เล็บเหยี่ยว แก้โรคเบาหวาน แก้มดลูกพิการ บำรุงกำลังและแก้ปวดเมื่อย

0
1744
เล็บเหยี่ยว แก้โรคเบาหวาน แก้มดลูกพิการ บำรุงกำลังและแก้ปวดเมื่อย
เล็บเหยี่ยว เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยเนื้อแข็ง ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่รสเปรี้ยวสีม่วงดำ ดอกสีเขียวอมเหลือง
เล็บเหยี่ยว แก้โรคเบาหวาน แก้มดลูกพิการ บำรุงกำลังและแก้ปวดเมื่อย
เล็บเหยี่ยว เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยเนื้อแข็ง ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่รสเปรี้ยวสีม่วงดำ ดอกสีเขียวอมเหลือง

เล็บเหยี่ยว

เล็บเหยี่ยว (Jackal Jujube) เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยเนื้อแข็งที่มีผลแก่รสเปรี้ยวและสามารถนำมารับประทานได้ มีดอกสีเขียวหรือสีเขียวอมเหลืองเล็ก ๆ มักจะพบตามป่าเขาและเป็นต้นที่นิยมในพื้นบ้านหรือชนชาวเขามากกว่า เล็บเหยี่ยวอยู่ในส่วนประกอบของตำรายาไทย ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาและในประเทศอินเดีย เป็นต้นที่คนทั่วไปไม่ค่อยนิยมหรือรู้จักกันมากเท่าไหร่แต่เป็นต้นชนิดหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับสตรีทีเดียว เพราะเป็นต้นที่ดีต่ออวัยวะมดลูกเป็นอย่างมาก

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของเล็บเยี่ยว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ziziphus oenopolia (L.) Mill.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Jackal Jujube” “Small – fruited Jujube” “Wild Jujube”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “พุทราขอ เล็ดเหยี่ยว เล็บเหยี่ยว” ภาคเหนือเรียกว่า “มะตันขอ หมากหนาม หนามเล็บเหยี่ยว” ภาคอีสานเรียกว่า “บักเล็บแมว” ภาคใต้เรียกว่า “ยับยิ้ว” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ตาฉู่แม โลชูมี” จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “เล็บแมว ยับเยี่ยว” จังหวัดนครศรีธรรมราชเรียกว่า “แสงคำ” จังหวัดสุราษฎร์ธานีและระนองเรียกว่า “สั่งคัน” คลองหอยโข่งสงขลาเรียกว่า “เล็บหยิ่ว ยับหยิ่ว”
ชื่อวงศ์ : วงศ์พุทรา (RHAMNACEAE)
ชื่อพ้อง : Rhamnus oenopolia L.

ลักษณะของเล็บเหยี่ยว

เล็บเหยี่ยว เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยเนื้อแข็งที่มีเขตการกระจายพันธุ์จากอนุทวีปอินเดียไปทางใต้ของประเทศจีนและทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย มักจะพบได้ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังและป่าคืนสภาพ
เถา : เถาและกิ่งมีหนามสั้นแหลมโค้ง เปลือกเถาเรียบหรือขรุขระเล็กน้อย เป็นสีดำเทา ส่วนกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีแดง
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปใบวงรี ปลายใบแหลม โคนใบเบี้ยวเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ แผ่นใบอ่อนทั้งสองด้านมีขนนุ่มสั้น ผิวใบด้านบนเรียบหรือมีขนด้วยเล็กน้อย ผิวใบด้านล่างมีขนนุ่มอยู่เป็นจำนวนมาก มีเส้นใบ 3 ใบ ออกจากฐานใบไปปลายใบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก มีขนเล็กน้อย ใบประดับช่อดอกมี 1 อัน มีขนกระจายอยู่ทั่วไป ดอกย่อยจะมีประมาณ 5 – 11 ดอก กลีบดอกย่อยมี 5 กลีบ เป็นสีเขียวหรือสีเขียวอมเหลือง รูปช้อนปลายกลมออกสลับกับกลีบเลี้ยง ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน เป็นสีเขียวอมเหลือง ก้านชูเกสรแบนติดอยู่ที่ฐานกลีบดอก ส่วนอับเรณูเป็นรูปสามเหลี่ยม เกสรเพศเมียมีรังไข่เหนือวงกลีบ รังไข่เกิดจาก 2 คาร์เพล ในแต่ละคาร์เพลจะมี 1 ช่องและ 1 ออวุล ก้านและยอดเกสรเพศเมียมีลักษณะคล้ายรูปขวด มีสีเขียวอมเหลือง กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ เป็นสีเขียวหรือสีเขียวอมเหลือง ปลายกลีบก้านนอกมีขนด้วยเล็กน้อย มักจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม
ผล : เป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ จะติดผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดแข็ง 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดค่อนข้างกลม

สรรพคุณของเล็บเหยี่ยว

  • สรรพคุณจากรากและเปลือกต้น
    – แก้โรคเบาหวาน โดยตำรายาไทยนำรากและเปลือกต้นมาต้มดื่มเป็นยา
    – ขับปัสสาวะ ขับระดูขาวของสตรี ช่วยแก้ฝีมุตกิดและฝีในมดลูกของสตรี ช่วยแก้มดลูกพิการ ด้วยการนำรากและเปลือกต้นมาต้มดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากลำต้น
    – บำรุงกำลังและแก้อาการปวดเมื่อย ด้วยการนำลำต้นตากแห้งมาผสมกับเปลือกลำต้นนางพญาเสือโคร่ง ลำต้นฮ่อสะพานควาย แก่นฝาง ข้าวหลามดง จะค่าน โด่ไม่รู้ล้ม ตานเหลือง ม้ากระทืบโรง ไม้มะดูกและหัวยาข้าวเย็น มาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – ช่วยทำให้มีกำลังหลังจากฟื้นไข้ โดยคนเมืองนำลำต้นมาผสมกับข้าวหลามดงและปูเลยแล้วนำมาปรุงเป็นยา
  • สรรพคุณจากผล ช่วยแก้อาการไอ ช่วยทำให้ชุ่มคอ ช่วยขับเสมหะ เป็นยาระบาย
  • สรรพคุณจากราก ช่วยในการย่อยและรักษาภาวะกรดเกิน ช่วยแก้อาการปวดท้องจากโรคกระเพาะอาหาร ประเทศอินเดียนำรากเป็นยาขับพยาธิตัวกลม เป็นยาช่วยสมานแผลและฆ่าเชื้อ
    – แก้ไอ ด้วยการนำรากผสมกับรากหญ้าคาและรากหญ้าชันกาด จากนั้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยา
    – แก้ผิดสาบ ด้วยการนำรากผสมกับรากชะอม รากรางแดง รากสามสิบ แก่นจันทน์ขาว แก่นจันทน์แดงและเขากวางมาฝนใส่ข้าวจ้าวกิน
    – แก้เล็บที่ห้อเลือด แก้ฝี ด้วยการนำรากฝนกับน้ำทา
    – แก้ตะคริว โดยตำรับยาพื้นบ้านล้านนานำรากผสมกับรากกำจาย รากดังดีด รากคนทา รากทองกวาว รากมะแว้งต้น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียวมาตำให้ละเอียดแล้วทำเป็นยาประคบ

ประโยชน์ของเล็บเหยี่ยว

เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลแก่มีรสเปรี้ยวนำมาทานได้

เล็บเหยี่ยว มีผลที่สามารถนำมารับประทานได้และเป็นส่วนที่ดีต่อลำคอเป็นอย่างมาก เป็นต้นที่นิยมในการนำมาทำเป็นยาสมุนไพรของตำรายาไทย ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาและในประเทศอินเดีย เล็บเหยี่ยวมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของรากและลำต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้โรคเบาหวาน แก้มดลูกพิการ แก้ไอ เป็นยาระบาย บำรุงกำลังและแก้อาการปวดเมื่อยได้ ถือเป็นต้นที่ดีมากต่อมดลูกของผู้หญิง ดังนั้นจึงเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับสาว ๆ

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เล็บเหยี่ยว”. หน้า 229 .
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เล็บเหยี่ยว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [31 พ.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ข้อมูลเล็บเหยี่ยว”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [31 พ.ค. 2014].
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “Ziziphus oenoplia”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: en.wikipedia.org/wiki/Ziziphus_oenoplia. [31 พ.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/