านั้นด้วยเสมอไปโดยเหตุนี้ จึงอาจสรุปเป็นหลักการทั่วไปว่า โซเดียมมีบทบาทช่วยการแจกจ่ายน้ำ หรือรักษาน้ำในร่างกายให้มีไว้ แต่หากมีโซเดียมมากเกินไป ก็จะเกิดสภาวะบวมน้ำ ( Retention of Sodium Leads to Edema ) หรืออุ้มน้ำ เช่น ในกรณีกินเกลือหรืออาหารเค็มมากเกินไป หรือในกรณีเกินสภาวะไตเสื่อม ไม่อาจขับโซเดียมทิ้งออกทางน้ำปัสสาวะได้ตามที่เคยกระทำ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเกิดจากกรณีใด โซเดียมก็ย่อมจะล้นเกิน หล่นลงมากองจนเข้มข้นอยู่บริเวณขาหรือเท้า ทำให้ต้องมีน้ำมาหล่อโซเดียมจำนวนนี้ จนอาจเห็นได้จากภายนอกโดยง่ายว่ามีอาการบวมที่ขาและหลังเท้า
  2. โดยธรรมดา โซเดียมในร่างกายจะมีปริมาณเข้มข้นพอดีๆ หรืออยู่ในสภาวะสมดุลเสมอ ด้วยกระบวนการโซเดียมได้จากอาหาร = โซเดียมที่ไตขับทิ้ง ( ทางน้ำปัสสาวะ ) ในกรณีกินอาหารจืดเกินไป จนโซเดียมอาจไม่พอเพียงในเลือดร่างกายก็จะมีกลไกสั่งให้ไตทำการดูดซึมกลับ ( Reabsorb ) โซเดียม โดยไม่ยอมปล่อยให้ทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะอย่างที่เคยทำ

ในกรณีกินอาหารเค็มมากเกินไป ร่างกายก็จะสั่งให้ไตรีบเร่งรัด ปล่อยทิ้ง ( Excretion ) โซเดียมออกตามหน้าที่อย่างหนักหน่วง วันละ 3 เวลาหลังอาหาร 365 วันต่อปี ผ่านมาแล้วกี่ปีก็ดูได้จากตัวเลขของอายุ ตามวัยของตน

  1. นอกจากร่างกายจะสูญเสีย โซเดียม ทางน้ำปัสสาวะแล้ว ยังอาจสูญเสียได้อีกทางหนึ่ง คือ “เหงื่อ” แต่ด้วยปริมาณไม่มากนัก ขณะเมื่อมีการออกแรง ( เพราะทำงาน หรือเพราะออกกำลังกายก็ตาม ) จนเกิดมีเหงื่อที่พาโซเดียมออกทิ้งพ้นร่างกายทางผิวหนัง ขณะนั้นร่างกายก็จะมีฮอร์โมนตัวหนึ่งชื่อ “ แอลโดสเตอโรน ” ( Aldosterone ) ซึ่งผลิตโดยต่อมหมวกไตที่คอยเฝ้าระวัง หากพบว่าโซเดียมในเลือดชักจะลดระดับต่ำกว่าปกติ ไปสั่งให้ไตทำการดูดซึมกลับ reabsorb โซเดียม มิให้ปล่อยทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะเพื่อรักษาระดับโซเดียมในเลือดเอาไว้ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตลอดเวลา
  1. ในร่างกายของคนที่มีไตเป็นปกติดี ไตจะมีความสามารถขับโซเดียมออกทิ้งทางน้ำปัสสาวะ ได้ประมาณ 450-500 mEq ต่อวัน แปลว่า ถ้ากินอาหารไม่เค็มจัดจนเกินไป ก็จะมีสุขภาพด้านโซเดียมซึ่งละลายในเลือด ไม่เดือดร้อนอะไรนั้นเนื่องจากโซเดียม ( Na ) 500 mEq ที่ร่างกายมนุษย์ปกติสามารถขับทิ้งต่อวันนั้น โดยอาศัยตัวเลขความสัมพันธ์การแปลงค่าจะคำนวณได้เป็นโซเดียม = 500 x 23 = 11,500 mg หรือเป็นเกลือจำนวนมากกว่า 11 กรัมต่อวัน ซึ่งนับว่าสูงไม่น้อยจนไม่น่าเชื่อว่าจะมีใครกินมากขนาดนั้น แต่ในคนที่เกินเค็มจนไตขับทิ้งโซเดียมไม่ทัน หรือด้วยเหตุใดก็ตามที่ทำให้โซเดียมในเลือดมีระดับสูงมากๆ สภาวะเช่นนั้น จะมีศัพท์แพทย์เรียกว่า ( Hypernatremia )
  1. คนที่มีสภาวะ ( Hypernatremia ) หรืออยู่ในสภาวะมีเกลือ หรือมีโซเดียมละลายอยู่ในน้ำเลือดระดับสูงนั้น แม้ยังไม่ทันจะได้เจาะเลือดตรวจก็อาจเห็นอาการได้อย่างหนึ่งอย่างใด หรืออาจเกิดอาการเหล่านี้พร้อมกัน เช่น
  • กล้ามเนื้อหดเกร็ง อาจเกิดอาการชักกระตุก ( Convulsions )
  • ชอบก่อกวน
  • ไม่อยู่นิ่ง ปวดศีรษะ
  • กระสับกระส่าย ความดันเลือดสูง
  • ฉุนเฉียว
  • คอแห้ง ( Dry Mucous Membranes )
  • กระหายน้ำ
  1. คนที่มีสภาวะ ( Hypernatermia ) หรือมีเกลือต่ำ หรือมีโซเดียมในเลือดต่ำมากๆ อาจเกิดอาหาร ดังนี้
  • หมดสติ ( Coma )
  • อาการคล้ายคนสลบ ( Stupor )
  • ความคิดสับสน
  • รู้สึกอ่อนเปลี้ย ไม่มีแรง
  • แสดงความเฉื่อยชา

ค่าปกติของโซเดียม ( Na )

  1. ให้ยึดถือตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี)
  2. ค่าปกติทั่วไป
ผู้ใหญ่/ผู้สูงอายุ Na 136 – 145 mEq/L
ค่าวิกฤติ Na <120 หรือ > 160 mEq/L
หมายเหตุสูตรการแปลงค่า Na 1 mEq/L = 23 mEq/L

 

ค่าผิดปกติ

  1. ในทางน้อย ( Hypernatremia ) อาจแสดงผลว่า
  • อาจเกิดจากอาการอาเจียน หรือท้องร่วงติดต่อกันนาน ทำให้โซเดียมสูญเสียไปกับของเหลว
  • อาจเกิดจากการกินยาขับปัสสาวะ ( ยาเพื่อลดความดันเลือดสูง )
  • อาจมีเหตุสำคัญ หรือโรคของไตเอง ที่ดูดกลับโซเดียมไม่ได้อย่างที่ควรกระทำ
  • อาจกินโซเดียม หรือกินอาหารเค็มน้อยเกินไป
  • อาจเกิดโรค Addison’s disease มีต้นเหตุจากต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมน ( Aldosterone ) และฮอร์โมน ( Corticosteroid ) ไม่เพียงพอ ก็จะมีผลต่อมาทำให้ไตดูดกลับโซเดียมไม่ได้เต็มที่ จนทำให้โซเดียมสูญเสียไปกับน้ำปัสสาวะ ทำให้ปรากฏพบค่าโซเดียมในเลือดต่ำกว่าปกติ
  1. ในทางมาก ( Hypernatremia ) อาจแสดงผลว่า
  • อาจเกิดโรค Cushing’s Syndrome ที่สร้างสภาวะที่เรียกว่า ( Aldosterone-like Effect ) ทำให้ไตดูดกลับโซเดียมคืนให้ร่างกายมากเกินไป
  • อาจเกิดการเสียน้ำผ่านช่องทางเดินอาหาร เช่น ท้องร่วง ท้องเสียและเจ้าของร่างกายไม่ดื่มน้ำให้พอเพียง โซเดียมในเลือดจึงเข้มข้นขึ้น
  • อาจกินโซเดียม หรือกินอาหารเค็มมากเกินไป โดยธรรมดาเกลือ หรือโซเดียม นั้น มักมีแทรกอยู่ในอาหารของทุกชาติทุกภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผลพวงของวิธีเก็บถนอมอาหารของอาหารไทย ในรูปของปลาเค็ม ปลาร้า ไข่เค็ม ผักดอง ผลไม้ดอง ปูเค็ม ต้มจับฉ่าย ไส้กรอก หมูยอ แหนม ต้มเค็ม หลน น้ำพริกกะปิ น้ำพริกลงเรือ ฯลฯนอกจากนี้ อาหารไทยยังมีการเติมผงชูรสกันอย่างมาก ( Monosodium Glutamate – MSG ) ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่า มีคำว่า โซเดียม ปรากฏอยู่โดยเหตุนี้การกินอาหารที่เติมผงชูรส ก็คือ การเพิ่มโซเดียมให้แก่ร่างกายโดยตรงนั่นเอง
  • อาจเกิดการเสียน้ำผ่านช่องทางเดินอาหาร เช่น ท้องร่วง ท้องเสียและเจ้าของร่างกายไม่ดื่มน้ำให้พอเพียง โซเดียมในเลือดจึงเข้มข้นขึ้น

