พิมเสนเกล็ด
พิมเสนเกล็ด เป็นลักษณะของพิมเสนสังเคราะห์ที่ได้จากสารสกัดต้นการบูร (มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cinnamomum camphora (L.) Presl. อยู่วงศ์ต้นหนาด (หนาดหลวง หนาดใหญ่ หรือพิมเสนหนาด ที่ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Blumea balsamifera (L.) DC. อยู่วงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE), อบเชย (LAURACEAE), น้ำมันสนโดยผ่านวิธีทางเคมีวิทยา ชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น เหมยเพี่ยน (จีนกลาง), พิมเสนเกล็ด (ไทย), ปิงเพี่ยน (จีนกลาง)
ลักษณะพิมเสนเกล็ด
- เป็นเกล็ดเล็กๆ ผลึกรูปแผ่นหกเหลี่ยม
- สีขาวขุ่น เนื้อแน่น
- ระเหิดได้ช้า
- ละลายได้ยากในน้ำ
- กลิ่นหอมเย็น
- ติดไฟง่าย ควันมาก ไม่มีขี้เถ้า
ประเภทพิมเสน
- พิมเสนจากธรรมชาติ Borneol camphor (พิมเสนต้น)
- พิมเสนสังเคราะห์ Borneolum Syntheticum (Borneol) (พิมเสนเกล็ด)
ซึ่งพิมเสนทั้งสองชนิดระเหยและติดไฟง่าย ละลายได้ในคลอโรฟอร์ม แอลกอฮอล์ ปิโตรเลียมอีเทอร์ ไม่ละลายหรือละลายยากในน้ำ มีจุดหลอมตัวของทางเคมีวิทยาที่ 205-209 องศาเซลเซียส[1] สมัยก่อนใช้ใส่หมากพลูเคี้ยว
สรรพคุณพิมเสนเกล็ด
1. พิมเสนอยู่ใน ตำรับยาทรงนัตถุ์ ซึ่งประกอบด้วยเครื่อง 17 สิ่ง อย่างละเท่า ๆ กัน (รวมพิมเสน) นำมาผสมกัน บดให้เป็นผงละเอียด สามารถใช้นัตถุ์แก้ลมทั้งหลาย และโรคที่เกิดในศีรษะ ตา จมูกได้ และมีอีกขนาดหนึ่งที่ใช้เข้าเครื่องยา 15 สิ่ง (รวมพิมเสน) นำมาบดเป็นผงละเอียด นำผ้าบางมาห่อ สามารถใช้ทำเป็นยาดมแก้อาการริดสีดวงคอ แก้สลบ วิงเวียน ริดสีดวงตา ปวดศีรษะ ริดสีดวงจมูก [2]
2. สามารถใช้เป็นยาแก้อักเสบ แก้ปวดบวมได้ [1]
3. การกลั่นใบหนาด ยอดอ่อนหนาดด้วยไอน้ำจะได้พิมเสนตกผลึกออก สามารถใช้ทำเป็นยาทานแก้อาการปวดท้อง ท้องร่วง ใช้ขับลม หรือจะใช้ภายนอกเป็นผงนำมาใส่บาดแผล ช่วยแก้กลากเกลื้อน แผลอักเสบ ฟกช้ำ [2]
4. สามารถใช้รักษาบาดแผลสด และแผลเนื้อร้ายได้[1],[2]
5. สามารถช่วยขับลมทำให้เรอ ช่วยขับผายลม และช่วยแก้ปวดท้อง แก้อาการจุกเสียดแน่นท้องได้ [1],[2]
6. สามารถช่วยแก้เหงือกบวม ปากเปื่อย หูคออักเสบ ปากเป็นแผล [1]
7. สามารถใช้เป็นยาระงับความกระวนกระวายได้ และทำให้ง่วงซึมได้[2]
8. สามารถช่วยกระตุ้นการหายใจ และกระตุ้นสมองได้ [2]
9. พิมเสนจะมีรสเผ็ดขม กลิ่นหอม เป็นยาเย็น จะออกฤทธิ์กับหัวใจ ปอด สามารถใช้เป็นยาบำรุงหัวใจได้ [1]
10. พิมเสนเป็นส่วนผสมใน ตำรับสีผึ้งขาวแก้พิษแสบร้อนให้เย็น และ ตำรับยาสีผึ้งบี้พระเส้น เป็นตำรับยาที่ใช้ในการถูนวดเส้นที่แข็งให้หย่อน[2]
11. พิมเสนเป็นส่วนผสมในตำรับยาหอมต่าง ๆ อย่างเช่น ยาหอมเทพจิตร ยาหอมนวโกฐ เป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณโดยรวมก็คือหน้ามืดตาลาย แก้ลมวิงเวียน [2]
