โรคเริม
โรคเริม ( Herpes Simplex ) เป็น โรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งของผิวหนังและเยื่อเมือกต่าง ๆ ทำให้มีลักษณะพุขึ้นเป็นตุ่มใสเล็ก ๆ แล้วแตกเป็นแผล ตกสะเก็ด ซึ่งหายได้เอง แต่มักกำเริบซ้ำและเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมักมีอาการกำเริบได้บ่อยและรุนแรงกว่าปกติ ส่วนในเด็กทารกและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะ อาจมีอาการรุนแรง โดยเชื้อสามารถแพร่เข้าสู่กระแสเลือดกระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โรคเริมจัดเป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย โดยเฉพาะในคนวัยหนุ่มสาวและวัยผู้ใหญ่ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้ใกล้เคียงกัน การติดเชื้อครั้งแรกมักเกิดขึ้นในวัยเด็กเป็นส่วนใหญ่ อุบัติการณ์สูงสุดเกิดในเด็กระหว่างอายุ 6 เดือน ถึง 3 ขวบ ซึ่งเด็กในชุมชนแออัดและมีสุขอนามัยไม่ดีจะมีโอกาสติดเชื้อได้มากกว่า
สาเหตุของโรคเริม
เกิดจากการติด เชื้อไวรัสเริม หรือ เฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ ( Herpes Simplex Virus – HSV ) ซึ่งเป็นไวรัสต่างชนิดกับโรคงูสวัดและโรคอีสุกอีใส ถึงแม้จะก่อให้เกิดตุ่มน้ำกับผิวหนังได้คล้าย ๆ กันก็ตาม โดยเชื้อไวรัสเริมจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ ไวรัสเริมชนิดที่ 1 หรือ เอชเอสวี-1 ( Herpes simplex virus 1 หรือ HSV-1 ) กับไวรัสเริมชนิดที่ 2 หรือ เอชเอสวี-2 ( Herpes simplex virus 1 หรือ HSV-2 ) เชื้อเริมทั้ง 2 ชนิดนี้สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้ทั้งบริเวณผิวหนังทั่วไป ช่องปาก อวัยวะเพศ และเยื่อเมือกต่าง ๆ โดยเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 มักจะทำให้เกิดอาการกำเริบที่ปากมากกว่าที่อวัยวะเพศ ส่วนเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 2 มักจะทำให้เกิดอาการกำเริบที่อวัยวะเพศมากกว่าที่ปาก
การติดต่อ : ติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรงกับผู้ที่เป็นโรค ซึ่งอาจแสดงอาการหรือไม่แสดงอาการก็ได้ ผ่านทางรอยถลอกของผิวหนังหรือทางเยื่อเมือกจากน้ำลายหรือสิ่งคัดหลั่ง รวมไปถึงจากการใช้ของใช้ร่วมกัน การกิน การจูบ หรือจากมือติดโรคแล้วป้ายเข้าตา
ระยะฟักตัว : สำหรับการติดเชื้อครั้งแรกจนกระทั่งแสดงอาการจะใช้เวลาประมาณ 2-20 วัน เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายและอยู่ในชั้นของผิวหนัง เชื้อเริมจะแบ่งตัวทำให้ผิวหนังเกิดอาการบวมเป็นตุ่มน้ำและเกิดการอักเสบ แต่หลังจากนั้นเมื่อหายจากโรคแล้ว เชื้อเริมจะเข้าไปหลบซ่อนที่ปมประสาทในบริเวณใต้ผิวหนังหรือเยื่อบุและแฝงตัวอยู่อย่างสงบ โดยไม่มีการแบ่งตัว
การเกิดเป็นซ้ำ : โรคนี้สามารถเป็นซ้ำได้บ่อย ๆ บางครั้งอาจเป็นซ้ำได้แต่จะค่อย ๆ ลดไปเมื่ออายุสูงขึ้น โดยเริมที่ริมฝีปากจะมีอัตราการเกิดเป็นซ้ำประมาณ 20-40% ส่วนเริมที่อวัยวะเพศจะมีอัตราการเกิดเป็นซ้ำประมาณ 80% ซึ่งการเกิดเป็นซ้ำนี้จะมีอาการน้อยกว่า หายเร็วกว่าการเกิดเป็นครั้งแรก และมักไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย
อาการของโรคเริม
อาการของโรคจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ติดเชื้อ อายุ ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย และชนิดของเชื้อไวรัสเริม เริมที่ผิวหนัง ส่วนใหญ่จะพบการติดเชื้อซ้ำ ( Reactivation ) บริเวณรอยโรคมักมีอาการปวดแสบปวดร้อนหรือปวดเสียวนำมาก่อนประมาณ 30 นาที ถึง 48 ชั่วโมง แล้วมีตุ่มน้ำใสขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตรขึ้นอยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ โดยรอบจะมีผื่นแดง ต่อมาตุ่มน้ำใสนี้จะกลายเป็นสีเหลืองขุ่นแล้วแตกกลายเป็นสะเก็ด ซึ่งมักจะหายไปได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ ด้วยลักษณะของตุ่มน้ำใสได้แก่ ริมฝีปาก แก้ม จมูก ตา หู ก้น อวัยวะเพศ ซึ่งผื่นมักจะขึ้นที่ตำแหน่งที่เคยขึ้นอยู่เดิมหรือในบริเวณใกล้เคียง
ในกรณีที่เป็นการติดเชื้อครั้งแรก ผู้ป่วยมักจะมีอาการอักเสบที่รุนแรงกว่า บริเวณรอยโรคจะมีลักษณะบวมและเจ็บ ระยะแรกจะขึ้นเป็นตุ่มน้ำใส ต่อมาจะดูคล้ายตุ่มหนองหรือฝี ผู้ป่วยส่วนน้อยอาจมีอาการไข้และต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงอักเสบร่วมด้วย พบได้บ่อยที่นิ้วชี้ รองลงมาคือนิ้วหัวแม่มือ แต่บางรายอาจพบได้ที่บริเวณฝ่ามือ ในทารกและเด็กเล็กมักเกิดจากการดูดนิ้วในขณะที่มีการติดเชื้อเริมในปากหรือเกิดจากการจูบมือของผู้ใหญ่ที่เป็นเริมในปาก
1. เริมในช่องปาก ( Herpetic Gingivostomatitis ) เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุดของการติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 เป็นครั้งแรก พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 2-3 วัน หรืออาจนานถึง 20 วัน
ผู้ป่วยที่เป็นเริมในช่องปาก เมื่อหายแล้วเชื้อมักจะหลบซ่อนตัวอยู่ที่ปมประสาทของสมองคู่ที่ 5 ( Trigeminal ganglion ) ต่อมาเชื้ออาจจะแบ่งตัวเจริญเติบโตทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้ ส่วนใหญ่จะเกิดเป็นแผลเริมที่ริมฝีปากเรียกว่า “ เริมที่ริมฝีปาก ” ( Herpes Labialis บางครั้งเรียกว่า Fever blisters หรือ Cold sores ) ซึ่งที่บริเวณริมฝีปากของผู้ป่วยมักจะมีตุ่มน้ำเล็ก ๆ พุขึ้นกลุ่ม แล้วแตกลายเป็นแผลตกสะเก็ดอยู่ประมาณ 2-3 วัน โดยก่อนที่จะมีตุ่มขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงถึงหลายวัน ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดแสบหรือคันบริเวณรอยโรคได้
ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดแผลเปื่อยในช่องปาก เรียกว่า “ เริมในช่องปากชนิดเป็นซ้ำ ” ( Recurrent Intraoral herpes simplex ) ซึ่งมักจะมีแผลเดียวเกิดขึ้นที่เหงือกหรือที่เพดานแข็ง โดยแรกเริ่มจะขึ้นเป็นตุ่มน้ำเล็ก ๆ แล้วแตกเป็นแผลลักษณะเป็นสะเก็ดสีเหลืองปกคลุมอยู่บนพื้นสีแดง เมื่อลอกออกจะกลายเป็นแผลตื้นสีแดง
ผู้ป่วยบางรายอาจมีแผลเริมขึ้นที่ใบหน้าหรือจมูกได้ อาการมักจะกำเริบขึ้นเมื่อมีความเครียด พักผ่อนน้อย ถูกแดดจัด มีประจำเดือน เป็นไข้หวัดหรือเป็นไข้
2. เริมที่อวัยวะเพศ ( Herpes Genitalis ) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของอาการเป็นแผลที่อวัยวะเพศ จัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 2 ส่วนน้อยเกิดจากเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 ถ้าเป็นการติดเชื้อครั้งแรก จะมีระยะฟักตัวของโรคคือตั้งแต่ได้เชื้อจนกระทั่งแสดงอาการประมาณ 2-10 วัน ผู้ป่วยมักมีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และเกิดผื่นตุ่มขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ โดยจะมีอาการแสบ ๆ คัน ๆ นำมาก่อน ในผู้ชายอาจขึ้นที่หนังหุ้มปลายองคชาต ที่ตัว หรือที่ปลายองคชาต ถุงอัณฑะ ต้นขา ก้น รอบทวารหนัก หรือในท่อปัสสาวะ ส่วนผู้หญิงอาจขึ้นที่ปากช่องคลอด ก้น รอบทวารหนัก ในช่องคลอด หรือที่ปากมดลูก นอกจากนี้ยังอาจพบรอยโรคได้ที่ก้น หน้าขา ขาหนีบ นิ้วมือ หรือตา ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ 2 หลังจากอาการหายแล้ว เชื้ออาจหลบซ่อนอยู่ที่ปมประสาท แล้วต่อมาผู้ป่วยจะมีการติดเชื้อซ้ำ ๆ เป็น ๆ หาย ๆ อยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 6 เดือนแรกหลังการติดเชื้อครั้งแรก อาจเกิดขึ้นบ่อยและค่อย ๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป โดยอาการมักจะกำเริบขึ้นเวลาที่ร่างกายทรุดโทรม เครียด มีประจำเดือน หรือมีการเสียดสี เช่น การมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งในการติดเชื้อซ้ำ ผู้ป่วยจะมีอาการแสบ ๆ คัน ๆ บริเวณที่เป็นรอยโรครวมทั้งต้นขาด้านในหรือก้นนำมาก่อน ต่อมาจะพุขึ้นเป็นตุ่มน้ำใสเล็ก ๆ หลายตุ่ม อยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ ที่อวัยวะเพศ โดยมักจะขึ้นตรงตำแหน่งเดิมที่เคยเป็นมาก่อน ผู้ป่วยอาจมีอาการปัสสาวะแสบขัด ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตและเจ็บ ตุ่มมักจะตกสะเก็ดภายใน 4-5 วัน แล้วหายไปได้เองภายใน 10 วัน และบางรายอาจมีไข้และอ่อนเพลียร่วมด้วย
