เต่าร้างแดง บำรุงตับ บำรุงปอด บำรุงหัวใจ
เต่าร้างแดง เป็นปาล์มชนิดหนึ่ง ใบเป็นแบบนกสองชั้น ช่อดอกมีลักษณะย่อยห้อยลง ผลออกเป็นพวงสีเขียว สุกแล้วจะเป็นสีส้มหรือสีแดงเข้มถึงสีม่วงคล้ำ มีพิษ

เต่าร้างแดง

เต่าร้างแดง (Burmese Fishtail Palm) เป็นไม้ประเภทปาล์มที่สามารถพบได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย มีช่อดอกและผลออกเป็นพวงขนาดใหญ่ทำให้ดูโดดเด่น เมื่อผลสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือสีแดงเข้มจนถึงสีม่วงคล้ำหรือดำ แต่ว่าผลมีพิษ เมื่อถูกผิวหนังทำให้ระคายเคืองได้ จึงไม่ควรปลูกใกล้ทางเดิน บริเวณที่พักผ่อน หรือสนามเด็กเล่น แต่นิยมปลูกประดับสวนสาธารณะหรือริมทะเล สามารถนำยอดอ่อนและลำต้นมาทานในรูปแบบของผักได้ หัวและรากของเต่าร้างแดงมีรสขมเย็นจึงสามารถนำมาปรุงเป็นยาสมุนไพรได้

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเต่าร้างแดง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Caryota mitis Lour.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Fishtail Palm” “Burmese Fishtail Palm” “Clustered Fishtail Palm” “Common Fishtail Palm” “Wart Fishtail Palm” “Tufted Fishtail Palm”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “เต่ารั้งมีหน่อ” ภาคเหนือเรียกว่า “เขื่องหมู่” จังหวัดยะลาเรียกว่า “มะเด็ง” ชาวมลายูนราธิวาสเรียกว่า “งือเด็ง” คนเมืองเรียกว่า “เต่าร้าง เก๊าหม้าย เก๊ามุ่ย เก๊าเขือง” ชาวกะเหรี่ยงแดงเรียกว่า “มีเซเหมาะ” ไทลื้อเรียกว่า “เก๊าเขือง” ชาวม้งเรียกว่า “ซึ” ชาวปะหล่องเรียกว่า “จึ๊ก” ชาวขมุเรียกว่า “ตุ๊ดชุก”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ปาล์ม (ARECACEAE)

ลักษณะของเต่าร้างแดง

เต่าร้างแดง เป็นพรรณไม้ประเภทปาล์มที่มักจะพบขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าเสื่อมโทรม ริมลำธาร ตามที่ลุ่ม และตามแนวหลังป่าชายเลนที่ติดกับป่าบกหรือป่าพรุ ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค
ลำต้น : ลำต้นมักขึ้นเดี่ยวหรือแตกกอเป็น 2 – 4 ต้น ลำต้นตั้งตรง ไม่แตกกิ่ง มีลักษณะเกลี้ยงเป็นสีเขียวจนถึงสีเทาอมเขียว เป็นปาล์มที่มีอายุสั้น หลังออกดอกเป็นผลแล้วต้นจะค่อย ๆ ตายไป
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงเวียนสลับรอบลำต้น ช่อใบมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมกว้าง แผ่แบน ใบย่อยมีลักษณะพับเป็นจีบคล้ายรูปตัววี แผ่นใบมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหยักเว้า ปลายใบแหลมคล้ายหางปลา โคนใบเป็นรูปลิ่ม แผ่นใบเป็นสีเขียวมัน ใบย่อยคู่สุดท้ายมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด มักติดกันและมีขนาดใหญ่ ปลายใบหยักไม่สม่ำเสมอ โคนใบเป็นรูปลิ่มเยื้อง ส่วนขอบใบเรียบ โคนกาบใบมีขนสีน้ำตาลแดงปนเทาหรือสีดำ และมีรยางค์สีน้ำตาลขึ้นปกคลุม
ดอก : เป็นแบบแยกเพศอยู่ร่วมต้นกัน โดยจะออกดอกเป็นช่อเชิงลดไม่มีก้าน ก้านช่อดอกอวบและห่อหุ้มไปด้วยกาบสีเขียวขนาดใหญ่ มักจะออกเป็นช่อแยกแขนงที่ปลายยอด ต่อมาจะออกตามซอกใบแล้วไล่ลงมาถึงโคนต้น ช่อดอกมีลักษณะย่อยห้อยลง ออกดอกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3 ดอก เรียงเวียนสลับกับแกนช่อดอกย่อย ดอกเพศผู้เป็นสีเขียวอ่อนและไม่มีก้าน มีลักษณะตูมเป็นรูปทรงขอบขนาน เมื่อดอกบานจะเป็นสีเหลืองนวล กลีบดอกแข็งมี 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ปลายแหลมโค้ง ดอกเพศเมียจะเป็นสีเขียวอ่อน มีกลีบดอก 3 กลีบ ที่โคนกลีบเชื่อมติดกัน
ผล : เป็นผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียว มีสีเขียวแกมเหลือง ออกเป็นพวง ลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือกลมแป้น เนื้อผลชุ่มไปด้วยน้ำเลี้ยง ซึ่งเป็นพิษและทำให้ระคายเคือง เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือสีแดงเข้มถึงสีม่วงคล้ำหรือดำ ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด

สรรพคุณของเต่าร้างแดง

  • สรรพคุณจากราก
    – บำรุงกำลัง ช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง โดยชาวเขาเผ่าเย้านำรากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากหัว ช่วยเพิ่มความอบอุ่น บำรุงตับ แก้กาฬขึ้นที่ตับ แก้ช้ำใน ช่วยบำรุงหัวใจ
    – แก้ไข้จับสั่น บำรุงตับและปอด ด้วยการนำหัวอ่อนมากินเป็นยา
  • สรรพคุณจากหัวและราก แก้ตับทรุด ช่วยดับพิษที่ตับ ดับพิษที่ปอดและหัวใจพิการ แก้กาฬขึ้นปอด แก้หัวใจพิการ แก้ม้ามพิการ แก้อาการช้ำ
  • สรรพคุณจากผลแก่
    – ช่วยสมานแผล ทำให้แผลแห้งและตกสะเก็ดไว ช่วยป้องกันบาดทะยัก ด้วยการนำผลแก่มาตำพอกแผล
    – แก้หิด แก้กลากเกลื้อน ด้วยการนำผลที่ฝานแล้วมาทา หรือนำผลมาผสมกับน้ำมะพร้าวแล้วหั่นลูกใช้ทา

ประโยชน์ของเต่าร้างแดง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนนำมาทานสด ต้ม ลวก แกง หรือผัดกะทิ แล้วนำไปเป็นอาหารกินแกล้มกับแกง ลำต้นนำมาทำแกงได้แต่ต้องทำให้สุกเสียก่อน หรือนำมาแกล้มทานกับน้ำพริก ผลสุกมีรสชาติหวานอร่อยจึงสามารถนำมาทานได้ ช่อดอกนำมาปาดเอาน้ำหวานผลิตเป็นน้ำตาลได้
2. ใช้ในอุตสาหกรรม ใบใช้มุงหลังคา เส้นใบจากกาบใบทำเป็นเชือกสำหรับผูกของ หรือนำไปทำเป็นเครื่องจักสาน ลำต้นใช้ทำไม้ปลายแหลมสำหรับเจาะหลุมปลูกข้าวไร่
3. ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป นิยมปลูกกลางแจ้งในสวนสาธารณะ ริมสระว่ายน้ำ หรือริมทะเล แต่ไม่ควรนำมาปลูกใกล้ทางเดิน บริเวณที่พักผ่อน หรือสนามเด็กเล่นเพราะผลมีพิษ

ข้อควรระวังของเต่าร้างแดง

ขนตามผล น้ำเลี้ยงตามผิวใบของลำต้น และยาง เมื่อถูกผิวหนังจะทำให้เกิดอาการคัน หรือหากเข้าตาก็อาจทำให้ตาบอดได้ ขนที่ต้นเมื่อสัมผัสจะทำให้มีอาการคันเล็กน้อย

เต่าร้างแดง เป็นต้นที่ไม่ควรปลูกตามสถานที่ใกล้ชุมชนหรือผู้คนพลุกพล่านมากนัก เพราะเป็นต้นที่ทำให้คันได้เมื่อสัมผัส ทว่าส่วนต่าง ๆ ของต้นสามารถนำมารับประทานได้ เป็นยาสมุนไพรของชาวเขาเผ่าเย้า เต่าร้างแดงมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของหัวและราก มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงกำลัง บำรุงตับ บำรุงหัวใจ บำรุงปอด และช่วยแก้พิษที่ตับและปอด รวมถึงแก้หัวใจพิการได้ ถือเป็นต้นที่ดีอย่างมากต่ออวัยวะสำคัญ 3 อย่างนี้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “เต่าร้างแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [19 ก.ย. 2015].
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “เต่าร้าง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [19 ก.ย. 2015].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “เต่าร้าง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : agkc.lib.ku.ac.th. [19 ก.ย. 2015].
อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “เต่าร้างแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [19 ก.ย. 2015].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “เต่าร้างแดง, เต่าร้าง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [19 ก.ย. 2015].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “เต่าร้างแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [19 ก.ย. 2015].
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “เต่าร้างแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : th.wikipedia.org. [19 ก.ย. 2015].
สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “เต่าร้าง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [19 ก.ย. 2015].
สมุนไพรดอทคอม. “เต่าร้าง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.samunpri.com. [19 ก.ย. 2015].
พิพิธภัณฑ์เสมือนเส้นทางศึกษาธรรมชาติหุบเขาลำพญา, ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา. “เต่าร้างแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : lumphaya.stkc.go.th. [19 ก.ย. 2015].
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม. “เต่าร้างแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.m-culture.in.th. [19 ก.ย. 2015].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/