เปล้าน้อย
เปล้าน้อย หรือเรียกกันอีกอย่างว่า “เปล้าท่าโพ” เป็นไม้ยืนต้นทั่วไปที่ดีต่อระบบย่อยอาหารเป็นอย่างมาก เพราะมีสารเปลาโนทอล” (Plaunotol) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยลดปริมาณการหลั่งของกรดในกระเพาะ สมานแผลในกระเพาะได้ นอกจากนั้นยังนำใบและรากมาใช้เป็นยาปฏิชีวนะที่เรียกว่า “เปลาโนทอล” (Plaunotol) หรือยารักษาโรคกระเพาะโดยตรงด้วย ในการนำมาใช้ทานจากต้นสามารถนำมาทานเป็นผักได้แต่จะมีรสขมมาก ทำให้อาจจะทานยากกว่าการทานเป็นยาโดยตรง
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเปล้าน้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Croton fluviatilis Esser และ Croton stellatopilosus H.Ohba และ Croton sublyratus Kurz
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Thai croton”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “เปล้าท่าโพ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)
ชื่อพ้อง : Oxydectes sublyrata (Kurz) Kuntze
ลักษณะของเปล้าน้อย
เปล้าน้อย เป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นผลัดใบ มักจะพบตามป่าเบญจพรรณ จะเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อน และในพื้นดินร่วนปนทรายที่ระบายน้ำได้ดี
ต้น : มีการแตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลปนเทา ผิวค่อนข้างเรียบ
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกวงรียาว ปลายใบแหลม โคนใบเรียว แผ่นใบเรียบเป็นมันสีเขียวเข้ม ใบแก่จะเปลี่ยนเป็นสีส้ม ขอบใบเป็นจักคล้ายซี่ฟัน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกมีขนาดเล็ก จะออกดอกบริเวณซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีขนาดเล็ก เป็นแบบแยกเพศแต่อยู่ในช่อเดียวกัน กลีบดอกเป็นเส้นเมื่อบานแล้วจะโค้งไปด้านหลัง และมีสีขาวนวล
ผล : ลักษณะของผลเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม เปลือกผลเมื่อแห้งจะมีสีน้ำตาลและแตกได้ง่าย แบ่งออกเป็น 3 พู มีรอยกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่ก้นผล ในแต่ละพูจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด เมล็ดมีสีน้ำตาลผิวเรียบ มีลายเส้นตามแนวยาวสีขาวหนึ่งเส้น ผลจะพัฒนาจนแก่จัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนมีนาคม
สรรพคุณของเปล้าน้อย
- สรรพคุณจากใบ ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยแก้อาการไอเป็นเลือด ช่วยรักษาโรคท้องเสีย เป็นยารักษาแผลในกระเพาะอาหารและในลำไส้ ลดปริมาณการหลั่งของกรดในกระเพาะให้น้อยลง ทำให้ระบบป้องกันการดูดซับกรดของเนื้อเยื่อบุกระเพาะที่ถูกทำลายจากสารบางชนิดให้กลับคืนปกติ ช่วยกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อบุในลำไส้ที่เสีย ช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหารและในลำไส้ ช่วยแก้พยาธิต่าง ๆ ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร ช่วยบำรุงโลหิตประจำเดือนของสตรี ช่วยแก้อาการคันตามตัว ช่วยรักษาโรคผิวหนัง รักษากลากเกลื้อน ช่วยรักษามะเร็งเพลิง
- สรรพคุณจากเปลือก ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยแก้เลือดร้อน ช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยรักษาโรคท้องเสีย ช่วยบำรุงโลหิตประจำเดือนของสตรี ช่วยรักษาโรคผิวหนัง รักษากลากเกลื้อน
- สรรพคุณจากกระพี้ ช่วยแก้เลือดร้อน ช่วยในการย่อยอาหาร
- สรรพคุณจากใบ แก่น ดอกและเปลือก ช่วยรักษาอาการไอ ช่วยขับเสมหะ ช่วยรักษาแผล สมานแผล
- สรรพคุณจากราก ช่วยแก้อาการไอเป็นเลือด ช่วยแก้ลมขึ้นเบื้องบนให้หายเป็นปกติ ช่วยขับผายลม ช่วยแก้พยาธิต่าง ๆ ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร ช่วยแก้อาการคันตามตัว ช่วยรักษาโรคผิวหนัง รักษากลากเกลื้อน ช่วยรักษามะเร็งเพลิง
– ช่วยแก้โรคกระเพาะอาหาร ด้วยการนำรากต้มกับน้ำดื่มขณะอุ่น - สรรพคุณจากแก่น ช่วยกระจายลม ช่วยขับไส้เดือน ช่วยขับโลหิต ช่วยขับเลือดหนองให้ตก ช่วยแก้อาการช้ำใน
- สรรพคุณจากดอก เป็นยาขับพยาธิ ฆ่าพยาธิ
- สรรพคุณจากผล ช่วยแก้โรคน้ำเหลืองเสีย
– ขับโลหิตระดูในเรือนไฟ ด้วยการนำผลมาดองสุรากินเป็นยา
– ขับหนองให้กระจาย ด้วยการนำผลมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
ประโยชน์ของเปล้าน้อย
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ใบนำมาทานเป็นอาหารได้ด้วยการรับประทานร่วมกับน้ำพริก หรือนำใบสดมาชงเป็นชาสมุนไพร แต่ใบจะมีรสขมมาก และปริมาณของสารเปลาโนทอลก็ค่อนข้างน้อย จึงไม่ควรทานครั้งละมาก ๆ แต่สามารถค่อย ๆ ทานเป็นการรักษาสุขภาพระยะยาวได้ เพราะช่วยลดโอกาสการเจ็บป่วยแบบเรื้อรัง ลดอาการกำเริบของโรค และทำให้มีสุขภาพดีขึ้น
2. เป็นส่วนประกอบของยา ใบและรากนำมาทำเป็นยาปฏิชีวนะได้ โดยนำใบมาสกัดเป็นยา “เปลาโนทอล” (Plaunotol) หรือยารักษาโรคกระเพาะ เป็นยาในรูปเม็ดสำเร็จ แบบซอง หรือแบบแคปซูลซึ่งแพทย์จะเป็นผู้สั่งจ่าย
เปล้าน้อย ถือว่าโดดเด่นในส่วนของการนำมาใช้เป็นยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับกระเพาะโดยตรง ทั้งนี้ต้นมีรสร้อนและนำมาใช้เป็นยาในรูปแบบสมุนไพรได้เช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้ผลทันทีเท่ากับยาปฏิชีวนะ แต่ก็ถือเป็นการป้องกันโรคได้ด้วย มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของใบ เพราะเป็นส่วนที่มีสารเปลาโนทอลสูงสุด มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ เป็นยารักษาแผลในกระเพาะอาหารและในลำไส้ บำรุงเลือด ช่วยย่อยอาหาร แก้โรคน้ำเหลืองเสียและแก้ท้องเสียได้
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เปล้าน้อย“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [15 ธ.ค. 2013].
สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “เปล้าน้อย“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [15 ธ.ค. 2013].
การสำรวจความหลากหลายของพืชสมุนไพร จากตลาดพื้นเมืองทางภาคตะวันตกของประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “เปล้าน้อย“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pirun.kps.ku.ac.th/~b4816187/. [15 ธ.ค. 2013].
สถาบันเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. “การปลูกเปล้าน้อย“. (ว่าที่ร้อยเอกวีระเดช สุขเอียด). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.ibge.chula.ac.th. [15 ธ.ค. 2013].
ผู้จัดการออนไลน์. “เปล้าน้อย ที่คนไทยรอคอยมากว่า 20 ปี!“. (รศ.ดร.อมร เพชรสม). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th. [15 ธ.ค. 2013].
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “เปล้าน้อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [31 ส.ค. 2015].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/
รูปอ้างอิง
1.https://prasitkongsup.wordpress.com/