พระจันทร์ครึ่งซีก
เป็นพันธุ์ไม้ขนาดเล็กคล้ายกับต้นหญ้า ทอดเลื้อยตามพื้นดินคล้ายเถา ต้นมีน้ำยางสีขาว ดอกมีสีขาวหรือสีม่วง

พระจันทร์ครึ่งซีก

พระจันทร์ครึ่งซีก มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน ในปัจจุบันสามารถพบได้ในแถบภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู ประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี ศรีลังกา และพม่า ประเทศไทยสามารถพบได้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคเหนือ เติบโตตามพื้นที่โล่งที่มีความชื้นแฉะ ในระดับความสูง 100-300 เมตร วัดจากระดับน้ำทะเล[1],[3],[4],[7] ชื่อสามัญ Chinese lobelia[7] ชื่ออื่น ๆ ปัวปีไน้ ปั้วปีไน้ (ภาษาจีนแต้จิ๋ว), ป้านเปียนเหลียม ป้านเปียนเหลียน (ภาษาจีนกลาง), ปั้วใบไน้ (ประเทศจีน), ผักขี้ส้ม (จังหวัดสกลนคร), บัวครึ่งซีก (จังหวัดชัยนาท) เป็นต้น[1],[3],[4],[7] ชื่อวิทยาศาสตร์ Lobelia chinensis Lour. ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Lobelia caespitosa Blume, Lobelia campanuloides Thunb., Lobelia radicans Thunb. จัดอยู่ในวงศ์ (CAMPANULACEAE)[1],[2],[3],[4],[7]

ลักษณะของต้นพระจันทร์ครึ่งซีก

  • ต้น
    1. เป็นพันธุ์ไม้ประเภทล้มลุกที่มีขนาดเล็กคล้ายกับต้นหญ้า ต้นมีอายุขัยอยู่ได้นานหลายปี
    2. ลำต้นมีผิวเรียบและมีความเป็นมัน มีสีแดงอมเขียวหรือสีเขียว ลำต้นจะมีรูปร่างเรียวเล็กและมีข้อตามลำต้น ซึ่งลักษณะของลำต้นจะทอดเลื้อยไปตามพื้นดินคล้ายเถา และส่วนยอดของลำต้นจะตั้งชูขึ้น
    3. ตามข้อลำต้นจะมีกิ่งก้านและใบออกเรียงสลับกัน และต้นจะมีรากเป็นระบบรากฝอย
    4. ภายในลำต้นมีน้ำยางสีขาว
    5. ความสูงของต้นประมาณ 5-20 เซนติเมตร
    6. ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ
  • ใบ
    1. ใบ มีรูปร่างเป็นรูปขอบขนาน ตรงปลายใบแหลม ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยตื้น ๆ และบริเวณโคนใบตัดเป็นมน ท้องใบและหลังใบมีผิวเรียบเป็นมันเงา
    2. ใบ จะออกเรียงสลับกัน โดยใบจะมีลักษณะเป็นใบเดี่ยว[1],[3],[7]
    3. ใบมีขนาดความกว้างประมาณ 0.2-0.6 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร และมีก้านใบที่สั้นมาก
  • ดอก
    1. ดอกมีลักษณะเป็นดอกเดี่ยว ก้านดอกค่อนข้างยาว กลีบดอกมีอยู่ 5 กลีบ กลีบดอกมีสีขาวหรือสีม่วง ดอกมีกลีบเลี้ยงสีเขียวอมม่วง โดยกลีบดอกจะมีจุดเด่นตรงที่กลีบดอกจะเรียงตัวไปในทิศทางเดียวกัน (มีลักษณะคล้ายดอกบัวครึ่งซีก)
    2. ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ 5 อัน และมีเกสรเพศเมียอยู่ 1 อัน มีรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ แบ่งเป็น 2 ห้อง หลอดดอกมีขนสีขาวขึ้นปกคลุม และตรงบริเวณโคนกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นหลอด ซึ่งแต่ละหลอดจะแยกตัวออกจากกัน
    3. ออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนตุลาคม[1],[3],[4]
  • ผล
    1. ผลมีขนาดเล็ก วัดขนาดความยาวได้ประมาณ 4-6 มิลลิเมตร เมื่อผลแห้งผลจะแตกออก
    2. ผลจะออกบริเวณที่ใกล้กับดอก
    3. ติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนตุลาคม
  • เมล็ด
    1. เมล็ดมีรูปร่างเป็นรูปแบนและรี โดยเมล็ดจะมีอยู่เป็นจำนวนมากภายในผล[1],[4]

สรรพคุณ และประโยชน์ของพระจันทร์ครึ่งซีก

1. ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำเป็นยาสำหรับใช้ภายนอก โดยให้นำมาทาบริเวณที่มีอาการ มีสรรพคุณในการรักษาอาการไขข้ออักเสบ และแก้อาการเคล็ดขัดยอก (ทั้งต้น)[3],[5],[7]
2. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาถอนพิษไข้ และดับพิษร้อน (ทั้งต้น)[4]
3. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยารักษาไข้หวัด และโรคไข้มาลาเรีย (ทั้งต้น)[5],[7]
4. ทั้งต้นมีฤทธิ์เป็นยาแก้ไอ (ทั้งต้น)[5],[7]
5. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคภูมิแพ้ และบรรเทาอาการคัดจมูก (ทั้งต้น)[5]
6. ทั้งต้นมีฤทธิ์เป็นยารักษาอาการบวมช้ำ บรรเทาอาการแน่นหน้าอก และอาการเจ็บสีข้าง (ทั้งต้น)[1]
7. ทั้งต้นนำมาตำใช้เป็นยาพอก มีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการเต้านมอักเสบ (ทั้งต้น)[3],[4],[5]
8. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคต่อมทอนซิลอักเสบ (ทั้งต้น)[3],[4],[5]
9. ทั้งต้นมีฤทธิ์เป็นยารักษาอาการไอเป็นเลือด และอาการอาเจียนออกมาเป็นเลือด (ทั้งต้น)[1],[2],[3],[5]
10. ทั้งต้นนำมาใช้เป็นยาอม มีสรรพคุณบรรเทาอาการเจ็บคอ (ทั้งต้น)[1]
11. ทั้งต้นมีสรรพคุณในการรักษาอาการตาแดง (ทั้งต้น)[3],[5]
12. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (ทั้งต้น)[7]
13. ทั้งต้นนำมาใช้ทำเป็นยา มีสรรพคุณในการรักษาโรคหืด บำรุงปอด และรักษาวัณโรค (ทั้งต้น)[1],[2],[4],[5]
14. ทั้งต้นนำมาต้มรับประทานมีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการท้องเสีย (ทั้งต้น)[3],[5]
15. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคบิด (ทั้งต้น)[3],[4],[5]
16. ทั้งต้นมีฤทธิ์เป็นยารักษาอาการถ่ายกะปริบกะปรอย (ทั้งต้น)[4]
17. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาฆ่าพยาธิ (ทั้งต้น)[7]
18. ทั้งต้นมีฤทธิ์เป็นยารักษาอาการไส้ติ่งอักเสบ (ทั้งต้น)[4]
19. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ (ทั้งต้น)[1],[4],[7]
20. ทั้งต้นมีฤทธิ์เป็นยารักษาอาการบวมน้ำ (ทั้งต้น)[4]
21. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคขัดเบา และโรคดีซ่าน (ทั้งต้น)[3],[5]
22. ทั้งต้นมีฤทธิ์เป็นยารักษาอาการท้องมานอันเนื่องมาจากพยาธิใบไม้ (ทั้งต้น)[3],[5]
23. ทั้งต้นนำมาทำเป็นยาขับพยาธิใบไม้ภายในตับ (ทั้งต้น)[4]
24. ทั้งต้นนำมาใช้เป็นยาภายนอก มีสรรพคุณเป็นยาห้ามเลือด (ทั้งต้น)[7]
25. ทั้งต้นนำมาทำเป็นยาสำหรับใช้ภายนอก โดยจะมีสรรพคุณเป็นยาแก้ฝีหนอง กลากและเกลื้อน ผิวหนังมีผื่นคัน อาการผิวหนังอักเสบ อาการฟกช้ำตามร่างกาย และมีแผลเปื่อย (ทั้งต้น)[1],[4],[3],[5]
26. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคมะเร็งที่บริเวณทวารหนัก และที่บริเวณกระเพาะอาหาร (ทั้งต้น)[5]
27. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยารักษาพิษงู (ทั้งต้น)[1],[4],[7]
28. ทั้งต้นมักนิยมนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในยานัตถุ์[1]

ขนาดและวิธีการใช้

1. ยาแห้งให้นำมาใช้ในปริมาณครั้งละ 35-70 กรัม นำมาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยา
2. ยาสดให้นำมาใช้ในปริมาณครั้งละ 35-70 กรัม นำมาคั้นเอาแต่น้ำใช้สำหรับดื่มเป็นยา
3. สำหรับการนำยามาใช้ภายนอกให้นำมาใช้ในปริมาณที่เหมาะสม[4]
หมายเหตุ: ไม่ควรทิ้งยาที่ต้มแล้วไว้เกิน 4 ชั่วโมง เพราะยาจะเสื่อมสภาพได้[5]

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพร

  • ผู้ที่มีอาการอาหารไม่ย่อย ถ่ายอุจจาระเหลว และมีอาการท้องอืด ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ เนื่องจากอาจจะเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้[3],[5]

