สาเหตุและอาการของโรคซึมเศร้า

0
10313
สาเหตุและอาการของโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ที่ผู้ป่วยอาจรู้สึกเศร้า สิ้นหวัง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือรู้สึกว่าตนด้อยค่า เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่โดยมากมักเริ่มตั้งแต่ช่วงอายุ 20-30 ปี
สาเหตุและอาการของโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ที่ผู้ป่วยอาจรู้สึกเศร้า สิ้นหวัง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือรู้สึกว่าตนด้อยค่า เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย

โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า (Depression) คือ คนที่มีความผิดปกติของสารสื่อประสาทภายในสมอง ทำให้การกระทำและความคิดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม  ซึ่งโรคซึมเศร้าอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต อาการของโรคซึมเศร้าที่พบได้บ่อย คือ ไม่สนใจทำกิจกรรมต่างๆ เบื่ออาหารหรือเจริญอาหารผิดปกติ กระวนกระวายใจ จิตใจเลื่อนลอย ทำอะไรก็รู้สึกว่าไม่มีความสุข รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า อ่อนเพลียง่าย ไม่มีสมาธิ ไม่กล้าตัดสินใจ โรคซึมเศร้าจัดเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่เกิดจาการมีปัญหาทางด้านอารมณ์และการควบคุมอารมณ์ของตัวเอง โรคซึมเศร้าจะส่งผลต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้ป่วย คนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ไม่เช่นนั้นอาการของโรคอาจจะกำเริบจนเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตายได้ โดยโรคซึมเศร้าสามารถแบ่งออกได้ 6 ชนิด ดังนี้

ประเภทของโรคซึมเศร้า

1. โรคซึมเศร้าแบบรุนแรง ( Major Depression ) ผู้ป่วยจะมีอาการซึมเศร้าอย่างหนักและเห็นชัดเจนประมาณ 2 สัปดาห์ต่อเนื่อง ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีอาการที่รุนแรงถึงขนาดฆ่าตัวตายได้

2. โรคซึมเศร้าแบบเรื้อรัง ( Dysthymia Depression ) ผู้ป่วยจะมีอาการซึมเศร้าเกิดขึ้นเป็นระยะๆ คือ แสดงอาการบ้างไม่แสดงอาการบ้าง เวลาที่แสดงอาการก็จะรู้สึกหมดอาลัยในชีวิตไม่อยากทำกิจกรรม แต่บางเวลาก็กลับมาเป็นปกติเหมือนคนที่ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าแบบนี้มักจะมีอาการตั้งแต่วัยรุ่นหรือวัยทำงานโดยที่ไม่รู้ตัว สามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นได้อย่างปกติ แต่ตัวเองจะรู้สึกว่าไม่มีค่าพอที่จะมีความสุข ชอบเก็บตัวอยู่คนเดียวไม่ชอบเข้าสังคมกับคนอื่นเท่าที่ควร ขาดสมาธิ ใจลอย มองโลกในแง่ร้าย ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจจะเกิดสภาวะซึมเศร้าแบบรุนแรงได้ ถ้าได้รับความกดดัน ความเครียด ผิดหวังจากความรักหรือการสูญเสียสิ่งที่รักอย่างกระทันหัน

3. โรคอารมณ์สองขั้ว ( Bipolar Disorder ) คือ ประเดี๋ยวดีประเดี๋ยวร้ายสลับกันไปมา ช่วงที่มีอารมณ์ดีก็ดีมาก ช่างพูดช่างคุยแต่ถ้าได้รับการขัดใจจะหงุดหงิดง่ายพร้อมที่จะอาละวาดทันทีสลับกับช่วงอารมณ์ซึมเศร้า เบื่อหน่ายกับชีวิต รู้สึกว่าชีวิตไม่มีความสุข ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าแบบนี้มักที่จะตัดสินใจทำสิ่งใดด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล และถ้ามีอาการซึมเศร้าแบบรุนแรงแทรกขึ้นมาก็อาจจะฆ่าตัวตายได้เช่นกัน

4. โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล โรคซึมเศร้าแบบนี้จะพบได้ในฤดูกาลหนาวที่แสงแดดน้อย มีสภาพอากาศที่มืดมัวทำให้รู้สึกหดหู่ ไม่มีชีวิตชีวา รู้สึกว่าตัวเองเฉื่อยชาไม่มีพลังงาน บางรายอาจจะซึมเศร้าจนถึงขั้นฆ่าตัวตายได้เลย

5. โรคซึมเศร้าหลังคลอด โรคซึมเศร้าชนิดนี้จะเกิดกับผู้หญิงหลังคลอดประมาณ 1% เท่านั้น อาการที่พบคือ เหม่อลอย ร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล ไม่สนใจลูกตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความรักจากคนรอบข้าง ซึ่งโรคซึมเศร้าชนิดนี้จะหายไปเองหลังคลอดประมาณ 1 ปีหรือน้อยกว่าขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน

6. โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น มีลักษณะคล้ายกับโรคสมาธิสั้นจึงทำให้พ่อแม่เข้าใจผิดกันมาก อาการของโรค คือ เด็กหรือวัยรุ่นจะมีอารมณ์ฉุนเฉียว โวยวาย เจ้าอารมณ์เมื่อไม่ได้ดั่งใจ คิดว่าพ่อแม่ไม่รัก ไม่มีสมาธิในการเรียน ชอบเก็บอยู่คนเดียว ไม่เล่นหรือไม่ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

สาเหตุของโรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทที่อยู่ในสมอง 3 ชนิดด้วยกัน คือ สารซีโรโตนิน สารนอร์เอฟิเนฟรินและสารโดปามีน สารสื่อประสาทมีหน้าที่ส่งสัญญาณประสาทผ่านเซลล์ ช่องว่างระหว่างเซลล์ เพื่อให้ส่วนต่างๆ ของสมอง เช่น ไขสันหลัง เส้นประสาท กล้ามเนื้อ เป็นต้น ให้ได้รับสัญญาณอย่างทั่วถึงและครบถ้วน แต่ถ้าสารสื่อประสาทเกิดความผิดปกติหรือขาดความสมดุลแล้ว การสื่อสารภายในสมองก็จะเกิดความผิดพลาดเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า โดยที่สารสื่อประสาทแต่ละตัวจะมีหน้าที่ดังนี้

1. สารซีโรโตนิน ( Serotonin ) เป็นสารสื่อประสาทที่มีหน้าที่ในการควบคุมอารมณ์ความรู้สึก ความโกรธ ความหิว อุณหภูมิภายของร่างกาย การับรู้และความเจ็บปวด ว่าสารตัวนี้ทำหน้าที่ควบคุมวงจรชีวิตว่าเวลานี้เราต้องทำอะไร เช่น เมื่อถึงเวลาที่ต้องกินก็จะรู้สึกหิว เมื่อถึงเวลานอนก็จะรู้สึกง่วงนอนเป็นต้น

2. สารนอร์เอฟิเนฟริน ( Norepinephrine ) เป็นสารสื่อประสาทที่มีหน้าที่ในการควบคุมการตื่นตัว กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทและควบคุมการแสดงออกเวลาที่รู้สึกกลัว

3. สารโดปามีน ( Dopamine ) เป็นสารที่มีหน้าที่ในการควบคุมสมาธิ ควบคุมอารมณ์และกระตุ้นประสาทสัมผัส่ต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว เวลาที่ร่างกายมีสารโดปามีนมาคือเวลาที่เรามีความสุข ความยินดี และความรัก จนบางครั้งเราเรียกสารนี้ว่า “ สารเคมีแห่งรัก ” ( Chemical of love )

จะพบว่าสารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้เป็นสารสื่อประสาทที่มีหน้าที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกคล้ายกัน และร่างกายของเราจะหลั่งสารออกมาในอัตราส่วนที่เท่าๆ กันหรือสมดุลกัน แต่ถ้าร่างกายมีการหลั่งสารชนิดใดชนิดหนึ่งมากกว่ากันจะทำให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้าได้นั่นเอง

สาเหตุของโรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทที่อยู่ในสมอง 3 ชนิดด้วยกัน คือ สารซีโรโตนิน สารนอร์เอฟิเนฟรินและสารโดปามีน

โดยปกติแล้วสารแต่ละตัวจะหลั่งออกมาในปริมาณที่สมดุลกัน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและอารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น แต่ก็มีสาเหตุที่ทำให้ร่างกายหลังสารแต่ละชนิดออกมาไม่เท่ากัน ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า คือ

