กระดูกไก่ดำ ใช้เป็นยาบำรุงโลหิต แก้อาการปวดศีรษะ

0
1382
กระดูกไก่ดำ
กระดูกไก่ดำ ใช้เป็นยาบำรุงโลหิต แก้อาการปวดศีรษะ เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ใบเดี่ยวเรียงคู่รูปหอก ดอกออกเป็นช่อสีขาวอมสีเขียวแกมสีชมพู ผลเป็นฝัก
กระดูกไก่ดำ
เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ใบเดี่ยวเรียงคู่รูปหอก ดอกออกเป็นช่อสีขาวอมสีเขียวแกมสีชมพู ผลเป็นฝัก

กระดูกไก่ดำ

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Justicia gendarussa Burm.f. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Gendarussa vulgaris Nees, Justicia gandarussa L.f.) อยู่วงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)[1],[5] ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น อูกู่หวางเถิง (จีนกลาง), สำมะงาจีน (ภาคกลาง), ผีมอญ (ภาคกลาง), เฉียงพร้าม่าน (ภาคกลาง), เกียงพา (ภาคกลาง), กุลาดำ (ภาคเหนือ), สันพร้ามอญ (ภาคกลาง), เฉียงพร่าม่าน (ภาคกลาง), เฉียงพร้ามอญ (ภาคกลาง), เฉียงพร้า (ภาคกลาง), แสนทะแมน (จังหวัดตราด), ปั๋วกู่ตาน (จีนกลาง), ปองดำ (จังหวัดตราด), (จังหวัดสุราษฎรณ์ธานี), บัวลาดำ (ภาคเหนือ), โอกุด๊ดอื้งติ้น (จีน) [1],[2],[3]

ลักษณะของกระดูกไก่ดำ

  • ต้น เป็นไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่มขนาดเล็ก ต้นสูงประมาณ 90-100 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะเป็นสีแดงเข้มถึงดำ เป็นสีม่วง จะเกลี้ยงและมัน กิ่งกับลำต้นเป็นปล้องข้อ ข้อลำต้นมีขนาดยาวประมาณ 2.5-3 นิ้ว ข้อปล้องกิ่งมีขนาดยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว ตามลำต้น กิ่งก้าน เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด การปักชำ ขึ้นดีที่ดินร่วนซุย มักจะขึ้นที่ตามริมลำธารในป่าดงดิบ[1],[2],[4]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงคู่ ใบเป็นรูปใบหอก ที่โคนใบจะแหลม ส่วนที่ปลายใบจะแหลมเช่นกัน ขอบใบเรียบ ใบกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร มีขนาดยาวประมาณ 4-14 เซนติเมตร แผ่นใบมีลักษณะเป็นสีเขียวเข้มและเรียบเงา ที่หลังใบจะมีสีเหลืองอมสีเขียว ส่วนที่หน้าใบจะมีสีเขียวสด เส้นกลางใบมีลักษณะเป็นสีแดงอมสีดำ มีก้านใบที่สั้น[1],[2]
  • ดอก ออกเป็นช่อ ออกดอกที่ยอดต้น ที่ปลายกิ่ง ช่อยาวประมาณ 2-3 นิ้ว ดอกเป็นหลอดเล็ก ที่ปลายดอกจะแยกเป็นกลีบ กลีบดอกมีลักษณะเป็นสีขาวอมสีเขียวแกมสีชมพู ที่ปลายกลีบจะแยกออกเป็นกลีบบนกลีบล่าง ส่วนที่โคนกลีบดอกจะเชื่อมกัน กลีบดอกโค้งงอน มีเกสรเพศผู้ 2 ก้านที่ด้านในของหลอดดอก จะโผล่พ้นขึ้นจากหลอด[1],[4]
  • ผล เป็นฝัก ยาวประมาณ 1.3-1.5 เซนติเมตร[1]

ประโยชน์กระดูกไก่ดำ

  • มาเลเซียถือว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยป้องกันภูตผี ช่วยป้องกันภัย[1]
  • นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ มักปลูกตามบ้านหรือใช้ทำรั้ว[1],[3]
  • ถ้าไก่ขาหัก จะนำใบกระดูกดำมาประคบหรือห่อตรงขาที่หัก และหมอยาพื้นบ้าน ถ้าใครขาแขนแตกหรือหักจะนำใบกระดูกดำมาประคบหรือห่อตรงขาที่หัก[6]

สรรพคุณกระดูกไก่ดำ

1. ทั้งต้นมีรสเผ็ด จะเป็นยาร้อนนิดหน่อย มีสรรพคุณที่สามารถเป็นยาขับลมชื้นที่ตามข้อกระดูกได้ (ทั้งต้น)[2]
2. ในสูตรตำรับสเปรย์ แก้ฟกช้ำ แก้อาการปวดข้อ อักเสบเฉียบพลัน ปวดเมื่อย (ฉีดตรงที่มีอาการปวดหรืออักเสบของข้อ) มาผสม สารสกัดกระดูกไก่ดำ 400 ซีซี (ระเหยแอลกอฮอล์ออก) เมนทอล 60 กรัม การบูร 120 กรัม น้ำมันหอมระเหย 10 ซีซี (กลิ่นเปปเปอร์มินต์) น้ำมันเขียว (Cajuput oil) 2% 8 ซีซี การทำให้ละลายเมนทอลกับการบูรให้เข้า และทำให้เติมสารสกัดกระดูกไก่ดำกับน้ำมันเขียวแล้วทำให้เข้ากัน แต่งกลิ่นเปปเปอร์มินต์ บรรจุในขวดสเปรย์[7]
3. นำน้ำที่คั้นได้จากใบมาผสมเหล้าทาน สามารถช่วยแก้ปวดบวมตามข้อ และแก้อาการช้ำใน หรือนำน้ำคั้นที่คั้นได้จากใบมาใช้ทาแก้อาการปวดตามข้อ (ใบ)[1],[4]
4. สามารถนำใบกับรากมาต้มกับน้ำอาบแก้โรคผิวหนัง แก้ผื่นคันตามตัวได้ (บ้างก็ว่าสามารถใช้รักษางูสวัดได้[6]) (ราก, ใบ)[1] สามารถใช้รากเป็นยาทาเด็กที่เป็นเม็ดตุ่มขึ้นที่ตามตัวได้ (ราก)[4]
5. สามารถนำน้ำใบคั้นมาผสมเหล้าทานเป็นยาขับปัสสาวะได้ (ใบ)[1]
6. รากสามารถใช้เป็นยาแก้ท้องเสียได้ (ราก)[5]
7. น้ำใบคั้นสามารถใช้เป็นยาทาแก้อาการปวดท้องได้ (ใบ)[4]
8. นำน้ำใบคั้นมาผสมเหล้าใช้ทานเป็นยาแก้อาเจียนเป็นเลือดได้ (ใบ)[1],[2]
9. สามารถนำใบสดมาตำคั้นเอาน้ำมาใช้ดื่มเป็นยาแก้โรคหืด (ใบ)[1],[2]
10. ประเทศอินโดนีเซีย กับประมาเลเซียใช้ใบมาต้มกับน้ำใช้เป็นยาบำรุงโลหิตได้ (ใบ)[4]
11. สามารถนำใบสดมาตำคั้นเอาน้ำใช้ดื่มเป็นยาแก้อัมพาต (ใบ)[1],[2]
12. ที่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดียมีการนำใบมาใช้รักษาโรคติดเชื้อได้หลายชนิด (ใบ)[7]
13. สามารถช่วยแก้เคล็ดขัดยอกได้ โดยนำรากมาตำผสมเหล้าหรือน้ำส้มสายชู ใช้พอกตรงบริเวณที่เป็น (ราก)[2]
14. สามารถนำใบมาต้มกับนมใช้ทานเป็นยาแก้ฝีฝักบัวได้ (ใบ)[4]
15. นำใบกับรากมาตำผสมกัน สามารถใช้เป็นยาพอกถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อยได้ อย่างเช่น ต่อ พิษงู แตนต่อย ผึ้ง หรือนำกากใบมาใช้พอกตรงแผลที่โดนกัดสามารถช่วยดูดพิษอสรพิษได้ หรือนำใบมาขยี้ผสมเหล้าขาวใช้เป็นยาทา (ใบ,รากและใบ)[1],[2],[4],[5],[6]
16. สามารถนำใบมาต้มกับนมทานเป็นยาแก้ท้องร่วงแบบแรงได้ (ใบ)[4]
17. สามารถนำใบมาตำคั้นเอาน้ำมาผสมเหล้าใช้ทานเป็นยาแก้ไอได้ (ใบ)[1],[2]
18. สามารถนำใบสดมาต้มกับน้ำดื่ม หรือนำใบมาตำผสมเหล้าคั้นเอาน้ำใช้ดื่มเป็นยาแก้ไข้ ลดความร้อน ทำให้เลือดที่อุดตันภายในร่างกายไหลเวียนได้สะดวก ช่วยขับเลือดข้นในร่างกายให้กระจาย แก้เลือดคั่งค้างเป็นลิ่มเป็นก้อน สามารถช่วยกระจายเลือดได้ (ใบ)[1],[2],[3],[4]
19. สามารถนำใบสดมาตำคั้นเอาน้ำใช้ดื่มเป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ สำหรับประเทศอินโดนีเซีย และประเทศมาเลเซียนำใบสดมาตำผสมหัวหอม เมล็ดเทียนแดง ใช้พอกแก้อาการปวดศีรษะได้ (ใบ)[1],[2],[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • มีรายงานว่าพบสาร Apigenin ที่อยู่ในใบจะมีฤทธิ์ยับยั้งการเติบโตและยับยั้งการแพร่กระจายของมะเร็งต่อมลูกหมากได้[7]
  • กลุ่มนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัย University of Illinois (ชิคาโก) และมหาวิทยาลัย Baptist University (ฮ่องกง) และสถาบัน Vietnam Academy of Science and Technology (เวียดนาม) ได้ร่วมตีพิมพ์ผลการวิจัยในวารสาร Journal of Natural Products การค้นพบสารประกอบ Patentiflorin A จากต้น เป็นสารที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งไวรัส HIV ได้ดีกว่ายาอะซิโดไทมิดีน (Azidothymidine) ที่ใช้ในปัจจุบัน ทางทีมงานทดสอบกับตัวอย่างเซลล์นอกร่างกาย ปรากฏว่าได้ผล (สารประกอบนี้เข้าไปยับยั้งเอนไซม์ที่ไวรัส HIV ใช้เข้าไปรวมตัวกับ DNA ของเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันมนุษย์ เอนไซม์หายไป ไวรัสจึงรวมตัวกับ DNA ของเซลล์เป้าหมายไม่ได้) แต่ไม่ได้ทดสอบกับร่างกายมนุษย์ จนกว่าจะมั่นใจในเรื่องผลข้างเคียง ถ้าผลิตยาต้านไวรัส HIV จากสารประกอบของ ยาต้านไวรัสน่าจะมีราคาถูกลงและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผลดีก็จะตกอยู่กับผู้ป่วยในประเทศที่ยากจนด้วย[8]
  • สารสกัดเมทานอลของใบจะมีฤทธิ์ที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด และเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก อย่างเช่น Staphylococcus aureus, Bacillus subtilis, Staphylococcus mutans, Micrococcus luteus และเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ อย่างเช่น Shigella Flexner, Salmonella typhimusium, Proteus vulgaris, Escherichia coli, Salmonella paratypi A, Proleus mirabilis, Klebsiella pneumoniae เป็นสมุนไพรที่น่าสนใจที่จะนำมาพัฒนาเป็นยาปฏิชีวนะเพื่อใช้ในการรักษาการติดเชื้อที่ดื้อยาในอนาคต [7]
  • พบสารอัลคาลอยด์, Juaticin และมีน้ำมันระเหยอยู่[2]
  • สารสกัดมีฤทธิ์ที่เป็นพิษกับเซลล์มะเร็งของมนุษย์ในหลอดทดลอง โดยเหนี่ยวนำให้เซลล์ตาย (Apoptosis) ฤทธิ์ที่ยับยั้งการสร้างหลอดเลือด (Anti-angiogenesis) ฤทธิ์ดังกล่าวน่าจะนำมาพัฒนาเป็นยารักษามะเร็งได้[7]
  • มีฤทธิ์ที่ต้านอาการอักเสบ ช่วยลดอาการปวด เป็นฤทธิ์จากสารสำคัญในกลุ่ม Flavonoids นั่นก็คือ Apigenin กับ Vitexin ที่จะออกฤทธิ์ผ่านกลไกเดียวกับยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) โดยจะยับยั้งเอนไซม์ Lipoxygenase pathways กับ Cyclooxygenase (COX) มีผลยับยั้งการหลั่งสารที่เหนี่ยวนำให้เกิดอาการอักเสบหลายชนิด อย่างเช่น Prostaglandins, Prostaglandins, Histamine, NO, iNOS, MMP-9 และพบว่าสารสกัดออกฤทธิ์ที่ Opioid receptor เป็นกลไกเดียวกันกับมอร์ฟีน จะมีฤทธิ์ลดอาการปวดน้อยกว่ามอร์ฟีนประมาณ 2 – 5 เท่า และมีกลไกลดอาการอักเสบเหมือนยาสเตียรอยด์ จะไปยับยั้ง หรือ Stabilizing Lysosomal Membrane ไม่ให้สร้างสารพวก Hydrolytic enzyme จากเม็ดเลือดขาวมาย่อยเซลล์ และยังมีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการเคลื่อนที่ของเม็ดเลือดขาวไปตรงที่อักเสบ มีฤทธิ์ลดอาการปวด เทียบเท่ายามาตรฐานแบบแอสไพริน (Aspirin) และจะออกฤทธิ์ยับยั้งอาการปวดทั้งที่เกิดจากระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย เห็นได้ว่าฤทธิ์แก้อาการปวด ลดการอักเสบ เกิดจากการทำงานผ่านหลายกลไก เทียบเท่ายาแผนปัจจุบันหลายชนิดที่ใช้กันในปัจจุบัน และมีจุดเด่นที่สำคัญและจุดเด่นที่น่าสนใจนำไปพัฒนาเป็นยาแก้อาการปวด ลดการอักเสบได้ในอนาคต[7]
  • รากเอามาต้มกับน้ำหรือแช่ในแอลกอฮอล์ หรือสกัดด้วยแอลกอฮอล์ฉีดเข้าท้องหนูทดลองปริมาณ 1-2 กรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ปรากฏว่าทำให้หนูมีอุณหภูมิในร่างกายสูงมากขึ้น ถ้าฉีดเข้าหนูทดลองปริมาณ 10-20 กรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม มีผลทำให้อุณหภูมิในร่างกายของหนูทดลองต่ำลงมาก ๆ และมีอาการถ่ายเฉียบพลันและทำให้ถึงแก่ความตาย[2]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “กระดูกไก่ดํา”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 19-20.
2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “กระดูกไก่ดำ”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 28.
3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย. “กระดูกไก่ดํา”. (วุฒิ วุฒิธรรมเวช). หน้า 75.
4. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “เฉียงพร้ามอญ”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 237-239.
5. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “Justicia gendarussa Burm. f.”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [16 เม.ย. 2014].
6. จำรัส เซ็นนิล. “เฉียงพร้า-กระดูกไก่ดำ รักษามะเร็งเต้านม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.jamrat.net. [16 เม.ย. 2014].
7. ผู้จัดการออนไลน์. “กระดูกไก่ดำ สุดยอดสมุนไพร แก้ปวด แก้อักเสบ”. (ข้อมูลโดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th. [20 มิ.ย. 2017].
8. SCI NEWS. “Powerful Anti-HIV Compound Found in Asian Medicinal Plant: Patentiflorin A”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sci-news.com. [20 มิ.ย. 2017].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.smpn1turen.sch.id/
2. https://www.womenfitness.net/