ผู้ป่วยบางรายอาจมีการติดเชื้อซ้ำโดยไม่มีอาการแสดงออกมาก็ได้ แต่ยังคงสามารถปล่อยเชื้อออกมาแพร่ให้ผู้อื่นได้อยู่ ดังนั้นจึงไม่มีหลักประกันว่าการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่แสดงอาการจะปลอดภัยจากโรคเริม
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเริม
- ตุ่มหรือแผลกลายเป็นหนองพุพองจากการอักเสบซ้ำของเชื้อแบคทีเรีย
- กระจกตาอักเสบ (Keratitis) ถึงกับทำให้สายตาพิการได้
- ตับอักเสบ ซึ่งมักจะไม่รุนแรงในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรง แต่ถ้าพบในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือในหญิงตั้งครรภ์ ก็อาจกลายเป็นตับอักเสบชนิดร้ายแรง ( Fulminant Hepatitis ) ได้
- ผู้หญิงที่เป็นเริมที่อวัยวะเพศ อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้น
- การติดเชื้อเริมในผู้หญิงตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ทารกเป็นโรคเริมแต่กำเนิด
- สมองอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 พบได้มากในทารกแรกเกิด ผู้ป่วยอายุ 5-30 ปี
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิดอะเซปติก ( Aseptic Meningitis ) พบเป็นภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 2 ครั้งแรกที่อวัยวะเพศ อาการมักทุเลาภายในไม่กี่วัน และหายไปได้เองโดยไม่มีความพิการหลงเหลือ
- หลอดอาหารอักเสบ พบในผู้ป่วยเอดส์และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บในขณะกลืน ทำให้กลืนลำบาก น้ำหนักตัวลด
การวินิจฉัยโรคเริม
ตรวจหาสารก่อภูมิต้านทานหรือดีเอ็นเอของเชื้อเริมจากแผลหรือสิ่งคัดหลั่ง การทดสอบทางน้ำเหลืองเพื่อหาระดับสารภูมิต้านทานมักตรวจพบตุ่มน้ำใสขนาด 2-3 มิลลิเมตร หลายตุ่มอยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ หรือพบตุ่มตกสะเก็ดหรือแผลเล็ก ๆ คล้ายรอยถลอกในบริเวณผิวหนังส่วนใดส่วนหนึ่ง ริมฝีปาก หรือที่อวัยวะเพศ และอาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงโตและเจ็บ ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย อาจตรวจพบแผลขึ้นพร้อมกันหลายแห่งในช่องปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กที่เป็นเริมในช่องปาก
วิธีรักษาโรคเริม
โรคเริมส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง ผู้ที่ไม่ได้รับการรักษามักหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยเฉพาะเริมที่กลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งจะมีอาการน้อยกว่า และมักไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย
ในรายที่มีเริมขึ้นที่บริเวณตาควรรีบไปพบจักษุแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง ถ้าพบว่ามีกระจกตาอักเสบจากเชื้อเริม ( Herpetic keratitis ) แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสชนิดหยอดตาหรือป้ายตา เช่น ยาหยอดตาไตรฟลูริดีน ( Trifluridine ) ชนิด 1% ใช้หยอดตาวันละ 9 ครั้ง ยาขี้ผึ้งป้ายตาไวดาราบีน ( Vidarabine ) ชนิด 3% ใช้ป้ายวันละ 5 ครั้ง นาน 21 วัน สำหรับผู้ที่ติดเชื้อเริมครั้งแรกที่บริเวณทวารหนัก แพทย์จะให้รับประทานยาอะไซโคลเวียร์ ( Acyclovir ) ครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 5 ครั้ง นาน 10-14 วัน
