กระเช้าผีมด เป็นยาเย็นรสเผ็ดขม ช่วยแก้ปวดและแก้ไข้ได้ดี

0
1568
กระเช้าผีมด เป็นยาเย็นรสเผ็ดขม ช่วยแก้ปวดและแก้ไข้ได้ดี
กระเช้าผีมด ไม้เถาเลื้อย ผลกับเมล็ดเป็นรูปไข่หัวกลับ มีรสเผ็ดขมเล็กน้อย
กระเช้าผีมด เป็นยาเย็นรสเผ็ดขม ช่วยแก้ปวดและแก้ไข้ได้ดี
กระเช้าผีมด ไม้เถาเลื้อย ผลกับเมล็ดเป็นรูปไข่หัวกลับ มีรสเผ็ดขมเล็กน้อย ผลแก่จะแตกออก ลักษณะรูปร่างคล้ายกระเช้า

กระเช้าผีมด

กระเช้าผีมด (Indian Birthwort) เป็นไม้เถาเลื้อยที่มีชื่อเรียกแปลกประหลาดไม่เหมือนใคร และยังมีผลกับเมล็ดเป็นรูปไข่หัวกลับค่อนข้างป้อมโดดเด่นอยู่บนต้นทำให้จำง่าย เป็นต้นที่มีรสเผ็ดขมเล็กน้อยและเป็นยาเย็น นิยมใช้ส่วนของใบ ต้นและรากในการปรุงเป็นยาสมุนไพร ชาวม้งกับคนเมืองนำมาใช้ในการรักษาแต่กระเช้าผีมดเป็นต้นที่หาได้ยากในประเทศไทย มักจะนำเข้ามาจากต่างประเทศมากกว่า นอกจากนั้นยังสามารถนำมาใช้เป็นไม้ประดับได้อีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของกระเช้าผีมด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aristolochia tagala Cham.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Indian Birthwort” และ “Dutchman’s pipe”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “กระเช้ามด กระเช้าผีมด” จังหวัดกรุงเทพมหานครเรียกว่า “กระเช้ามด กระเช้าสีดา” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ปุลิง” จีนกลางเรียกว่า “เจี่ยต้าสู่ เอ่อเย่หม่าเอ๋อหลิน เฮยเมี่ยนฝังจี่ มู่ฝังจี่” คนเมืองเรียกว่า “ผักข้าว ผักห่ามป่าย ผักห่ามหนี” ชาวม้งเรียกว่า “ชั้วมัดหลัว” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “คอหมู่เด๊าะ” ชาวลัวะเรียกว่า “บ่ะหูกว๋าง พ่วน ลำเด่อ”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ไก่ฟ้า (ARISTOLOCHIACEAE)

ลักษณะของกระเช้าผีมด

กระเช้าผีมด เป็นพรรณไม้เถาเลื้อยที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในจีน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ พม่า กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย ไปตลอดจนถึงหมู่เกาะโซโลมอนและทวีปออสเตรเลีย ในประเทศไทยพบขึ้นกระจายพันธุ์ในจังหวัดเชียงใหม่ ตาก จันทบุรี กาญจนบุรี สุราษฎร์ธานี ตรัง ภูเก็ตและจังหวัดนครศรีธรรมราช มักจะพบตามป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ ที่โล่งแจ้งและบนดินปนทราย
ลำต้น : ลำต้นเป็นเถา ผิวเป็นร่องไปตามยาวของลำเถา ลำต้นเมื่อยังอ่อนจะมีขนและขนจะค่อย ๆ หลุดร่วงไปจนเกือบเกลี้ยงหรือจนเกลี้ยง
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบมีหลายแบบ ตั้งแต่รูปไข่ไปจนถึงรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบเว้าลึกเป็นรูปหัวใจหรือรูปติ่งหู ขอบใบเรียบ แผ่นใบมีต่อมลักษณะเป็นจุดเล็ก ๆ กระจัดกระจาย มีเส้นใบออกจากโคนใบ 3 – 5 เส้น เส้นแขนงใบมีข้างละ 3 – 4 เส้น เส้นใบย่อยเรียงตามขวางใบคล้ายขั้นบันไดและสานกันเป็นร่างแห เส้นร่างแหนั้นจะเห็นได้ชัดทางด้านล่างมากกว่าด้านบน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อ เป็นดอกที่มีทั้งเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียอยู่ในดอกเดียวกัน กลีบดอกมีเพียงชั้นเดียว เชื่อมติดกันเป็นหลอด ที่โคนหลอดจะมีลักษณะป่องเป็นกระเปาะกลม ใบประดับมีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายและโคนของใบประดับแหลม ขอบใบมีขน ตามผิวมีขนสั้นทั้งสองด้าน ดอกมีเกสรเพศผู้ 6 อัน อยู่แนบติดกับก้านเกสรเพศเมีย อับเรณูเป็นรูปวงรี ยอดเกสรเพศเมียแยกออกเป็นแฉก 6 แฉก รูปกรวยยาวและปลายมน ส่วนรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกเล็ก ๆ
ผล : ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม เป็นรูปไข่หรือเป็นรูปขอบขนานแกมวงรี เมื่อผลแก่จะแตกออกตามยาวจากขั้วไปยังโคน ก้านผลจะแตกแยกออกเป็น 6 เส้น โดยที่โคนก้านและปลายผลยังติดกันอยู่ มีลักษณะรูปร่างคล้ายกระเช้า
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดหลายเมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอ่อนรูปไข่หัวกลับค่อนข้างป้อมหรืออาจเว้าเล็กน้อยเป็นรูปหัวใจกลับและมีปีก ด้านหนึ่งมีผิวเรียบ ส่วนอีกด้านมีตุ่มขนาดเล็กกระจัดกระจายอยู่ห่าง ๆ

