มะเขือยาว
มะเขือยาว (Eggplant) เป็นพืชที่ใช้ในการปรุงอาหารได้หลากหลายทั้งผลและเมล็ด เมื่อปรุงสุกจะมีรสหวานและเนื้อนุ่ม หลายคนอาจไม่ทราบว่ามะเขือยาวมีสรรพคุณมากมาย เป็นพืชที่ปลูกได้ง่ายและหาซื้อได้ทั่วไปในตลาด โดยทั่วไปมักมีสีเขียวหรือสีม่วง และเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญในการประกอบอาหารเพื่อให้ได้วิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์แก่ร่างกาย
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของมะเขือยาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Solanum melongena L.
ชื่อสามัญ : ชื่อสามัญมี 2 ชื่อ คือ “Eggplant” และ “Potato tree”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “มะเขือไข่ม้า มะแขว้ง มะแข้งคมหรือมะเขือป้าว” ภาคกลางเรียกว่า “มะเขือขาว มะเขือจานมะพร้าว มะเขือกระโปกแพะหรือมะเขือจาน” ชาวกะเหรี่ยงและจังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “สะกอวา ยั่งมูไล่” ประเทศจีนเรียกว่า “เกียจี้”
ชื่อวงศ์ : วงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)
ลักษณะของมะเขือยาว
มะเขือยาว เป็นไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง พันธุ์แท้นั้นมีสีเขียวแต่ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นจนเกิดเป็นสีม่วงและสีขาวตามมา
ใบ : ใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ขอบใบหยัก มีขนปกคลุมและมีหนาม
ดอก : ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อ มีสีม่วงและมีกลีบ 5 กลีบเป็นรูปดาว
ผล : มีลักษณะกลมยาวสีเขียวอ่อน สีม่วงคล้ำหรือเป็นสีขาว ผิวเปลือกจะเรียบเกลี้ยงเป็นมัน ตรงขั้วผลก็จะมีกลีบเลี้ยงสีเขียวติดอยู่
เมล็ด : มีเมล็ดจำนวนมาก ขนาดเล็กกลมแบน
การนำไปใช้ประโยชน์ของมะเขือยาว
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร นำมะเขือยาวมารับประทานเป็นผักหรือนำมาทอด ต้ม และเป็นส่วนประกอบของอาหารอย่างมะเขือยาวผัดใส่ไข่ แกงกะทิ ชุบแป้งทอดรับประทานพร้อมน้ำพริก เป็นต้น
2. ส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ความงาม นำมาเป็นส่วนประกอบของแผ่นมาสก์หน้ามะเขือยาว
3. เป็นเม็ดยาแก้ปวด ผลแห้งนำมาทำเป็นเม็ดยากินแก้อาการปวดได้
สรรพคุณของมะเขือยาว
- สรรพคุณด้านเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ต่อต้านอนุมูลอิสระ
- สรรพคุณด้านเลือดในร่างกาย รักษาหลอดเลือดโลหิตและหัวใจให้เป็นปกติ ป้องกันความดันโลหิตสูง ลดระดับน้ำตาลในเลือด
– แก้อาการตกเลือดในลำไส้ ด้วยการใช้ใบแห้งนำมาตำให้เป็นผงประมาณ 6 – 10 กรัม แล้วรับประทาน หรือจะใช้ผลแห้งนำมาทำเป็นเม็ดยากินแก้อาการก็ได้ หรือจะใช้ขั้วผลแห้งประมาณ 60 กรัม นำมาต้มหรือนำไปเผาให้เป็นเถ้า บดให้ละเอียดแล้วนำมากิน - สรรพคุณด้านประสาทสัมผัสทั้ง 5 แคลเซียมจากมะเขือยาวช่วยบำรุงฟัน รักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน
– รักษาอาการปวดฟัน ฟันผุ ด้วยการใช้ดอกแห้งหรือสดนำมาเผาให้เป็นเถ้าแล้วบดให้ละเอียด นำมาทาบริเวณที่ปวดหรือจะใช้ขั้วผลสดนำมาตำให้ละเอียดแล้วนำมาพอกหรือทาบริเวณที่มีอาการ
– รักษาแผลในช่องปาก ด้วยการใช้ขั้วผลสดนำมาตำให้ละเอียดแล้วนำมาพอกหรือทาบริเวณที่เป็นแผล - สรรพคุณด้านบำรุงอวัยวะ บำรุงกระดูก บำรุงระบบประสาทและสมองเพื่อพัฒนาด้านความจำ
- สรรพคุณช่วยบรรเทาอาการ บรรเทาอาการปวด ช่วยถอนพิษจากเห็ดพิษบางชนิด
– ขับเสมหะ ด้วยการใช้ผลแห้งนำมาทำเป็นเม็ดยา
– รักษาอาการแผลมีหนอง ด้วยการใช้ดอกแห้งหรือสดนำมาเผาให้เป็นเถ้าแล้วบดให้ละเอียด นำมาทาบริเวณที่ปวดหรือจะใช้ผลสดนำมาตำให้ละเอียดแล้วพอกบริเวณที่เป็นแผล หรือจะใช้ขั้วผลสดนำมาตำให้ละเอียดแล้วนำมาพอกหรือทาบริเวณที่มีแผล
-รักษาอาการแผลเท้าเปื่อยอักเสบ ด้วยการใช้ลำต้นและรากสดนำมาตำจนละเอียด คั้นเอาน้ำแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นแผล
– รักษาแผลที่เกิดจากพยาธิปากขอเจาะไชเท้า ด้วยการใช้ใบต้มกับน้ำล้างบริเวณที่เป็นแผล
– รักษาอาการผิวหนังเป็นปื้นขาวหรือแดง ด้วยการใช้ขั้วผลที่แห้งแล้วนำมาคลุกผสมกับกำมะถัน จากนั้นก็บดให้ละเอียดแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นปื้น
– รักษาฝี ด้วยการใช้ขั้วผลสดนำมาตำให้ละเอียด นำมาพอกหรือทาบริเวณที่เป็นฝี หรือถ้าเป็นฝีหลายหัวบริเวณหลังแต่หนองยังไม่แตกให้นำใบสดมาตำจนละเอียดแล้วผสมกับน้ำส้มสายชูสีดำแล้วนำมาต้มแล้วพอกบริเวณที่เป็นฝี
– ช่วยล้างแผลหรือนำมาพอกบริเวณที่เป็นแผลบวม เป็นหนองหรือแผลที่เกิดจากการถูกความเย็น ด้วยการใช้ใบมาต้มเอาน้ำแล้วนำมาล้างแผลหรือพอกบริเวณที่เป็นหนอง
– รักษาอาการเจ็บหัวนมหรือหัวนมแตกของผู้หญิง ให้ใช้ผลแก่จัดนำมาตากในร่มจนแห้งแล้วนำไปเผาจนเป็นเถ้าแล้วบดให้ละเอียดผสมกับน้ำแล้วใช้ทาบริเวณที่เจ็บ - สรรพคุณด้านระบบขับถ่าย ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างเป็นปกติ ยับยั้งการดูดซึมของคอเลสเตอรอลผ่านหนังลำไส้
– รักษาโรคบิดเรื้อรังและอุจจาระเป็นเลือด ด้วยการใช้ลำต้นและรากแห้งประมาณ 10 กรัม มาต้ม แล้วนำน้ำมาดื่มหรือใช้ใบแห้งนำมาตำให้เป็นผงประมาณ 6 – 10 กรัม แล้วรับประทาน หรือจะใช้ผลแห้งนำมาทำเป็นเม็ดยากินแก้อาการอุจจาระเป็นเลือด หรือจะใช้ขั้วผลแห้งประมาณ 60 กรัม นำมาต้มหรือนำไปเผาให้เป็นเถ้า บดให้ละเอียดแล้วนำมารับประทาน
– แก้ปัสสาวะขัด ด้วยการใช้ใบแห้งนำมาตำให้เป็นผงประมาณ 6 – 10 กรัม แล้วรับประทาน - สรรพคุณด้านป้องกันโรค ต้านโรคมะเร็ง
– รักษาโรคหนองใน ด้วยการใช้ใบแห้งนำมาตำให้เป็นผงประมาณ 6 – 10 กรัม แล้วรับประทาน
– รักษาโรคผิวหนังเรื้อรัง ผดผื่นคันตามผิว ด้วยการใช้ผลสดนำมาตำให้ละเอียดแล้วพอกบริเวณที่มีอาการ
มะเขือยาวคุณค่าทางโภชนาการ
คุณค่าทางโภชนาการของมะเขือยาว 100 กรัม ให้พลังงาน 25 กิโลแคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารอาหารที่ได้รับ |
ไขมัน | 0.3 กรัม |
คาร์โบไฮเดรต | 4.9 กรัม |
โปรตีน | 0.9 กรัม |
เส้นใย | 0.9 กรัม |
แคลเซียม | 19 มิลลิกรัม |
ฟอสฟอรัส | 44 มิลลิกรัม |
เหล็ก | 2.6 มิลลิกรัม |
วิตามินเอ | 354 IU |
วิตามินบี1 | 0.09 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 | 9.06 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 3 มิลลิกรัม |
มะเขือยาวมีสารอาหารที่สำคัญคือ สารไกลโคอัลคาลอยด์ (Glycoalkaloid) สารต้านอนุมูลอิสระอย่างเทอร์ปิน (terpene) และสารนาซูนิน (Nasunin) ที่อยู่ในผิวของมะเขือซึ่งมีคุณสมบัติต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
ข้อควรระวัง
1. ไม่ควรรับประทานมะเขือยาวในรูปแบบของทอดมากจนเกินไปเพราะมะเขือยาวมีความสามารถในการดูดซับน้ำมันได้ดี
2. ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหารแบบเฉียบพลันไม่ควรรับประทานมะเขือยาว
3. เด็กทารกที่อายุต่ำกว่า 3 ปี ไม่ควรรับประทานมะเขือยาวเพราะกากใยอาหารสูงอาจทำให้มีปัญหาการย่อยอาหาร
4. ผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบควรหลีกเลี่ยงการรับประทานมะเขือยาว
มะเขือยาว มีสรรพคุณมากมายกว่าที่คิดและมีหลากหลายสีทั้งสีเขียว สีม่วงและสีขาว มักจะใช้ในการประกอบอาหาร สรรพคุณที่โดดเด่นของมะเขือยาวเลยก็คือบำรุงหัวใจ รักษาอาการหัวนมแตกของผู้หญิง รักษาอุจจาระเป็นเลือด รักษาแผลและต้านมะเร็ง เป็นพืชที่ดีต่อระบบเลือดและระบบขับถ่ายเป็นอย่างมาก และยังบรรเทาอาการปวดบวม แผลอักเสบ โรคผิวหนัง ถือเป็นหนึ่งในพืชผลที่ไม่คาดคิดว่าจะให้ประโยชน์แก่ร่างกายมากมายขนาดนี้
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม