ตังกุย

ตังกุย

ตังกุย (Dong quai) หรือเรียกกันว่า โกฐเชียง เป็นต้นที่มีเหง้าหรือรากขนาดใหญ่อยู่ใต้ดิน นิยมปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนามและในประเทศจีน โดยเฉพาะในป่าดิบตามภูเขาสูงของมณฑลเสฉวน ไต้หวัน ส่านซี กุ้ยโจว เหอเป่ย และมณฑลยูนนาน ถือเป็นพืชชั้นดีของผู้หญิงเลยทีเดียว ส่วนของเหง้าจะมีรสเผ็ดหวาน เป็นยาร้อนเล็กน้อย และถือเป็นยาสมุนไพรชั้นยอดที่อยู่ในตำรับยามากมาย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ โกฐเชียง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Angelica sinensis (Oliv.) Diels
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Dong quai” “Chinese Angelica” “Female ginseng”
ชื่อท้องถิ่น : มีชื่ออื่น ๆ ว่า “โสมตังกุย” “โกฐเชียง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE)
ชื่อพ้อง : Angelica polymorpha var. sinensis Oliv., Angelica sinensis var. sinensis

ลักษณะโกฐเชียง

ต้นตังกุย เป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคกลางของประเทศจีน มักจะพบตามป่าดิบเขา
ลำต้น : ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง มีร่องเล็กน้อย เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอมม่วง
เหง้า : เหง้าหรือรากที่อยู่ใต้ดินมีขนาดใหญ่ ลักษณะอวบหนาเป็นรูปทรงกระบอก แยกเป็นรากแขนงหลายราก ผิวเปลือกรากภายนอกเป็นสีน้ำตาล มีเนื้อในนิ่ม
ใบ : เป็นใบเดี่ยวที่หยักลึกแบบขนนก 2 – 3 ชั้น ลักษณะเป็นรูปไข่ แฉกใบมีก้านเห็นได้ชัดเจน แยกเป็นแฉกย่อย 2 – 3 แฉก ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยไม่สม่ำเสมอกัน ตรงโคนแผ่เป็นครีบแคบ ๆ เป็นสีเขียวอมม่วง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อบริเวณยอดของลำต้นหรือตามง่ามใบ ช่อดอกมีลักษณะเป็นช่อแบบซี่ร่มเชิงประกอบ ดอกเป็นสีขาวหรือเป็นสีแดงอมม่วง ในแต่ละก้านจะมีดอกย่อยประมาณ 13 – 15 ดอก กลีบดอกมี 5 กลีบ มักจะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม
ผล : เป็นผลแห้งแยก สันด้านล่างหนาและแคบ ด้านข้างมีปีกบาง มีท่อน้ำมันตามร่อง มักจะติดผลในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน
ราก : รากสดมีลักษณะอวบเป็นรูปทรงกระบอก แยกเป็นรากแขนงหลายราก แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนหัว ส่วนราก และส่วนรากแขนง รากแห้งเป็นรูปแกมทรงกระบอก ผิวด้านนอกเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองจนถึงสีน้ำตาล รากมีรอยย่นเป็นแนวตามยาว มีรอยช่องอากาศตามแนวขวาง ผิวไม่เรียบ และมีรอยควั่นเป็นวง มีรอยแผลเป็นของใบปรากฏอยู่ตอนบน ส่วนของรากแขนงเป็นสีน้ำตาลแกมเทาจาง ๆ มีลักษณะเป็นเส้นยาว มีรอยควั่นเป็นวง ตอนบนหนา ส่วนตอนล่างเรียวเล็ก ส่วนมากจะบิด เนื้อจะเหนียว รอยหักสั้นและนิ่ม มีต่อมน้ำยางสีน้ำตาลหรือสีเหลืองแกมแดงออกเป็นแนวรัศมีจากกลางเหง้า ส่วนที่เป็นเนื้อสีเหลืองจะมีรูพรุน แกนเป็นสีขาว มีกลิ่นหอมแรงเฉพาะตัว มีรสหวานอมขม และเผ็ดเล็กน้อย

