ผักเป็ดแดง
ผักเป็ดแดง (Calico plant) มีชื่อเรียกตามสีของใบที่มักจะมีสีแดงหรือสีแดงคล้ำทำให้เรียกกันว่า “ผักเป็ดแดงหรือพรมมิแดง” เป็นต้นที่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายกระจายไปทั่วโลก ทั้งต้นมีรสขื่นเอียนและมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรโดยนิยมในประเทศศรีลังกาสำหรับทานแก้อาการไข้และนำมารับประทานเป็นอาหารบำรุงของแม่ลูกอ่อนได้ ในประเทศไทยนั้นได้มีการวิจัยที่มหาวิทยาลัยมหิดลถึงฤทธิ์ของผักเป็ดแดงด้วย นอกจากนั้นยังสามารถนำต้นมาปลูกเป็นไม้ประดับความงามได้
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักเป็ดแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alternanthera bettzickiana (Regel) G.Nicholson
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Calico plant”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “พรมมิแดง” ภาคเหนือเรียกว่า “ผักเป็ดฝรั่ง ผักโหมแดง” ชาวจีนกลางเรียกว่า “หยเฉ่า หยินซิวเจี้ยน” มีชื่ออื่น ๆ เรียกว่า “ปากเป็ด”
ชื่อวงศ์ : วงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE)
ชื่อพ้อง : Alternanthera ficoidea var. bettzickiana (Regel) Backer, Alternanthera ficoidea var. spathulata (Lem.) L.B.Sm. & Downs, Telanthera bettzickiana Regel
ลักษณะของผักเป็ดแดง
ผักเป็ดแดง เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปีที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้และเม็กซิโก
ลำต้น : ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านหนาแน่น ลำต้นเป็นร่องตามยาว หักได้ง่ายคล้ายกับลำต้นที่อวบน้ำเล็กน้อย
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปข้าวหลามตัดไปจนถึงรูปใบหอกกลับ รูปไข่หรือรูปวงรี ปลายใบแหลม โคนใบป้านหรือสอบ ขอบใบห่อม้วนขึ้นด้านบนหรือเป็นคลื่น แผ่นใบมีหลายสี เช่น สีแดง สีแดงปนเขียว สีม่วงอมชมพู สีเหลือง สีเขียวมีด่างขาว เส้นใบเป็นสีน้ำตาลหรือสีแดงคล้ำ ก้านใบมีขนละเอียด
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นรูปทรงกลมหรือรูปขอบขนาน โดยจะออกบริเวณซอกใบหรือปลายกิ่ง กลีบรวมมี 5 กลีบ เป็นสีขาว
ผล : เป็นผลแห้งไม่แตก
เมล็ด : เมล็ดเป็นสีน้ำตาลมีลักษณะคล้ายรูปโล่
สรรพคุณของผักเป็ดแดง
- สรรพคุณจากผักเป็ดแดง ศรีลังกานำมาเป็นอาหารบำรุงของแม่ลูกอ่อน ช่วยขับน้ำนม
- สรรพคุณจากทั้งต้น ช่วยฟอกและบำรุงโลหิต เป็นยาดับพิษโลหิต ช่วยแก้เส้นเลือดอุดตัน ขับพิษร้อนถอนพิษไข้และทำให้เลือดเย็น เป็นยาระบายอ่อน ๆ เป็นยาห้ามเลือด แก้อาการปวดเมื่อย
– รักษาแผล ด้วยการนำทั้งต้นมาตำแล้วพอก - สรรพคุณจากต้น ช่วยฟอกและบำรุงโลหิต เป็นยาดับพิษโลหิต เป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยแก้ระดูพิการเป็นลิ่มซึ่งเป็นก้อนดำเหม็นของสตรี แก้ประจำเดือนขัดข้อง ช่วยฟอกโลหิตประจำเดือน แก้ปวดเมื่อยบั้นเอวและท้องน้อย ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้ แก้บิด แก้ท้องร่วง แก้ไข้ แก้พิษงูกัด กระตุ้นการไหลของน้ำดี
– เป็นยาแก้ไข้ ประเทศศรีลังกานำต้นมาต้มเพื่อรับประทาน - สรรพคุณจากใบ เป็นยาแก้พิษที่ถูกงูกัด
– ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการนำใบ 1 กำมือ มาต้มกับน้ำ 3 แก้ว เคี่ยวนาน 30 นาที แล้วแบ่งดื่ม 1/2 แก้ว ก่อนอาหารเช้าและเย็น - สรรพคุณจากราก เป็นยาระบาย
ประโยชน์ของผักเป็ดแดง
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร นำมาชุบแป้งทอดให้กรอบหรือนำมาใส่ในแกงได้
2. ใช้ในการเกษตร เป็นอาหารสัตว์ได้เพราะมีคุณค่าทางอาหารสูงและย่อยง่าย
3. ปลูกเป็นไม้ประดับ เป็นต้นที่สวยงาม ปลูกง่ายและทนทาน
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของผักเป็ดแดง
ในปี ค.ศ. 1989 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษาฤทธิ์การลดระดับน้ำตาลในเลือดของใบผักเป็ดสดและสารสกัดแอลกอฮอล์ของใบผักเป็ดในหนูขาวทดลอง โดยวิธี Oral glucose toleramce พบว่าใบผักเป็ดสดมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยใช้สารขนาด 1 – 2 กรัม ต่อกิโลกรัมของน้ำหนักหนูสามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ 22.9% ภายในเวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับยา tolbutmide ที่ลดระดับน้ำตาลได้ถึง 46%
ผักเป็ดแดง เป็นต้นที่มีรสขื่นเอียนซึ่งนิยมนำมาทานกันในประเทศศรีลังกา โดนนิยมทานเป็นยาแก้ไข้และเป็นอาหารบำรุงของแม่ลูกอ่อน นอกจากนั้นสามารถนำมาเป็นไม้ประดับความงามให้กับสถานที่ได้ ผักเป็ดแดงนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายทั่วโลกเพราะมีสีสวยงามและปลูกง่าย อีกทั้งยังทนทานและโตเร็วอีกด้วย ผักเป็ดแดงมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ฟอกและบำรุงเลือด แก้ไข้ เป็นยาระบาย ถือเป็นต้นที่เหมาะอย่างมากสำหรับผู้หญิงเนื่องจากช่วยบำรุงประจำเดือนในผู้หญิงและบำรุงน้ำนมได้
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ผักเป็ดแดง”. หน้า 110.
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 248 คอลัมน์ : พืช-ผัก-ผลไม้. “ผักเป็ด : ผักสามัญที่ไม่ไร้ความสำคัญ”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [16 พ.ย. 2014].
ไทยรัฐออนไลน์. (นายเกษตร). “ปากเป็ดแดง ใบสีสวย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thairath.co.th. [16 พ.ย. 2014].
ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ควรป้องกัน ควบคุม และกำจัดของประเทศไทย, สำนักความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ผักเป็ดแดง ผักเป็ดฝรั่ง พรมมิแดง ผักโหมแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : chm-thai.onep.go.th. [16 พ.ย. 2014].
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ผักเป็ดขาว”. หน้า 352.
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/%e0%b8%9c%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%94%e0%b8%99%e0%b8%ad/ | Medthai