บานบุรี
ไม้พุ่มกึ่งเลื้อย ใบเดี่ยวติดเป็นคู่อยู่ตรงข้าม ดอกขนาดใหญ่เป็นช่อกระจุกสีเหลือง ผลทรงกลมเป็นหนาม

บานบุรี

ต้นบานบุรี (Golden trumpet) เป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งเลื้อย หรือไม้เถาอาศัยต้นไม้อื่น ๆ เพื่อพยุงตัวขึ้น เป็นพืชเมืองร้อนชอบอากาศร้อนชื้นอย่างมาก เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ ชื่อสามัญ Yellow bell, Allamanda, Common allamanda, Golden trumpet vine ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Allamanda cathartica L. อยู่วงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ บานพารา บานบุรีสีเหลือง บานบุรีสีกุหลาบ อยู่ในสกุลเดียวกันก็คือ สกุล Allamanda บานบุรีสีแสด (บ้างก็เรียกกันว่า บานบุรีหอม) อยู่ในสกุล Odontadenia, บานบุรีสีม่วง อยู่ในสกุล Saritaea ทั้งหมดนี้อยู่ในวงศ์เดียวกันนั่นก็คือ วงศ์ตีนเป็ด ยกเว้นบานบุรีม่วงที่อยู่วงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE)

ลักษณะของบานบุรี

  • ต้น เป็นลำต้นหรือเถาสีน้ำตาล กลมเรียบ มียางสีขาวทั้งต้น ลำต้นสูงประมาณ 2-4.5 เมตร ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด การปักชำ การตอน ชอบน้ำปานกลาง โตได้ดีที่ในดินที่ร่วนซุย ดินร่วนปนทราย ปลูกเลี้ยงง่าย โตเร็ว สามารถทนกับความแล้งกับดินเค็มได้ มักจะขึ้นที่กลางแจ้ง ชอบแสงแดดเต็มวัน สามารถอยู่ได้ทั้งที่มีแสงแดดจัด ที่ร่มรำไร มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ในประเทศบราซิล อเมริกาเขตร้อน และมีอยู่หลายชนิด แต่ละชนิดมีสีดอกแตกต่างกันไป[1],[2],[4],[8]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว จะติดเป็นคู่อยู่ตรงข้าม หรืออาจติดอยู่รอบข้อ ข้อละประมาณ 3-6 ใบ ใบเป็นรูปรี รูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปหอก รูปไข่กลับ ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบกว้างประมาณ 2-6 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 6-16 เซนติเมตร ที่แผ่นใบด้านบนจะมีลักษณะเป็นสีเขียวเข้มเรียบและเป็นมัน มีเส้นใบที่สามารถเห็นได้ชัด ที่ท้องใบจะมีสีอ่อนกว่า ก้านใบมีความยาวประมาณ 2-9 เซนติเมตร[1],[2],[8]
  • ดอก มีดอกขนาดใหญ่ ออกดอกเป็นช่อกระจุก ที่ตรงบริเวณยอด จะออกดอกที่ตามซอกใบ ที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นสีเขียว ที่ปลายจะแยกเป็น 5 แฉก ดอกย่อยเป็นสีเหลือง มีกลีบดอกอยู่ 5 กลีบ กลีบดอกเป็นรูปขอบขนาน เป็นรูปหอก ที่ปลายกลีบจะมนใหญ่ กว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร มีความยาวประมาณ 16 มิลลิเมตร ที่โคนเชื่อมกันเป็นท่อสั้นหรือจะเป็นหลอดแคบ ดอกตูม กลีบดอกบิดไปทางเดียวกัน มีเกสรเพศผู้อยู่ประมาณ 5 อัน ติดอยู่ที่ตรงด้านในบริเวณใกล้โคนท่อดอก เกสรเพศเมียจะมีช่องเดียว มีรังไข่อ่อนอยู่เยอะ ก้านเกสรมีขน มีขนาดสั้น อับเรณูเป็นรูปคล้ายหัวลูกศร ดอกบานเต็มกว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตร ออกดอกได้ทั้งปี โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนจะออกดอกดกเป็นพิเศษ
  • ผล ผลเป็นรูปทรงกลม จะเป็นหนาม ผลแก่สามารถแตกได้ มีเมล็ดอยู่ในผลเป็นจำนวนมาก[1],[2]

สรรพคุณบานบุรี

  • ใบ มีรสเมาร้อน สามารถใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย ช่วยทำให้กล้ามเนื้อของลำไส้หดเกร็งได้ [1],[2],[6]
  • ใบ มีสรรพคุณที่ทำให้อาเจียน (ใบ)[1],[2]
  • เปลือกกับยาง จะมีรสเมาร้อน ถ้าใช้ในปริมาณน้อยจะมีฤทธิ์ที่เป็นยาถ่าย สามารถช่วยขับน้ำดี ถ้าใช้ปริมาณมากจะเป็นพิษกับหัวใจ ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ (เปลือกและยาง)[1],[2]
  • สามารถช่วยแก้อาการจุกเสียดได้ (ใบ)[1],[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • บานบุรีเหลือง จะมีฤทธิ์ที่ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเซลล์ สามารถช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียกับเชื้อรา และต้านเนื้องอก แต่ฤทธิ์ดังกล่าวต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไป[6]

ข้อควรระวังในการใช้

  • ทั้งต้นกับยางจะมีสารพิษ จะออกฤทธิ์เป็นพิษกับหัวใจและเลือด ถ้าทานไปจะเกิดอาการระคายเคืองเยื่อบุในปาก และเยื่อบุในกระเพาะอาหารก่อน แล้วก็จะตามด้วยอาการปวดท้อง อาเจียน ปวดศีรษะ ท้องเดิน ถ้าทานในปริมาณที่มากแล้วล้างท้องไม่ทัน สารพิษ digitalis จะถูกดูดซึมผ่านลำไส้และแสดงความเป็นพิษกับหัวใจ เกิดขึ้นช้าหรือเร็วก็จะขึ้นอยู่กับชนิดของไกลโคไซด์ วิธีรักษาขั้นต้นให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด แล้วก็ให้ทำการล้างท้อง รักษาตามอาการ ถ้าจาก EKG พบว่ามี Ventricular tachycardia ควรให้ Potossium chloride ประมาณ 5-10 กรัม หรือให้ K+ (80 mEq/L) อาการการเจ็บแขนอาจจะช่วยด้วยการนวด การประคบด้วยน้ำร้อน[7]
  • บานบุรีเหลืองเป็นพืชที่มีพิษ ถ้าจะใช้เป็นยาสมุนไพรต้องใช้แบบระมัดระวัง เนื่องจากทุกส่วนของต้นใช้ในปริมาณที่น้อยจะเป็นยาระบาย ทำให้อาเจียน แต่ถ้าหากว่าใช้ในปริมาณที่เยอะมาก จะมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง ทำให้อาเจียนไม่หยุด ร่างกายอ่อนเพลีย อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้[1],[2],[5]
  • ยางกับผล มีพิษ (สารเป็นพิษก็คือ Resin เป็นส่วนผสมของ Phenol กับ Polycyclic acid) ถ้ายางโดนผิวหนังจะทำให้เกิดอาการอักเสบ คัน และแดง[3]
  • ถ้าทานยางหรือผลจะทำให้อาเจียน มีไข้สูง มีไข้สูง ท้องเสีย มีอาการหายใจไม่สม่ำเสมอ ท้องเดิน ถ้าสูญเสียน้ำสูญเสียเกลือแร่มากอาจทำให้เสียชีวิตได้[3]

ประโยชน์บานบุรี

  • ปลูกเป็นไม้ประดับที่ตามทางเดิน ริมถนน ปลูกคลุมดิน สวน ริมทะเล สามารถตัดแต่งเป็นทรงพุ่มได้ และยังมีดอกที่สวย ออกดอกได้ทั้งปี โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนก็จะออกดอกดกเยอะเป็นพิเศษ[3],[4],[8]

สั่งซื้อ อาหารเสริม เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค สำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “บานบุรีเหลือง”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 424-425.
2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “บานบุรีเหลือง (Banburi Lueang)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 163.
3. สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “บานบุรีเหลือง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [01 เม.ย. 2014].
4. หนังสือชุดพรรณไม้เมืองไทย : ไม้ต่างถิ่นในเมืองไทย 1. “บานบุรี”. (ปรัชญา ศรีสง่า).
5. ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา. “พืชมีพิษในประเทศไทย (2)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_toxic/ez.mm_main.asp. [01 เม.ย. 2014].
6. วิทยานิพนธ์เรื่อง “การวิเคราะห์ระดับโมเลกุลและเครื่องหมายดีเอ็นเอแบบบาร์โค้ดของพืชสกุล Allamanda”. (สโรชา อังคปัทมากุล, ดร.อรุณรัตน์ ฉวีราช, ดร.ธวัดชัย ธานี, ดร.รุ่งลาวัลย์ สุดมูล).
7. ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “บานบุรี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/. [01 เม.ย. 2014].
8. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “บานบุรีสีเหลือง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [01 เม.ย. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1. https://www.thespruce.com/grow-allamanda-inside-1902637
2. https://www.gardenia.net/plant/allamanda-cathartica