มะรุม
มะรุม (Moringa) เป็นผักพื้นบ้านของไทยที่นิยมนำมารับประทานและเป็นส่วนประกอบในอาหารหลากหลายเมนู อีกทั้งยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์เป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านได้เช่นกัน มะรุมเป็นพืชเขตร้อนที่มีรสชาติค่อนข้างเผ็ดร้อนและขมตามแต่ละส่วนของต้นจึงอาจส่งผลเสียได้หากรับประทานในปริมาณที่ไม่ถูกต้อง ถือเป็นผักที่คนโบราณและคนทั่วไปยกย่องว่าเป็นพืชสารพัดประโยชน์ที่ดีต่อร่างกาย
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของมะรุม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Moringa oleifera Lam.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Moringa”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “บะค้อนก้อม” ภาคอีสานเรียกว่า “ผักอีฮุม บักฮุ้ม”
ชื่อวงศ์ : วงศ์มะรุม (MORINGACEAE)
ชื่อพ้อง : Guilandina moringa L., Hyperanthera moringa (L.) Vahl, Moringa zeylanica Burmann
ลักษณะของมะรุม
มะรุม เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่มีถิ่นกำเนิดในแถบทวีปเอเชีย เช่น ประเทศอินเดียและศรีลังกา เนื่องจากปลูกง่ายในเขตร้อนและทนแล้งได้ดี
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกชนิดที่แตกใบย่อย 3 ชั้น ใบออกเรียงสลับกันเป็นรูปไข่ ปลายใบและฐานใบมน ผิวใบด้านล่างสีอ่อนกว่าและมีขนเล็กน้อย
ดอก : ออกดอกเป็นช่อสีขาว มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ และกลีบดอก 5 กลีบ
ผล : ผลเป็นฝักยาวเหลี่ยม มีเปลือกสีเขียว
สรรพคุณของมะรุม
- สรรพคุณจากมะรุม ช่วยบำรุงผิวให้ชุ่มชื้น เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย รักษาโรคขาดสารอาหารในเด็กแรกเกิดถึงอายุ 10 ขวบ รักษาโรคมะเร็งในกระดูก ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย รักษาโรคโลหิตจาง ช่วยลดน้ำตาล ช่วยรักษาโรคเบาหวานโดยรักษาความสมดุลของระดับน้ำตาล รักษาโรคภูมิแพ้ เสริมสร้างภูมิต้านทานโรคที่ต่ำลงของผู้ป่วยเอดส์ บำรุงสุขภาพและรักษาดวงตา ช่วยรักษาโรคตาได้เกือบทุกโรค รักษาโรคตาต้อ รักษาตามืดมัว รักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ รักษาโรคโพรงจมูกอักเสบ รักษาโรคคอหอยพอกชนิดมีพิษ รักษาแผลในปากหรือแผลจากโรคปากนกกระจอก บำรุงและรักษาปอดให้แข็งแรง รักษาโรคปอดอักเสบ รักษาโรคลำไส้อักเสบ บรรเทาอาการท้องเสีย บรรเทาอาการท้องผูก บรรเทาอาการของโรคเกาต์ รักษาโรคกระดูกอักเสบ รักษาโรครูมาติสซั่ม บำรุงรักษาโรคตับและไต ลดโอกาสการติดเชื้อ HIV ของเด็กทารกในช่วงตั้งครรภ์
- สรรพคุณจากน้ำมะรุม ช่วยให้อาการแพ้รังสีของผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยรังสีฟื้นตัวเร็วขึ้น