สรรพคุณของโกฐเชียง

  • สรรพคุณจากต้นตังกุย
    1. สรรพคุณต่อสตรี เป็นยาแก้ปวดประจำเดือน ลดอาการปวดท้องประจำเดือนซึ่งเกิดจากการหดตัวของมดลูก รักษาอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) ช่วยควบคุมรอบเดือนให้เป็นปกติ แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ แก้ประจำเดือนมาช้า ช่วยให้ผู้หญิงมีรอบเดือนกลับเป็นปกติหลังจากหยุดรับประทานยาคุมกำเนิด รักษาภาวะเลือดพร่องและเลือดคั่ง รักษาประจำเดือนเป็นลิ่มเลือด รักษาความผิดปกติของประจำเดือน ช่วยบรรเทาอาการร้อนวูบวาบในหญิงวัยทอง แก้อาการช่องคลอดแห้งและภาวะซึมเศร้า ช่วยเสริมฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศหญิงและฮอร์โมนเพศชาย ทำให้ร่างกายใช้ฮอร์โมนที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยกระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก ช่วยในการขับน้ำคาวปลา ช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่ได้ดีและเร็วขึ้น ช่วยแก้ซีสต์ในมดลูกหรือรังไข่ แก้สตรีตกเลือด แก้อาการอ่อนเพลีย
    – แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ โดยคนจีนนำตังกุย หรือโกฐเชียงมา 10 กรัม ผสมกับเส็กตี่ 10 กรัม โกฐหัวบัว 7 กรัม แปะเจียก 7 กรัม แล้วต้มกับน้ำรับประทาน
    – แก้ปวดประจำเดือน ด้วยการนำโกฐเชียงมา 10 กรัม ผสมกับเส็กตี่ 10 กรัม โกฐหัวบัว 7 กรัม แปะเจียก 7 กรัม หัวแห้วหมู 7 กรัม และโกฐจุฬาลำพา 5 กรัม แล้วต้มกับน้ำรับประทาน
    2. สรรพคุณต่อระบบเลือด ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันการแข็งตัวของเลือด เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด ต้านการเกิดลิ่มในหลอดเลือด มีฤทธิ์ขยายเส้นเลือด ป้องกันโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเม็ดเลือดขาว
    3. บำรุงอวัยวะสำคัญ ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงสมอง บำรุงตับ บำรุงต่อมน้ำเหลือง ช่วยกระตุ้นการทำงานของหัวใจ กระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้หรือมดลูก มีฤทธิ์ปกป้องตับ ปกป้องสมองและไขสันหลัง กระตุ้นการสร้างเซลล์กระดูก เป็นยากระตุ้นอวัยวะเพศหรือกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ
    4. ป้องกันโรค เป็นยารักษาตับอักเสบเรื้อรัง ต้านเนื้องอก ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ต้านความเป็นพิษต่อตับ ต้านการอักเสบ รักษาโรคหอบหืด ป้องกันการถูกทำลายโดยรังสี แก้โรคผิวหนัง ลดการดูดซึมของคอเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกาย มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
    5. บรรเทาอาการและอื่น ๆ บรรเทาอาการปวดเมื่อย เป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ แก้วิงเวียนศีรษะ แก้หูอื้อ แก้ใจสั่น แก้อาการนอนไม่หลับ แก้หลงลืมง่าย แก้มือเท้าเย็นและชา เป็นยาแก้ไข้ แก้หวัด แก้ไอ ช่วยแก้อาการสะอึก แก้หอบหืด แก้เสียดแทงสองราวข้าง เป็นยาขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ลำไส้ ช่วยในการขับถ่าย เป็นยาแก้ท้องผูก แก้บิด แก้ถ่ายเป็นเลือด แก้ตกมูกเลือด รักษาอาการปวดท้อง แก้ปวดข้อ แก้อาการปวดหลังการผ่าตัด แก้อาการปวดท้องในภาวะเย็นพร่อง แก้ปวดท้องแบบชอบความร้อน แก้ขี้หนาว รักษาอาการบาดเจ็บจากการชกต่อยจนเกิดรอยฟกช้ำ แก้อาการปวดจากฝีหนอง แก้ขาเบาหวานเน่าเปื่อย ช่วยลดความกังวล แก้อาการคัน เป็นยาแก้ปวด แก้หอบหืด
  • สรรพคุณจากเหง้า ออกฤทธิ์ต่อหัวใจ ตับและม้าม เป็นยาบำรุงโลหิต ฟอกเลือด รักษาโรคโลหิตจาง แก้ปริมาณเลือดมีน้อย แก้สีเลือดจางอ่อน ช่วยรักษาภาวะเลือดพร่อง รักษาหน้าซีดขาวหรือซีดเหลือง แก้เล็บและริมฝีปากซีด สีลิ้นซีด ช่วยเพิ่มความเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล ทำให้ผิวพรรณดี ช่วยกระจายโลหิต กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย ทำให้เลือดไหลเวียนสะดวก ช่วยสลายเลือดคั่ง
  • สรรพคุณจากราก รากแก้วช่วยบำรุงเลือด รากฝอยช่วยสลายเลือดคั่ง รากส่วนบนช่วยบำรุงกำลัง
    – รากแขนงแก้โรคสตรี เช่น แก้ปวดเอว แก้ปวดประจำเดือน แก้ขับระดูของสตรี ปรับประจำเดือนให้เป็นปกติ แก้ประจำเดือนผิดปกติ แก้ภาวะขาดประจำเดือน แก้อาการร้อนวูบวาบ แก้อาการท้องผูกของสตรีมีครรภ์ แก้รกตีขึ้น แก้ไข้บนกระดานไฟ ปรับการไหลเวียนของเลือดให้เป็นปกติ เป็นยาบำรุงโลหิต รักษาอาการเลือดออกทุกชนิด แก้ภาวะขาดน้ำ แก้ความผิดปกติของเส้นประสาท

ประโยชน์ของโกฐเชียง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบและลำต้นนำมาผัดหรือทำเป็นต้มจืดได้
2. เป็นส่วนประกอบในตำรับยา อยู่ในตำรับยาหอมเทพจิตร ตำรับยาหอมนวโกฐ ตำรับยาธาตุบรรจบ ตำรับยาพิกัดโกฐ ตำรับยาทรงนัตถุ์

ข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีระบบขับถ่ายไม่ดี ท้องเสียบ่อย ร้อนใน หรือเคยอาเจียนเป็นเลือด สตรีมีประจำเดือนมามาก ไม่ควรทาน

ตังกุย เรียกได้ว่าไม่มีคำบรรยายมากมายสำหรับยาสมุนไพรชั้นยอดชนิดนี้ ไม่ต้องพูดถึงเจาะจงว่ามีสรรพคุณทางด้านใดเป็นพิเศษ เพราะถือเป็นยาที่ดีต่อระบบร่างกายแทบจะทุกส่วน โดยเฉพาะอวัยวะที่สำคัญภายใน และยังช่วยยับยั้งโรคต่าง ๆ ได้ดี เป็นยาร้อนที่คู่ควรอย่างมากในการมีติดบ้าน ไม่ว่าจะคนหนุ่มสาวหรือผู้สูงอายุก็ควรที่จะพิจารณาสมุนไพรชนิดนี้โดยเฉพาะผู้หญิงทุกคน ถือเป็นต้นที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 12 และอุดมไปด้วยสรรพคุณมากมายจนนับไม่ถ้วน

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โกฐเชียง”. หน้า 106.
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “โกฐเชียง Lovage”. หน้า 217.
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “โกฐเชียง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com. [10 มิ.ย. 2015].
คณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ. (อาจารย์โสรัจ นิโรธสมาบัติ แพทย์แผนจีน). “ตังกุย สุดยอดสมุนไพรบำรุงเลือด”.
กรีนคลินิก. (พญ.สุภาณี ศุกระฤกษ์ อายุรแพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง). “ตังกุย (Dong quai)“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.greenclinic.in.th. [10 มิ.ย. 2015].
หนังสือวิตามินไบเบิล. (ดร.เอิร์ล มินเดลล์). “ตังกุย (Dong quai)”. หน้า 246.
ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจร. “Dong quai / ตังกุย”. (ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นิธิยา รัตนาปนนท์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.foodnetworksolution.com. [10 มิ.ย. 2015].
บทที่ 3 ศักยภาพการปลูกพืชสมุนไพรจีนในประเทศไทย. (สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร). “โกฐเชียง”. หน้า 47-50.
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : Medthai