[adinserter name=”แบนเนอร์ checkup”]

  • อาจเกิดการสูญเสียเหงื่อมากเกินไป แม้ว่าโซเดียมจะพลอยพ้นร่างกายออกมาพร้อมกับเหงื่อบ้าง แต่สัดส่วนของน้ำอิสระที่เรียกว่า Free Water มักจะสูญเสียออกไปด้วยมากกว่า โดยเหตุนี้ หากมิได้ดื่มน้ำให้พอเพียง ก็ย่อมจะทำให้โซเดียมในเลือดมีความเข้มข้นมากขึ้น

คาร์บอนไดออกไซด์ ( Carbondioxide )

“ คาร์บอนไดออกไซด์ ” Carbondioxide ซึ่งมีสูตรทางเคมีว่า CO2 หรือ CO2 ที่มีอยู่ในเลือดว่าอยู่ในระดับใดโดย CO2 เป็นสารละลายที่ควรจะอยู่ในสภาวะสมดุลกับสารละลายตัวอื่น ระดับของ CO2 ที่สูง/ต่ำ จะมีส่วนก่อให้เกิดผลต่อค่าความเป็นกรด (pH) ของเลือดมากน้อยแตกต่างกัน

หน้าที่ของคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกาย

  1. คาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด เป็นผลิตผลที่เกิดขึ้นในทำนองของเสียเหลือใช้ จากการเผาผลาญกลูโคสในระดับเซลล์จากปฏิกิริยาการสร้างพลังงานเช่นเดียวกับควันไฟที่เกิดจากเตาหุงต้ม ตามปกติมันก็อาจลอยหายไปในอากาศแต่คาร์บอนไดออกไซด์ มันเกิดขึ้นในร่างกายทั่วทุกเซลล์ จึงลอยหนีไปไหนไม่ได้มันจำต้องอาศัยเฮโมโกลบินของเม็ดเลือดแดง ( ที่เข้าไปส่งออกซิเจนถึงทุกเซลล์ในเที่ยวขาไป – จากการหายใจเข้า ) ให้ช่วยรับคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งสิ้นกลับออกมาผ่านหลอดเลือดดำ เพื่อขนส่งกลับคืนส่งมาให้ปอดปล่อยออกทิ้งไปนอกร่างกาย โดยการหายใจออก

ขณะคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในหลอดเลือดดำจะปรากฏว่ามันอยู่ในเม็ดเลือดแดงประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ และตกหล่นอยู่ในน้ำเลือดประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์

  1. คาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในน้ำเลือดนี้เอง ที่ส่วนหนึ่งจะรวมตัวกับน้ำในน้ำเลือดจนกลายเป็น ไบคาร์บอเนต ( Bicarbonate ) ซึ่งมีสูตรทางเคมีว่า HCO3 แต่มันมีความเข้มข้นน้อย ปรากฏเพียงในระดับประจุไฟฟ้าลบ (-) แต่ถึงกระนั้นมันก็มีบทบาทในการสร้างความเป็นกลาง หรือทำให้เกิดความสมดุลของประจุไฟฟ้าระหว่างภายในและภายนอกเซลล์ โดยที่คุณสมบัติของไบคาร์บอเนต มีสถานะเป็น ด่าง มันจึงช่วยควบคุมร่างกายมิให้เกิดความเป็นกรด นั่นคือ สร้างความสมดุลระหว่างกรดและด่าง
  2. ระดับของค่าคาร์บอเนต จะถูกปรับแต่งให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมโดยไต การเพิ่มค่าขึ้นของคาร์บอเนตอย่างผิดปกติ ย่อมแสดงว่า ร่างกายกำลังเกิดสภาวะความเป็นพิษจากด่าง ( Alkalosis )