- สรรพคุณจากน้ำมันมะรุม มีสารต้านอนุมูลอิสระและช่วยชะลอวัย ใช้นวดศีรษะ ฆ่าเชื้อราบนหนังศีรษะ แก้อาการคันหนังศีรษะ ช่วยลดอาการผมร่วง แก้อาการปวดศีรษะ ลดสิวบนใบหน้า ลดจุดด่างดำจากแสงแดด ป้องกันและฆ่าพยาธิในหู รักษาโรคหูน้ำหนวก รักษาเยื่อบุหูอักเสบ ใช้นวดบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือปวดเมื่อยตามบั้นเอวและขา ใช้นวดเพื่อกระชับกล้ามเนื้อ ลดอาการผื่นคันตามผิวหนังและการแพ้ผ้าอ้อมของเด็กทารก รักษาบาดแผล ช่วยถอนพิษและลดอาการปวดบวมจากแมลงสัตว์กัดต่อย รักษาเชื้อราตามผิวหนังหรือหนังศีรษะ รักษาเชื้อราตามซอกเล็บและโรคน้ำกัดเท้า ทารักษาหูดและตาปลา รักษาโรคเริมและงูสวัด ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และต้านจุลชีพ
- สรรพคุณจากฝัก ช่วยลดไขมันและคอเลสเตอรอลในร่างกาย ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ช่วยลดความดัน รักษาโรคความดันโลหิตสูง แก้ไข้และถอนพิษไข้
- สรรพคุณจากใบ ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ช่วยลดความดัน รักษาโรคความดันโลหิตสูง แก้อาการปวดศีรษะ แก้ไข้และถอนพิษไข้ รักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน ช่วยในการขับปัสสาวะ แก้อาการอักเสบ รักษาบาดแผล ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
- สรรพคุณจากดอก ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง เป็นยาบำรุงร่างกาย ช่วยขับน้ำตา แก้อาการไข้หัวลมหรืออาการไข้เปลี่ยนฤดู ช่วยในการขับปัสสาวะ ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
- สรรพคุณจากเมล็ด ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง แก้ไข้และถอนพิษไข้ บรรเทาอาการหวัด บรรเทาอาการไอเรื้อรัง ช่วยขับพยาธิในลำไส้ แก้อาการปวดตามข้อ แก้อาการบวม
– ช่วยในการขับถ่ายให้เป็นปกติ ด้วยการรับประทานเมล็ดมะรุมวันละ 1 เมล็ดก่อนนอน เมื่อการขับถ่ายกลับมาเป็นปกติค่อยหยุดรับประทาน - สรรพคุณจากเปลือกของลำต้น ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ช่วยคุมธาตุอ่อน ๆ แก้ลมอัมพาต ช่วยย่อยอาหาร ช่วยขับลมในลำไส้ ช่วยในการคุมกำเนิด
- สรรพคุณจากราก รักษาโรคหัวใจ บำรุงธาตุไฟ รักษาโรคไขข้อ แก้อาการบวม
- สรรพคุณจากยาง รักษาโรคหอบหืด แก้อาการปวดฟัน แก้อาการปวดหู ช่วยฆ่าเชื้อไทฟอยด์ ช่วยรักษาโรคซิฟิลิส
- สรรพคุณจากยอดอ่อน แก้ไข้และถอนพิษไข้
ประโยชน์ของมะรุม
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร เป็นส่วนประกอบในเมนูพวกแกงส้ม แกงลาว แกงอ่อม แกงกะหรี่ ยำฝักมะรุม เป็นต้น นำใบสดมารับประทาน ใบแห้งนำมาทำเป็นผง นำเมล็ดมาคั่วรับประทานเป็นถั่ว นำดอกมาลวกรับประทานกับน้ำพริก ยอดอ่อนและใบอ่อนนำไปต้มสุกรับประทานร่วมกับแจ่ว ลาบ ก้อย
2. เป็นส่วนประกอบของยา เป็นยาปฏิชีวนะ แปรรูปเป็นมะรุมแคปซูลได้
3. เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์เครื่องใช้ ในแถบอินเดียใช้ฝักมะรุมทำเป็นไม้ตีกลอง เมล็ดมะรุมนำมาบดละเอียดเพื่อใช้กรองน้ำและทำให้น้ำตกตะกอนจนสามารถฆ่าเชื้อโรคในน้ำได้
4. สกัดเป็นน้ำมันมะรุม นำมาใช้เป็นน้ำมันในการปรุงอาหาร ใช้เป็นน้ำยาหล่อลื่นและช่วยป้องกันสนิม
ข้อควรระวังของมะรุม
1. หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากจนเกินไปเพราะอาจจะทำให้แท้งบุตรได้
2. ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับเลือดไม่ควรรับประทานเพราะจะทำให้เม็ดเลือดแตกง่าย
3. ผู้ป่วยโรคเกาต์ไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากจนเกินไปเพราะมะรุมมีโปรตีนที่ค่อนข้างสูงมาก
4. ไม่ควรให้เด็กทารกในวัยเจริญเติบโตถึง 2 ขวบรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปเพราะใบมะรุมมีธาตุเหล็กสูง
5. ไม่ควรรับประทานในปริมาณมากเกินไปเพราะอาจจะทำให้ท้องเสียได้
6. ใบมะรุมควรรับประทานใบสดที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไปและไม่ควรถูกความร้อนนานเกินไปเพื่อให้ได้ประโยชน์ของสารอาหารอย่างเต็มที่
7. หากต้องการรับประทานแคปซูลมะรุม ควรเลือกซื้อมะรุมแคปซูลที่มีฉลาก (อย.) ชัดเจน
คุณค่าโภชนาการของมะรุม
คุณค่าทางโภชนาการของใบมะรุมสดต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 37 กิโลแคลอรี
คุณค่าสารอาหาร | ปริมาณสารอาหาร |
คาร์โบไฮเดรต | 8.53 กรัม |
ใยอาหาร | 3.2 กรัม |
ไขมัน | 0.20 กรัม |
โปรตีน | 2.10 กรัม |
น้ำ | 88.20 กรัม |
วิตามินเอ | 4 ไมโครกรัม (1%) |
วิตามินบี1 | 0.0530 มิลลิกรัม (5%) |
วิตามินบี2 | 0.074 มิลลิกรัม (6%) |
วิตามินบี3 | 0.620 มิลลิกรัม (4%) |
วิตามินบี5 | 0.794 มิลลิกรัม (16%) |
วิตามินบี6 | 0.120 มิลลิกรัม (9%) |
วิตามินบี9 | 44 ไมโครกรัม (11%) |
วิตามินซี | 141.0 มิลลิกรัม (170%) |
ธาตุแคลเซียม | 30 มิลลิกรัม (3%) |
ธาตุเหล็ก | 0.36 มิลลิกรัม (3%) |
ธาตุแมกนีเซียม | 45 มิลลิกรัม (13%) |
ธาตุแมงกานีส | 0.259 มิลลิกรัม (12%) |
ธาตุฟอสฟอรัส | 50 มิลลิกรัม (7%) |
ธาตุโพแทสเซียม | 461 มิลลิกรัม (10%) |
ธาตุโซเดียม | 42 มิลลิกรัม (3%) |
ธาตุสังกะสี | 0.45 มิลลิกรัม (5%) |
คุณค่าทางโภชนาการของฝักมะรุมต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 32 กิโลแคลอรี
คุณค่าสารอาหาร | ปริมาณสารอาหาร |
เส้นใย | 1.2 กรัม |
แคลเซียม | 9 มิลลิกรัม |
ฟอสฟอรัส | 26 มิลลิกรัม |
เหล็ก | 1.5 มิลลิกรัม |
วิตามินเอ | 532 IU |
วิตามินบี1 | 0.05 มิลลิกรัม |
ไนอาซิน | 0.6 มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 262 มิลลิกรัม |
มะรุม เป็นผักที่อุดมไปด้วยสารอาหารมากมายและเป็นผักที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงได้อย่างดีเยี่ยม สามารถนำส่วนประกอบทั้งต้นมาใช้ประโยชน์ได้ ทว่าหากรับประทานไม่ถูกวิธีอาจก่อให้เกิดผลตรงข้ามได้เช่นกัน มะรุมเป็นผักที่คนไทยคุ้นเคยและนำมารับประทานตั้งแต่อดีตจึงเป็นผักพื้นบ้านและเป็นยาสมุนไพรที่สำคัญ มีสรรพคุณที่โดดเด่นมากมายทั้งช่วยบรรเทาอาการ ป้องกันโรคและบำรุงผิวพรรณ นอกจากนั้นยังนำมาทำเป็น “แคปซูลมะรุม” ซึ่งค่อนข้างเป็นที่นิยมเพราะรับประทานง่ายและมีประโยชน์ต่อร่างกายสูง
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม