เหียง ช่วยแก้บิด แก้ตกขาว เป็นยาสมานแผล
เหียง หรือยางเหียง ดอกเป็นสีชมพูสดรสเปรี้ยวเล็กน้อย ผลมีลักษณะกลมแข็ง

เหียง

เหียง (Hairy Keruing) หรือยางเหียง มีดอกเป็นสีชมพูสด กลีบดอกมีรสเปรี้ยวเล็กน้อยโดยชาวบ้านนิยมนำมาจิ้มทานกับน้ำพริก เป็นต้นที่มีส่วนเปลือกต้นหรือเนื้อไม้มาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมาก และที่สำคัญยังมีสรรพคุณทางยาได้อีกด้วย เหียงเป็นต้นที่คนทั่วไปไม่ค่อยได้ยินชื่อนัก แต่พบได้ตามป่าเบญจพรรณแล้งทั่วทุกภาคของประเทศไทย ส่วนของผลมีลักษณะเด่นคือมีปีกเป็นสีแดงสดยาวลงมาจากต้นทำให้ต้นมีสีสันสดใส

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเหียง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dipterocarpus obtusifolius Teijsm. ex Miq.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Hairy Keruing”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและอุตรดิตถ์เรียกว่า “สะแบง” ภาคตะวันออกเรียกว่า “ตะแบง” จังหวัดราชบุรีและจันทบุรีเรียกว่า “ยางเหียง” จังหวัดพิษณุโลกและจันทบุรีเรียกว่า “ตาด” จังหวัดชัยภูมิเรียกว่า “ซาด” จังหวัดเลยและน่านเรียกว่า “เห่ง” จังหวัดนครพนมเรียกว่า “คร้าด” จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เรียกว่า “เหียงพลวง เหียงโยน” ละว้าเชียงใหม่เรียกว่า “เกาะสะเตียง” กะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า “ตะลาอ่ออาหมือ” กะเหรี่ยงกาญจนบุรีเรียกว่า “สาละอองโว” มลายูภาคใต้เรียกว่า “กุง” ชาวเมี่ยนเรียกว่า “ไม้ยาง” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “ชาด”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ยางนา (DIPTEROCARPACEAE)
ชื่อพ้อง : Dipterocarpus punctulatus Pierre

ลักษณะของต้นเหียง

เหียง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางผลัดใบ ประเทศไทยพบขึ้นเป็นกลุ่มตามป่าเต็งรัง ป่าแดง ป่าสนเขา ป่าชายหาด และตามป่าเบญจพรรณแล้งทั่วทุกภาคของประเทศ
ลำต้น : ลำต้นเปลาตรง แตกกิ่งก้านน้อย เรือนยอดเล็ก เปลือกลำต้นหนาเป็นสีน้ำตาลหรือเทา แตกเป็นสะเก็ดหนาและเป็นร่องลึกตามยาว เนื้อไม้เป็นสีแดงอ่อนถึงสีน้ำตาลปนแดง ตามกิ่งอ่อนและใบมีขนสีขาวขึ้นปกคลุม
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงเวียนสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ขนาดใหญ่ ปลายใบมน โคนใบมนหรือหยักเว้าตื้น ฐานเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบเป็นหยักคลื่นตามเส้นใบ เนื้อใบหนาคล้ายแผ่นหนัง มีขนสีน้ำตาล ท้องใบเป็นสีบรอนซ์ออกสีเขียวและมีขนรูปดาวตามเส้นใบ ใบอ่อนมีลักษณะพับเป็นจีบชัดเจนตามแนวเส้นแขนงใบ มีหูใบหุ้มยอดอ่อน หูใบมีลักษณะเป็นรูปแถบกว้างและปลายมนเป็นสีชมพูสด
ดอก : ออกดอกรวมกันเป็นช่อเดียวตามซอกใบใกล้บริเวณปลายกิ่ง กลุ่มละประมาณ 3 – 7 ดอก แกนก้านเป็นรูปซิกแซก มีกลีบดอก 5 กลีบ เป็นสีชมพูสด ลักษณะของกลีบเป็นรูปกรวย โคนกลีบชิดกัน ตรงปลายบิดเวียนเป็นรูปกังหัน ผิวด้านนอกมีขนสั้นเป็นรูปดาวขึ้นปกคลุม กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย มักจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม เมื่อดอกบานเต็มที่แล้วจะร่วงลงสู่พื้น
ผล : เป็นผลแห้งแบบผลผนังชั้นในแข็ง ผลมีลักษณะกลมแข็ง เมื่ออ่อนจะยังมีขนปกคลุมอยู่ เมื่อแก่แล้วผลจะเรียบเกลี้ยง ผลแก่จะเป็นสีน้ำตาลเป็นมัน และมีปีกที่พัฒนามาจากกลีบเลี้ยงของดอก 5 ปีก แบ่งเป็นปีกยาวที่มีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน 2 ปีก มีเส้นตามยาวปีก 1 เส้น ส่วนเส้นย่อยสานกันเป็นร่างแห และอีก 3 ปีกเล็ก ปีกอ่อนจะเป็นสีแดงสด และภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด มักจะติดผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน

สรรพคุณของเหียง

  • สรรพคุณจากใบ
    แก้ปวดฟัน แก้ฟันโยกคลอน โดยตำรายาไทยนำใบมาต้มผสมกับน้ำเกลือแล้วใช้อม
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น เป็นยาแก้ไข้ตานขโมย เป็นยาแก้บิด
    – แก้ท้องเสีย ด้วยการนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากน้ำมันยาง ช่วยขับเสมหะ ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยรักษาแผลในทางเดินปัสสาวะ แก้ตกขาวของสตรี เป็นยาสมานแผล แก้หนอง เป็นยาทารักษาแผลภายนอก
  • สรรพคุณจากใบและยาง เป็นยาตัดลูกหรือทำให้ไม่มีบุตร

ประโยชน์ของเหียง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร กลีบดอกมีรสเปรี้ยวเล็กน้อย ชาวบ้านจึงนำมาทานจิ้มกับน้ำพริก
2. ใช้ในการก่อสร้างและอุปกรณ์ ใบเหียงแก่นำมาเย็บเป็นตับใช้มุงหลังคาหรือเถียงนาหรือกั้นเป็นฝาได้เหมือนใบพลวง ยางไม้หรือน้ำมันจากลำต้นใช้ทำเครื่องจักสาน ยาแนวเรือและทำไม้
3. ใช้ห่อแทนกล้วย ทางภาคเหนือนำใบแก่มาห่อยาสูบ ห่อของสด ห่ออาหาร ห่อข้าวเหนียวหรืออาหารอื่น ๆ
4. เป็นเชื้อเพลิง ชาวเมี่ยนนำยางใช้ผสมกับเนื้อไม้ผุแล้วนำมาอัดใส่กระบอกไม้ไผ่ใช้เป็นเชื้อเพลิง คนเมืองนำเนื้อไม้ของต้นเหียงมาใช้ทำฟืน
5. กันยุง เปลือกไม้นำมาบดให้ละเอียดผสมกับขี้เลื่อยและกาว ใช้ทำเป็นธูป หรือนำมาผสมกับกำมะถันทำเป็นยากันยุงได้

เหียง เป็นวัตถุดิบชั้นดีที่ใช้ในการก่อสร้างได้ มีผลสีแดงห้อยลงมาเป็นปีกทำให้ดูสวยงาม ทว่าต้นเหียงมักจะมียางและมีน้ำมัน ซึ่งเป็นส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ เหียงมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของเปลือกต้นและน้ำมันยาง มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้ปวดฟัน แก้บิด รักษาแผลในทางเดินปัสสาวะ แก้ตกขาวของสตรีและเป็นยาสมานแผล ถือเป็นต้นที่ดีต่อระบบทางเดินปัสสาวะเป็นอย่างมาก

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “เหียง”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 194.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เหียง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [19 ก.ค. 2014].
หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2. “ยางเหียง”.
ศูนย์ปฏิบัติการพืชเศรษฐกิจ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม . “ยางเหียง” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th. [19 ก.ค. 2014].
ฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. “ชาด,ยางเหียง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: copper.msu.ac.th/plant/. [19 ก.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “เหียง, ยางเหียง”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [19 ก.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/