รามใหญ่ ไม้ต้นของทางใต้ มีรสเฝื่อนเมา ช่วยแก้ไข้ แก้ท้องเสีย แก้พิษงู แก้พยาธิ

0
1639
รามใหญ่ ไม้ต้นของทางใต้ มีรสเฝื่อนเมา ช่วยแก้ไข้ แก้ท้องเสีย แก้พิษงู แก้พยาธิ
รามใหญ่ ไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีรสเฝื่อนเมา ยอดอ่อนทานจิ้มกับน้ำพริก ผลสุกมีสีม่วงดำ
รามใหญ่ ไม้ต้นของทางใต้ มีรสเฝื่อนเมา ช่วยแก้ไข้ แก้ท้องเสีย แก้พิษงู แก้พยาธิ
รามใหญ่ ไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีรสเฝื่อนเมา ยอดอ่อนทานจิ้มกับน้ำพริก ผลสุกมีสีม่วงดำ

รามใหญ่

รามใหญ่ (Ardisia elliptica Thunb) เป็นต้นที่มีรสเฝื่อนเมาซึ่งมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้น มักจะพบมากในทางภาคใต้แถบชายทะเลหรือป่าชายเลน มีผลขนาดกลมเป็นสีแดงหรือสีดำ สามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้เนื่องจากมีช่อดอกสวยงาม มักจะนำยอดอ่อนมารับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก เป็นต้นที่คนเมืองหรือคนทั่วไปไม่ค่อยพบเจอหรือรู้จักเพราะเป็นต้นที่อยู่ในพื้นที่เฉพาะภาคใต้เท่านั้น

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของรามใหญ่

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ardisia elliptica Thunb.
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดตราดเรียกว่า “ลังพิสา” จังหวัดชุมพรเรียกว่า “ทุรังกาสา” ชาวมลายูนราธิวาสเรียกว่า “ปือนา”
ชื่อวงศ์ : วงศ์พริมโรส PRIMULACEAE (MYRSINACEAE)

ลักษณะของรามใหญ่

รามใหญ่ เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็กที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ ในประเทศไทยพบได้ทางภาคใต้ มักจะขึ้นกระจายตามชายฝั่งทะเล ริมแม่น้ำ แนวหลังป่าชายเลนและขึ้นแทรกอยู่ตามป่าเบญจพรรณหรือป่าดิบบนภูเขาหินทราย
เปลือกต้น : เปลือกลำต้นและกิ่งเรียบเกลี้ยงเป็นสีน้ำตาลอมเทา กิ่งอ่อนมนกลมหรือเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย เป็นสีน้ำตาลอมแดง มีการแตกกิ่งก้านสาขารอบต้นมาก
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปวงรี รูปรีแกมขอบขนานหรือรูปใบหอกถึงรูปไข่กลับ ปลายใบกลมทื่อไปจนถึงติ่งแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ มีจุดเล็ก ๆ สีเขียวอ่อนแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อใบแก่ เนื้อใบหนาคล้ายแผ่นหนัง นุ่มและอวบน้ำ หลังใบและท้องใบเรียบเกลี้ยง มีจุดโปร่งแสงสีเขียวคล้ำกระจายทั่วแผ่นใบ หลังใบด้านบนเป็นสีเขียวคล้ำ ท้องใบด้านล่างเป็นสีเขียวนวล เส้นใบเป็นแบบร่างแหขนนก มักจะมองเห็นไม่ค่อยชัดเจน ก้านใบสั้นเป็นสีแดง
ดอก : ออกดอกเป็นช่อเชิงลดรูปใบพัดคล้ายซี่ร่ม โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อจะมีดอกประมาณ 5 – 8 ดอก ก้านดอกเรียว ดอกตูมเป็นรูปทรงกรวย เมื่อบานจะเป็นรูปวงล้อสีชมพูอ่อน มีกลีบดอก 5 กลีบ เรียงบิดเวียน ปลายกลีบเรียวแหลม มีจุดต่อมโปร่งแสงสีม่วง กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว มีโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก รูปไข่กว้างถึงรูปมนกลม
ผล : ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือกลมแป้น ผิวผลเรียบ ปลายผลมีติ่งแหลมสั้น เนื้อในผลนุ่ม ผลอ่อนเป็นสีเขียวหรือสีแดงเรื่อ เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ ออกดอกและผลในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมแข็ง

สรรพคุณของรามใหญ่

  • สรรพคุณจากใบ บำรุงธาตุ แก้ตับพิการและปอดพิการ
  • สรรพคุณจากผล แก้ธาตุพิการ แก้ซางและแก้ตานขโมย แก้ไข้ แก้ท้องเสีย แก้ลมพิษ
  • สรรพคุณจากลำต้น แก้โรคเรื้อน แก้กุฏฐังหรือโรคเรื้อนชนิดหนึ่งที่มีผลทำให้มือและเท้ากุดเหี้ยน
  • สรรพคุณจากเปลือก แก้ไข้ แก้ท้องเสีย
  • สรรพคุณจากราก แก้ท้องเสีย แก้กามโรคและหนองใน
    – แก้พิษงู ถอนพิษงู ถอนพิษตะขาบ ถอนพิษแมงป่องและแก้ลมเป็นพิษ ด้วยการนำรากมาตำกับเหล้าเอาน้ำมาดื่ม ส่วนกากนำมาพอกปิดแผล
  • สรรพคุณจากดอก แก้พยาธิ เป็นยาฆ่าเชื้อโรค
  • สรรพคุณจากต้น
    – แก้โรคเรื้อน ฆ่าพยาธิที่ผิวหนัง ด้วยการนำต้นมาปรุงผสมกับสมุนไพรอื่น
  • สรรพคุณจากรากและใบ แก้อาการไอ
  • สรรพคุณจากใบและดอก แก้ลม

ประโยชน์ของรามใหญ่

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนใช้รับประทานแกล้มกับน้ำพริกได้
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ มีช่อดอกสวยงาม

รามใหญ่ เป็นต้นที่ส่วนต่าง ๆ สามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้มาก นอกจากนั้นยังนิยมนำยอดอ่อนมารับประทานได้และยังนำมาปลูกในบริเวณบ้านเพื่อเป็นไม้ประดับได้อีกด้วย แต่ทว่ารามใหญ่นั้นมักจะอยู่ในทางภาคใต้ของประเทศไทยเท่านั้น และมักจะพบในป่าที่อยู่ใกล้ริมแม่น้ำหรือริมทะเลเป็นส่วนใหญ่ รามใหญ่มีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ไข้ แก้ท้องเสีย แก้พิษงู แก้พยาธิ แก้เรื้อนและแก้ตับพิการได้ เป็นต้นที่มีสรรพคุณที่หลากหลายและดีต่อร่างกาย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “รามใหญ่ (Ram Yai)”. หน้า 264.
ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “รามใหญ่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [04 พ.ย. 2014].
คมชัดลึกออนไลน์. (นายสวีสอง). “รามใหญ่ เป็นยา-กินยอด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.komchadluek.net. [04 พ.ย. 2014].
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 (สงขลา), กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “รามใหญ่ Ardisia elliptica Thunb.”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/mfcd20/heab-5.htm. [04 พ.ย. 2014].
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “พิลังกาสา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [04 พ.ย. 2014].