ธูปฤาษี พืชสำคัญทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อมที่คนไทยควรรู้
ธูปฤาษี ดอกเป็นรูปทรงกระบอก ดอกมีขนาดเล็ก ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ออกดอกตลอดทั้งปี

ธูปฤาษี

ธูปฤาษี (Cattail) หรือเรียกกันว่า “กกช้าง” มีลักษณะโดดเด่นอยู่ที่ดอกเป็นรูปทรงกระบอกคล้ายธูปดอกใหญ่จึงเป็นที่มาของชื่อ “ธูปฤาษี” มักจะพบขึ้นตามหนองน้ำและหาได้ง่ายทั่วประเทศไทย ต้นธูปฤาษีมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศและการเกษตรเป็นอย่างมาก และที่สำคัญส่วนประกอบต่าง ๆ ของต้นยังเป็นวัสดุที่สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมได้ รวมถึงประโยชน์ด้านสรรพคุณทางยาในการรักษาที่คาดไม่ถึงด้วย แต่ธูปฤาษีก็มีข้อเสียเพราะเมล็ดสามารถปลิวและลอยฟุ้งไปตามสายลมจนสร้างความรำคาญให้กับผู้คนได้

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของธูปฤาษี

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Typha angustifolia L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Bulrush” “Cattail” “Cat – tail” “Elephant grass” “Flag” “Narrow – leaved Cat – tail” “Narrowleaf cattail” “Lesser reedmace” “Reedmace tule”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กกช้าง กกธูป เฟื้อ เฟื้อง หญ้าเฟื้อง หญ้ากกช้าง หญ้าปรือ” ภาคเหนือเรียกว่า “หญ้าสลาบหลวง หญ้าสะลาบหลวง” ภาคใต้เรียกว่า “ปรือ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ธูปฤๅษี (TYPHACEAE)

ลักษณะของธูปฤาษี

ธูปฤาษี เป็นไม้ล้มลุกที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรปและอเมริกา มักจะพบขึ้นตามหนองน้ำ ลุ่มน้ำทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ตามทะเลสาบหรือริมคลอง รวมไปถึงตามที่โล่งทั่วไป
เหง้า : เหง้ากลม แทงหน่อขึ้นเป็นระยะสั้น ๆ
ลำต้น : ลำต้นตั้งตรง
ใบ : เป็นใบเดี่ยว มีกาบใบเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ลักษณะใบเป็นรูปแถบ แผ่นใบด้านบนมีลักษณะโค้งเล็กน้อยเพราะมีเซลล์หยุ่นตัวคล้ายฟองน้ำหมุนอยู่กลางใบ ด้านล่างของใบแบน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบเชิงลดเป็นรูปทรงกระบอก ดอกมีขนาดเล็ก ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
ผล : ผลมีขนาดเล็กมาก ลักษณะของผลเป็นรูปวงรี เมื่อแก่จะแตกตามยาว

สรรพคุณของธูปฤาษี

  • สรรพคุณจากลำต้น ช่วยเพิ่มน้ำนมของสตรีหลังการคลอดบุตร
  • สรรพคุณจากลำต้นและราก ช่วยขับปัสสาวะ
  • สรรพคุณจากลำต้นและอับเรณู เป็นยารักษาโรคทางเดินปัสสาวะ

ประโยชน์ของธูปฤาษี

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนใช้รับประทานได้ทั้งสดและทำให้สุก นำแป้งที่ได้จากลำต้นใต้ดินและรากมาประกอบอาหารได้
2. ใช้ในการเกษตร
ต้น : ใช้เป็นอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์เคี้ยวเอื้องได้ ใช้เป็นปุ๋ยพืชสตูหรือใช้ทำปุ๋ยหมักบำรุงดินได้
ซาก : นำมาใช้เป็นวัสดุคลุมดินสำหรับไม้ยืนต้นตามสวนผลไม้ต่าง ๆ เพื่อช่วยลดการสูญเสียความชื้นออกจากผิวดินและช่วยลดการชะล้างหน้าดินจากน้ำฝนได้
3. ใช้ในอุตสาหกรรม
ใบ : มีความยาวและเหนียวจึงนำมาใช้มุงหลังคา ทำสานตะกร้า ทำเสื่อและทำเชือกได้
ช่อดอก : ช่อดอกแห้งนำมาใช้เป็นไม้ประดับ ก้านช่อดอกนำมาทำเป็นปากกา
เยื่อของต้น : นำมาใช้ทำกระดาษและทำใยเทียมได้ เส้นใยที่ได้จะมีสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อนนั้นสามารถนำมาใช้ทอเป็นผ้าเพื่อใช้สำหรับแทนฝ้ายหรือขนสัตว์
4. ประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยบำบัดน้ำเสียตามแหล่งต่าง ๆ มีศักยภาพในการลดค่าความเป็นกรดด่างของน้ำ ช่วยปรับเปลี่ยนสีของน้ำที่ผิดปกติให้จางลงและช่วยลดความเป็นพิษในน้ำได้ ป้องกันการพังทลายของดินตามชายน้ำ ช่วยกำจัดไนโตรเจนจากน้ำเสียในที่ลุ่มต่อไร่ได้สูงถึง 400 กิโลกรัมต่อปี ช่วยดูดธาตุโพแทสเซียมต่อไร่ได้สูงถึง 690 กิโลกรัมต่อปี ทำให้วัฏจักรของแร่ธาตุอาหารในดินสมบูรณ์ขึ้น ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน
5. ใช้ในด้านอื่น ๆ
ดอก : นำมาใช้กำจัดคราบน้ำมันได้โดยน้ำหนักของดอก 100 กรัม สามารถช่วยกำจัดคราบน้ำมันได้มากกว่า 1 ลิตร
ต้น : นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้เพราะมีปริมาณของโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตค่อนข้างสูง กากที่เหลือจากการสกัดเอาโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตออกแล้วใช้แบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนย่อยจะให้แก๊สมีเทนซึ่งใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงได้

ส่วนประกอบที่พบในเยื่อธูปฤาษี

เยื่อธูปฤาษีมีเส้นใยมากถึงร้อยละ 40 มีความชื้นของเส้นใย 8.9% ลิกนิก 9.6% ไข 1.4% เถ้า 2% เซลลูโลส 63% และมีเฮมิเซลลูโลส 8.7%

วิธีการป้องกันการแพร่กระจายและการกำจัดต้นธูปฤาษี

  • วิธีการป้องกันการแพร่กระจายของต้นธูปฤาษี ควรทำก่อนที่ต้นธูปฤาษีจะออกดอกเพราะเมล็ดสามารถแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดีโดยอาศัยลมและน้ำ
  • วิธีการกำจัดธูปฤาษี ตัดต้นขนาดใหญ่โดยต้องตัดให้ต่ำกว่าระดับของผิวน้ำ

ธูปฤาษี เป็นพืชที่มีความสำคัญทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมากจึงจัดเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่อาจมีบทบาทเป็นพืชเศรษฐกิจได้ในอนาคต สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายด้านแต่ที่สำคัญคือสามารถบำบัดน้ำเสียได้ด้วยวิธีธรรมชาติ ถือเป็นพืชที่คู่ควรแก่การปลูกไว้ใกล้กับโรงงานหรือชุมชนที่มีลำคลองเน่าเหม็นเพราะทุกวันนี้ประเทศไทยมีการปล่อยมลพิษทางน้ำมากมายและยังถูกเพิกเฉยจากโรงงานในการตระหนักเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นพืชที่มีสรรพคุณโดดเด่นในเรื่องของการรักษาโรคทางเดินปัสสาวะได้ด้วย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. สารานุกรมพืช, “ธูปฤาษี“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: web3.dnp.go.th. [6 ม.ค. 2014].
ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ธูปฤาษี“. (นพพล เกตุประสาท หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [6 ม.ค. 2014].
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ. “การผลิตกระดาษจากธูปฤาษีและผักตบชวา“. (นพพล เกตุประสาท หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.nectec.or.th. [6 ม.ค. 2014].
วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง. “ดอกต้นธูปฤาษี วัชพืชกำจัดคราบน้ำมัน“. (ศาสตราจารย์จิติ หนูแก้ว). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.nano.kmitl.ac.th. [6 ม.ค. 2014].
ระบบฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ดาราศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา. ” ต้นธูปฤาษี“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.nano.kmitl.ac.th. [6 ม.ค. 2014].