มะหวด
มะหวด (Lepisanthes rubiginosa) เป็นพืชในวงศ์เงาะที่สามารถพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย ทำให้มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นมากมายจนน่าสับสนและแต่ละชื่อก็ค่อนข้างแปลก ดอกมีสีขาวอมเหลืองและมีกลิ่นหอม ส่วนของผลสุกมีรสจืดฝาดถึงหวานทำให้นำมารับประทานได้ เช่นเดียวกับส่วนของใบอ่อนที่นิยมนำมารับประทานในรูปแบบของผักได้ นอกจากนั้นมะหวดยังมีส่วนต่าง ๆ ของต้นที่สามารถนำมาปรุงเป็นยาสมุนไพรได้
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของมะหวด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lepisanthes rubiginosa (Roxb.) Leenh.
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กำซำ กะซ่ำ มะหวด” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “มะหวดป่า หวดคา” ภาคเหนือเรียกว่า “สีฮอกน้อย หวดลาว” ภาคตะวันตกเฉียงเหนือและคนเมืองเรียกว่า “หวดเหล้า” ภาคตะวันออกเฉียงใต้เรียกว่า “ชันรู มะหวดบาท มะหวดลิง” ภาคใต้เรียกว่า “กำจำ นำซำ มะจำ หมากจำ” จังหวัดอุดรธานีเรียกว่า “หวดฆ่า หวดค่า” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “สีหวด” บางภาคเรียกว่า “สีหวดใหญ่” คนทั่วไปเรียกว่า “ซำ” ชาวม้งเรียกว่า “สือเก่าก๊ะ ยาตีนไก่” ชาวเมี่ยนเรียกว่า “เดี๋ยงอายเปียว” ไทลื้อเรียกว่า “มะซ้าหวด”
ชื่อวงศ์ : วงศ์เงาะ (SAPINDACEAE)
ชื่อพ้อง : Sapindus rubiginosus Roxb.
ลักษณะของมะหวด
มะหวด เป็นไม้พุ่มผลัดใบหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็กที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย จีนตอนใต้ ออสเตรเลียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักจะพบตามป่าผลัดใบ ริมลำธาร ชายป่าชื้น ชายป่าดิบ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้งและพื้นที่โล่งแจ้ง
ลำต้น : ทรงพุ่มกลมหรือเป็นรูปไข่ เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลแตกเป็นร่องตามยาว กิ่งแขนงเป็นรูปทรงกระบอกเป็นร่อง ที่กิ่งก้านมีขนละเอียด เมื่อยังอ่อนอยู่จะมีขนสั้น
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่เรียงเวียนสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 3 – 6 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ถึงรูปไข่กลับ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบด้านล่างมีสีอ่อนกว่า ผิวใบมีขนนุ่มปกคลุมอยู่ทั้งสองด้าน แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียวและย่นเป็นรอย ส่วนใบอ่อนมีสีน้ำตาลอมเขียว
ดอก : ดอกเป็นสีขาวถึงสีเหลืองอ่อน ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนงตั้งจากปลายยอดหรือซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกย่อยเป็นสีขาวมีขนาดเล็กและมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ดอกเป็นแบบแยกเพศ มีกลีบดอก 4 – 5 กลีบ เป็นสีขาวและโคนกลีบแคบ มีขนและมีเกล็ดเล็ก 1 เกล็ด มีสันนูน 2 สัน ดอกมีเกสรเพศผู้ 8 ก้าน ก้านเกสรมีขนสีน้ำตาลอ่อน ก้านเกสรเพศเมียยาวและไม่มีขน กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบเป็นรูปครึ่งวงกลม กลีบนอก 2 กลีบจะเล็กกว่ากลีบในและมีขนที่ด้านนอก มักจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม
ผล : เป็นผลสดแบบมีเนื้อ ลักษณะของผลเป็นรูปวงรีเว้าเป็นพู ผิวผลเกลี้ยงและมีพู 2 พู เปลือกและเนื้อบาง ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแดงและจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำเมื่อแก่จัด เนื้อผลฉ่ำน้ำมีรสหวานใช้รับประทานได้ มักจะติดผลช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลดำเป็นมัน 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปทรงวงรีแกมรูปขอบขนาน
สรรพคุณของมะหวด
- สรรพคุณจากผล บำรุงกำลัง ช่วยแก้ท้องร่วง
- สรรพคุณจากเปลือกต้น ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย แก้ธาตุพิการ ช่วยแก้บิด ช่วยสมานแผล
- สรรพคุณจากราก ช่วยแก้วัณโรค ช่วยแก้พิษร้อน เป็นยาขับพยาธิ ช่วยแก้พิษฝีภายใน ช่วยแก้กระษัยเส้น
– แก้เบื่อเมา แก้อาการปวดท้อง ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
– แก้อาการปวดศีรษะ ช่วยแก้ไข้ ด้วยการนำรากฝนกับเหล้าขาวแล้วนำมาพอกศีรษะ
– รักษาโรคผิวหนังหรือผิวหนังเป็นผื่นคัน ด้วยการนำรากมาตำแล้วพอก - สรรพคุณจากรากและใบ ช่วยรักษาอาการไข้
– แก้ซาง ด้วยการนำรากหรือใบผสมกับสมุนไพรอื่นแล้วต้มกับน้ำดื่มเป็นยา - สรรพคุณจากเมล็ด ช่วยแก้อาการไอเรื้อรัง ช่วยบำรุงเส้นเอ็น
– แก้ซาง แก้ไอกรน แก้ไอหอบในเด็ก ด้วยการนำเมล็ดมาต้มกับน้ำให้เด็กรับประทานเป็นยา
ประโยชน์ของมะหวด
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลสุกมีรสจืดฝาดถึงหวานใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ ใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดด้วยการนำมาต้มหรือลวกจิ้มกับน้ำพริกหรือใช้ใส่ในแกงผักรวม ใส่ปลาย่างและชาวบ้านยังนำมาใช้รองพื้นหรือคลุมข้าวที่จะใช้ทำขนมจีนเพื่อช่วยกันบูดได้อีกด้วย
2. ใช้ในอุตสาหกรรม เนื้อไม้นำมาใช้ในงานก่อสร้าง ทำไม้ฟืนหรือใช้ทำด้ามเครื่องมือทางการเกษตรได้
มะหวด มีผลรสหวานและมีเนื้อฉ่ำน้ำจึงสามารถนำมารับประทานเป็นผลไม้ได้ และยังนำใบอ่อนมาทานเป็นผักได้ ทว่าส่วนที่สำคัญเลยก็คือส่วนต่าง ๆ ของต้นนั้นคือยาสมุนไพรชั้นดีชนิดหนึ่งที่ควรนำมาใช้ประโยชน์ได้ มะหวดมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ซาง แก้ปวดหัว แก้ไข้ บำรุงกำลังและช่วยแก้ท้องร่วงได้ เป็นยาที่ดีต่อเด็กที่เป็นโรคซางหรือเด็กที่มีอาการเบื่ออาหาร ซึม ลิ้นเป็นฝ้า มีเม็ดขึ้นในปากและคอได้
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “มะหวด (Ma Huat)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 239.
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “มะหวด”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 125.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “มะหวด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [19 พ.ค. 2014].
หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 7. “มะหวด”.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “มะหวด”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [19 พ.ค. 2014].
งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนวารินชำราบ สพม. เขต 29. “มะหวด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ict2.warin.ac.th/botany/. [19 พ.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/