คะน้า
คะน้า (Chinese Kale) เป็น ผักสีเขียวอีกชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทานกันทั่วไป มักจะเป็นส่วนประกอบของอาหารในหลายเมนู เป็นผักที่หาได้ง่ายและราคาไม่แพง สามารถปลูกได้ตลอดปี อีกทั้งยังมีรสชาติกรอบอร่อย รับประทานได้ง่าย มีประโยชน์ต่อร่างกายในหลายด้าน แต่บางคนยังไม่รู้ว่าผักคะน้ามีสรรพคุณต่อร่างกายอย่างไรบ้าง
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของคะน้า
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Brassica oleracea L. Cv. Alboglabra Group
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญ 3 ชื่อ คือ “Kai – Lan” “Chinese broccoli” “Chinese kale”
ชื่อท้องถิ่น : จีนกวางตุ้งเรียกว่า “ไก๋หลาน” จีนแต้จิ๋วเรียกว่า “กำหนำ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักกาด (BRASSICACEAE หรือ CRUCIFERAE)
ชื่อพ้อง : Brassica alboglabra L.H.Bailey
ลักษณะของคะน้า
คะน้า เป็นผักที่มีต้นกำเนิดในทวีปเอเชีย มีพันธุ์ที่นิยมปลูกในประเทศไทยอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ
พันธุ์ใบกลม : มีลักษณะใบกว้างใหญ่ ปล้องสั้น ปลายใบมนและผิวใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ได้แก่ พันธุ์ฝางเบอร์ 1
พันธุ์ใบแหลม : เป็นพันธุ์ที่มีลักษณะใบแคบกว่าพันธุ์ใบกลม ปลายใบแหลม ข้อห่าง ผิวใบเรียบ ได้แก่ พันธุ์ P.L.20
พันธุ์ยอดหรือก้าน : มีลักษณะใบเหมือนกับคะน้าใบแหลม แต่จำนวนใบต่อต้นมีน้อยกว่า ปล้องยาวกว่า ได้แก่ พันธุ์แม่โจ้ 2
สรรพคุณของคะน้า
- สรรพคุณด้านเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ต้านอนุมูลอิสระและชะลอความเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ เสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ทำให้สุขภาพแข็งแรง ป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ วิตามินซีช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อให้ชุ่มชื้นมากขึ้น
- สรรพคุณด้านความงาม ช่วยบำรุงผิวพรรณ ลดความอ้วนหรือลดอาการกินของจุบจิบ
สรรพคุณด้านประสาทสัมผัสทั้ง 5 บำรุงและรักษาสายตา ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต้อกระจกได้ถึง 29% ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมและยังช่วยป้องกันการเสื่อมของศูนย์จอตา ช่วยเสริมสร้างฟันให้แข็งแรง - สรรพคุณด้านเลือดในร่างกาย บำรุงโลหิต เสริมสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต เสริมสร้างออกซิเจนในเลือด ป้องกันการเกิดโลหิตจาง
- สรรพคุณด้านกระดูก ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน
- สรรพคุณด้านลดไขมัน ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ลดน้ำตาลเพราะเป็นผักที่มีน้ำตาลน้อยมาก
- สรรพคุณช่วยบรรเทาอาการ บรรเทาอาการไมเกรน ป้องกันการเกิดตะคริวหากรับประทานเป็นประจำ
- สรรพคุณด้านสมอง ช่วยชะลอความจำเสื่อม เสริมสร้างสมองและลดความเสี่ยงต่อการพิการของเด็กทารกในครรภ์
- สรรพคุณด้านป้องกันโรคมะเร็ง ยับยั้งการเจริญของเนื้องอก ยับยั้งสารก่อมะเร็ง ส่งเสริมการทำงานของเอนไซม์ที่ช่วยขับพิษของสารก่อมะเร็ง ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม
- สรรพคุณด้านป้องกันโรค รักษาโรคหอบหืด รักษาโรคภูมิแพ้
- สรรพคุณด้านระบบขับถ่าย ป้องกันอาการท้องผูก
- สรรพคุณด้านฮอร์โมน ปรับสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย รักษาสมดุลของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือช่วยลดอาการหงุดหงิดและอารมณ์แปรปรวนในสตรีช่วงมีประจำเดือน
ประโยชน์ของคะน้า
เป็นส่วนประกอบของอาหาร เป็นอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ผัดคะน้าหมูกรอบ ผัดผักคะน้า ต้มจับฉ่าย ข้าวผัดคะน้า คะน้าปลาเค็ม เป็นต้น
คุณค่าทางโภชนาการของผักคะน้า
คุณค่าทางโภชนาการของผักคะน้าต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 24 กิโลแคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ |
โปรตีน | 2.7 กรัม |
คาร์โบไฮเดรต | 2.2 กรัม |
แคลเซียม | 245 มิลลิกรัม |
เหล็ก | 1.2 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 147 มิลลิกรัม |
กากใยอาหาร | 3.2 กรัม |
เบต้าแคโรทีน | 2,512 ไมโครกรัม |
วิตามินเอ | 419 ไมโครกรัม |
ไทอะมิน | 0.05 มิลลิกรัม |
ไรโบฟลาวิน | 0.08 มิลลิกรัม |
ไนอะซิน | 1.0 มิลลิกรัม |
ข้อควรระวัง
1. ก่อนนำมารับประทานควรล้างผักให้สะอาด ควรใช้น้ำยาล้างผักหรือน้ำส้มสายชูฆ่าสารพิษออกให้หมด เนื่องจากผักคะน้าเป็นผักที่พบสารพิษตกค้างหรือยาฆ่าแมลงมากที่สุด รวมถึงธาตุแคดเมียมที่อาจจะปนเปื้อนมากับน้ำและดิน เป็นพิษต่อตับและไต
2. ไม่ควรรับประทานในปริมาณมากหรือบ่อยเกินไป เพราะผักคะน้ามีสารกอยโตรเจน (Goitrogen) อาจทำให้เกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ร่างกายขาดแร่ธาตุไอโอดีนจนเป็นสาเหตุของโรคคอพอก ทำให้ร่างกายนำไอโอดีนในเลือดไปใช้ได้น้อยกว่าปกติ และไปยับยั้งการสร้างฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์
ผักคะน้า เป็นผักที่มีน้ำมากและมีรสกรอบอร่อย แต่เป็นผักที่มีสารพิษตกค้างมากเช่นกัน มักจะพบอยู่ในเมนูอาหารมากมาย เป็นผักยอดนิยมสำหรับคนไทยและคนเอเชีย สรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงและรักษาสายตา ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม บรรเทาอาการไมเกรน ชะลอความจำเสื่อม ยับยั้งสารก่อมะเร็ง และช่วยลดอารมณ์แปรปรวนในสตรีช่วงมีประจำเดือนได้ ถือเป็นผักที่มีประโยชน์มากมายจริง ๆ
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
แหล่งอ้างอิง
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ดร.หรงฮัว จูเกอ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา