กางขี้มอด
เป็นไม้ยืนต้น เปลือกต้นสีเทาอมสีเหลืองหรือน้ำตาลอ่อน เปลือกในสีแดง ดอกเป็นช่อกระจุกเล็กและเป็นสีขาวนวล ฝักอ่อนสีเขียว ฝักแก่เป็นสีน้ำตาลเข้ม

กางขี้มอด

กางขี้มอด เขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ประเทศอินเดียถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับประเทศไทยสามารถพบขึ้นที่ตามป่าผลัดใบ ป่าดิบเขา ที่สูงถึง 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล ชื่อสามัญ Crofton weed, Black Siris, Ceylon Rose Wood [3] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Albizia odoratissima (L.f.) Benth. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Acacia odoratissima (L.f.) Willd., Mimosa odoratissima L.f.) อยู่วงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่วงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)[1],[2] ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น มะขามป่า (จังหวัดน่าน), คางแดง (จังหวัดแพร่), ตุ๊ดเครน (ขมุ), กางแดง (จังหวัดแพร่), จันทน์ (จังหวัดตาก) [1],[3]

ลักษณะของกางขี้มอด

  • ต้น เป็นพรรณไม้ยืนต้น สามารถสูงได้ถึงประมาณ 10-30 เมตร กิ่งก้านมีลักษณะลู่ลง มีรอยแผลที่ปลายยอดกับกิ่งอ่อนมีรอยแผล จะมีรูอากาศอยู่ตามลำต้นกับกิ่ง เปลือกต้นมีลักษณะเป็นสีเทาอมสีเหลืองหรือน้ำตาลอ่อน มีเปลือกชั้นในเป็นสีแดง[1],[2]
  • ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ ใบจะออกเรียงสลับกันแบบตรงข้าม มีขนาดยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร มีใบย่อยอยู่ประมาณ 10-25 คู่ แผ่นใบจะเรียบและบาง มีใบย่อยเล็ก ใบย่อยเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน รูปขอบขนาน ที่โคนใบจะเบี้ยว ส่วนที่ปลายใบจะมนหรือสอบ ขอบใบเรียบ ใบกว้างประมาณ 0.6-1.5 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 1-3.5 เซนติเมตร ผิวใบทั้งสองด้านจะเกลี้ยง[1],[2]
  • ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่นที่ปลายยอด มีขนาดยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ช่อดอกย่อยนั้นประกอบด้วยดอกย่อยหลายดอกรวมเป็นกลุ่ม มีดอกขนาดเล็กและเป็นสีขาวนวล มีกลีบเลี้ยงเล็ก ที่โคนจะเชื่อมกันเป็นหลอด มีขนขึ้น ปลายกลีบเลี้ยงแยกเป็น 6 แฉก กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปกรวย มีขน มีขนาดยาวประมาณ 6.5-9 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้เป็นเส้นสีขาว มีขนาดยาวเท่าหลอดกลีบดอก ที่โคนก้านเกสรเพศผู้จะเชื่อมติดกันเป็นหลอด ออกดอกช่วงประมาณมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2]
  • ผล เป็นฝักแบนรูปขอบขนาน กว้างประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 17-22 เซนติเมตร มีผิวที่เรียบ ฝักอ่อนมีลักษณะเป็นสีเขียว ฝักแก่เป็นสีน้ำตาลเข้ม ฝักเมื่อแห้งจะแตกออกด้านข้าง มีเมล็ดอยู่ในผล เมล็ดเป็นรูปรีกว้าง[1],[2]

ประโยชน์กางขี้มอด

  • ชาวไทใหญ่นำยอดอ่อนไปใช้ในพิธีสร้างบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล[3]
  • เนื้อไม้ใช้ในการสร้างบ้าน ก่อสร้างภายในที่ไม่รับน้ำหนักเยอะ ทำไม้อัด เป็นเฟอร์นิเจอร์ [2]

สรรพคุณกางขี้มอด

1. เปลือกสามารถใช้เป็นยาแก้ฝี แก้บวมได้ (เปลือก)[1]
2. ดอก ใช้เป็นยาแก้พิษฟกบวมและแก้ปวดบาดแผล (ดอก)[1]
3. สามารถใช้เป็นยาแก้ตกโลหิตได้ (เปลือก)[1]
4. เปลือก มีรสฝาดเฝื่อน สามารถใช้เป็นยาแก้ลำไส้พิการ และแก้ท้องร่วงได้ (เปลือก)[1]
5. ดอก มีรสหวาน สามารถใช้เป็นยาแก้ตาอักเสบได้ (ดอก)[1]
6. สามารถใช้เปลือกกับดอกเป็นยาบำรุงธาตุได้ (ดอก, เปลือก)[1]
7. ดอก ใช้เป็นยาแก้คุดทะราดได้ (ดอก)[1]
8. นำเปลือกมาฝนรักษาแผลเปื่อยเรื้อรัง แผลโรคเรื้อน ทาฝี (เปลือก)[1]
9. สามารถใช้เปลือกเป็นยาแก้พยาธิได้ (เปลือก)[1]
10. สามารถนำเปลือกต้นมาต้ม แล้วเอาน้ำแล้วอมไว้ในปาก ช่วยแก้ปวดฟัน (เปลือกต้น)[3]
11. ใบ มีรสฝาดเฝื่อน สามารถใช้เป็นยาแก้ไข้ได้ (ใบ)[1]

สั่งซื้อ อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “คางแดง”. หน้า 100.
2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “กาง ขี้ มอด”. อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 7, หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the Garden. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [20 ม.ค. 2015].
3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “กางขี้มอด กางแดง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [20 ม.ค. 2015].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://indiabiodiversity.org/
2. https://medthai.com