อาการ และวิธีการบรรเทาพิษเบื้องต้น

1. หากใช้สมุนไพรเกินขนาด จะเกิดผลข้างเคียงดังนี้ ในระยะแรกจะเริ่มมีอาการวิงเวียนศีรษะ เริ่มคลื่นไส้ อาเจียน หลังจากนั้นจะเริ่มมีอาการหายใจไม่ค่อยออก หัวใจทำงานได้ช้าลง เริ่มมีภาวะความดันโลหิต และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
2. วิธีการบรรเทาพิษเบื้องต้นนั้น ให้นำยาฝาดสมาน ที่มีส่วนผสมของ tannic acid มาต้มกับน้ำใช้สำหรับดื่ม หรืออีกวิธีคือการทานผงถ่านพิเศษ (activated charcoal) เข้าไป จากนั้นก็ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว[6]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

1. จากการวิจัยสารสกัดที่ได้พบว่า ตัวสารมีฤทธิ์เป็นยาระบาย และพบอีกว่าส่งผลข้างเคียงต่อไตเล็กน้อย[6]
2. จากการวิจัยความเป็นพิษพบว่า สารพิษสามารถฆ่าหนูทดลองให้ตายได้ หากสารพิษนั้นมีปริมาณที่เกินครึ่งของน้ำหนักตัวของหนูทดลอง[6]
3. จากการวิจัยต้นพบว่า มีสารที่สำคัญอันได้แก่ สาร Amino acid, Isobelanine, Lobelandine, Flavonoid, Saponin, Lobeline และ Lobelanine เป็นต้น อีกทั้งยังมีสารในจำพวก Alkaloid อยู่หลายชนิดอีกด้วย[4]
4. จากการวิจัยสารสกัดของต้นพบว่า หลังจากการฉีดสารสกัดเข้าไปในหนูทดลองพบว่า สารสกัดดังกล่าวนี้ มีฤทธิ์ในการต่อต้านเชื้อรา และส่งผลในการทำให้เลือดแข็งตัว[3],[4]
5. จากการวิจัยสารสกัดของต้นพบว่า ตัวสารสามารถต่อต้านพิษงูได้[4]
6. จากการวิจัยสารสกัดของต้นพบว่า ตัวสารจะเข้าไปต่อต้านเชื้อ Staphelo coccus, เชื้อบิด, เชื้อไทฟอยด์ และเชื้อในลำไส้ใหญ่[4]
7. จากการวิจัยสารสกัดของต้นพบว่า มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะและช่วยลดความดันโลหิตได้อีกด้วย แต่ก็มีข้อควรระวังเพราะมีผลข้างเคียงต่อไต[3],[4],[6]
8. จากการวิจัยพบว่า การนำต้นมาต้มกับน้ำสำหรับใช้เป็นยาในผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้ออันเนื่องมาจากพยาธิใบไม้ในระยะสุดท้ายรับประทาน (โดยได้มีการใช้ร่วมกันกับยาจำพวก antimony potassium tartrate ที่มีฤทธิ์ในการฆ่าพยาธิใบไม้โดยเฉพาะ และการทานอาหารที่มีประโยชน์ร่วมด้วย) ในระยะเวลาการรักษา 20 วัน พบว่าในผู้ป่วยจำนวน 100 ราย มีผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นและหายจากอาการติดเชื้อนี้เป็นจำนวน 69 ราย[3],[5]

สั่งซื้อ อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “พระจันทร์ครึ่งซีก (Phra Chan Khrueng Sik)”. หน้า 190.
2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “พระจันทร์ครึ่งซีก”. หน้า 133.
3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “พระจันทร์ครึ่งซีก”. หน้า 533-535.
4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “พระจันทร์ครึ่งซีก”. หน้า 366.
5. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 37 คอลัมน์ : อื่น ๆ. (ผศ.สุนทรี วิทยานารถไพศาล). “พระจันทร์ครึ่งซีก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [10 พ.ย. 2014].
6. ไทยเกษตรศาสตร์. “พระจันทร์ครึ่งซีกสมุนไพร”. อ้างอิงใน : จิราพร ลิ้มปานานนท์, นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี, รพีพล ภโววาท, วิทิต วัณนาวิบูล, สำลี ใจดี, สุนทรี วิทยานารถไพศาล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com. [10 พ.ย. 2014].
7. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “พระจันทร์ครึ่งซีก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [10 พ.ย. 2014].
8. https://medthai.com/

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.wetlandpark.gov.hk/en/biodiversity/beauty-of-wetlands/wildlife/lobelia-chinensis
2. https://www.ydhvn.com/benh-ly-hoc/cay-duoc-lieu-cay-ban-bien-lien-lobelia-chinensis-lour