การลดลงของคาร์บอเนตอย่างผิดปกติ ก็ย่อมแสดงว่า ร่างกายกำลังเกิดความเป็นพิษจากกรด acidosis

ค่าปกติของคาร์บอนไดออกไซด์ ( CO2 )

  1. ให้ยึดถือตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี)
  2. ค่าปกติทั่วไป
ผู้ใหญ่/ผู้สูงอายุ CO2 : 23 – 30 mEq/L
ค่าวิกฤติ CO2 : < 6 mEq/L

ค่าผิดปกติ

  1. ในทางน้อย อาจแสดงผลว่า
  • อาจกำลังมีสภาวะของโรคไตวายระยะเริ่มต้น จึงควบคุมไบคาร์บอเนตไม่ได้
  • อาจเกิดสภาวะความเป็นกรดจากโรคเบาหวาน ( Diabeticketoacidosis ) ทำให้ร่างกายต้องใช้ไบคาร์บอเนตสิ้นเปลืองไปให้การรักษาสมดุล โดยทำให้ความเป็นกรดลดลง หรือพยายามรักษาความเป็นกลางระหว่างกรด-ด่างนั่นเอง คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสารประกอบตั้งต้นของไบคาร์บอเนตจึงพลอยลดระดับลง
  • อาจอยู่ในสภาวะอดอาหาร เช่น กรณีพลัดหลงอยู่ในป่า หรือทะเลทราย หรือกรณีอดอาหารประท้วงทางการเมือง หรือติดอยู่ใต้ตึกถล่ม ฯลฯ ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ก็ย่อมมีผลทำให้กลูโคสในเลือดลดระดับลง ในการนี้ก็ย่อมทำให้การเผาผลาญอาหารของเซลล์ทำงานน้อยลง จึงเป็นเหตุต่อเนื่องให้คาร์บอนไดออกไซด์ อันเป็นของเสียจากการเผาผลาญ ก็ย่อมจะมีน้อยลง
  • อาจมีอาการท้องเสียเรื้อรัง
  • อาจมีการส่วนใส่ท่อปัสสาวะตลอดเวลาต่อเนื่องยาวนานเกิดไปทำให้ไบคาร์บอเนตสูญเสียไปกับน้ำปัสสาวะมากผิดปกติ นั่นคือ มีผลต่อเนื่องทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดลดระดับลง
  1. ในทางมาก อาจแสดงผลว่า
  • อาจเกิดโรคช่องทางเดินอากาศไปสู่ปอดตีบตันเรื้อรัง ( Chronic Obstructive Pulmonary Disease, COPD ) ทำให้ร่างกายหายใจไม่ได้เต็มที่จึงมีความโน้มเอียงที่จะเกิดสภาวะความเป็นกรดจากการหายใจ ( Respiratory Acidosis ) โดยเหตุนี้ร่างกายจึงพยายามสะสมไบคาร์บอเนต เพื่อที่จะชดเชยในการสร้างความเป็นกลายของสภาวะความเป็นกรด-ด่าง ภายในร่างกาย
  • อาจมีการดูดน้ำออกจากกระเพาะอาหารทิ้งออกนอกร่างกายด้วยเหตุใดก็ตามต่อเนื่องยาวนานและมากเกินไป ทำให้ร่างกายขาดน้ำ
  • อาจเกิดการอาเจียนอย่างรุนแรงทำให้เสียน้ำในร่างกายไปมากอย่างผิดปกติ ในการนี้ ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด จึงย่อมมีมากขึ้น

คลอไรด์ ( Chloride )

“ คลอไรด์ ” Chloride สัญลักษณ์ทางเคมีคือ CI ซึ่งนับเป็นสารสำคัญที่มีในสารละลายของน้ำเลือดว่ามีปริมาณสูง/ต่ำ มากน้อยเพียงใด