สรรพคุณของกระเช้าผีมด

  • สรรพคุณจากลำต้น
    – ทำให้ธาตุปกติ ด้วยการนำลำต้นมาต้มกับน้ำเพื่อรับประทาน
    – แก้อาการป่วยในเด็ก โดยนำลำต้นมาต้มให้เด็กที่มีอาการไม่สบายอาบ
  • สรรพคุณจากใบ
    – ช่วยลดไข้ แก้โรคผิวหนัง ด้วยการนำใบมาตำแล้วพอกศีรษะ
    – แก้อาการปวดบวม ด้วยการนำใบมาเผาให้ร้อนแล้ววางนาบไว้บนท้องหรือตามแขนขาที่บวม
    – บรรเทาอาการปวดเอว โดยชาวม้งนำใบมาต้มกับน้ำกินเป็นยาหรืออาจนำมาทุบแล้วใช้ประคบเอว
    สรรพคุณจากเมล็ด เป็นยาแก้คออักเสบ แก้ไข้
    สรรพคุณจากใบ ต้นและราก เป็นยาช่วยขับพิษร้อนถอนพิษไข้ ออกฤทธิ์ต่อหัวใจและปอด รักษาโรคทางเดินปัสสาวะที่ติดเชื้อ ช่วยลดอาการบวมน้ำ ช่วยขับพิษที่ติดจากเชื้อไวรัสหรือพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย แก้ปวดบวม แก้อักเสบ แก้กระเพาะอักเสบ แก้ไขข้อปวดบวม

ประโยชน์ของกระเช้าผีมด

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลสุกนำมารับประทานได้ ยอดอ่อนและใบอ่อนใช้นึ่งหรือลวกเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก เป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทแกง
2. ปลูกเป็นไม้ประดับ
3. อาหารของผีเสื้อ ใบใช้เป็นอาหารสำหรับการเลี้ยงผีเสื้อได้
4. เป็นส่วนประกอบของวัสดุ ชาวลัวะนำเปลือกต้นมาลอกออกแล้วนำเส้นใยมาสานสวิงได้เหมือนเส้นใยเพียด

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระเช้าผีมด

  • สารที่พบในกระเช้าผีมด พบสาร Aristolochic acid, Magnoorine เป็นต้น
  • ฤทธิ์ของกระเช้าผีมด กระเช้าผีมดมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย
  • พิษของกระเช้าผีมด กรด aristolochic ในกระเช้าผีมดมีความเป็นพิษต่อไตและก่อให้เกิดมะเร็ง

กระเช้าผีมด เป็นต้นที่มีรสเผ็ดขมในส่วนของต้น รากและใบ เป็นยาเย็นที่มีจุดเด่นในเรื่องของการแก้ไข้และดับพิษร้อนในร่างกาย ทว่ากระเช้าผีมดเป็นต้นที่หาได้ยากในประเทศไทย หากจะหาได้ก็มักจะพบตามป่าเขา สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย กระเช้าผีมดมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะราก ต้นและใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ช่วยแก้ไข้ แก้อาการปวดบวม รักษาโรคทางเดินปัสสาวะที่ติดเชื้อ เป็นต้นที่เหมาะในการปรับอุณหภูมิร่างกายที่ร้อนจากพิษไข้ให้เย็นขึ้นได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “กระเช้าผีมด”. หน้า 120-124.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “กระเช้าผีมด”. หน้า 206.
ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กระเช้าผีมด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [08 ก.ค. 2015].
ผีเสื้อแสนสวย. “การเพาะเลี้ยงผีเสื้อ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www3.ru.ac.th/research/butterfly/home.htm. [08 ก.ค. 2015].
Kalaiarasi V, Johnson M, Sivaraman A, Janakiraman N, Babu A, Narayani M. “PHYTOCHEMICAL AND ANTIBACTERIAL STUDIES ON ARISTOLOCHIA TAGALA CHAM”. Centre for Plant Biotechnology, Department of Plant Biology and Plant Biotechnology, St. Xavier’s College (Autonomous), Palayamkottai – 627 002, Tamil Nadu, India.
STUARTXCHANGE. “Timbañgan”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.stuartxchange.org. [08 ก.ค. 2015].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “กระเช้าผีมด”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [08 ก.ค. 2015].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/