การตรวจ Total Protein ในเลือดจำเป็นอย่างไร
โปรตีน มีความสำคัญมากต่อระบบต่างๆในร่างกาย ซึ่งทำให้เอ็นไซม์ ฮอร์โมน ภูมิคุ้มกัน ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ

Total Protein คือ

Total Protein คือ ปริมาณโปรตีนรวมที่อยู่ในกระแสเลือด แต่ถ้าจะขยายความให้เข้าใจได้ชัดเจนมากขึ้นอีกหน่อย โปรตีนรวมที่ว่านี้มีความหลากหลายมาก รวมตัวกันอยู่ในส่วนของพลาสมาหรือส่วนของของเหลวในน้ำเลือด บทบาทหน้าที่ต่อร่างกายจึงค่อนข้างกว้างและครอบคลุม แต่ละชนิดมีหน้าที่อันเฉพาะเจาะจงเป็นของตัวเอง หากมีโปรตีนชนิดใดชนิดหนึ่งที่ขาดหรือเกินไป ก็ถือได้ว่าค่าโปรตีนรวมนั้นบกพร่อง ควรต้องได้รับการแก้ไข เพราะโปรตีนมีความสำคัญมากกับเอ็นไซม์ ฮอร์โมน ภูมิคุ้มกัน และการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพของระบบต่างๆ ในร่างกาย

การตรวจ Total Protein ในเลือดจำเป็นอย่างไร

ปกติเวลาเราพูดถึงการตรวจเลือด เรามักจะนึกถึงการวัดค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ทั้งเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว ตรวจวัดค่าความเข้มข้นของเม็ดเลือดหรือที่เรียกว่า HCT ( Hematocrit ) สำหรับคนมีโรคประจำตัวก็จะคุ้นชินกับการตรวจวัดระดับค่าน้ำตาลและระดับไขมันในเลือด ดังนั้นหลายคนจึงยังไม่เคยรู้จักการตรวจค่าโปรตีนรวมในเลือด และไม่รู้ด้วยว่าค่าเหล่านี้มีความสำคัญมากแค่ไหน แม้แต่คนที่บริจาคเลือดอยู่เป็นประจำก็อาจเคยได้ยินแพทย์ผู้ตรวจชี้แจงถึงค่าโปรตีน เพียงแค่ “ สมบูรณ์ดี ” หรือ “ ขาดแคลน ” เท่านั้นเอง ซึ่งอันที่จริงแล้วถ้าเราเข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น เราจะเห็นความสำคัญและเรียนรู้ที่จะดูแลโภชนาการของตัวเองได้อย่างถูกต้องแน่นอน

Total Protein อาจจำแนกแบ่งกลุ่มได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ Albumin, Globulin และ Prealbumin ในแต่ละกลุ่มก็ยังแบ่งย่อยลงไปอีกหลายชนิด ตัวอย่างของหน้าที่โปรตีนเหล่านี้ได้แก่

  • ช่วยรักษาสมดุลของปริมาณน้ำภายในร่างกาย
  • ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำไหลออกจากหลอดเลือดแล้วไปสะสมอยู่ที่ส่วนอื่นๆ
  • ช่วยรักษาสภาวะความเป็นกรด-ด่างของเลือด
  • ช่วยขนส่งสารภายในร่างกายจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง
  • ช่วยป้องกันการเกิดพิษเนื่องจากสารที่สะสมมากเกินไปในร่างกาย

นั่นหมายความว่าเมื่อ Total Protein มีค่าที่ผิดปกติไปจากระดับมาตรฐาน ก็สามารถเชื่อมโยงไปสู่การวินิจฉัยโรคที่แอบแฝงอยู่ได้ด้วย และประเด็นนี้นี่เองที่ทำให้การตรวจวัดค่า Total Protein เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างมาก

หลักการจำแนกประเภทของ Total Protein

ในเมื่อโปรตีนรวมมีองค์ประกอบหลายส่วนและยังแยกย่อยไปอีกมากมาย หากไม่จำกัดประเภทของโปรตีนเสียเลย การตรวจวัดค่า Total Protein จะยุ่งยากมาก และต้องเสียเวลาไปกับการวิเคราะห์หาสาเหตุเมื่อพบความผิดปกติมากเกินความจำเป็นอีกด้วย ในทางการแพทย์จึงมีหลักการที่ใช้จำแนกประเภทของ Total Protein ดังนี้

1. จำแนกตามภาวะปกติและภาวะที่มีพยาธิสภาพ : โปรตีนบางชนิดพบได้มากในภาวะที่ร่างกายปกติดี ในขณะที่บางชนิดจะพบเมื่อร่างกายอยู่ในภาวะที่มีพยาธิสภาพเท่านั้น เพียงแค่จำแนกด้วยหลักการข้อนี้ เราก็จะรู้ได้ทันทีหลังการตรวจวัดค่า Total Protein ว่าร่างกายอยู่ในสภาวะแบบใด แล้วต่อยอดด้วยการตรวจหาสาเหตุแบบเจาะจงเมื่อพบความผิดปกติ
2. จำแนกตามแหล่งผลิตหรือแหล่งสังเคราะห์ : โปรตีนในร่างกายอาจรับได้จากหลายทาง แต่ที่สังเคราะห์ขึ้นเอง สามารถจัดได้เพียง 2 กลุ่มเท่านั้น คือโปรตีนกลุ่มที่สร้างมาจากตับโดยตรง และโปรตีนกลุ่มที่สร้างมาจากเซลล์อื่นๆ
3. จำแนกตามส่วนประกอบ : เมื่อพูดถึงอณูที่เล็กลงไปของโปรตีน ก็ต้องเป็นกรดอะมิโนนั่นเอง แต่ไม่ใช่โปรตีนทุกชนิดที่จะมีเพียงแค่กรดอะมิโนเท่านั้น เราจึงสามารถแบ่งโปรตีนทั้งหมดได้เป็น 2 กลุ่ม คือ โปรตีนที่มีกรดอะมิโนเป็นส่วนประกอบเพียงอย่างเดียว และโปรตีนที่มีทั้งกรดอะมิโน ทั้งส่วนอื่นที่ไม่ใช่โปรตีน เช่น สารอนินทรีย์ ไขมัน คาร์โบไฮเดรต เป็นต้น
4. จำแนกด้วยอิเล็กโตรโฟรีซิส ( Electrophoresis ) : วิธีนี้เป็นการแยกสารด้วยการใช้หลักการของสนามไฟฟ้า โดยธรรมชาติสารที่มีประจุจะวิ่งไปหาขั้วไฟฟ้าที่เป็นขั้วตรงกันข้าม และสารที่มีค่าประจุเข้มข้นต่างกัน ก็จะวิ่งไปหาขั้วไฟฟ้าได้เร็วและช้าต่างกันด้วย เมื่อใช้เวลาเท่ากัน สารทั้งหมดจึงวิ่งได้ระยะทางต่างกันไป และเราใช้ระยะทางนี่เองเป็นเงื่อนไขในการจำแนก

จำเป็นแค่ไหนที่ต้องตรวจ Total Protein

อันที่จริงการตรวจวัดค่าโปรตีนรวมในเลือดนั้น เป็นข้อกำหนดของการตรวจร่างกายประจำปีอยู่แล้ว ถือเป็นวิธีการที่ง่ายและสะดวกที่สุดด้วยสำหรับการวิเคราะห์สภาพร่างกายโดยรวม อย่างน้อยที่สุดเราจะได้รู้ว่าอาหารที่ทานอยู่ทุกวันนั้นได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จริงหรือไม่ การดูแลโภชนาการดีพอหรือยัง สิ่งใดที่ต้องเพิ่ม สิ่งใดที่ต้องลด และหากพบว่าค่า Total Protein มีความผิดปกติไป ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายบางชนิด โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับตับและไต หลายคนที่เป็นโรคเหล่านี้ไม่มีอาการใดๆ แสดงออกมาเลย จึงไม่ได้ดำเนินการรักษาอย่างถูกต้อง กว่าจะรู้ว่าป่วยก็อยู่ในช่วงที่ระดับอาการหนักหนามากแล้ว การตรวจ Total Protein จึงเป็นตัวช่วยที่ดีมากๆ ในประเด็นนี้

ขั้นตอนการตรวจ Total Protein 

สำหรับการตรวจโปรตีนรวมในเลือดนั้น ต่างจากการตรวจวัดค่าระดับน้ำตาลและระดับไขมันในเลือดเล็กน้อย คือ ผู้ที่ต้องการตรวจวัด Total Protein ไม่จำเป็นต้องอดน้ำหรืออดอาหารแต่อย่างใดเลย อย่างถ้าเราไปบริจาคเลือดแล้วพบว่าค่าเลือดเข้มข้นไม่พอ แพทย์ก็สามารถเจาะเลือดเพื่อตรวจค่าต่างๆ รวมถึงโปรตีนรวมในเลือดได้ทันที ปริมาณของเลือดที่ใช้ไม่มากนัก อยู่ราวๆ 5 มิลลิลิตร โดยเจาะออกจากเส้นเลือดดำ แล้วส่งตัวอย่างเข้าห้องตรวจ ไม่นานนักก็จะรู้ผลทันที แต่ถ้าเป็นการตรวจแบบลงรายละเอียดลึก เช่น การตรวจร่างกายประจำปีหรือตรวจคัดกรองโรค อาจใช้เวลามากถึง 4 ชั่วโมง นอกจากนี้ผู้เข้ารับการตรวจ สามารถขอตรวจซ้ำได้ใน 48 ชั่วโมงนับจากการตรวจครั้งก่อนหน้า

ระดับ Total Protein ที่ปกติ

ในการตรวจเพื่อวัตถุประสงค์ที่ต่างกันไป เช่น ตรวจร่างกายประจำปี ตรวจเพื่อบริจาคเลือด หรือตรวจคัดกรองโรค อาจมีระดับของค่าปกติที่ต่างกันเล็กน้อย ซึ่งเราจะเห็นได้จากข้อความที่ระบุในผลตรวจเลือดนั่นเอง แต่โดยทั่วไปแล้วหากไม่มีกรณีพิเศษอื่นใด ค่าปกติของ Total Protein จะอยู่ที่

วัยผู้ใหญ่ 6.4 – 8.3 gm/dL
วัยเด็ก 6.2 – 8 gm/dL

ดังนั้นเราอาจเคยได้เห็นค่าปกติของโรงพยาบาลหลายแห่งระบุว่าอยู่ในช่วง 6.0 – 8.5 gm/dL ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ขอให้ยึดตามใบสำคัญจากแพทย์ผู้ตรวจวัดเป็นหลัก หากมีข้อข้องใจสิ่งใดก็สอบถามกับแพทย์ผู้ตรวจได้โดยตรง เมื่อทำการตรวจวัดค่า Total Protein แล้วพบว่าตัวเองมีภาวะโปรตีนรวมไม่ปกติ ก็ต้องมาดูว่าอยู่ในรูปแบบไหน มากไปหรือน้อยไป ก่อนดูแลรักษาตามความเหมาะสม

โปรตีน มีความสำคัญมากต่อระบบต่างๆในร่างกาย ซึ่งทำให้เอ็นไซม์ ฮอร์โมน ภูมิคุ้มกัน ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ปัจจัยที่ทำให้ค่า Total Protein ต่ำกว่าปกติ

  • ดูแลเรื่องโภชนาการไม่ดีพอ ทานอาหารไม่ครบหมู่ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นโปรตีน หรือถ้าทานก็เป็นโปรตีนที่ไม่ดีและร่างกายไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้
  • มีปัญหาเรื่องการดูดซึมของร่างกาย เราเรียกภาวะนี้ว่า Melabsorption เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในส่วนของลำไส้ มีระดับความรุนแรงตั้งแต่ลำไส้ดูดซึมได้น้อย ไปจนถึงไม่มีการดูดซึมเลย
  • ไตเกิดภาวะรั่ว ( Nephrotic syndrome ) ซึ่งเราจะต้องตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะร่วมด้วย เพราะร่างกายขับโปรตีนออกทางปัสสาวะ มักมีต้นตอมาจากผนังหลอดเลือดในไตไม่สามารถกรองโปรตีนได้ตามปกติ
  • ไตเข้าสู่สภาวะเสื่อม อาจมาจากโรคประจำตัว อายุที่มากขึ้น หรือการดูแลร่างกายที่ไม่ดีพอก็ได้
  • เป็นโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของเลือด มักมีอาการที่เกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งกระตุ้นใดๆ เช่น อยู่ๆ เลือดกำเดาก็ไหลออกมาเอง เป็นต้น 
  • มีเหตุให้ร่างกายต้องเสียเลือดที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง อาจจะเป็นภายนอกหรือภายในก็ได้ เช่น ปาก ท่อปัสสาวะ สมอง ปอด ทวารหนัก เป็นต้น
  • ครรภ์เป็นพิษ ซึ่งมักจะตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะด้วยเช่นกัน
  • เจ็บป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารอยู่เรื่อยๆ
  • การทำงานของตับผิดปกติ คือ ไม่สังเคราะห์โปรตีน หรือสังเคราะห์โปรตีนได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

ปัจจัยที่ทำให้ค่า Total Protein สูงกว่าปกติ

  • ร่างกายอยู่ในสภาวะขาดน้ำ เพราะเลือดมีน้ำเป็นส่วนประกอบมากถึงประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ เมื่อร่างกายขาดน้ำก็ทำให้สมดุลน้ำในทุกระบบลดน้อยลง อัตราส่วนระหว่างโปรตีนกับน้ำในเลือดก็เช่นกัน โปรตีนจึงเข้มข้นมากขึ้น
  • มีอาการอักเสบหรือติดเชื้อที่บริเวณตับ
  • อยู่ในภาวะคิโตซิส ( Diabetic Ketoacidosis ) เป็นภาวะที่มักพบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ถือเป็นผลข้างเคียงอีกอย่างหนึ่งที่อันตรายของโรคเบาหวานเลยทีเดียว เมื่อมีน้ำตาลในเลือดสูงมากและระดับอินซูลินก็ลดต่ำลง ส่งผลให้เลือดเป็นกรดจากคีโตน ค่าโปรตีนตลอดจนเกลือแร่ในเลือดจึงผิดปกติไป
  • โรคจากพันธุกรรม มีโรคหนึ่งที่ชื่อว่า Waldenstrom Macroglobulinemia หรือ WM เป็นภาวะที่มีโลหิตจาง ต่อมน้ำเหลืองโต มีมะเร็ง MM ( Multiple myeloma ) ซึ่งเป็นมะเร็งทางโลหิตวิทยาในไขกระดูก ส่งผลให้ค่าโปรตีนในเลือดสูงขึ้นมาก และยังมีการผลิตเม็ดเลือดน้อยลงด้วย

การรักษาเมื่อมีค่า Total Protein ที่ผิดปกติ

จะเห็นได้ว่าค่า Total Protein ที่ผิดปกติไปจากมาตรฐาน ไม่ว่าจะมากเกินไปหรือน้อยเกินไปก็ไม่ดีทั้งนั้น และยังมีโอกาสที่จะเป็นสัญญาณของโรคร้ายอีกด้วย การรักษาจึงไม่ได้เกิดขึ้นทันทีหลังจากที่ตรวจวัดค่า Total Protein เสร็จเรียบร้อย แต่จะเกิดขึ้นหลังจากที่มีการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดเสียก่อน ว่าต้นเหตุความผิดปกติของแต่ละบุคคลนั้นคืออะไร หากเป็นข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ดูแลเรื่องอาหารการกินไม่ดีพอ ดื่มน้ำน้อยไป ไม่ควบคุมระดับน้ำตาล เป็นต้น แบบนี้ก็ใช้วิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ และอาจใช้ยาตัวช่วยบ้างในรายที่มีโรคประจำตัว แต่ถ้าค่า Total Protein ที่ผิดปกตินั้นมีต้นตอมาจากโรคที่ร้ายแรงอื่นๆ ก็ต้องหากแนวทางรักษาที่เฉพาะเจาะจงลงไปอีก

การดูแลตัวเองเพื่อรักษาระดับ Total Protein ที่ดีเอาไว้

1. ให้ความสำคัญกับโภชนาการเป็นอันดับแรก ไม่ใช่แค่ทานอาหารประเภทเนื้อ นม ไข่ เพียงเพื่อให้รู้สึกว่าได้ทานเท่านั้น แต่ต้องเลือกสรรโปรตีนคุณภาพดีให้กับร่างกายด้วย หากเป็นอาหารแปรรูปอย่างพวกไส้กรอกหรืออาหารกระป๋องต่างๆ นั่นก็ไม่นับว่าเป็นโปรตีนที่ควรทานเท่าไรนัก

2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทันทีที่ออกกำลังกายอย่างเพียงพอ ระบบต่างๆ ในร่างกายจะทำงานได้สมบูรณ์มากขึ้น ฮอร์โมนดีๆ จะหลั่งออกมาโดยธรรมชาติ ความเครียดและความวิตกกังวลจะลดน้อยลง ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดี สามารถต่อต้านโรคร้ายที่ไม่คาดคิดได้
3. หมั่นตรวจสุขภาพอย่างละเอียดเป็นประจำทุกปี และถ้ามีโรคประจำตัวก็ควรติดตามผลด้วยระยะที่มีความถี่มากกว่านั้น เพื่อที่เราจะได้รู้ลำดับพัฒนาการของร่างกาย ว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นหรือแย่ลง

นอกจากนี้ก็จะเป็นการปฏิบัติตัวและดูแลร่างกายตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ซึ่งหมายความถึงกรณีที่มีภาวะความเสี่ยงหรือมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องรักษานั่นเอง
มาถึงตอนนี้คงได้เห็นแล้วว่า ค่า Total Protein ที่เราอาจไม่เคยสนใจกันเลย มีความหมายและมีความสำคัญต่อระบบภายในร่างกายของเรามากแค่ไหน ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยรักษาชีวิตของใครหลายๆ คนเอาไว้ได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นก็อย่าละเลยการตรวจวัดค่า Total Protein ตามช่วงจังหวะที่เหมาะสมอยู่เสมอเพื่อตัวคุณเอง

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

McCudden, C. (2016). “Monitoring multiple myeloma patients treated with daratumumab: teasing out monoclonal antibody interference”. Clin Chem Lab Med. 54 (epub ahead of print)

Tuazon, Sherilyn Alvaran; Scarpaci, Anthony P (May 11, 2012). Staros, Eric B, ed. “Serum protein electrophoresis”. Medscape. Retrieved 2 October 2013.