สำหรับผู้ที่เป็นตะมอยเริม ( Herpetic whitlow ) แพทย์จะให้รับประทานยาอะไซโคลเวียร์ ( Acyclovir) ครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง นาน 7 วัน
การดูแลตนเองเมื่อเกิดโรคเริม
1. พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เริมเกิดเป็นซ้ำ
2. ควรดื่มน้ำสะอาดให้มากอย่างน้อยวันละ 8 แก้วต่อวัน เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดการดื่มน้ำ เช่น โรคหัวใจล้มเหลว
3. แยกของใช้ส่วนตัว รวมทั้งแก้วน้ำและช้อนจานชาม ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น
4.ทำความสะอาดผื่นด้วยสบู่ฆ่าเชื้อ
5. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อป้องกันการติดเชื้อในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะอื่น ๆ และป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น
4. รับประทานยาต้านไวรัสเร็วภายใน 48 ชั่วโมงหลังมีอาการนำ จะสามารถช่วยลดระยะเวลาการเกิดโรค ลดโอกาสการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น
5. เมื่อมีไข้สูง ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อย ๆ
8. ผู้เป็นเริมที่อวัยวะเพศ ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าแผลเริมจะหายสนิท
9. ถ้าเป็นการติดเชื้อครั้งแรกควรตรวจกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ๆ ที่อาจพบร่วมด้วย เช่น เอดส์ ซิฟิลิส
10. ผู้ป่วยที่เป็นโรคเริมที่ปากมดลูก ควรตรวจคัดกรองหามะเร็งปากมดลูกระยะแรก ปีละ 1 ครั้ง
ถ้าพบว่าเป็นเริมที่อวัยวะเพศในขณะตั้งครรภ์หรือใกล้คลอดควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อจะได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
การรักษาด้วยยาต้านไวรัสสามารถช่วยให้โรคเริมหายได้เร็วขึ้นและช่วยลดการแพร่เชื้อ แต่ไม่มีผลในการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อซ้ำได้ โรคนี้จึงมักจะเป็น ๆ หาย ๆ อย่างเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นเริมที่อวัยวะเพศ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดีโรคนี้จะไม่มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด แต่ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ทารกแรกเกิด เด็กที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ ผู้ที่มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก อาจเกิดภาวะติดเชื้อเริมแบบร้ายแรงได้ ดังนั้น ควรรีบไปพบแพทย์เมื่อมีตุ่มพองลุกลามมาก มีตุ่มน้ำเป็นหนอง มีไข้สูงหรือไข้ไม่ลดลงภายใน 1-3 วัน และเริ่มมีอาการทางดวงตา
วิธีป้องกันโรคเริม
1. หลีกเลี่ยงการเที่ยวหญิงบริการ และมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คู่ครอง แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมถุงยางอนามัยด้วยทุกครั้ง รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงการสัมผัสที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ทางปาก
2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผล น้ำลาย หรือสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีตุ่มตามผิวหนังหรือเยื่อเมือก หรือผู้ป่วยที่มีแผลเปื่อยในช่องปาก
3. หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น จานชาม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า มีดโกน เป็นต้น
ควรรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้งห้าหมู่ในทุก ๆ วัน นอนหลับพักผ่อนให้เพียง และทำให้จิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส
4. การรับประทานยาต้านไวรัสทุกวันสามารถช่วยลดการแพร่เชื้อได้ แต่เนื่องจากยามีผลข้างเคียง จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเริม แต่กำลังมีการศึกษาคิดค้นกันอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นโรคที่พบได้บ่อย
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง