มะเขือพวง
มะเขือพวง (Turkey berry) เป็น พืชผักที่ใช้เป็นส่วนประกอบในน้ำพริกมากมายโดยเฉพาะในน้ำพริกกะปิ ซึ่งเป็นน้ำพริกที่คนไทยชื่นชอบ ถือเป็นมะเขือที่คนไทยคุ้นเคยกันมานานแต่สรรพคุณของมะเขือพวงนั้นยังไม่ค่อยมีใครรู้มากนัก อีกทั้งยังเป็นพืชที่มีสารอาหารที่สำคัญมากมาย ยังพบบันทึกว่ามะเขือพวงเป็นยาแผนโบราณในตำราอายุรเวทของประเทศจีนอีกด้วย มะเขือพวงมีมากมายหลายสายพันธุ์ ในบางสายพันธุ์ก็ใช้เป็นยาสมุนไพร เป็นต้นพืชที่สามารถหาได้ง่ายและมีผลผลิตตลอดทั้งปี
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของมะเขือพวง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Solanum torvum Sw.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญ 6 ชื่อ คือ “Turkey berry” “Devil’s fig” “Wild eggplant” “Pea eggplant” “Pea aubergine” “Shoo – shoo bush”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “มะแคว้งกุลา” ภาคอีสานเรียกว่า “หมากแข้ง” ภาคใต้เรียกว่า “เขือน้อย เขือพวง เขือเทศ ลูกแว้ง” จังหวัดสงขลาเรียกว่า “มะแว้งช้าง” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “มะเขือละคร”
ชื่อวงศ์ : วงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)
ชื่อพ้อง : Solanum ficifolium Ortega, Solanum mayanum Lundell
ลักษณะของมะเขือพวง
มะเขือพวง เป็นทรงพุ่มขนาดเล็กที่มีถิ่นกำเนิดในแถบรัฐฟลอริดา หมู่เกาะเวสต์ อินดีส์ เม็กซิโก ไปจนถึงอเมริกากลางและทวีปอเมริกาใต้แถบประเทศบราซิล เป็นวัชพืชที่ขึ้นกระจัดกระจายเกือบทั่วเขตร้อน
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน มีลักษณะทรงเรียวรี ใบใหญ่ยาว ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นรอยหยัก ใบมีสีเขียวและมีขนปกคลุมทั่วใบ
ราก : เป็นระบบรากแก้วแทงลึกลงในดิน มีลักษณะกลมสีน้ำตาล มีรากแขนงและรากย่อย
ดอก : ออกดอกเป็นช่อ เกาะกลุ่มอยู่เป็นพวง ดอกมีลักษณะเป็นรูปแตรขนาดเล็ก กลีบดอกมีสีม่วงหรือสีขาว
ผล : ผลอยู่เป็นพวง มีลักษณะทรงกลมเล็ก ๆ ผิวเปลือกหนาเรียบเป็นมัน ผลมีสีเขียว เนื้อแน่นกรอบฉ่ำน้ำ มีรสชาติขมอ่อน ๆ ผลสุกจะมีสีเหลืองหรือสีส้ม
เมล็ด : มีจำนวนมากอยู่ภายในผลแก่ เมล็ดมีลักษณะแบนกลมเล็ก ๆ และมีสีน้ำตาล
การนำไปใช้ประโยชน์ของมะเขือพวง
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร เป็นส่วนประกอบในเมนูอาหารอย่างแกงป่าทั้งหลาย น้ำพริกต่าง ๆ และผัดเผ็ด
2. เป็นส่วนประกอบของยาสมุนไพร
สรรพคุณของมะเขือพวง
- สรรพคุณด้านป้องกันโรค ต่อต้านโรคมะเร็ง ต้านเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 และยับยั้งไวรัส ควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ใบสดช่วยรักษาโรคซิฟิลิสหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
– รักษาโรคตาปลา ด้วยการนำรากสดมาตำแล้วพอกบริเวณที่มีอาการ - สรรพคุณช่วยบรรเทาอาการ มีฤทธิ์ในการขับเสมหะ ลดอาการความเครียดออกซิเดชันในผู้ป่วยเบาหวาน บรรเทาอาการไอและเป็นเลือด บรรเทาอาการภูมิแพ้ รักษาอาการเป็นพิษต่อไตที่เกิดจากยาคีโมที่ใช้รักษามะเร็ง มีฤทธิ์ต่อต้านการอักเสบและป้องกันการอักเสบเฉียบพลัน ใบสดเป็นยาระงับอาการประสาท ช่วยขับเหงื่อและแก้อาการชัก แก้อาการหืด น้ำคั้นใบสดช่วยลดไข้ ใช้แก้ปวดและปวดข้อ แก้อาการฟกช้ำ ใบสดใช้รักษาฝีบวมมีหนอง ช่วยพอกฝีหนองแตกเร็วขึ้นและช่วยทำให้ฝียุบ ใบสดรักษาโรคผิวหนัง ผลแห้งช่วยรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรีย ต้นรักษาโรคกลากเกลื้อนตามผิวหนัง
– แก้พิษในร่างกาย ด้วยการนำน้ำมะขามแช่รากมะเขือพวงแล้วนำมาต้มดื่ม
– แก้อาการปวดฟัน ด้วยการนำเมล็ดไปเผาให้เกิดควันแล้วสูดเอาควันรมแก้ปวด
– แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย ด้วยการใช้น้ำสกัดจากลำต้นมะเขือพวง
– รักษาอาการรอยเท้าแตก ด้วยการนำรากสดมาตำแล้วพอกบริเวณที่มีอาการ - สรรพคุณด้านควบคุมไขมัน ช่วยดูดซับไขมันส่วนเกินและอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ลดระดับคอเลสเตอรอล
- สรรพคุณด้านเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ต่อต้านอนุมูลอิสระ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
- สรรพคุณบำรุงอวัยวะ บำรุงตับ บำรุงธาตุและบำรุงร่างกาย บำรุงไต
- สรรพคุณด้านเลือดในร่างกาย รักษาความดันโลหิตสูง ทำให้เลือดในร่างกายหมุนเวียนได้ดียิ่งขึ้น ยับยั้งการแข็งตัวของเลือด ใบสดช่วยห้ามเลือด
- สรรพคุณด้านการคลายเครียด ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายและง่วงนอน
- สรรพคุณด้านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ผลแห้งช่วยบำรุงสายตา
- สรรพคุณด้านระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยในการย่อยอาหาร เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของลำไส้และป้องกันสารพิษที่เข้ามายังระบบทางเดินอาหาร ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจากสารเพกทินซึ่งมีหน้าที่ดึงน้ำไว้ได้มากเพื่อเพิ่มปริมาณของอุจจาระจึงช่วยกระตุ้นการขับถ่ายและทำให้ถ่ายง่ายขึ้นมาก ป้องกันโรคท้องผูกและริดสีดวงทวาร ผลและใบช่วยในการขับปัสสาวะ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
คุณค่าทางโภชนาการของมะเขือพวงสด
คุณค่าทางโภชนาการของมะเขือพวงสดต่อ 100 กรัม ให้พลังงาน 24 กิโลแคลอรี
สารอาหาร | ปริมาณสารอหาร |
คาร์โบไฮเดรต | 5.7 กรัม |
น้ำตาล | 2.35 กรัม |
เส้นใย | 3.4 กรัม |
ไขมัน | 0.19 กรัม |
โปรตีน | 1.01 กรัม |
วิตามินบี1 | 0.039 มิลลิกรัม |
วิตามินบี2 | 0.037 มิลลิกรัม |
วิตามินบี3 | 0.649 มิลลิกรัม |
วิตามินบี5 | 0.281 มิลลิกรัม |
วิตามินบี6 | 0.84 มิลลิกรัม |
วิตามินบี9 | 22 ไมโครกรัม |
วิตามินซี | 2.2 มิลลิกรัม |
แคลเซียม | 9 มิลลิกรัม |
ธาตุเหล็ก | 0.24 มิลลิกรัม |
แมกนีเซียม | 14 มิลลิกรัม |
ฟอสฟอรัส | 25 มิลลิกรัม |
โพแทสเซียม | 230 มิลลิกรัม |
สังกะสี | 0.16 มิลลิกรัม |
แมงกานีส | 0.25 มิลลิกรัม |
สารออกฤทธิ์ในมะเขือพวง
มะเขือพวงมีสารอาหารที่สำคัญคือ
- โซลาโซดีน (solasodine) เป็นสารที่มีสรรพคุณต้านโรคมะเร็ง
- สารทอร์โวไซด์เอ, เอช ซึ่งเป็นสตีรอยด์ไกลไซด์มีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 และยับยั้งไวรัสมากกว่ายาอะไซโคลเวียร์ 3 เท่า
- สารเพกติน เป็นสารที่ละลายน้ำได้ ช่วยเคลือบผิวของลำไส้ ทำให้ลำไส้ดูดซึมแป้งและน้ำตาลที่ย่อยแล้วได้ช้าลงจึงช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- สารทอร์โวนินบี (torvonin B) เป็นซาโพนินชนิดหนึ่ง มีฤทธิ์ขับเสมหะ
- โซลานีน (solanine) เป็นอัลคาลอยด์ ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลของแคลเซียมในร่างกาย ผู้ป่วยโรคไขข้อควรหลีกเลี่ยง
มะเขือพวง เป็นมะเขือที่มีสารอาหารต้านโรคได้มากมายกว่าที่คิด ทั้งจากใบและผลของต้นมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร ส่วนมากคนไทยนิยมรับประทานในรูปแบบของแกงเผ็ดหรือน้ำพริกเพราะมะเขือพวงมีรสขมเล็กน้อยหากรับประทานสด สรรพคุณที่โดดเด่นของมะเขือพวงเลยก็คือต้านมะเร็ง ต้านไวรัส ลดไขมันและบำรุงไต แม้จะมีรสขมและไม่อร่อยสักเท่าไหร่แต่มะเขือพวงมีสรรพคุณทางยามากมายจนน่าตกใจ
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม