โทงเทงฝรั่ง
พืชล้มลุกลักษณะเหมือนวัชพืช ผลอ่อนจะกลมใสมีสีเขียวอ่อน ผลสุกเหลือง มีรสหวาน มีเมล็ดเป็นจำนวนมาก

โทงเทงฝรั่ง

โทงเทงฝรั่ง เป็นพืชล้มลุกลักษณะเหมือนวัชพืชมีถิ่นกำเนิดในหลายพื้นที่ ปลูกง่ายสามารถขยายพันธุ์ได้จากการเพาะเมล็ดพบได้ทั่วไปตามทุ่งหญ้า ดินลุ่มน้ำ ริมลำธารและหุบเขา ขอบถนน และป่าดิบชื้น โทงเทงมีอยู่ 2 ชนิด คือ โทงเทงไทย และโทงเทงฝรั่ง เมื่อผลสุกเหลืองรับประทานได้มีรสหวานคล้ายมะเขือเทศ
ชื่อสามัญ Ground cherry, Hogweed ชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Physalis pubescens L. Var , Physalis angulata L. ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Physalis esquirolii H. Léveillé & Vaniot. อยู่วงศ์มะเขือ (SOLANACEAE) ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น บาต้อมต๊อก บาตอมต๊อก ต้อมต๊อก ปิงเป้ง ปุงปิง ชาผ่อเหมาะ จะเก๊าหลือ ตะเงหลั่งเช้า ขู่จี๋ หวงกูเหนียง โคมจีน

หมายเหตุ โทงเทงชนิดนี้บางตำราจะเรียกว่าโทงเทงบก จัดเป็นพรรณไม้คนละชนิดกับต้นโทงเทงไทยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Physalis minima L. (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ โทงเทงไทย) ชนิดนี้มีขนาดต้น ใบ ผลเล็กกว่าต้นโทงเทงฝรั่ง[3]

ลักษณะทั่วไปของโทงเทงฝรั่ง

  • ต้น เป็นวัชพืชทั่วโลก มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ต้นสูงประมาณ 30-100 เมตร ที่ลำต้นจะแตกกิ่งเป็นจำนวนมากจนกลายเป็นพุ่ม กิ่งมีลักษณะเป็นเหลี่ยม ที่ตามข้อจะมีขนนิดหน่อย ลำต้นอวบน้ำเปลือกจะเกลี้ยงมีสีเขียว โคนของลำต้นมีสีม่วงแดงจะค่อย ๆ จางไปถึงปลายยอด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเมล็ด ประเทศไทยสามารถพบพรรณไม้ชนิดนี้ได้เยอะที่ทางภาคเหนือ ที่บริเวณป่าเปิด ที่ชุ่มชื้นทั่วไป ที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,000 เมตร[1],[2],[3],[4],[6]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยวจะออกเรียงสลับ ใบเป็นรูปรี รูปไข่ รูปขอบขนาน ที่ปลายใบจะแหลมหรือแหลมยาว ส่วยที่โคนใบจะเป็นรูปลิ่มหรือมน แต่บางครั้งอาจจะเบี้ยว ที่ขอบใบจะเรียบหรือเป็นหยักซี่ฟันห่าง ๆ บางครั้งดูคล้ายกับเป็นพูตื้น ๆ ใบกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ที่หลังใบจะมีสีเขียว ส่วนที่ท้องใบจะมีขน มีเส้นแขนงใบอยู่ประมาณ 5-7 คู่ ก้านใบยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร[1],[3],[4]
  • ดอกออกเป็นเดี่ยวที่ตามซอกใบ ก้านดอกยาวได้ประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร มีแฉกลึกประมาณกึ่งหนึ่ง จะมีขนกระจาย เส้นกลีบจะมีสีเข้ม กลีบดอกเป็นรูประฆังบานคล้ายกับรูปกงล้อ มีสีเหลืองอ่อน มีสีเหลืองอ่อนแกมเขียว สีขาว จะมีจุดสีน้ำตาลเรียงกันเป็นวงใกล้โคนกลีบดอกด้านใน ที่ผิวกลีบจะมีขนกระจายด้านนอก ด้านในจะมีขนยาวที่โคน หลอดกลีบดอกมีความยาวประมาณ 4-8 มิลลิเมตร ที่ปลายจะเป็นแฉกตื้น ๆ เป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ก้านเกสรเพศผู้มีลักษณะหนามีสีน้ำตาลอมสีเขียวยาวเท่ากัน มีความยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร อับเรณูมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน มีความยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร เรณูมีสีเทา รังไข่มีลักษณะรีกลม มีความยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ก้านเกสรเพศเมียมีความยาวเท่าก้านเกสรเพศผู้หรืออาจจะยาวกว่านิดหน่อย ยอดเกสรจะเป็นตุ่ม ๆ หยักเป็นพู 2 พูมีสีเขียว ออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม[1],[3],[6]
  • ผล มีกลีบเลี้ยงขยายหุ้มจนมิดผล ผลจะบาง มีสันอยู่ 10 สัน ที่ตรงสันจะมีเส้นสีม่วงตามยาว ผิวจะเป็นเส้นแบบร่างแห ผลภายในมีลักษณะเป็นรูปรีเกือบกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผลอ่อนจะกลมใสมีสีเขียวอ่อน ผลแก่มีสีเหลือง ในผลจะมีเมล็ดเป็นจำนวนมาก เมล็ดจะกลมแบน มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.2-0.3 มิลลิเมตร ที่เมล็ดจะมีเมือกหุ้มคล้ายมะเขือเทศจำนวนมาก ติดผลช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม[1],[3],[4],[6]

สรรพคุณของโทงเทงฝรั่ง

  • สามารถใช้เป็นยาแก้พิษได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[9]
  • สามารถแก้อาการฟกช้ำบวม อักเสบได้ (ทั้งต้น)[1]
  • ต้นสามารถใช้ภายนอกเป็นยาแก้ฝี แก้ฝีหนองได้[1],[2] บ้างก็ว่าใช้ใบกับผลเป็นยารักษาฝีได้[8]
  • สามารถช่วยรักษาโรคผิวหนังได้ (ทั้งต้น)[1] สามารถช่วยรักษาผิวหนังเป็นตุ่มหนองได้ (ทั้งต้น)[7]
  • ต้นสามารถใช้ลดอาการบวมน้ำได้[2]
  • สามารถแก้ลูกอัณฑะร้อนได้ (ทั้งต้น)[1]
  • สามารถแก้ปัสสาวะเป็นเลือดได้ (ทั้งต้น)[1]
  • สามารถใช้เป็นยาระบายได้ (ทั้งต้น)[9]
  • ต้นสามารถใช้เป็นยาแก้บิดได้ โดยใช้โทงเทง 35 กรัม มาต้มทานวันละ 2 ครั้ง ให้ทานติดต่อกัน 1-4 วัน[2]
  • ต้นสามารถใช้เป็นยาแก้หลอดลมอักเสบได้ ด้วยการใช้ต้นสด 150 กรัม มาต้มกับน้ำทานวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 10 วัน[2]
  • สามารถใช้แก้เสมหะเป็นสีเหลืองได้ (ทั้งต้น)[2]
  • สามารถใช้แก้โรคช่องปากอักเสบ และลิ้นอักเสบได้ (ทั้งต้น)[9]
  • สามารถรักษาโรคคอตีบได้ (ทั้งต้น)[1]
  • สามารถใช้เป็นยารักษาแผลในปากได้ โดยใช้เยื่อหุ้มผลแห้งที่เอาเมล็ดออกแล้ว 10 กรัม เปลือกส้ม 6 กรัม มา
  • ต้มกับน้ำผสมน้ำตาลกรวดให้หวานเล็กน้อย ใช้ดื่มต่างน้ำ[4]
  • สามารถใช้รักษาคางทูมได้ (ทั้งต้น)[2]
  • สามารถช่วยแก้อาการปวดศีรษะได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[9]
  • สามารถช่วยรักษาไอหืดเรื้อรังได้ (ทั้งต้น)[4]
  • สามารถแก้หวัดแดด และไอร้อนในปอดได้ (ทั้งต้น)[2]
  • ต้นถึงรากสามารถใช้เป็นยาแก้อาการร้อนในกระหายน้ำได้[1]
  • ต้นจะมีรสขม เป็นยาเย็น จะออกฤทธิ์กับปอด ตับ ทางเดินปัสสาวะ สามารถใช้เป็นยาดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ได้[2]
  • สามารถใช้เป็นยาแก้เล็บขบได้ (ทั้งต้น)[2]
  • สามารถใช้รักษาแผลที่มีหนองได้ (ทั้งต้น)[4] บ้างก็ว่าใช้ใบกับผลทำเป็นยาทาแก้แผลเปื่อยได้[8]
  • สามารถใช้เป็นยาแก้ปวดแสบปวดร้อนได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[9]
  • สามารถช่วยรักษาดีซ่านได้ (ทั้งต้น)[4]
  • เมล็ดสามารถใช้เป็นยาแก้การเป็นหมันได้[8]
  • สามารถช่วยแก้น้ำปัสสาวะเป็นสีเหลืองได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[9]
  • สามารถใช้เป็นยาขับปัสสาวะ และแก้ปัสสาวะแสบร้อนได้ (ทั้งต้น)[2]
  • สามารถใช้รากเป็นยาขับพยาธิได้[4]
  • สามารถใช้เป็นยาแก้ปวดหูได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[9]
  • ใบจะมีรสเปรี้ยว สามารถใช้เป็นยาแก้น้ำลายพิการได้[9]
  • สามารถแก้โรคเสียงแหบได้ (ทั้งต้น)[9]
  • สามารถแก้ฝีในคอได้ โดยใช้ทั้งต้นมาตำให้ละลายกับเหล้า แล้วใช้สำลีชุบน้ำอมไว้ข้างแก้ม แล้วค่อย ๆ กลืนน้ำผ่านลำคอ[1],[4]
  • สามารถแก้คออักเสบ และแก้ต่อมน้ำลายอักเสบ หรือต่อมทอนซิลอักเสบได้ โดยใช้ทั้งต้นมาตำให้ละลายกับเหล้า แล้วใช้สำลีชุบน้ำยาอมไว้ข้างแก้ม แล้วค่อย ๆ กลืนน้ำผ่านลำคอ สามารถช่วยแก้ต่อมน้ำลายอักเสบได้ หรือจะ
  • ละลายกับน้ำส้มสายชู จะช่วยแก้อาการอักเสบในลำคอ[1],[4]
  • สามารถช่วยแก้เหงือกบวมได้ โดยใช้โทงเทง 25 กรัม มาต้มกับน้ำ แล้วใช้เป็นยาอมกลั้วคอบ้วนปาก (ทั้งต้น)[2]
  • สามารถใช้ฝนหยอดตาได้ จะช่วยแก้ตาแฉะ แก้ปวดเคืองในลูกตา และแก้ตาอักเสบได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[9]
  • สามารถแก้อาการเจ็บคอได้ โดยใช้โทงเทง 25 กรัม มาต้มกับน้ำ แล้วใช้เป็นยาอมกลั้วคอบ้วนปาก (ทั้งต้น)[1],[2],[4]
  • สามารถใช้เป็นยารักษาโรคหอบหืดได้ โดยใช้ทั้งต้นแห้ง 1/2 กิโลกรัมมาต้มกับน้ำ แล้วเติมน้ำตาลกรวดเพิ่มความหวานเล็กน้อย ให้ทานหลังอาหารครั้งละ 1/4 ถ้วยแก้ว วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน และให้หยุดยา 3 วัน หลังจากนั้นก็ให้ทานต่ออีก 10 วัน พักอีก 3 วัน แล้วทานต่ออีก 10 วัน อาการของหอบหืดก็จะดีขึ้น (ทั้งต้น)[4]
  • สามารถใช้เป็นยาแก้ไข้ และแก้ไอได้ (ทั้งต้น)[9]
  • นำรากมาต้มกับน้ำทานวันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น เป็นยารักษาโรคเบาหวาน[4]

ประโยชน์ของโทงเทง

  • ผลมาเป่าลมเล่นจะทำให้แตก สามารถใช้เป็นของเล่นเด็กได้ (ม้ง)[5]
  • การป้องกันการเกิดของโรคมะเร็ง ได้มีการคิดค้นตำรับยารักษาโรคมะเร็งที่มีส่วนผสมของโทงเทงในองค์[9]
  • ผลสุกของโทงเทงสามารถทานได้ จะมีรสหวานเอียน (กะเหรี่ยงแดง)[5],[6]

ขนาดกับวิธีใช้

นำไปอบหรือตากให้แห้ง ใช้ครั้งละ 15-35 กรัม มาต้มกับน้ำทาน หรืออาจจะใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น ในตำรับยาตามที่ต้องการ ส่วนต้นสดที่ใช้ภายนอก ให้นำมาใช้ตำพอกฝีหนอง หรือใช้ต้นสดมาต้มกับน้ำ ใช้ไอน้ำอบผิว หรือใช้น้ำต้มมาล้างแผล[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของโทงเทงฝรั่ง

  • ผลการวิจัยของประเทศอินเดีย เมื่อ ค.ศ. 1973 พบว่า สารสกัดของสมุนไพรโทงเทงสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ส่วนที่นำมาใช้ก็คือ ทั้งต้น ราก เยื่อหุ้มผลแห้ง[9]
  • จากการทดสอบโดยใช้โทงเทง 35 กรัมเป็นยาแก้บิด โดยนำมาต้มกับน้ำทานวันละ 2 ครั้ง ทานติดต่อกัน 1-4 วัน จากการรักษาผู้ป่วยเป็นจำนวน 100 คน พบว่ามีผู้ป่วยที่หายดีจำนวน 95 คน[2]
  • สารแอนโทไซยานิน (Anthocyanins) ในโทงเทง เป็นสารที่สามารถช่วยลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งและช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอกได้[9]
  • ต้นของโทงเทงจะพบว่ามีสาร Physaline[2]
  • จากการวิจัยของสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าสารสกัดของต้นโทงเทงจะมีฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งตับ[9]
  • ใช้ทั้งต้นมาสกัดทำยาแก้ไอให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดลมอักเสบจำนวน 36 คนทาน พบว่าผลการรักษาผู้ป่วยหายดี มีประสิทธิภาพในการรักษาคิดเป็น 67%[2]
  • พบว่าในเมล็ดของโทงเทงมีน้ำมัน 21% ในน้ำมันพบว่ามีสาร Linoleic acid, Oleic acid[2]

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรโทงเทงฝรั่ง

1. การทานสมุนไพรโทงเทงช่วง 1-5 วันแรก บางคนอาจจะมีอาการเวียนศีรษะ นอนไม่หลับ อึดอัด หงุดหงิด แต่หลังจากนั้นอาการก็ค่อย ๆ หายไป[4]
2. กลีบเลี้ยงของต้นจะมีสารพิษโซลานิน (Solanine) สามารถก่อให้เกิดการระคายเคืองกับระบบทางเดินอาหาร เมื่อทานไปหลายชั่วโมงผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนที่ปากกับคอหอย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องร่วง อุณหภูมิร่างกายจะสูง เป็นต้น ถ้ายังไม่อาเจียนออกจำเป็นจะต้องล้างท้อง ให้น้ำเกลือ ระวังอาการไตวาย และให้ยาเคลือบกระเพาะอาหาร ถ้ามีอาการชักแพทย์ก็จะให้ยาแก้ชัก[9]
3. สตรีที่มีครรภ์ห้ามทานสมุนไพรชนิดนี้[2]

สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “โทงเทง (Thong Theng)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 148.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “โทงเทง”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 282.
สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “โทงเทง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/botany/. [24 มี.ค. 2014].
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “โทงเทง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [24 มี.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “โทงเทง”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์) [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [24 มี.ค. 2014].
หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5. “โทงเทง”. (วีระชัย ณ นคร).
สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “โทงเทง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [24 มี.ค. 2014].
พืชสมุนไพร (Medicinal Plants), มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “โทงเทง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.ku.ac.th/AgrInfo/plant/index.html. [24 มี.ค. 2014].
ASTV ผู้จัดการออนไลน์. “สมุนไพรไม้เป็นยา : “โทงเทง” สมุนไพรที่ไม่ไร้ค่า รักษาเบาหวาน ยับยั้งเซลล์มะเร็งตับ”. อ้างอิงใน: นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 167 พฤศจิกายน 2557 โดย มีคณ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th. [24 เม.ย. 2016].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://warcapps.usgs.gov