คลอไรด์ เป็นสารจำเป็นที่ต้องมีอยู่ในน้ำเลือด เช่นเดียวกับ โซเดียม โปแตสเซียม และแคลเซียม เนื่องจากคลอไรด์จะมีบทบาทสร้างสภาวะความสมดุลในเรื่องใหญ่ๆ ถึง 4 ประการ คือ

  1. รักษาความดันเลือดให้อยู่ในระดับปกติ

2. รักษาระดับความเป็นกรด ( pH ) ของของเหลวทั่วร่างกายมิให้สูงหรือต่ำเกินไป

3. รักษาความสมดุลระหว่างของเหลวภายในและภายนอกเซลล์

4. รักษาปริมาตรของน้ำเลือดทั้งระบบให้มีขนาดพอดีๆ

หน้าที่สำคัญของคลอไรด์

  1. ความเข้มข้นของคลอไรด์ในน้ำเลือด หรือในของเหลวส่วนอื่นของร่างกายนั้น นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจว่า มันจะมีค่าความเข้มข้นอยู่ในระดับใกล้เคียงกับคลอไรด์ในน้ำทะเลเสมอ
  2. คลอไรด์ เป็นสารที่เกิดจากการรวมตัวของธาตุคลอรีน Chlorine 2 ตัว ทั้งนี้ คลอไรด์นับเป็นสารที่มีประจุไฟฟ้าลบ (-) ซึ่งอยู่ในองค์ประกอบของสารละลายที่เรียกว่า เลือด รวมทั้งเป็นประจุไฟฟ้าลบของของเหลวที่อยู่ภายนอกเซลล์ตลอดทั่วร่างกาย
  3. หากยามใดคลอไรด์ที่มีในเลือดสูงกว่าระดับปกติซึ่งควรจะมี ร่างกายก็จะขับทิ้งออกโดยไตผ่านทางน้ำปัสสาวะ การวัดระดับคลอไรด์จากน้ำปัสสาวะ ( ในรอบ 24 ชั่วโมง ) ก็ทำให้อาจทราบผลแม่นยำไม่แพ้จากการตรวจในเลือด เพียงแต่มีความยุ่งยากและใช้เวลานานกว่า
  4. คลอไรด์ที่ร่างกายมีและได้ประโยชน์สำหรับใช้สอยนั้น เกือบทั้งหมดก็ได้มาจากเกลือหรืออาหารเค็ม ที่มนุษย์กินผ่านเข้าทางปาก

เนื่องจากเกลือมีสูตรทางเคมีว่า “ โซเดียมคลอไรด์ ” ( Sodium Chloride ) ระดับคลอไรด์ในเลือด จึงมีความสัมพันธ์โน้มเอียงที่จะขึ้น-ลงหรือ สูง-ต่ำ ในทิศทางเดียวกับโซเดียมเสมอ

  1. การตรวจเลือดหาค่าระดับคลอไรด์ ซึ่งมักกระทำพร้อมกันกับ แร่ธาตุ อื่นในสารละลาย อิเล็กโทรไลต์ เสมอ แต่เฉพาะค่าคลอไรด์ (CI) นั้น มักเจาะจงเพื่อจะวินิจฉัยให้ทราบว่า
  • กำลังมีปัญหาของไตและต่อมอะดรินัล ( Adrenal Glands ) อยู่บ้างหรือป่าว
  • ในกรณีร่างกายมีสภาวะความเป็นกรดน้อยลง ( ค่า pH ในเลือดจะสำแดงตัวเลขสูง ) นั้น เกิดจากอะไร เช่น เกิดการอาเจียนรือท้องเดินมาเนิ่นนาน
  • ความสมดุลของสารละลายยังเป็นปกติดีอยู่หรือไม่ เนื่องจากหากคลอไรด์ในเลือดต่ำเกินไปก็อาจทำให้ร่างกายเกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุก ( Muscle Twitching ) หรือกล้ามเนื้อหดเกร็ง หายใจถี่และตื้น สภาวะของผู้ที่มีคลอไรด์ในเลือดต่ำ จะถูกเรียกว่า ( Hypochloremia ) หากคลอไรด์ในเลือดสูงเกินไปก็อาจก่อให้เกิดอาการหายใจลึกและหอบเหนื่อยอ่อน ความคิดสับสน และอาจหมดสติ ( Coma ) สภาวะของผู้ที่มีคลอไรด์ในเลือดสูง จะถูกเรียกว่า Hypochloremia

ค่าปกติของคลอไรด์ ( CI )

  1. ให้ยึดถือตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี)
  2. ค่าปกติทั่วไป
ผู้ใหญ่/ผู้สูงอายุ CI : 90 – 106 mEq / L
ค่าวิกฤติ CI : < 80 หรือ > 115 mEq / L

ค่าผิดปกติของคลอไรด์ ( CI )

  1. ในทางน้อย ( Hypochloremia ) อาจแสดงผลว่า
  • อาจดื่มน้ำมากเกินไป
  • อาจเกิดจากไตอักเสบ ทำให้สูญเสียเกลือ ( Salt-Losing Nephritis ) เมื่อไตไม่ดูดกลับโซเดียม ก็ย่อมทำให้โซเดียมในเลือดลดน้อยถอยลง
  • อาจเกิดจากโรค Addison’s Disease ซึ่งเป็นโรคที่มีต้นเหตุมาจากต่อมหมวกไต ( หรือต่อมอะดรินัล ) ลดการทำงานลง ทำให้มีผลต่อเนื่องจนผลิตฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน ( Aldosterone ) ได้ลดน้อยลง เมื่อฮอร์โมนตัวนี้ลดน้อยก็จะไปบังคับไตให้ดูดกลับโซเดียมไม่ได้เต็มที่ ทำให้ค่า อิเล็กโทรไลต์ ของโซเดียมในเลือดลดต่ำลง
  • อาจเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนขับน้ำออกจากร่างกาย ( Syndrome of Inpropiate Secretion of Antidiuretic Hormone, SIADH ) ทำให้คลอไรด์ในเลือดเจือจางลง
  • อาจเกิดการอาเจียน หรือมีการรักษาพยาบาลด้วยการดูดเอาของเหลวออกจากกระเพาะอาหารนานเกินไป
  1. ในทางมาก Hyperchloremia อาจแสดงผลว่า
  • อาจเกิดจากสภาวะครรภ์เป็นพิษ Eclampsia
  • ร่างกายอาจขาดน้ำจากการดื่มน้ำน้อย จากการอาเจียน หรือจากอาการท้องเสีย จึงมีผลต่อเนื่องทำให้คลอไรด์ในเลือดเข้มข้นขึ้น
  • อาจได้รับน้ำเกลือ ( Normal Saline ) ในกรณีเจ็บไข้ได้ป่วย และได้รับการรักษาพยาบาล จึงทำให้อาจได้คลอไรด์จากน้ำเกลือ มากกว่าที่ปล่อยทิ้งทางปัสสาวะ
  • อาจเกิดสภาวะที่ไตทำงานไม่เป็นปกติ ( Kidney Dysfunction ) กล่าวคือ ดูดกลับโซเดียมเองอย่างมากผิดปกติ จนพลอยทำให้คลอไรด์สูงค่าขึ้นด้วย
  • อาจเกิด โรคคุชชิง ( Cushing’s Syndrome ) ซึ่งเป็นสภาวะที่ต่อมหมวกไต ทำงานเกิน จึงปล่อยแอลโดสเตอโรนฮอร์โมนออกมาบังคับให้ไตดูดกลับโซเดียมคืนสู่ร่างกายมากผิดปกติ โซเดียมในเลือดจึงเข้มข้นขึ้น คลอไรด์ จึงพลอยเพิ่มค่าขึ้น จนมีระดับสูงผิดปกติ

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

ประสาร เปรมะสกุล, พลเอก. คู่มือแปลผลตรวจเลือด เล่มสอง. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์, 2554. 416 หน้า. 1. เลือด – การตรวจ I.ชื่อเรื่อง. 616.07561 ISBN 978-974-9608-49-4

Weast, Robert (1984). CRC, Handbook of Chemistry and Physics. Boca Raton, Florida: Chemical Rubber Company Publishing. pp. E110. ISBN 0-8493-0464-4.

Magnetic susceptibility of the elements and inorganic compounds, in Lide, D. R., ed. (2005). CRC Handbook of Chemistry and Physics (86th ed.). Boca Raton (FL): CRC Press. ISBN 0-8493-0486-5.