12. สามารถใช้แก้ผดผื่นคันได้ โดยนำพิมเสนกับเมนทอลมาอย่างละ 3 กรัม และผงลื่น 30 กรัม นำมารวมบดให้เป็นผง แล้วใช้ทาแก้ผดผื่นคัน[1]
13. สามารถใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรคผิวหนังได้ [1]
14. สามารถช่วยรักษาแผลกามโรคได้ [1],[2]
15. สามารถใช้เป็นยาขับเสมหะ ขับเหงื่อ และแก้ต่อมทอนซิลอักเสบได้ [1],[2]
16. ในตำรายาแก้หลอดลมอักเสบ แก้ไอ ให้นำพิมเสน 2 กรัม, ขี้ผึ้ง 3 กรัมมาใช้ทำเป็นยาหม่อง แล้วนำมาทาตรงบริเวณลำคอ จมูก สามารถช่วยบรรเทาอาการหลอดลมอักเสบ แก้ไอได้[1]
17. สามารถใช้แก้ลมวิงเวียนหน้ามืด หัวใจอ่อน และทำให้ชุ่มชื่นได้[1],[2]
18. สามารถช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย และทะลวงทวารทั้งเจ็ดได้[1]
วิธีใช้
ให้ใช้ครั้งละ 0.15-0.3 กรัม นำมาบดให้เป็นผงเข้ากับตำรายาอื่น ๆ หรือทำยาเม็ด ไม่ควรปรุงยาด้วยการต้ม ถ้าใช้ภายนอกให้นำมาบดเป็นผงแล้วนำมาใช้โรยแผล [1]
ประโยชน์พิมเสนเกล็ด
- สมัยก่อนพิมเสนเป็นยาหายาก ราคาแพง (มีคำพูดว่า อย่าเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ) นิยมนำพิมเสนใส่หมากพลู ใช้ผสมลูกประคบเพื่อแต่งกลิ่น จะมีฤทธิ์ที่เป็นยาแก้พุพอง แก้หวัด และยังใช้ผสมยาหม่อง น้ำอบไทย ในยาหอมมีพิมเสน ใบพิมเสนผสมด้วย[3]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
- พิมเสนจะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อหลายชนิด อย่างเช่น Staphelo coccus, เชื้อในลำไส้ใหญ่, Steptro coccus, เชื้อราบนผิวหนัง และใช้รักษาอาการปวดเส้นประสาท อาการอักเสบ[1]
- พบสาร Dryobalanon Erythrodiol, Hydroxydammarenone2, d-Borneol, Dipterocarpol, Caryophyllene, Humulene, Asiatic acid [1]
- จากการทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาปรากฏว่าพิมเสนนั้นมีคุณสมบัติคล้ายกับการบูร[1]
ข้อควรระวังในการใช้
- วิธีเก็บพิมเสนจะต้องเก็บในภาชนะที่ปิดอย่างมิดชิด ควรเก็บในที่แห้ง มีอุณหภูมิต่ำ [1]
- ห้ามให้สตรีมีครรภ์ทาน [1]
- ถ้าใช้เกินขนาดอาจจะทำให้เกิดอาการความจำสับสน คลื่นไส้อาเจียน [2]
สั่งซื้อ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริม สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth
เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “พิมเสน”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 386.
2. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “พิมเสน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [10 พ.ค. 2014].
3. ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. “พิมเสน”. (ผศ.สุปรียา ยืนยงสวัสดิ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pcog2.pharmacy.psu.ac.th/thi/Article/2548/07-48/borneol.pdf. [10 พ.ค. 2014].
4. https://medthai.com/