ชำมะเลียง
ชำมะเลียง (Luna nut) เป็นต้นที่มักจะพบในทางภาคใต้หรือริมทะเล มีผลสีม่วงดำรสหวานอร่อย เป็นต้นที่ไม่ค่อยได้ยินชื่อผ่านหูแต่เป็นพืชที่มีสรรพคุณต่อร่างกายนอกจากจะเป็นผลไม้เท่านั้น สามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามสถานที่ต่าง ๆ ได้และยังนำมาทำเป็น “น้ำชำมะเลียง” ซึ่งเป็นน้ำผลไม้ที่มีรสหวานฉ่ำได้ด้วยเช่นกัน
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของชำมะเลียง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lepisanthes fruticosa (Roxb.) Leenh.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Luna nut” “Chammaliang”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “ชำมะเลียง ชำมะเลียงบ้าน พุมเรียง พุมเรียงสวน” ภาคเหนือเรียกว่า “มะเถ้า ผักเต้า” ภาคอีสานเรียกว่า “หวดข้าใหญ่ ภูเวียง” จังหวัดตราดเรียกว่า “โคมเรียง” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “พูเวียง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์เงาะ (SAPINDACEAE)
ลักษณะของชำมะเลียง
ชำมะเลียง เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักจะพบตามป่าโปร่ง ตามแนวชายป่าหรือริมลำธาร แต่พบได้มากในแถบพื้นที่ชายทะเล
เปลือกลำต้น : เป็นสีน้ำตาลแตกเป็นร่อง ๆ ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อน มีขนสีน้ำตาล
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกัน แผ่นใบย่อยเป็นรูปวงรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือสอบเข้า ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนา หลังใบเรียบเป็นมัน ท้องใบเรียบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบที่มีก้านดอกเล็ก ๆ แยกจากก้านใหญ่ ช่อดอกห้อยลง ดอกย่อยของแต่ละช่อจะมีทั้งดอกที่สมบูรณ์เพศและไม่สมบูรณ์เพศ ดอกเป็นสีขาวครีม กลีบดอก 5 กลีบแยกกันเป็นรูปวงรีคล้ายกลีบเลี้ยงแต่จะบางกว่าและอยู่ระหว่างกลีบเลี้ยง กลีบเลี้ยงเป็นสีม่วง 5 กลีบ เป็นรูปวงรี มักจะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม
ผล : ออกเป็นช่อและในหนึ่งช่อมีผลเป็นพวง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม รูปไข่หรือรูปวงรีป้อม ผิวเรียบเป็นมัน ผลสดเป็นสีเขียวอมม่วงแดง เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ เนื้อผลฉ่ำน้ำ มีรสหวาน
เมล็ด : ภายในผลมีประมาณ 1 – 2 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ปนขอบขนาน ผิวเรียบเป็นสีดำ
สรรพคุณของชำมะเลียง
- สรรพคุณจากราก เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้เหนือ แก้ไข้กาฬ แก้ไข้พิษ แก้ไข้สันนิบาต แก้ไข้สั่น แก้ไข้กำเดา แก้เลือดกำเดาไหล แก้อาการร้อนใน แก้อาการกระสับกระส่าย ทำให้ระบบทางเดินอาหารเป็นปกติ แก้อาการท้องผูก
- สรรพคุณจากผล ผลสุกหรือผลแก่ช่วยแก้ท้องเสีย แก้โรคท้องเสียในเด็ก
ประโยชน์ของชำมะเลียง
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบอ่อนและยอดอ่อนสามารถนำมาใช้ทำแกง ใส่ในปลาย่างหรือใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก ผลสุกใช้รับประทานเป็นผลไม้ด้วยการคลึงเบา ๆ ทั่วผลจะช่วยลดรสฝาดลงได้ ทำเป็นน้ำชำมะเลียง สีม่วงนำมาใช้เป็นสีผสมอาหาร
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ นิยมปลูกไว้ตามสวนผลไม้ทั่วไปหรือใช้ปลูกเพื่อการจัดสวนตามบ้าน ตามสถานที่ราชการ หรือใช้ปลูกเป็นพืชอาหารสัตว์ป่าในป่าอนุรักษ์
วิธีการทำน้ำชำมะเลียง
1. ทำการเลือกผลชำมะเลียงที่สุกงอมมาล้างให้สะอาดแล้วใส่ลงในภาชนะ 1 ถ้วย
2. เติมน้ำที่ต้มแล้วลงไป 1 ถ้วยครึ่ง แล้วยีให้เมล็ดออกจากเนื้อ เติมน้ำที่เหลือลงไปแล้วกรองเอาเมล็ดและเปลือกออก
3. เติมน้ำเชื่อม 1 ส่วน 3 ของถ้วยและเกลือ 1 ช้อนชาลงไป ก็เป็นอันเสร็จ
ชำมะเลียง นิยมนำมารับประทานเป็นผลไม้และน้ำผลไม้ที่ให้รสหวานฉ่ำแต่มีรสฝาดผสมเล็กน้อย ทั้งนี้หากรับประทานผลมากจนเกินไปอาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ ชำมะเลียงเป็นไม้ยืนต้นที่อุดมไปด้วยยาอยู่ในส่วนของรากเป็นส่วนใหญ่ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้ แก้ท้องเสีย แก้อาการกระสับกระส่ายและดีต่อระบบทางเดินอาหารในร่างกาย
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ชำมะเลียง (Chamma Liang)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 105.
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร. “ชำมะเลียง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [5 มี.ค. 2014].
ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ชํามะเลียง”. (นพพล เกตุประสาท, สุดใจ วรเลข). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [5 มี.ค. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ชำมะเลียง”. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 7. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [5 มี.ค. 2014].
โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์. “ชำมะเลียง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.shc.ac.th. [5 มี.ค. 2014].
ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ชํามะเลียง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.goldenjubilee-king50.com. [5 มี.ค. 2014].
วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี. “ชำมะเลียง”. อ้างอิงใน: หนังสือผลไม้ 111 ชนิด คุณค่าอาหารและการกิน (ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์, นิดดา หงษ์วิวัฒน์), หนังสือผลไม้ในเมืองไทย (เศรษฐมันต์ กาญจนกุล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: th.wikipedia.org/wiki/ชำมะเลียง. [5 มี.ค. 2014].