โรคเบาหวานลงไตคืออะไร (Diabetic Kidney Disease, DKD)
โรคเบาหวานลงไต คือ การที่มีภาวะเลือดหรือสารน้ำไปเลี้ยงไตน้อยลงส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต

เบาหวานลงไต

โรคเบาหวานลงไต ( Diabetic Kidney Disease, DKD ) เป็นโรคหนึ่งที่ผู้ป่วยอาจจะมีการเกิดภาวะของโรคแทรกซ้อนต่างๆได้มากมายหลายโรค ซึ่งโรคไตวายเรื้อรังก็เป็นภาวะแทรกซ้อนชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยเบาหวานหลายคนต้องเจอ โดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 30 – 40 ของผู้ ป่วยไตวายทั้งหมด จะมีสาเหตุมาจากโรคเบาหวานลงไต  โดยสาเหตุของไตวายเฉียบพลันที่สำคัญ คือ การที่มีภาวะเลือดหรือสารน้ำไปเลี้ยงไตน้อยลง การได้รับยาหรือสารพิษต่างๆที่ไปส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต ส่วนสาเหตุอื่นที่ทำให้เป็นโรคไตวายเรื้อรังนอกจากโรคเบาหวานก็มี เช่น การอักเสบเรื้อรังของตัวกรองของไตหรือหลอดไต  มีความดันโลหิตสูง การอุดตันของระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น โดยปกติร่างกายคนเราจะมีไต 2 ข้าง เป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายถั่วคอยทำหน้าที่หลักๆในร่างกาย  2 ประการ

ไตทำหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกายทางปัสสาวะ คอยควบคุมระดับเกลือแร่ต่างๆ ให้เป็นปกติ และทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนและสารต่างๆ

ฮอร์โมนที่สำคัญคือ เออริโทรพอยเอติน ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดง

ทั้งนี้มนุษย์เราก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้เพียงแค่มีไตข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น  โรคไตวายจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อไตทั้ง  2 ข้าง มีความผิดปกติจนไม่สามารถทำหน้าที่ตามธรรมชาติได้ ซึ่งอาจเป็นชนิดไตวายเฉียบพลันหรือไตวายแบบเรื้อรังก็ได้ ผลกระทบที่ตามมาของไตวาย คือ การมีของเสีย เกลือแร่ และน้ำค้างอยู่ในร่างกาย มีภาวะซีดเนื่องจากไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง ส่วนในกรณีไตวายเฉียบพลัน หากสามารถแก้ไขต้นเหตุได้แล้วไตก็จะกลับมาทำหน้าที่ได้ตามปกติ แต่ในกรณีเป็นไตวายชนิดเรื้อรัง หากว่าทำการรักษาแล้วยังไตยังไม่สามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติก็อาจจะนำไปสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในที่สุดนั้นเอง

อาการผิดปกติของโรคไตวาย

สามารถตรวจหาสาเหตุจากค่าในไต 2 ค่าดังนี้ คือ

ค่ายูเรียไนโตรเจนในเลือดหรือบียูเอ็น (ฺ Blood urea nitrogen ) จะแสดงถึงระดับของเสียที่เกิดจากการย่อยสลายโปรตีนและคั่งค้างอยู่ในเลือดในร่างกายมีค่าปกติเท่ากับ 10 – 20 มิลลิกรัม / เดซิลิตร หากไตทำหน้าที่ลดลงก็จะมีของเสียคั่งค้างสูงขึ้นค่าบียูเอ็นสูงขึ้นตามไปด้วย
ค่าไตคือค่าครีเอตินีน ( Creatinine ) จะแสดงถึงการทำงานของไต มีค่าปกติอยู่ในช่วง 0.7 – 2.0 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หากการทำงานของไตลดลงจะทำให้ค่าครีเอตินีนในเลือดสูงขึ้น

โรคเบาหวานลงไตมีกี่ระยะ?

โรคเบาหวานทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไตเป็นขั้นตอนตามลำดับ 5 ระยะ ดังนี้

โรคเบาหวานลงไต ระยะที่ 1  ในระยะแรกของผู้ป่วยจะยังไม่มีอาการใดๆ ที่แสดงออกให้ผู้ป่วยทราบ เป็นระยะที่ไตมีขนาดใหญ่ขึ้น เลือดไปเลี้ยงไปเลี้ยงไตมากขึ้น โดยจะเกิดขึ้นทันทีเมื่อเริ่มเป็นโรคเบาหวาน 

โรคเบาหวานลงไต ระยะที่ 2 จะเกิดขึ้นหลังจากที่เป็นโรคเบาหวานประมาณ 2 ปี แต่ก็ยังไม่แสดอาการใดๆให้ผู้ป่วยทราบเหมือนระยะที่ 1 ในระยะนี้จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพที่ตัวกรองของไต หรือไตไม่สามารถรักษาสมดุลของตัวเองได้

โรคเบาหวานลงไต ระยะที่ 3 ระยะนี้จะเกิดขึ้นหลังจากเป็นโรคเบาหวานมาแล้ว 10 – 15 ปี ร่างกายของผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการผิดปกติแสดงออกมา เช่น ตรวจพบไข่ขาวหรือโปรตีนปริมาณน้อยในปัสสาวะและจะมีปริมาณค่อยๆเพิ่มขึ้นในทุกๆปีเริ่มมีความดันโลหิตสูง มักจะเกิดขึ้นภายหลังการตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะเป็นเวลา 2 ปีแต่การตรวจเลือดหาค่าบียูเอ็นและค่าครีเอตินีน เพื่อดูหน้าที่ของไตยังให้ผลอยู่ในเกณฑ์ปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

โรคเบาหวานลงไต ระยะที่ 4 จะเกิดขึ้นหลังจากป่วยเป็นโรคเบาหวานมาแล้ว 15-25 ปี  โดยผู้ป่วยประมาณ ร้อยละ  25-40 สามารถตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะมากกว่า 0.5 กรัมต่อวัน ในระยะนี้จะเริ่มมีการเสื่อมของไตอย่างต่อเนื่องมากกว่าคนปกติ โดยคนปกติที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ไตจะเสื่อมร้อยละ 1 ต่อปี แต่ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคไตจะมีการเสื่อมของไตมากถึง ร้อยละ 10 หากปล่อยให้การทำงานของไตลดลงเหลือเพียงร้อยละ 20 ของภาวะปกติ จะมีของเสียคั่งค้างมากในร่างกาย จนผู้ป่วยจะเกิดอาการ เช่น คลื่นไส้อาเจียนเบื่ออาหาร ไม่มีแรง รู้สึกหนาวง่าย อาการเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นหากผู้ป่วยมีอาการซีดเนื่องจากปริมาณเม็ดเลือดแดงต่ำลงกว่าปกติ

โรคเบาหวานลงไต ระยะที่ 5 ระยะนี้เรียกว่าเป็นระยะของไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งการทำงานของไตจะลดลงจนเหลือไม่ถึงร้อยละ 5 จะมีของเสียตกข้างที่ร่างกายจำนวนมากค่าบียูเอ็นสูงกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ค่าครีเอตินีนสูงกว่า 10 มิลลิกรัม/เดซิลิตรส่วนอาการที่จะพบและสังเกตได้จากผู้ป่วยคือ ซึมไม่รู้ตัว บวมตามร่างกาย เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะลดลงจนเกือบไม่มีหากปล่อยไว้อาจจะเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างเร่งด่วน โดย การล้างไต เป็นต้น

แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานทุกคนก็อย่าเพิ่งตกใจไป  ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานจะไม่ได้มีอาการแทรกซ้อนจากโรคไตวายทุกคน จะขึ้นอยู่ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น  ระดับน้ำตาลในเลือด  เชื้อชาติ ประวัติครอบครัวและความแตกต่างทางพันธุกรรม เป็นต้น

จะรู้ได้อย่างไรว่าโรคเบาหวานลงไตแล้วและอยู่ในระยะใด?

โดยปกติอาการของโรคไตวายในผู้ป่วยเบาหวานจะเริ่ม มีอาการแสดงออกตั้งแต่ในระยะที่ 3 ซึ่งสามารถเช็คได้จากการตรวจปัสสาวะ หากในปัสสาวะมีโปรตีนแอลบูมินหลั่งออกมา ในช่วงแรกจะออกมาปริมาณน้อยอยู่ แต่ก็สามารถตรวจหาได้ด้วนวิธีการพิเศษที่เรียกว่าไมโครแอลบูมินยูเรีย Microalbuminuria

หากเข้าสู่ภาวะไตเสื่อมในระยะที่ 4 สามารถตรวจได้จากการตรวจปัสสาวะปกติ โดยจะมีโปรตีนแอลบูมินรั่วออกมาในปัสสาวะมากขึ้น และหากไตเสื่อมมากขึ้นจนทำงานน้อยกว่าร้อยละ 50 ก็สามารถตรวจหาจาก ค่าบียูเอ็น ( BUN )และครีเอตินีนในเลือดซึ่งค่าทั้งสองนี้จะไม่สูงขึ้นอย่างชัดเจนจนกว่าไตจะเสื่อมไปกว่าร้อยละ 50 แล้วทั้งนี้ ผู้ที่ไตเสื่อมในระยะที่ 4 และ 5 ควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อสังเกตการณ์ทำงานของไตเป็นระยะ   

วิธีรักษาโรคไตที่มีอาการเบาหวานร่วมด้วยในเบื้องต้น

ผู้ป่วยต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างเคร่งครัด มีความสำคัญต่อการรักษาโรคไตเกือบทุกระยะ ยกเว้นระยะท้ายๆโดยผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจใช้วิธีทานยาคุมระดับน้ำตาลหรือใช้การฉีดอินซูลิน เพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดมีค่าปกติมากที่สุด เนื่องจากในภาวะไตวาย ไตจะขจัดอินซูลินได้น้อยลง จึงมีระดับอินซูลินในเลือดสูงขึ้น ทำให้น้ำตาลในเลือดผู้ป่วยลดต่ำลง คุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

เนื่องจากความดันโลหิตสูงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งจะไปส่งผลทำให้เกิดภาวะไตเสื่อมได้เร็วกว่าปกติ ควบคุมปริมาณการกินโปรตีน ข้อนี้เป็นสิ่งที่สำคัญและควรทำในทุกระยะของโรคเนื่องจากโปรตีนทำให้เลือดไปเลี้ยงไตมากขึ้น

ซึ่งมีความสำคัญในการเกิดโรคไต โปรตีนจะถูกย่อยสลายในร่างกายเป็นบียูเอ็นในเลือดทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนและโปรตีนยังทำให้ไตเสื่อมมากขึ้นไปอีกกว่าปกติ สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานในระยะที่ไตเสื่อมหน้าที่แล้ว ควรทานโปรตีนให้น้อยกว่าคนปกติ ในขนาดไม่เกิน 6 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน

การรักษาโดยการใช้ยา โดยแพทย์จะเริ่มให้ยากหากป่วยเป็นถึงระยะที่ 4 แล้ว เช่น ยาแคลเซียมคาร์บอเนตหรือแคลเซียมแอซีเทตย ยาในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์จับกับฟอสรัสในอาหารโดยฟอสฟอรัสเป็นเกลือแร่ที่ถูกขับออกทางไตนอกจากนี้ยาโซเดียมไบคาร์บอเนตซึ่งมีฤทธิ์เป็นบัฟเฟอร์ ( Buffer ) สารที่ใช้แก้ไขความเป็นกรดด่าง แก้ไขความเป็นกรดในเลือด และยังลดการเกิดพังผืดในบริเวณเนื้อเยื่อหลอดไต ทำให้การเสื่อมของไตลดลงสำหรับผู้ป่วยเบาหวานระยะที่ 4 มักมีอาการซีดจากการสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง จึงควรให้เสริมด้วยธาตุเหล็กและกรดโฟลิกเข้าไป
เมื่อการเสื่อมของไตมีมากขึ้นไปเรื่อยๆ  แพทย์ก็จะรักษาผู้ป่วยตามอาการที่เกิดขึ้น  เมื่ออาการเริ่มหนักขึ้นก็ต้องรักษาโดยการฟอกเลือดหรือล้างไตทางเส้นเลือดโดยอาศัยเครื่องไตเทียม หรือล้างไตทางหน้าท้อง  ซึ่งมักจะเข้าใจกันผิดบ่อยๆว่าการล้างไตทั้งสองวิธีเป็นการรักษาต้นเหตุของโรคไตได้ การล้างไตนั้นโดยทั่วไปมักเริ่มต้นการล้างไตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เมื่อระดับ ครีเอตินีนในเลือดสูงกว่า 10 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ทั้งนี้ ขึ้นกับสภาพการทำงานของหัวใจผู้ป่วยด้วย

