ช้างน้าว
ช้างน้าว ถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไทย ลาว พม่า มาเลเซีย เขมร) ชื่อสามัญ Vietnamese mickey mouse plant ชื่อวิทยาศาสตร์ Ochna integerrima (Lour.) Merr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Elaeocarpus integerrimus Lour., Ochna harmandii Lecomte) จัดอยู่ในวงศ์ช้างน้าว (OCHNACEAE) ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ กระโดงแดง (ร้อยเอ็ด) ช้างโหม (ตราด) ช้างโน้ม (จันทบุรี) ขมิ้นพระต้น (ระยอง) ช้างโหม ช้างโน้ม กระแจะ (ราชบุรี) ฝิ่น (นครราชสีมา) ช้างน้าว ตานนกกรด (บุรีรัมย์) แง่ง (ภาคเหนือ) ตาลเหลือง (ภาคกลาง) กำลังช้างสาร (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) ตาชีบ้าง (กะเรี่ยง-กาญจนบุรี) โว้โร้ (กะเหรี่ยง-นครสวรรค์)ควุ
ลักษณะของช้างน้าว
- ต้น เป็นไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่มขนาดเล็ก เป็นไม้ผลัดใบ มีความสูงของต้นโดยประมาณ 3-8 เมตรและอาจสูงได้ถึง 12 เมตร กิ่งก้านแผ่ขยายออก ลำต้นมักคดงอ เปลือกต้นมีสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นสะเก็ดเป็นร่องลึก ตามปลายกิ่งมีกาบหุ้มตาลักษณะแข็งและแหลม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด การตอนกิ่ง และวิธีการปักชำกิ่ง เป็นพันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตได้ช้า เติบโตได้ในสภาพดินทุกชนิดแม้พื้นที่แห้งแล้ง แต่ชอบดินร่วน ระบายน้ำได้ดี ไม่ชอบน้ำท่วมขัง ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง ชอบแสงแดดจัด ทนแล้งและทนไฟป่าได้ดี ไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน สามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าสน และป่าชายหาด ที่ระดับความสูงใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 1,200 เมตร
- ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ มักพบเรียงชิดกันเป็นกลุ่มๆ ที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ หรือเป็นรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ ปลายใบจะแหลมหรือเรียวแหลม พบได้บ้างที่ปลายใบมน ส่วนโคนใบแหลมหรือมน ขอบใบเป็นจักแบบฟันเลื่อยถี่ ใบมีขนาดกว้างโดยประมาณ 2.5-5.5 เซนติเมตร ยาวโดยประมาณ 12-17 เซนติเมตร ผิวใบเรียบ มีเส้นใบข้างโดยประมาณ 7-15 คู่ หักโค้งงอ และมีเส้นระหว่างกลางไม่จรดกัน ใบแก่จะมีสีเขียวหม่นๆ และเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ส่วนก้านใบนั้นยาวโดยประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และมีหูใบขนาดเล็กหลุดร่วงได้ง่ายที่ทิ้งร่องรอยไว้บนกิ่งก้าน
- ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุกแยกแขนง โดยจะออกตามซอกใบหรือบริเวณใกล้ปลายกิ่งที่ไม่มีใบ ชอบออกดอกพร้อมกับแตกใบใหม่ ในแต่ละช่อดอกจะมีดอกโดยประมาณ 4-8 ดอก ช่อดอกยาวโดยประมาณ 3.5-6 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อดอกยาวโดยประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ดอกมีจำนวนมากและมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโดยประมาณ 3-4.5 เซนติเมตร มีก้านดอกยาวโดยประมาณ 2-4 เซนติเมตร ใกล้โคนก้านจะมีลักษณะเป็นข้อต่อ ส่วนใบประดับมีขนาดเล็ก ร่วงได้ง่าย ดอกมีกลีบเลี้ยงมีสีแดงลักษณะเป็นรูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน 5 กลีบ มีขนาดกว้างโดยประมาณ 5-8 มิลลิเมตรและยาวโดยประมาณ 10-15 มิลลิเมตร ผิวทั้งสองด้านเรียบ ส่วนกลีบดอกนั้นมีสีเหลืองสดมีโดยประมาณ 5-8 กลีบ กลีบมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ปลายกลีบมนหรือกลม โคนกลีบสอบเรียวคล้ายก้านกลีบ ส่วนขอบกลีบหยัก กลีบมีขนาดกว้างโดยประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวโดยประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร แผ่นกลีบบอบบาง หลุดร่วงได้ง่าย ฐานกลีบแคบ ดอกมีเกสรเพศผู้โดยประมาณ 32-50 ก้าน มีก้านชูอับเรณูยาวโดยประมาณ 0.5-1.2 เซนติเมตร มีขนาดไม่เท่ากัน โดยวงนอกจะยาวกว่าวงใน อับเรณู ยาวโดยประมาณ 5-6 มิลลิเมตร อับเรณูมีช่องเปิดอยู่ด้านปลาย ฐานรองดอกพองนูน ลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโดยประมาณ 1.5-2.5 มิลลิเมตร ขยายขนาดและมีสีแดงเมื่อเป็นผล ส่วนรังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ คาร์เพล 6-12 อัน แต่ละอันจะมี 1 ช่องและมีออวุล 1 เม็ด ส่วนก้านเกสรเพศเมียจะมี 1 ก้าน ยาวโดยประมาณ 1.2-2 เซนติเมตรติดกับฐานของรังไข่ ปลายแยกเป็นแฉก 6-10 แฉกสั้นๆ ยอดเกสรเพศเมียจะมีจำนวนเท่ากับคาร์เพล โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน เมื่อดอกบานจะเป็นสีเหลืองเกือบทั้งต้น
- ผล เป็นผลสด แบบผลผนังชั้นในแข็ง ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดกว้างโดยประมาณ 8-9 มิลลิเมตรและยาวโดยประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร ผลมีสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ผิวผลมัน ผลมีก้านเกสรเพศเมียคงเหลืออยู่ และยังมีกลีบเลี้ยงสีแดงสดที่เจริญตามมารองรับ ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด บ้างว่ามีเมล็ด 1-3 เมล็ด ชั้นหุ้มเมล็ดแข็งและมีขนาดใหญ่ มีเนื้อบางหุ้มอยู่ โดยจะออกผลในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน
สรรพคุณของช้างน้าว
1. หมอยาไทยใหญ่จะใช้สมุนไพรช้างน้าวเพื่อรักษาเด็กที่เป็นซางจ่อยผอม หรือสภาวะที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่ดี เป็นโรคเรื้อรัง มีการติดเชื้อบางชนิดที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดได้ (ราก)
2. เปลือกต้นมีรสขม ช่วยบำรุงหัวใจ (เปลือกต้น)
3. ผลมีรสมันสุขุม เป็นยาบำรุงร่างกาย ส่วนตำรายาไทยใช้ต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม และตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย (ผล ต้น ลำต้น)
4. ตำรายาไทยใช้ต้นช้างน้าวนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย หรือจะใช้ต้นช้างน้าวผสมกับต้นนมสาว เถาตาไก้ รากน้ำเต้าต้น รากลกครก อย่างละเท่ากัน มาต้มกินเป็นยาบำรุงกำลังก็ได้ ส่วนชาวเขาเผ่ามูเซอจะใช้ราก โดยนำมาตากแห้ง หรือดองกับเหล้า หรือต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง (ต้น ราก)
5. เนื้อไม้มีรสจืดเย็น ช่วยแก้กษัย ส่วนตำรายาไทยต้นก็มีสรรพคุณแก้กษัยเช่นกัน (ต้น เนื้อไม้)
6. ดับพิษร้อนในร่างกาย (เนื้อไม้)
7. แก้โลหิตพิการ (เนื้อไม้)
8. แก้ดีซ่าน (ราก)
9. เปลือกต้นมีรสขม ใช้ปรุงเป็นยาช่วยทำให้เจริญอาหาร (เปลือกต้น)
10. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้เบาหวาน (ราก)
11. ช่วยขับผายลม (เปลือกต้น)
12. แก่นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ประดง (แก่น)
13. รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ผิดสำแดง (ราก)
14. เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ไข้ (เปลือกต้น) ในประเทศอินเดียจะใช้ใบและรากช้างน้าวเป็นยาลดไข้ (ใบ ราก)
15. ช่วยบำรุงระบบย่อยอาหาร (ราก)
16. ช่วยบำรุงน้ำนมของสตรี ด้วยการใช้ต้นช้างน้าวผสมกับต้นนมสาว รากน้ำเต้าแล้ง รากลกครก เถาตาไก้ อย่างละเท่ากัน นำมาต้มกินเป็นยา (ต้น)
17. ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอว ส่วนรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดหลัง (ต้น ราก)
18. รากเป็นยาขับพยาธิ (ราก)
19. ในประเทศอินเดียจะใช้ส่วนของใบและรากเป็นยาแก้บิด (ใบ ราก)
20. รากช่วยฟอกน้ำเหลือง แก้โรคน้ำเหลืองเสีย หรือสภาวะที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี (ราก)
21. รากช้างน้าวช่วยรักษาโรคปวดขา (ราก)
ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
1. ช้างน้าวมีสาร Bioflavonoid ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV ต้านเชื้อวัณโรค มีฤทธิ์ต้านอักเสบ แก้ไข้ และแก้ปวด
2. จากการศึกษาพบว่าสารสกัดที่ได้จากเปลือกช้างน้าวมีฤทธิ์ต่อต้านมาลาเรียได้ดีมาก
ประโยชน์ของช้างน้าว
1. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ดอกมีกลิ่นหอมตลอดทั้งวันและจะหอมมากในช่วงอากาศเย็น ต้นช้างน้าวยังเป็นพันธุ์พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลของจังหวัดมุกดาหารอีกด้วย
2. เปลือกนอกของต้นช้างน้าวที่มีลักษณะนิ่ม ๆ คล้ายไม้คอร์ก นำมาบดให้เป็นผงซึ่งจะมีสีเหลืองเข้มสด นำมาใช้ทาแก้สิวฝ้า หรือใช้ทาแทนแป้งได้ (เปลือกนอก)
3. ชาวบ้านจะนิยมตัดกิ่งช้างน้าวขนาดประมาณ 1 ฟุตครึ่ง เพื่อนำมาจำหน่าย (กิ่งละประมาณ 10 บาท) โดยจะเรียกกิ่งไม้ชนิดนี้ว่า “ดอกตรุษจีน” เนื่องจากจะออกดอกในช่วงตรุษจีนพอดี โดยกิ่งของช้างน้าวนั้นเมื่อนำมาแช่น้ำประมาณ 3-4 วัน ก็จะผลิดอกสวยงามจนเต็มกิ่งก้าน คนเวียดนามจึงนิยมปลูกและนำมาใช้ปักแจกัน เพราะมีความเชื่อว่าดอกไม้สีเหลืองเป็นดอกไม้ที่จะนำโชคและความอุดมสมบูรณ์มาสู่บ้านเรือน
สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “ช้างน้าว”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 93.
2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “ตาลเหลือง”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 114.
3. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ช้างน้าว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [5 มี.ค. 2014].
4. พันธุ์ไม้มงคลพระราชทาน, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ช้างน้าว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th. [5 มี.ค. 2014].
5. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ช้างน้าว”. (นพพล เกตุประสาท). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [5 มี.ค. 2014].
6. ฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในโรงเรียน, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. “ช้างน้าว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: copper.msu.ac.th/plant/. [5 มี.ค. 2014].
7. มูลนิธิสุขภาพไทย. “ตูมตังและช้างน้าว ผิวงามรับลมหนาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org. [5 มี.ค. 2014].
8. กลุ่มรักษ์เขาใหญ่. “ช้างน้าว จ้าวยาของเด็กน้อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rakkhaoyai.com. [5 มี.ค. 2014].
9. มติชนออนไลน์. “ช้างน้าวยิ่งเหลืองพรึ่บเท่าไหร่ ยิ่งรวย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.matichon.co.th. [5 มี.ค. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1. https://powo.science.kew.org/
2. https://www.liamllivan.top/