ผักกาดส้ม
ผักกาดส้ม (Curly Dock) เป็นพืชในวงศ์ไผ่ที่นิยมของชาวท้องถิ่น ผักกาดส้มเป็นชื่อเรียกของคนแม่ฮ่องสอนและเป็นผักที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นในแถบภาคเหนือและชาวกะเหรี่ยงเป็นส่วนใหญ่ ทั้งต้นมีรสเปรี้ยวดังนั้นชาวเขาเผ่าจีนฮ่อ ม้ง เย้า ปะหล่องและเผ่าอื่น ๆ จึงนิยมนำลำต้นและใบมาดองเค็มเพื่อรับประทาน เป็นต้นที่มีประโยชน์ต่อการนำมาปรุงอาหารและเป็นยาสมุนไพรของชาวม้งและชาวล้านนา แต่ผักกาดส้มก็เป็นผักชนิดหนึ่งที่มีพิษต่อร่างกายได้เช่นกัน
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักกาดส้ม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rumex crispus L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Curly Dock” “Yellow dock”
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ผักกาดส้ม” ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า “เก่อบะซิ” ชาวม้งเชียงใหม่เรียกว่า “ชั่วโล่งจั๊วะ” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “พะปลอ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักไผ่ (POLYGONACEAE)
ลักษณะของผักกาดส้ม
ผักกาดส้ม เป็นพรรณไม้ล้มลุกมีอายุได้หลายปี
ลำต้น : ลำต้นเป็นสีเขียวอมแดงและค่อนข้างกลม ผิวลำต้นเกลี้ยง มีรากแก้วคล้ายหัวผักกาด สามารถแตกกิ่งก้านสาขาได้
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับเวียนรอบต้นหรือกิ่งแผ่เป็นวงรัศมี ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกแคบถึงรูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายใบมนเล็กน้อยหรือแหลม โคนใบสอบแคบ โค้งมนรูปตัดหรือเว้าตื้น ขอบใบเป็นลอนคลื่นหรือย่น ผิวใบเกลี้ยง เส้นใบค่อนข้างเลือนรางจนมองเห็นไม่ชัดเจน หูใบแผ่แบนลักษณะคล้ายปลอกหุ้มลำต้น
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจะตั้งขึ้นที่ปลายยอดหรือปลายกิ่ง บางครั้งแยกแขนงออกเป็น 2 – 3 แขนง ดอกย่อยมีจำนวนมาก เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศอยู่เป็นกระจุกรอบแกนดอกชิดติดกันแน่นตามแกนช่อดอก ลักษณะคล้ายกระบองหรือทรงกระบอก กลุ่มดอกที่ออกจากซอกใบล่างลงมามักเป็นกระจุกเล็ก ๆ มีรูปทรงกลม ดอกย่อยเป็นสีเขียวมีขนาดเล็ก วงกลีบรวม 6 กลีบ เรียงเป็น 2 วง วงละ 3 กลีบ กลีบวงในขยายใหญ่และหุ้มผลเมื่อตกผล ดอกมีเกสรเพศผู้ 6 อัน เรียงตัวเป็น 2 วง วงละ 3 อัน อับเรณูติดที่ฐาน รังไข่นูนเหนือฐานวงกลีบรวม ภายในมี 3 ช่อง มีก้านเกสรสั้น 3 อัน ปลายก้านมีลักษณะคล้ายแปรงหรือชายครุย
ผล : เป็นผลแห้งไม่แตก
เมล็ด : เป็นเมล็ดเดี่ยว ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่ ด้านข้างเป็นสันนูนคล้ายปีก 3 สัน มีกาบของกลีบหุ้มเป็นสันคล้ายปีก 3 สัน
สรรพคุณของผักกาดส้ม
- สรรพคุณจากใบ
– แก้ปวดฟัน โดยชาวม้งนำยอดอ่อนมาอมหรือต้มกับไข่กินเป็นยา - สรรพคุณจากราก
– เป็นยาระบาย โดยตำรายาพื้นบ้านล้านนานำรากมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
– แก้หนองใน ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
– รักษาฝี ด้วยการนำรากมาทุบห่อผ้าเพื่อทำเป็นลูกประคบฝี เมื่อฝีแตกให้นำรากมาฝนกับน้ำทาบริเวณที่เป็น
ประโยชน์ของผักกาดส้ม
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบนำมาใช้แทนมะนาวใส่ในแกงเพื่อปรุงให้มีรสเปรี้ยวได้ ชาวเขาเผ่าจีนฮ่อ ม้ง เย้า ปะหล่องและเผ่าอื่น ๆ นำลำต้นและใบมาทำเป็นผักดองเค็มเพื่อทานเป็นกับแกล้มหรือกินกับข้าว
2. ใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้าและหนัง
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของผักกาดส้ม
- ทั้งต้นของผักกาดส้ม พบกรดออกซาลิกซึ่งเป็นพิษต่อตับและไตของคน จึงทำให้เสียชีวิตได้
- รากของผักกาดส้ม พบสารกลุ่มแอนทราควิโนนซึ่งมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งในหนู
- แก่นของผักกาดส้ม พบสารที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ในสัตว์ทดลอง
ผักกาดส้ม เป็นต้นที่มีลักษณะคล้ายผักกาดแต่ไม่ได้มีสีส้มตามชื่อ ทั้งต้นมีรสเปรี้ยวจึงนิยมนำมาทานเป็นผักดองเค็มและนำมาใช้แทนมะนาวได้ ภายในต้นพบสารที่เป็นพิษต่อตับและไตจึงควรระวังในการนำมารับประทาน ผักกาดส้มมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ปวดฟัน เป็นยาระบาย แก้หนองในและรักษาฝีได้
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ผักกาดส้ม”. หน้า 188.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ผักกาดส้ม”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือองค์ความรู้เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของไทย เล่ม 3. (สุธรรม อารีกุล, จำรัส อินทร, สุวรรณ ทาเขียว, อ่องเต็ง นันทแก้ว). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [22 พ.ย. 2014].