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่ผิดๆเกี่ยวกับการล้างไต เช่น  การล้างไตเพียงหนึ่งถึงสองครั้งสามารถทำให้เสียชีวิตได้ หรือ ยิ่งล้างไตร่างกายยิ่งแย่ลง แต่ความเป็นจริงคือ การตายหรือการที่ผู้ป่วยมีอาการทรุดลงเป็นเพราะเริ่มการล้างไตช้าเกินไปนั่นเอง ไม่ได้เป็นผลร้ายจากการล้างไตแต่อย่างใดทั้งนี้  ส่วนการรักษาที่ดีที่สุดของผู้เป็นโรคไตคือ  การผ่าตัดเปลี่ยนไตหรือการผ่าตัดปลูกไตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย     

แนวทางการป้องกันและการรักษาโรคไตจากเบาหวาน

1. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับดี
2. ควบคุมระดับความดันโลหิตให้ต่ำกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งในข้อนี้มีการแนะนำเกี่ยวกับกลุ่มของยาลดความดันโลหิตที่สามารถเลือกใช้ตัวใดตัวหนึ่ง หรือใช้ร่วมกัน หากไม่มีข้อห้าม และควรมีการปรึกษาแพทย์
3. ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอัลบูมินในปัสสาวะ และ/หรือมีภาวะความดันโลหิตสูงต้องได้รับการรักษา ควบคุมระดับความดันโลหิตให้ต่ำกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท เพื่อช่วยชะลอการเสื่อมของไต
4. ควรให้รับคำแนะนำและการรักษาปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อย่างเหมาะสม ได้แก่ การควบคุมระดับไขมันในเลือด การควบคุมน้ำหนัก การออกกำลังกายสม่ำเสมอ และงดสูบบุหรี่
5. ควรได้รับการดูแลรักษาเช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง เช่น จำกัดปริมาณโปรตีนในอาหารให้เหมาะสม

การปลูกถ่ายไตมีขั้นตอนอย่างไร

การปลูกถ่ายไตเป็นการรักษาที่ดีที่สุด สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นไตวายระยะสุดท้าย  โดยการรักษาเมื่อได้รับไตใหม่แล้ว ปกติแพทย์จะไม่ตัดไตเดิมทิ้งแต่อย่างใด ยกเว้นกรณีที่ไตติดเชื้อ หรือไตมีขนาดใหญ่มาก แต่จะใช้วิธีการใส่ไตใหม่เข้าไปโดยให้อยู่ที่ด้านหน้าของช่องท้อง และไตเดิมอยู่ด้านหลังของช่องท้องตามปกติจึงทำให้เรียกวิธีการนี้ว่าการปลูกถ่ายไต นั่นเอง โดยไตใหม่ที่ได้มาในการรักษา อาจจะมาจากผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่หรือ อาจจะได้ไตมาจากผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว และได้ทำเรื่องการบริจาคไตไว้ตั้งแต่ช่วงมีชีวิตอยู่ก็ได้

สำหรับผู้รับบริจาคไตหลังจากการปลูกถ่ายไตเสร็จแล้ว ก็ยังต้องทานยากดภูมิคุ้มกันไตไปตลอดชีวิต เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายต่อต้านไตใหม่ของร่างกายและยังอาจต้องรับประทานยาชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาลดระดับไขมันในเลือด เป็นต้น และการปลูกถ่ายไตยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากๆด้วย ทั้งการรักษาและยาที่ต้องทาน

ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานไม่จำเป็นต้องเป็นโรคไตวายทุกคน แต่ทั้งนี้หากรู้ตัวว่าเป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว ก็ควรหมั่นสำรวจร่างกายตัวเองว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับโรคไตวายหรือไม่อย่างไร หากมีอาการควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว และที่สำคัญต้องอย่าลืมดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วย เพราะหากเป็นไปได้ก็คงไม่อยากจะต้องฟอกเลือดหรือล้างไตหรอก จริงไหม

ร่วมตอบคำถามกับเรา

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน พ.ศ.2557. กรุงเทพฯ: หจก. อรุณการพิมพ์, 2557.

แก้ว กังสดาลอำไพ. ความสัมพันธ์ระหว่างแอลกอฮอล์กับอาหาร [เว็บไซต์]. กรุงเทพฯ. หมอชาวบ้าน, 2531.

ประสาร เปรมะสกุล, พลเอก. คู่มือแปลผลตรวจเลือด เล่มสอง. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์, 2554. 416 หน้า. 1. เลือด – การตรวจ I.ชื่อเรื่อง. 616.07561 ISBN 978-974-9608-49-4.

Dr.Per Grinsted (2005-03-02). “Kidney failure (renal failure with uremia, or azotaemia)”. 2009-05-26.