ขี้หนอน ดอกมีพิษถึงขั้นชีวิต! แต่มีสรรพคุณช่วยแก้นิ่ว แก้ไข้และดับพิษร้อนได้
ขี้หนอน เป็นพรรณไม้ยืนต้น ดอกอันตรายทำให้ถึงขั้นเสียชีวิต ผลมีเมล็ดสีน้ำตาลอ่อน

ขี้หนอน

ขี้หนอน (Zollingeria dongnaiensis Pierre) เป็นต้นที่มีดอกอันตรายซึ่งหากรับประทานเข้าไปอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่จะนำส่วนของยอดอ่อนมารับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก เป็นพืชในวงศ์เงาะที่นอกจากดอกแล้วยังพบความเป็นพิษต่อสัตว์เลือดอุ่นอีกด้วย แต่บางส่วนของต้นก็สามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ นอกจากนั้นยังเป็นต้นที่สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายโดยเฉพาะในด้านการทำเครื่องประดับและทำฟืน ส่วนมากมักจะพบขี้หนอนตามชายป่าทั่วไปในประเทศไทย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของขี้หนอน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zollingeria dongnaiensis Pierre
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดขอนแก่นและนครราชสีมาเรียกว่า “ขี้มอด”
ชื่อวงศ์ : วงศ์เงาะ (SAPINDACEAE)

ลักษณะของขี้หนอน

ขี้หนอน เป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่มักจะพบตามป่าผลัดใบ ตามชายป่า ที่รกร้างและด้านหลังชายหาด
เปลือกต้น : เปลือกต้นด้านนอกเป็นสีเทาดำเรียบและแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ มีรูระบายอากาศสีน้ำตาลทั่วไป เปลือกด้านในเป็นสีขาว
ลำต้น : ลำต้นหรือกิ่งไม้จะมีหนามยาว ๆ อยู่ประปราย เรือนยอดเป็นรูปไข่หรือเป็นพุ่มกลมและโปร่ง
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ออกเรียงเวียนสลับกันประมาณ 5 – 8 คู่ ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีหรือรูปขอบขนาน ปลายใบมนหรือสอบ โคนใบเบี้ยว ขอบใบเรียบ หลังใบเป็นสีเขียวและมัน ท้องใบมีขนสั้นนุ่ม แผ่นใบห่อเข้าเล็กน้อย เส้นแขนงใบมีข้างละประมาณ 7 – 9 เส้น
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงตามซอกใบค่อนไปทางปลายกิ่ง ดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ และเป็นแบบแยกเพศ กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว 5 กลีบ มักจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม ดอกมีพิษถ้ากินเข้าไปจะทำให้ตายได้
ผล : เป็นผลแห้งที่มีปีกยาว 3 ปีก เรียงตามยาว ผลจะแก่และออกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลอ่อน เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไข่

สรรพคุณของขี้หนอน

  • สรรพคุณจากขี้หนอน แก้หวัดและคัดจมูก
  • สรรพคุณจากด่างไม้ แก้โรคกระษัยหรือโรคของความเสื่อมโทรมทางร่างกายที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ เป็นยาขับมุตกิดหรือเมือกจากช่องคลอดของสตรี
  • สรรพคุณจากเปลือก
    แก้ร้อนใน ด้วยการนำเปลือกมาผสมเป็นยาเขียว
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น
    – แก้ไข้และดับพิษร้อน แก้หวัดคัดจมูก ด้วยการนำเปลือกมาสับเป็นชิ้นเล็กแล้วนำมาแช่กับน้ำตีให้เป็นฟองสีขาว จากนั้นนำฟองนั้นมาสุมหรือพอกศีรษะเด็ก
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาแก้ร้อน

ประโยชน์ของขี้หนอน

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก
2. ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ ผลใช้ทำเป็นเครื่องประดับ ฟองที่ได้จากเปลือกสามารถนำมาล้างเครื่องเพชรได้
3. ใช้ในด้านความสะอาด นำมาใช้ซักผ้าได้
4. เป็นไม้ปลูกประดับ มีดอกขาวบานสะพรั่ง ปลูกได้ง่ายและโตเร็ว
5. ทำฟืนหรือถ่านไม้ เป็นฟืนที่ให้ความร้อน 4,543 แคลอรี/กรัม ถ่านไม้ให้ความร้อนถึง 6,989 แคลอรี/กรัม

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของขี้หนอน

– จากการนำใบมาสกัดด้วยเอทานอลและน้ำในขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม พบว่า ขี้หนอนมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตและไม่พบความเป็นพิษ เมื่อนำมาฉีดเข้าผิวหนังในร่างกาย
– พบว่า ขี้หนอนเป็นพิษต่อสัตว์เลือดอุ่น ถ้ากิน Saponin จะทำให้อาเจียนและท้องร่วง แต่ถ้านำมาฉีดเข้าเส้นเลือดจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกได้

ขี้หนอน ถือเป็นต้นที่ควรระวังในการรับประทานเนื่องจากดอกมีพิษจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่เป็นต้นที่มีประโยชน์ในหลายด้านอย่างการนำมาใช้เป็นเครื่องประดับ เป็นไม้ปลูกประดับและยังเป็นฟืนหรือถ่านไม้ที่ให้ความร้อนได้ดีอีกด้วย ในส่วนของการนำมาเป็นผักจะนำส่วนของยอดอ่อนมาทานร่วมกับน้ำพริก ขี้หนอนเป็นต้นที่มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนโดยเฉพาะด่างไม้ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้และดับพิษร้อน แก้หวัดและคัดจมูก แก้นิ่วและขับเมือกจากช่องคลอดในผู้หญิงได้

ขี้หนอน ดอกมีพิษถึงขั้นชีวิต! แต่มีสรรพคุณช่วยแก้นิ่ว แก้ไข้และดับพิษร้อนได้
ขี้หนอน เป็นพรรณไม้ยืนต้น ดอกอันตรายทำให้ถึงขั้นเสียชีวิต ผลมีเมล็ดสีน้ำตาลอ่อน
ขี้หนอน,ขี้มอด

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ขี้หนอน”. หน้า 138.
การสำรวจทรัพยากรป่าไม้เพื่อประเมินสถานภาพและศักยภาพ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี). “ขี้หนอน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : inven.dnp9.com/inven/. [31 ม.ค. 2015].
ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ขี้หนอน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [31 ม.ค. 2015].
ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ขี้หนอน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.goldenjubilee-king50.com. [31 ม.ค. 2015].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร. “ขี้หนอน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [31 ม.ค. 2015].