เบาหวานแฝงตัวมากับเครื่องดื่ม
เครื่องดื่มจำพวก ชา กาแฟ โกโก้ มักมีความหวานมากกว่าปกติ

เครื่องดื่มก่อเบาหวาน

นอกจากน้ำเปล่าแล้ว เครื่องดื่มอื่นๆ อย่างเช่นน้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟ ชานมหรือนมเปรี้ยว ก็เป็นเครื่องดื่มที่ผู้คนส่วนใหญ่นิยมดื่มกันในแต่ละวันเช่นกัน นั่นก็เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะให้ความสดชื่นและคลายเครียดได้ดี แต่รู้ไหมว่าเป็น เครื่องดื่มก่อเบาหวาน แฝงมาทั้งสิ้น ซึ่งก็คืออาจทำให้คุณเป็นเบาหวานได้โดยไม่รู้ตัวนั่นเอง

ชนิดเครื่องดื่ม ปริมาณ

(กรัม)

น้ำตาล

(ช้อนชา)

พลังงาน

(แคลอรี)

น้ำตาลเกิน

(ช้อนชา)

น้ำส้ม 44.8 11.2 224 5.2
น้ำอัดลม 34.6 8.7 174 2.7
ชาเขียว (กล่อง) รสน้ำผึ้ง 30 7.5 150 1.5
เครื่องดื่มชูกำลัง 30 7.5 150 1.5
นมเปรี้ยวขวดเล็ก 17.6 4.4 88
กาแฟกระป๋อง 17.2 4.3 84

คำนวณปริมาณของน้ำตาลในเครื่องดื่มจากฉลากโภชนาการ

1.กรณีที่ปริมาณของน้ำตาลในฉลากระบุมาเป็น % ให้คำนวณตามสูตรดังนี้
( ปริมาณ ( % ) × ปริมาตรสุทธิ (มล.) ) / 500 = ปริมาณน้ำตาลเป็นช้อนชา 

2.กรณีที่ปริมาณของน้ำตาลในฉลากระบุมาเป็นกรัม ให้คำนวณตามสูตรดังนี้
(น้ำตาล (กรัม) ) / 500 = ปริมาณน้ำตาลเป็นช้อนชา
ยกตัวอย่างเช่น น้ำมะนาว 350 มล. มีน้ำตาลอยู่ทั้งหมด 10.5% สามารถหาปริมาณของน้ำตาลได้โดย (10.5×350) / 500 = 7.35

ซึ่งสรุปได้ว่า การที่เราดื่มน้ำมะนาวกล่องนี้ 1 กล่อง ก็เท่ากับว่าได้ทานน้ำตาลไปมากกว่า 7 ช้อนชานั่นเอง ซึ่งโดยปกติแล้วคนเราควรกินน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชาเท่านั้น
เพราะฉะนั้นหากดื่มน้ำมะนาวติดต่อกันเป็นประจำทุกวัน รับรองเลยว่าเบาหวานจะต้องถามหาอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นอย่าได้ชะล่าใจว่าการดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้จะไม่ทำให้เป็นเบาหวานเด็ดขาด
กาแฟหอม มาพร้อมกับโรค

ต้องยอมรับเลยว่า กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนเรามากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นวัยเรียนหรือวัยทำงานก็ตาม และเนื่องจากในปัจจุบันมีกาแฟสำเร็จรูปออกมาวางขายมากมาย หลายคนจึงหันมาดื่มกาแฟสำเร็จรูปกันมากขึ้น รวมถึงกาแฟที่ชงขายตามร้าน อย่างมอคค่า ลาเต้หรือคาปูชิโน่เช่นกัน และแน่นอนว่ากาแฟเหล่านี้ล้วนมีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณมาก ซึ่งก็จะทำให้คุณเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานได้ไม่ยากเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น
ลาเต้เย็น ให้พลังงาน 288 แคลอรี และมีน้ำตาล 3-9 ช้อนชา
คาปูชิโน่เย็น ให้พลังงาน 303 แคลอรี และมีน้ำตาล 6-9 ช้อนชา
มอคค่าเย็น ให้พลังงาน 404 แคลอรี และมีน้ำตาล 5-9 ช้อนชา

โดยจากข้อมูลเหล่านี้ ยังไม่นับรวมน้ำเชื่อม ผงช็อกโกแลตและอื่นๆ ที่ใส่ลงไปในกาแฟ จึงสรุปได้ว่า กาแฟก็เป็นตัวการร้ายของโรคเบาหวานที่จะมองข้ามไม่ได้เลยทีเดียว
แอลกอฮอล์ ถึงจะขมแต่ก็แฝงด้วยเบาหวาน

เบาหวาน ไม่ได้เกิดจากการทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวานเท่านั้น แต่เครื่องดื่มที่มีรสขมอย่างแอลกอฮอล์ ก็อาจนำมาซึ่งการเป็นเบาหวานได้เช่นเดียวกัน นั่นก็เพราะ 

1.การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำทุกวัน จะส่งผลให้อินซูลินลดลงและระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น

