เทียนหยด
เป็นพรรณไม้พุ่ม ดอกเป็นช่อกระจะ สีม่วงน้ำเงินหรือสีขาว ผลเป็นพวงหรือเป็นช่อห้อย ผลอ่อนมีสีเป็นสีเขียว ผลสุกสีเหลืองผิวมันสดใส

เทียนหยด

ต้นเทียนหยด หรือ ต้นฟองสมุทร มีถิ่นกำเนิดในประเทศอเมริกาเขตร้อนตั้งแต่ฟลอริดาไปจนถึงบราซิล ตลอดจนหมู่เกาะอินดีสทางตะวันตก ชื่อสามัญ Duranta, Golden Dewdrop, Crepping Sky Flower, Pigeon Berry[1],[3] ชื่อวิทยาศาสตร์ Duranta erecta L. ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Duranta repens L. จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ผกากรอง (VERBENACEAE)[1] ชื่ออื่น ๆ เครือออน (จังหวัดแพร่), สาวบ่อลด (จังหวัดเชียงใหม่), พวงม่วง ฟองสมุทร เทียนไข เทียนหยด (กรุงเทพฯ), เอี่ยฉึ่ง (ประเทศจีน) เป็นต้น[1]

ลักษณะของต้นเทียนหยด

  • ต้น
    – เป็นพรรณไม้ประเภทพุ่ม
    – ลำต้นมีความสูงอยู่ที่ 1-3 เมตร
    – ลำต้นแผ่กิ่งก้านสาขาได้มากโดยแผ่ออกรอบ ๆ บริเวณของลำต้นตั้งแต่โคนต้นถึงยอดต้น
    – กิ่งก้านมีลักษณะรูปทรงที่ไม่แน่นอน กิ่งมีลักษณะลู่ลง และตามกิ่งอาจจะมีหนามบ้างเล็กน้อย
    – ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ดินร่วนซุย ดินร่วนปนทราย
    – ชอบแสงแดดแบบเต็มวัน[1],[3]
  • ใบ
    – ใบในลักษณะที่เป็นใบเดี่ยว โดยจะออกใบเรียงสลับตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ และต้นจะออกใบดกเต็มต้น
    – ใบเป็นรูปรี ปลายใบสั้นมีลักษณะแหลมหรือมน ตรงโคนใบสอบหรือเรียวยาวไปจนถึงก้านใบ ส่วนขอบใบมีรอยจักเป็นฟันเลื่อยเล็กน้อย
    – แผ่นใบมีสีเป็นสีเขียว [1],[5]
    – ใบมีขนาดความกว้างอยู่ที่ 3-3.5 เซนติเมตร และมีความยาวอยู่ที่ 5-6 เซนติเมตร
    – ก้านใบสั้น
  • ดอก
    – ออกดอกเป็นช่อกระจะบริเวณตามซอกใบและส่วนยอดของลำต้น
    – ออกดอกได้ตลอดทั้งปี แต่จะออกดอกมากที่สุดในช่วงฤดูฝน(ช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม) [1],[3],[5]
    – ดอก มี 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ดอกสีม่วงและพันธุ์ดอกสีขาว โดยช่อดอกจะมีลักษณะห้อยลงมา มีความยาวอยู่ที่ 5-10 เซนติเมตร ซึ่งภายในช่อจะประกอบไปด้วยดอกที่มีขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก
    – ดอกย่อยเมื่อบานเต็มที่แล้ว จะมีขนาดกว้างอยู่ที่ 1-1.5 เซนติเมตร ซึ่งดอกจะทยอยบานครั้งละ 5-6 ดอก
    – โคนกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นหลอด ส่วนบริเวณปลายจะแยกออกเป็นกลีบ 5 กลีบ มีขนาดไม่เท่ากัน มีสีม่วงน้ำเงินหรือสีขาว
    – ตรงกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว โดยกลีบเลี้ยงจะเชื่อมติดกันเป็นหลอด ตรงปลายแยกออกเป็น 5 ริ้ว
  • ผล
    – ออกผลในลักษณะที่เป็นพวงหรือเป็นช่อห้อยลงมา
    – ผลมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก โดยลักษณะรูปทรงของผลเป็นรูปทรงกลมรี มีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร
    – ผลอ่อนมีสีเป็นสีเขียว เมื่อผลสุกแล้วจะเปลี่ยนสีเป็นสีเหลือง ผิวเป็นมันสดใส และผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่[1],[5]
    – ผลมีพิษ

สรรพคุณของต้นเทียนหยด

1. นำใบสดในปริมาณพอสมควร มาตำผสมกับน้ำตาลทราย แล้วนำไปพอกบริเวณที่มีอาการ โดยนำมาใช้เป็นยาสำหรับแก้ฝีฝักบัว แก้หนอง แก้บวม และแก้อักเสบ (ใบสด)[1]
2. ใบสดมีกลิ่นฉุน โดยจะนำมาใช้ตำพอกเป็นยาสำหรับใช้ห้ามเลือดได้ (ใบสด)[1]
3. นำใบสดในปริมาณพอสมควร มาตำผสมกับน้ำตาลทรายแดงปริมาณ 15 กรัม จากนั้นก็นำมาปั้นเป็นก้อน แล้วลนด้วยไฟอุ่น ๆ ใช้เป็นยาสำหรับพอกบริเวณที่เป็นแผล โดยจะนำมาใช้รักษาอาการปลายเท้าเป็นห้อเลือด บวมอักเสบ และเป็นหนองได้ (ใบสด)[1]
4. นำเมล็ดปริมาณประมาณ 15 กรัม มาตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าทานเป็นยาที่รักษาอาการปวดหน้าอก หกล้มหรือถูกกระแทกได้ (เมล็ด)[1]
5. นำเมล็ดแห้งปริมาณประมาณ 15-20 เมล็ด มาตำหรือบดให้เป็นผงผสมรับประทาน โดยเมล็ดแห้งนำมาใช้สำหรับเป็นยาเร่งคลอด (เมล็ดแห้ง)[1]
6. นำเมล็ดแก่ที่แห้งแล้วในปริมาณประมาณ 15-20 เมล็ด มาตำหรือบดให้เป็นผงผสมรับประทานก่อนที่จะเป็นไข้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง โดยเมล็ดแห้งนี้จะนำมาใช้เป็นยาสำหรับแก้ไข้มาลาเรียได้ (เมล็ดแห้ง)[1]

ข้อควรระวัง

  • สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานสมุนไพรชนิดนี้เด็ดขาด เนื่องจากส่วนผลมีสารพิษที่เมื่อทานเข้าไปมาก ๆ อาจทำให้ตายได้[1]

ประโยชน์ของต้นเทียนหยด

  • ใช้ปลูกเป็นแนวรั้วเพื่อป้องกันวัว กระบือ แพะ แกะ ฯลฯ ได้ เนื่องจากใบมีสารชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่าซาโปนินที่สัตว์จะไม่เลือกกินเพราะมีสารที่เป็นพิษ ในประเทศอินเดียจะนิยมนำมาปลูกกันมากเนื่องจากมีสัตว์จำพวกวัว แพะ ฯลฯ ถูกปล่อยให้เดินตามท้องถนนเป็นจำนวนมาก [5]
  • ใช้น้ำที่ได้มาจากเมล็ดมาละลายกับน้ำในอัตราส่วน 1/100 ส่วน โดยจะนำมาใช้เป็นยาถ่ายพยาธิและใช้ฆ่าลูกน้ำในบ่อหรือในพื้นที่ที่มีน้ำขังได้ [4],[5]
  • ต้นนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปได้ โดยจะปลูกไว้ตามทางเดิน ริมถนน ริมทะเล สวนสาธารณะ โดยจะปลูกเป็นไม้ประธาน หรือนำมาปลูกไว้เป็นแนวรั้วบัง เนื่องจากเป็นไม้ที่มีทรงพุ่มสวยงาม ดอกมีสีสันที่สวยงาม และส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ ได้ตลอดทั้งวัน สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ประกอบกับมีผลแก่ที่มีสีเหลืองสดเป็นมันดูสดใสมีความงดงามเป็นอย่างมาก อีกทั้งเป็นพันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย แถมยังปลูกและดูแลรักษาได้ง่าย สามารถตัดแต่งใบเป็นรูปทรงต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ แต่ก็มีข้อควรระวังอยู่ก็คือไม่ควรปลูกไว้ใกล้สนามเด็กเล่นเพราะผลและใบมีพิษ[3],[5]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • ใบ มีสาร pectolinaringenin มี scutellarein อยู่จำนวนเล็กน้อย และยังมี durantoside I tethraacetate, durantoside I pentaacetate, durantoside II tethraacetate, durantoside IV tethraacetate นอกจากนี้ก็ยังมีสารอย่าง β-carotene, chlorophyll, xanthophyll, แครอทีน ฯลฯ
  • ผล มีสารจำพวกอัลคาลอยด์ ได้แก่ pyridine derivative และยังมีสาร glucose, fructose, sterols อยู่อีกด้วย[1]

พิษของต้นเทียนหยด

ส่วนที่เป็นพิษ

  • ใบ พบกรดไฮโดรไซยานิค (hydrocyanic acid, HCN) หรือไซยาไนด์
  • ผล พบสารในกลุ่มซาโปนินที่เป็นพิษ ซึ่งได้แก่ duratoside IV, duratoside V ถ้าหากรับประทานโดยการเคี้ยวเข้าไปแล้วก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ แต่ถ้าไม่เคี้ยว ก็จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด[2],[4]

อาการเป็นพิษ

  • ผู้ป่วยที่ได้รับประทานใบในปริมาณมาก ๆ เข้า สาร hydrocyanic acid ที่อยู่ในใบจะทำให้เกิดอาการขาดออกซิเจนได้ จนทำให้เกิดอาการตัวเขียว และอาจจะถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • ถ้าหากรับประทานในปริมาณเล็กน้อยก็อาจจะทำให้มีอาการอาเจียนและท้องเสียได้ ส่วนในผู้ป่วยที่รับประทานผลอาจจะมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย มีลำไส้อักเสบ ส่วนในรายที่เกิดอาการเป็นพิษรุนแรงนั้น เนื้อเยื่อที่อยู่ลึก ๆ จะถูกทำลายได้ เม็ดเลือดแดงอาจจะแตกได้ ในกรณีที่มีการดูดซึมของสารพิษเข้าไปมาก ๆ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง มีอาการกระหายน้ำ เริ่มหน้าแดง จิตใจมีความกังวล ตาพร่า และรูม่านตาขยาย
  • พิษที่รุนแรงที่สุดนั่นก็อาจจะแสดงออกที่กล้ามเนื้ออ่อนแรง การประสานงานของกล้ามเนื้อมีอาการที่ไม่ดี สุดท้ายแล้วการไหลเวียนของเลือดก็จะไม่สม่ำเสมอและอาจถึงขั้นมีอาการชัก และเสียชีวิตได้ในที่สุด[2]

ตัวอย่างผู้ป่วย

  • เด็กหญิงคนหนึ่งในรัฐฟลอริดาได้รับประทานผลเข้าไป และเริ่มมีอาการมึนงง สับสน แต่ในวันต่อมาก็เริ่มกลับมีอาการเป็นปกติ
  • ในประเทศออสเตรเลียก็มีผู้ป่วยเด็กคนหนึ่งที่ได้รับพิษจากเมล็ด จนทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยอาการที่เป็นพิษที่พบก็คือ มีไข้ นอนไม่หลับ และมีอาการชัก[2]

การรักษา

  • โดยการรักษานั้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาลในทันที และควรทำให้พิษลดลงหรือทำให้การได้รับการดูดซึมของสารพิษน้อยที่สุด ได้แก่ การทำให้อาเจียนออกมาและให้สารหล่อลื่น เช่น ดื่มนมหรือทานไข่ขาว
  • ในขณะที่พักฟื้นก็ควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ แต่ในกรณีที่มีการสูญเสียน้ำและเสียเกลือแร่มากต้องให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด[2],[4]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ฟองสมุทร”.  หน้า 579-580.
2. ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “เทียน หยด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/.   [08 พ.ย. 2014].
3. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  (นพพล เกตุประสาท).  “ฟองสมุทร”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : clgc.rdi.ku.ac.th.  [08 พ.ย. 2014].
4. ฐานข้อมูลพืชพิษ, ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.  “ฟองสมุทร (เทียนหยด)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : webdb.dmsc.moph.go.th/poison/.  [08 พ.ย. 2014].
5. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 332 คอลัมน์ : ต้นไม้ใบหญ้า.  (เดชา ศิริภัทร).  “เทียนหยด :ไม้ประดับที่ผลงดงามกว่าดอก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก :  www.doctor.or.th.  [08 พ.ย. 2014].
อ้างอิงรูปจาก
1.https://garden.org/plants/photo/469525/
2.https://www.monaconatureencyclopedia.com/