แสลงใจ
เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ต้นสีน้ำตาลปนสีเทา ดอกช่อดอกคล้ายร่มขนาดเล็กสีเทาอมสีขาว สีเขียวอ่อน สีขาว ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีส้มหรือสีส้มแดง

แสลงใจ

แสลงใจ เป็นไม้กลางแจ้ง โตได้ดีในดินที่ร่วนซุยที่มีความชื้น ประเทศไทยสามารถพบเจอได้ทุกภาค ยกเว้นทางภาคใต้ ที่ตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100-500 เมตร ในต่างประเทศสามารถพบเจอได้ที่ประเทศเวียดนาม ประเทศกัมพูชา ประเทศอินเดีย ประเทศมาเลเซีย ประเทศลาว ประเทศศรีลังกาชื่อสามัญ Snake Wood, Nux-vomica Tree [1],[2] ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Strychnos nux-vomica L.[1],[2],[3] อยู่วงศ์กันเกรา (LOGANIACEAE หรือ STRYCHNACEAE)[1],[3],[7] ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ว่านไฟต้น, ตูมกาแดง (ภาคกลาง), กระจี้ (ภาคกลาง), แสลงโทน (จังหวัดโคราช), แสลงเบื่อ (จังหวัดนครราชสีมา), กะกลิ้ง (ภาคกลาง), แสลงทม (จังหวัดนครราชสีมา), แสงโทน (จังหวัดโคราช), แสงเบื่อ (จังหวัดอุบลราชธานี), โกฐกะกลิ้ง (ภาคกลาง) [1],[3],[10]

ลักษณะของแสลงใจ

  • ต้น เป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดใหญ่ ต้นสามารถสูงได้ถึงประมาณ 30 เมตร[1] เปลือกลำต้นมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลปนสีเทา มีรูตาที่ตามเปลือกต้น ขยายพันธุ์โดยวิธีการตอน การใช้เมล็ด [1],[3],[4],[6],[7]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงตรงข้าม ใบเป็นรูปไข่ รูปรี ที่โคนใบจะมนเบี้ยว ส่วนที่ปลายใบจะแหลมหรือมน ขอบใบเรียบ ใบกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 7-12 เซนติเมตร ที่ท้องใบจะเรียบ ส่วนที่หลังใบก็จะเรียบเช่นกัน มีเส้นใบตามแนวขวาง 5 เส้น ตามแนวยาว 3 เส้น ก้านใบยาวได้ประมาณ 4-6 มิลลิเมตร [1],[4]
  • ดอก ออกเป็นช่อ ออกดอกที่ตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อดอกคล้ายร่ม มีดอกย่อยขนาดเล็ก ดอกมีลักษณะเป็นสีเทาอมสีขาว สีเขียวอ่อน สีขาว เป็นรูปทรงกระบอกแตกเป็นกลีบ 5 กลีบ กลีบดอกมีความยาวประมาณ 2.5-4 มิลลิเมตร ที่ปลายกลีบดอกจะแหลม ส่วนที่โคนกลีบดอกจะเชื่อมกันเป็นหลอดเล็ก มีเกสรเพศผู้อยู่ 5 อัน[1],[4]
  • ผล เป็นผลสด ผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร พื้นผิวของผลจะเรียบ ผลอ่อนมีลักษณะเป็นสีเขียว ผลสุกเป็นสีส้มหรือสีส้มแดง มีเมล็ดอยู่ในผลประมาณ 3-5 เมล็ด[1],[4],[5]
  • เมล็ด เป็นรูปกลมและแบน เมล็ดมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร พื้นผิวเมล็ดมีลักษณะเป็นสีเทาอมสีเหลือง มีขนเป็นสีขาว สีน้ำตาลอ่อน [4]

สรรพคุณ และประโยชน์แสลงใจ

1. เมล็ด มีสรรพคุณที่ช่วยแก้เหน็บชาและรูมาติซั่ม แก้อัมพาต แก้อาการปวดบวม แก้อัมพฤกษ ช่วยขับลมชื้น[4]
2. สามารถนำใบมาตำใช้พอกแก้อาการฟกช้ำได้ (ใบ)[1]
3. สามารถนำเมล็ดมาใช้ภายนอกเป็นยาแก้ฟกช้ำดำเขียวได้ (เมล็ด)[4]
4. สามารถช่วยแก้ฝีภายนอกและภายในได้ (เมล็ด)[4]
5. สามารถนำรากมาฝนกับน้ำ ใช้ทานและทาแก้อาการอักเสบเนื่องจากงูกัด (ราก)[1]
6. เมล็ด มีสรรพคุณที่สามารถช่วยกระตุ้นความรู้สึกทางเพศได้ (เมล็ด)[3]
7. สามารถช่วยแก้โรคโปลิโอในเด็กได้ (เมล็ด)[4]
8. เมล็ด มีสรรพคุณที่สามารถช่วยตัดพิษกระษัย ตัดพิษไข้ได้ (เมล็ด)[5]
9. ถ้าใช้เมล็ดในปริมาณที่น้อยมีสรรพคุณที่เป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยกระตุ้นระบบการไหลเวียนของเลือด ช่วยกระตุ้นระบบการหายใจ (เมล็ด)[7]
10. เมล็ด สามารถใช้เป็นยาบำรุงหัวใจให้เต้นแรงขึ้น และบำรุงหัวใจได้ (เมล็ด)[1],[2],[5]
11. เมล็ดแก่แห้งสามารถใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร ช่วยขับน้ำย่อยได้ โดยใช้เมล็ดมาดองเหล้าทาน แต่จะต้องใช้ปริมาณต่ำ (เมล็ด)[1],[2],[3]
12. แก่นสามารถใช้เป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยได้ (แก่น)[1]
13. สามารถช่วยแก้มะเร็งที่ผิวหนังได้ (เมล็ด)[4]
14. ใบ มีรสเมาเบื่อขม สามารถนำมาตำกับเหล้า ใช้พอกปิดแผลเรื้อรังเน่าเปื่อยได้ (ใบ)[5]
15. สามารถช่วยแก้โรคไตพิการได้ (ใบ)[5]
16. ราก มีรสเมาเบื่อขม สามารถทานเป็นยาแก้ท้องขึ้นได้ (ราก)[5]
17. ราก มีสรรพคุณที่เป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย (ราก)[1]
18. เมล็ด เป็นยาบำรุงประสาทแบบแรง (เมล็ด)[8]
19. เมล็ด มีรสเมาเบื่อขม จะเป็นยาเย็น มีพิษเยอะ ก่อนใช้ต้องผ่านกรรมวิธีกำจัดพิษก่อน จะมีสรรพคุณที่เป็นยากระจายเลือดลม ช่วยทะลวงเส้นลมปราณ ทำให้เลือดเย็น แก้เลือดร้อน (เมล็ด)[4]
20. สามารถช่วยบำรุงประสาทได้ (เมล็ด)[5]
21. เนื้อไม้สามารถใช้ทำเป็นด้ามเครื่องมือทางการเกษตร ของเล่นเด็ก เครื่องแกะสลักได้ [6]
22. เมล็ด สามารถใช้เป็นยาเบื่อสุนัข ยาเบื่อหนูได้ [2] หรือป่นเป็นยาเบื่อปลา[3]

ข้อควรระวังในการใช้

  • เมล็ดมีพิษเยอะ ก่อนใช้เป็นยาต้องผ่านกรรมวิธีกำจัดพิษก่อน
  • ห้ามให้สตรีตั้งครรภ์และสตรีที่ให้นมบุตรทาน
  • เมล็ด จะมีสาร Brucine ถ้าใช้ในปริมาณที่เยอะจะเป็นพิษ จะมีฤทธิ์กระตุ้นเส้นประสาทไขสันหลัง ชักกระตุก จะทำให้เบื่อเมา ทำให้มีอาการกลืนอาหารลำบาก กล้ามเนื้อเกร็งแข็ง และอาจจะทำให้เสียชีวิตได้ [1],[2],[4]
  • การทานในปริมาณน้อย แต่ทานติดต่อเป็นเวลานานจะเป็นอันตรายกับตับ[9]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • ความเป็นพิษของเมล็ด ปรากฏว่าถ้าทานเยอะกว่า 5 มิลลิกรัม ของ Strychnos หรือประมาณ 30-50 มิลลิกรัมของผงยา จะทำให้กระวนกระวาย หายใจลำบาก อาจชัก และอาจจะทำให้เสียชีวิตได้[9]
  • เมล็ดจะมีสารอัลคาลอยด์ประมาณ 1.5-5% มีอยู่หลายชนิด อย่างเช่น N-methylses-pseudobrucine, Vomicine, Stryhcnine, Brucine, Pseudostrychnine และพบ Chlorogenic acid, น้ำมัน, โปรตีน 11% [4] ส่วนมากเป็นสารจำพวก Strychnine ประมาณ 1/3-1/2 ในสารอัลคาลอยด์ทั้งหมด สารนี้อยู่กึ่งกลางเมล็ด เป็นพิษและมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทไขสันหลัง จะนิยมใช้เป็นยาเบื่อสัตว์ ห้ามใช้เกินขนาดเนื่องจากอาจเป็นอันตราย และมีสาร Brucine ที่อยู่ด้านนอกติดเปลือกเมล็ด จะมีรสขม ละลายในแอลกอฮอล์และในน้ำได้ดี แต่มีฤทธิ์อ่อนกว่า Strychnine ในปัจจุบันไม่นิยมใช้เป็นยารักษาโรค[2],[3]
  • สาร Strychnine ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้เร็ว ทั้งระบบทางเดินอาหาร เยื่อบุจมูก บริเวณที่ฉีด ถ้าเข้าสู่ร่างกายแล้วจะกระจาย และถูก metabolite ที่ตับเป็นส่วนใหญ่ ประมาณ 10-20% ถูกขับออกแบบไม่เปลี่ยนแปลงทางไต สาร Strychnine มีค่าครึ่งชีวิตอยู่ที่ประมาณ 10-15 ชั่วโมง อาการของผู้ป่วยที่ได้รับ Strychnine มักเกิดขึ้นใน 10-20 นาทีหลังทาน ผู้ป่วยอาจจะมีการกระตุกเกร็งตัวของกล้ามเนื้อทั่วไปถึงมีอาการชัก อาการชักจะเกิดตอนผู้ป่วยยังมีสติหรือรู้สึกตัว ผู้ป่วยอาจจะเจ็บปวดขณะที่กระตุก ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่มีความอันตรายของการเกร็งตัวชนิดคือ ซึ่งจะทำให้การหายใจล้มเหลว อาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อสลายตัว จนมีไตวายตามมา ทางเภสัชกรรมไทยจัดให้เมล็ดเป็นพืชอันตราย ถึงแม้บางประเทศเคยใช้สาร Strychnine รักษาโรคบางอย่าง แต่ในภายหลังได้ยกเลิกใช้แล้ว เพราะมีความอันตรายและมีความเป็นพิษสูง[10]
  • ทางคลินิกรายงานว่า จากการทดลองใช้รักษาอาการประสาทกล้ามเนื้อสามเหลี่ยมที่ใบหน้าแข็งชา โดยใช้เมล็ดมาหั่นเป็นแผ่น วางที่ใบหน้าที่ชาหรือกระตุก ต้องเปลี่ยนยาทุก 7-10 วัน จนกว่าจะหาย จากการรักษาผลปรากฏว่ารักษาคนไข้ให้หายดีได้ถึงประมาณ 80%[4]
  • สารในกลุ่มอัลคาลอยด์ 3 ชนิด (icajine, strychnine, pseudostrychnine) ใน 6 ชนิดจากเมล็ด เมื่อทดสอบกับเซลล์มะเร็งของมนุษย์ ปรากฏว่ามีฤทธิ์ที่ช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์ โดยสาร strychnine ให้ผล human gastric carcinoma cell line BGC, human carcinoma cell line KB, human leukemia cell line HL-60 และสาร pseudostrychnine ให้ผล human hepatic carcinoma cell line BEL-7402, human carcinoma cell line KB, human gastric carcinoma cell line BGC ส่วนสาร icajine ให้ผล human gastric carcinoma cell line BGC, human carcinoma cell line KB [11]

สั่งซื้อ อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “แสลงใจ (Sa Laeng Jai)”. หน้า 310.
2.หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “แสลงใจ Nux-vomica Tree/Snake Wood”. หน้า 195.
3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “แสลงใจ”. หน้า 790-791.
4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โกฐกะกลิ้ง”. หน้า 98.
5. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “แสลงใจ”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 185.
6. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1. “แสลงใจ”.
7. สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “แสลงใจ”. [ ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/pattani_botany. [11 ก.ค. 2014].
8. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “แสลงใจ (โกฏกะกลิ้ง)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [11 ก.ค. 2014].
9. Trease and Evans Pharmacognosy 14th edition. (William Charles Evans, George Edward Trease). Pages: 391-392, 1996.
10. ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี, คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล. “อันตรายจาก Strychnine”. [ ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: med.mahidol.ac.th/poisoncenter. [11 ก.ค. 2014].
11. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์ต้านเนื้องอกของสารในกลุ่ม alkaloids จากเมล็ดแสลงใจ”. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [11 ก.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.inaturalist.org/taxa/498755-Strychnos-nux-vomica
2. https://usa.exportersindia.com/global-trade-partners-llc/strychnos-nux-vomica-seeds-beverly-hills-united-states-1424717.htm
3. https://medthai.com/