2.เมื่อดื่มแอลกอฮอล์เพียงแค่ 1 กรัม จะให้พลังงานมากถึง 7 แคลอรี

3.โดยปกติแอลกอฮอล์จะให้พลังงานที่สูงมาก ทำให้ร่างกายไม่ต้องสลายไขมันออกมาใช้เป็นพลังงาน เป็นผลให้มีไขมันสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จนอ้วนลงพุงและเป็นเบาหวานได้

4.แอลกอฮอล์จะเข้าไปขัดขวางการดูดซึมของโปรตีนที่ย่อยแล้ว ซึ่งนอกจากจะเสี่ยงเป็นเบาหวาน ก็อาจขาดสารอาหารได้อีกด้วย

พลังงานที่พบในเครื่องดื่มต่างๆ
เครื่องดื่ม พลังงาน (แคลอรี)
เบียร์กระป๋อง 350 ml 144
ไวน์แดงหรือและไวน์ขาว 1 แก้ว 80
วิสกี้ 30 ml 65
เบียร์สด 100 ml 42

จะเห็นได้ว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เสี่ยงเบาหวานได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งโดยปกติแล้ว ผู้ชายควรดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกินวันละ 2 ดริ๊ง และผู้หญิงควรดื่มไม่เกินวันละ 1 ดริ๊ง
แอลกอฮอล์ตกค้างในกระแสเลือด

เมื่อแอลกอฮอล์ตกค้างในกระแสเลือด จะทำให้เกิดการขัดขวางไม่ให้ร่างกายสามารถนำไขมันไปเผาผลาญเป็นพลังงานได้ และยังทำให้ประสิทธิภาพในการย่อยและการดูดซึมคาร์โบไฮเดรตลดต่ำลงกว่าเดิมอีกด้วย ซึ่งก็จะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันและย้อนกลับมาเกาะที่ตับแทน ผลที่เกิดขึ้นก็คือเซลล์ตับจะดื้อต่ออินซูลิน และระดับน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นเบาหวานได้ในที่สุด อย่างไรก็ตามการดื่มแอลกอฮอล์ หากดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ ก็จะช่วยลดเบาหวานและโรคหัวใจได้อีกด้วย โดยปริมาณที่พอเหมาะก็คือเทียบเท่ากับเอทานอล 12.6 กรัมนั่นเอง

เทคนิคการดื่มอย่างฉลาด

เนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีทั้งประโยชน์และโทษ ดังนั้นเรามาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างฉลาดกันดีกว่า ซึ่งก็มีเทคนิคการดื่มดังนี้

1.งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ จากนั้นจึงค่อยๆ ลดปริมาณการดื่มลงเรื่อยๆ จนสามารถเลิกดื่มได้ในที่สุด หรือดื่มแค่วันละไม่เกิน 1-2 ดริ๊ง

2.พยายามอย่าดื่มควบคู่ไปกับการทานกับแกล้ม เพราะอาจได้รับพลังงานจากกับแกล้มสูงจนทำให้อ้วนและเป็นเบาหวานได้ โดยอาจลดกับแกล้มให้น้อยลง หรือเปลี่ยนเป็นเมนูอื่นๆ ที่มีแคลอรีต่ำนั่นเอง

3.พยายามควบคุมปริมาณแคลอรีที่ร่างกายได้รับในแต่ละวันให้ได้มากที่สุด โดยอาจควบคุมด้วยการลดปริมาณอาหารและการออกกำลังกายนั่นเอง

4.ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอดอาหารแทน เพราะไม่ได้ช่วยอะไร เนื่องจากแอลกอฮอล์ไม่ให้สารอาหาร แต่จะให้พลังงานสูงจึงอาจทำให้ลงพุงและเป็นเบาหวานได้ง่าย แม้ว่าจะไม่อ้วนก็ตาม

5.คิดจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรดื่มแค่วันละ 1 ดริ๊งเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพแล้ว ก็ยังช่วยลดความเสี่ยงเบาหวานและโรคหัวใจได้ดีทีเดียว

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

ศัลยา คงสมบูรณ์เวช. บำบัดเบาหวานด้วยอาหาร. พิมพ์ครั้งที่ 4 (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ : อัมรินทร์เฮลท์ อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559. (12), 311 หน้า. (ชุดชีวิตและสุขภาพ ลำดับที่ 113) 1.เบาหวาน 2.โภชนบำบัด 3.การปรุงอาหารสำหรับผู้ป่วย 4.การดูแลสุขภาพตนเอง. 616.462 ศ7บ6 2559. ISBN 978-616-18-7741-9

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). กินเท่าไหร่ กินแค่ไหน ไม่เสี่ยงอ้วน. ใน: ธิดารัตน์ มูลลา.ชีวิตใหม่ไร้พุง. กรุงเทพฯซ บริษัทศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์ จำกัดม 2557.

สมาคมเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.

แก้ว กังสดาลอำไพ. ความสัมพันธ์ระหว่างแอลกอฮอล์กับอาหาร [เว็บไซต์]. กรุงเทพฯ. หมอชาวบ้านว 2531.
งานวิจัยเกาหลี [เว็บไซต์]. เข้าถึงจาก www.diabassocthai.org.