แจง ไม้ไทยหายาก ช่วยบำรุงร่างกาย ดีต่อระบบขับปัสสาวะ

แจง ไม้ไทยหายาก ช่วยบำรุงร่างกาย ดีต่อระบบขับปัสสาวะ
แจง หรือต้นแกง ต้นแจงเป็นต้นไม้หายาก เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กไม่ผลัด รรพคุณทางยาต่อร่างกายมากมาย
แจง ไม้ไทยหายาก ช่วยบำรุงร่างกาย ดีต่อระบบขับปัสสาวะ
แจง หรือต้นแกง ต้นแจงเป็นต้นไม้หายาก เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กไม่ผลัด รรพคุณทางยาต่อร่างกายมากมาย

แจง

แจง (Maerua siamensis) หรือเรียกอีกอย่างว่า “ต้นแกง” เป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยเรา ส่วนมากมักจะพบทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้นแจงเป็นต้นไม้หายากที่กำลังจะถูกลืมเพราะไม่เป็นที่รู้จักกันมากนักจึงควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง และยังเป็นต้นที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากและมีสรรพคุณทางยาต่อร่างกายมากมายอีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของแจง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Maerua siamensis (Kurz) Pax
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า “แกง” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “แก้ง แจ้ง”
ชื่อวงศ์ : วงศ์กุ่ม (CAPPARACEAE หรือ CAPPARIDACEAE)
ชื่อพ้อง : Crateva mucronulata Kuntze, Niebuhria siamensis Kurz

ลักษณะของต้นแจง

ต้นแจง เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กไม่ผลัดใบที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มักจะพบตามป่าละเมาะ ป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรังแล้ง ป่าโปร่งแห้ง เขาหินปูน
ลำต้น : แตกกิ่งแขนงมากมายคล้ายกับไม้พุ่ม กิ่งก้านแตกออกแผ่เป็นรูปร่ม
เปลือกต้น : เปลือกลำต้นเป็นสีเขียวเข้มจนเกือบดำ เปลือกเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ
ใบ : เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือออกสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 3 ใบ เป็นรูปไข่กลับ รูปขอบขนานหรือรูปแถบ ปลายใบสอบเรียวหรือกลม หรือเว้าตื้นเล็ก ๆ มีหนามแหลมสั้น ๆ โคนใบสอบเป็นรูปลิ่มหรือมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนาและเกลี้ยงทั้งสองด้าน แผ่นใบแตกแขนงมาก
ดอก : ออกดอกเป็นช่อเชิงหลั่นหรือช่อกระจะตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีเขียวอมสีขาว ไม่มีกลีบดอก แต่มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกรูปไข่ ขอบมีขนคล้ายกับเส้นไหม ออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม
ผล : เป็นรูปทรงกลมวงรีหรือรูปกระสวย ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม ออกผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 2 – 3 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไต

สรรพคุณของแจง

  • สรรพคุณจากราก แก้อาการป่วยจากร่างกายซูบผอม เสื่อมโทรม ปวดเมื่อยหรือโลหิตจาง รักษาฝีในคอ ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้อาการปัสสาวะปวดหรือปัสสาวะแบบกะปริดกะปรอย แก้อาการน้ำปัสสาวะขุ่นข้นหรืออาจมีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ แก้อาการปวดเมื่อย
    – บำรุงกำลังและบำรุงร่างกาย ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
    – แก้อาการบวม ด้วยการนำรากมาต้มแล้วนำไอน้ำมาอบ
  • สรรพคุณจากต้น
    – บำรุงธาตุในร่างกาย ทำให้กระปรี้กระเปร่าและแข็งแรง แก้อาการปวดหลัง ด้วยการนำต้นมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
  • สรรพคุณจากทั้งต้น แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้ดีพิการ
    – แก้ดีซ่าน แก้ไข้จับสั่น ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
    – แก้ขัดเบา ด้วยการนำต้นแจงทั้งห้า ชะพลู แก่นไม้สัก อย่างละ 3 ตำลึง มาใส่หม้อดินกับน้ำ 3 ส่วน แล้วต้มเคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน ใช้ดื่มเป็นยาเช้าเย็น
  • สรรพคุณจากแก่น แก้ไข้ตัวร้อน
  • สรรพคุณจากใบ แก้ฟันผุ
    – แก้อาการฟกช้ำ แก้อัมพฤกษ์อัมพาต ช่วยลดความปวดเมื่อยล้าสำหรับสตรีคลอดบุตร ด้วยการนำใบใช้เข้าลูกประคบเป็นยา
  • สรรพคุณจากยอดอ่อน
    – รักษาโรครำมะนาด แก้อาการปวดฟัน ด้วยการนำยอดอ่อนมาผสมกับเกลือ
    – แก้ตาฝ้าฟาง ด้วยการนำยอดอ่อนมาต้มแล้วใช้ล้างหน้า
  • สรรพคุณจากเปลือกต้น ราก ใบ
    – แก้ดีซ่าน แก้ไข้มาลาเรีย แก้อาการหน้ามืดตาฟาง ด้วยการนำเปลือกต้น รากและใบมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
  • สรรพคุณจากใบและยอด เป็นยาแก้ไข้
    – ทำให้ฟันทน ปากหอม ฟันขาวสะอาดสดชื่น ด้วยการนำใบและยอดมาตำหรือโขลกให้พอแหลกแล้วปั้นกลม ๆ เป็นลูกกลอนขนาดเท่าหัวแม่มือนำมาใช้สีฟัน
    – เป็นยาฆ่าแมงกินฟัน ด้วยการนำใบและยอดมาตำหรือโขลกให้พอแหลกแล้วปั้นกลม ๆ เป็นลูกกลอนขนาดเท่าหัวแม่มือนำมาใช้อม
  • สรรพคุณจากเปลือกและราก
    – แก้อัมพฤกษ์อัมพาต ด้วยการนำเปลือกไม้และรากมาต้มอาบ อบหรือกินแก้อาการ

ประโยชน์ของแจง

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ดอกอ่อนและยอดอ่อนนำมาดองใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริก ซึ่งคนอีสานเรียกว่า “คั้นส้ม”
2. เป็นความเชื่อของคนอีสาน เชื่อว่าหากได้รับประทานคั้นส้มของยอดอ่อนปีละครั้งจะช่วยป้องกันสภาวะสายตายาวได้ และยังช่วยบำรุงสายตาได้ดี
3. ใช้ในการเกษตร ผลใช้เป็นอาหารของนกได้ ในสมัยก่อนนำใบมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาขนสัตว์
4. เป็นไม้ปลูกประดับ ดอกและผลมีลักษณะสวยงามและแปลกตา สามารถปลูกให้ความร่มรื่นและร่มเงาได้
5. ใช้ในอุตสาหกรรม ลำต้นเป็นส่วนผสมหลักในการผลิตลูกแป้งหรือแป้งข้าวหมาก ไม้สีขาวอ่อนนิยมนำมาเผาเอาถ่าน
6. ใช้ในการเรียนรู้ นิยมนำมาใช้เป็นตัวอย่างในการเรียนการสอนทางชีววิทยาเนื่องจากต้นแจงสามารถดูอายุขัยของวงปีต้นไม้ได้

แจง เป็นต้นที่มีประโยชน์มากมายหลายด้าน สามารถนำทั้งต้นมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ นอกจากนั้นยังมีดอกที่สวยงามจนนำมาปลูกประดับไว้ได้เช่นกัน มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ บำรุงร่างกาย แก้ไข้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขับปัสสาวะ และช่วยรักษาฟันได้ดีอีกด้วย เป็นต้นไม้ไทยที่คู่ควรแก่การรักษาและอนุรักษ์ไว้อย่างยิ่ง

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “แจง”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 90.
ป่าไม้และพรรณพฤกษชาติ หมู่เกาะแสมสาร, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “พรรณไม้ของสังคมพืชป่าดิบแล้ง (ฝั่งทะเล)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/exploration/sms_plants/. [3 มี.ค. 2014].
ฐานข้อมูลชนิดพรรณพืช พื้นที่เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี, คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “แจง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.en.mahidol.ac.th/conservation/. [3 มี.ค. 2014].
ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “แจง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [3 มี.ค. 2014].
บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “แจง”. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [3 มี.ค. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “แจง”. อ้างอิงใน: หนังสือ Flora of Thailand, Volume 5, Part 3, Page 266-267. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [3 มี.ค. 2014].
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี. “แจง”. อ้างอิงใน : หนังสือไม้ดอกไม้ประดับ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.skn.ac.th. [3 มี.ค. 2014].
สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “แจง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [3 มี.ค. 2014].
หน่วยงานอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “แจง พันธุ์ไม้อันทรงคุณค่าในสยามกำลังถูกลืม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rdi.ku.ac.th. [3 มี.ค. 2014].
พรรณไม้งาม, ฝ่ายอาคารสถานที่และซ่อมบำรุง มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์. “แจง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dpu.ac.th/building/. [3 มี.ค. 2014].