1. พันธุกรรม ผู้ที่มีครอบครัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนปกติมากถึง 2-3 เท่า ส่วนมากจะเป็นโรคซึมเศร้าแบบเรื้อรัง คือ จะมีอาการป่วยเป็นระยะเวลานาน อาการซึมเศร้าก็จะเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา เวลาที่โรคกำเริบก็จะมีอาการซึมเศร้าอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่ออาการหายไปก็จะกลับมาเหมือนคนปกติทุกประการ สาเหตุของโรคซึมเศร้าจากพันธุกรรมนี้เกิดจากความผิดปกติของสารซีโรโทนิน ( Serotonin ) และสารนอร์เอฟิเนฟิน ( Norepinephrine ) ที่ลดน้อยลง

2. ความผิดปกติทางร่างกาย อาการป่วยเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับสมอง เช่น โรคหลอดเลือดแข็งตัวชนิด Arteriosclerosis โรคเส้นเลือดอุดตันหรือแตกในสมอง โรคเนื้องอกในสมอง หรือการได้รับอุบัติเหตุทางสมอง รวมถึงโรคที่ส่งผลต่อสมองอย่าง โรคหัวใจ โรคพาร์กินสัน โรคตับอักเสบ โรคเหล่านี้ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้เนื่องจากโรคส่งผลกระทบกับการสร้างสื่อประสาทในสมองทำให้สมองสร้างสารสื่อประสาทเกิดความผิดปกติเป็นที่มาของโรคซึมเศร้า

3. จิตใจ ( Psychological Case ) สาเหตุทางด้านจิตใจนี้มีผลทำให้มีผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้โดยเฉพาะโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรงและเฉียบพลัน ถ้าคนปกติได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจครั้งแรกก็จะยังไม่เป็นโรคซึมเศร้า แต่ถ้าได้รับความกระทบกระเทือนหลายๆ ครั้งอาจจะทำให้เป็นโรคซึมเศร้าแบบรุนแรงหรือเรื้อรังได้ สาเหตุด้านจิตใจที่พบได้ คือ การสูญเสียคนรัก การล้มเหลวในชีวิต ความผิดพลาดในการทำงาน ความรู้สึกกดดันที่ไม่สามารถระบายออกมาได้ หรือคนที่รู้สึกสิ้นหวัง ภายนอกจะเหมือนคนปกติทั่วไป แต่ว่าภายในจิตใจนั้นจะรู้สึกสับสน ขาดความมั่นใจ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าไม่รู้จะอยู่ต่อไปเพื่ออะไรเพราะชีวิตนี้สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างไปหมดสิ้นแล้ว

4. สังคม ( Social Case ) ความกดดันทางด้านสังคมทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่มีการแก่งแย่งแข่งขันกันสูงมาก ตั้งแต่อายุยังน้อยก็มีการแข่งขันเรื่องการเรียน พอทำงานก็มีการแข่งขันกันในที่ทำงานเพื่อให้ได้ตำแหน่งหน้าที่หรือได้ทำงานในสถานที่ดีๆ คนที่ทำธุรกิจก็ต้องแข่งขันเพื่อให้ได้ลูกค้า สินค้าขายได้มากขึ้น มีกำไรเป็นกอบเป็นกำ แต่เมื่อไม่ได้ดังหวังหรือประสบสภาวะขาดทุนเนื่องจากเศรษฐกิจก็ทำให้เกิดความเครียด ซึ่งความเครียดนี้ไม่ว่ามากหรือน้อยก็ทำให้สารสื่อประสาทเสียสมดุลทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้

อาการของโรคซึมเศร้า

ผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามักมีอาการดังต่อไปนี้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์

  • เก็บตัว แยกตัวออกจากสังคม
  • รู้สึกเศร้า ท้อแท้ และสิ้นหวัง
  • รู้สึกตนเองไร้ค่า
  • รู้สึกผิดและโทษตนเองตลอดเวลา
  • ขาดความสนใจหรือความเพลิดเพลินในการทำกิจกรรมต่างๆ
  • เคลื่อนไหวช้างลงหรือกระสับกระส่าย
  • เหนื่อยและอ่อนเพลียตลอดเวลา
  • ขาดสมาธิ ความสามารถในการคิดและการตัดสินใจน้อยลง
  • เบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากขึ้น
  • นอนมากหรือน้อยกว่าปกติ
  • มีความคิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย
  • มีปัญหาในการทำงานและการใช้ชีวิตในสังคม

การรักษาอาการโรคซึมเศร้า

สาเหตุที่ทำให้คนส่วนมากป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากันมาก เกิดจากสภาพทางจิตใจและความเครียดที่คนในสังคมปัจจุบันได้รับความกดดันกันเป็นอย่างมาก ช่วงแรกๆ อาการอาจจะเป็นไม่มากแต่เมื่อได้รับความกดดัน ความเครียดหรือเกิดการสูญเสียผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า อาการของโรคซึมเศร้าก็จะรุ่นแรงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นฆ่าตัวตายได้ จะเห็นว่าโรคซึมเศร้านั้นเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง การรักษาโรคซึมเศร้านั้นมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน ดังนี้

1. การรักษาด้วยการกินยา การรักษาแบบนี้ผู้ป่วยจะได้รับยาตามคำวินิจฉัยของแพทย์ โดยยาแก้โรคซึมเศร้า ( Antidepressants Drugs ) นั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่มใหญ่ตามโครงสร้างของตัวยา คือ

  • กลุ่มที่มีโครงสร้างแบบ Tricyclic หรือ Tricyclic Antidepressants ( TCAs )
  • กลุ่ม Monoamine Oxidase Inhibitors
  • กลุ่ม SSRI ( Serotonin-Specific Reptake Inhibitor )

ยาแก้โรคซึมเศร้าจะช่วยรักษาลดความกังวลทำให้กับผู้ป่วยหายจากโรคซึมเศร้า เมื่อผู้ป่วยรับประทานยาต่อเนื่อง 2- 3 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น แต่ต้องกินยาจนหายสนิทถึงจะหยุดทานยาได้ เพราะถ้าหยุดยาโดยที่อาการยังไม่หาย โรคก็อาจจะกลับมากำเริบได้อีก การหยุดยาจึงต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์เท่านั้นห้ามหยุดโดยที่แพทย์ไม่ได้สั่งอย่างเด็ดขาด

2. การรักษาโดยการเปลี่ยนพฤติกรรม ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะไม่อยากทำกิจกรรมใดๆ ทั้งสิ้น เอาแต่นั่งหรือนอนในสมองก็คิดเลื่อยเปื่อยไร้สาระ คิดโทษตัวเองว่าไม่ดี ไม่เก่ง ไม่น่าจะเกิดมาเลยหรือคิดถึงแต่สิ่งที่ไม่ดีในชีวิต การรักษาด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ป่วยต้องตั้งใจทำด้วยตัวเอง โดยหากิจกรรมที่ทำแล้วตัวเองรู้สึกมีค่า ทำแล้วสามารถทำให้สำเร็จได้โดยง่าย ถึงกิจกรรมนั้นอาจจะไม่ได้สร้างมูลค่าทางการเงินแต่ก็สร้างคุณค่าทางด้านจิตใจให้ผ็ป่วยรู้สึกว่าทำได้ทำประสบความสำเร็จด้วย และยังช่วยลดความฟุ้งซ่านของผู้ป่วยไม่ให้คิดมากอีกด้วย เช่น การจัดตู้เสื้อผ้า การกวาดบ้านถูบ้าน การล้างรถ รถน้ำต้นไม้ เป็นต้น

3. การรักษาด้วยไฟฟ้า ( Electroconvulsive Therapy หรือ ECT ) เป็นการรักษาในผู้ป่วยที่คิดฆ่าตัวตายหรือมีอาการขั้นรุนแรงมากๆ เท่านั้น โดยการปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าสู่สมองของผู้ป่วยเพื่อกระตุ้นสมองและปรับสารสื่อประสาทภายในสมอง ในขณะที่ทำการรักษาผู้ป่วยจะมีอาการชัก ( Convulsion ) เกิดขึ้น ทำให้หลายคนมีความเข้าใจผิดจนไม่ยอมรับการรักษาด้วยวิธีนี้ แต่จริงๆ แล้ววิธีการรักษาด้วยไฟฟ้านี้ได้รับผลที่ดีมาก ผู้ป่วยสามารถหายจากโรคซึมเศร้าได้ในการรักษาเพียงครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น

อาหารที่ไม่เหมาะกับผู้ป่วยซึมเศร้า

  • เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ชา กาแฟ ชานมไข่มุก และน้ำอัดลมบางยี่ห้อ ทำให้นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย
  • น้ำผลไม้ ตะกูลส้ม เสาวรส องุ่น เป็นต้น
  • อาหารเสริม อาหารเสริมบางอย่างขัดขวางากรออกฤทธิ์ของยาที่รักษา ทำให้มีความวิตกกังวล
  • ถั่วปากอ่า มีสารไทรามีนสูง
  • ไส้กรอก มีสารไทรามีนสูง
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์กดระบบประสาทและสมอง

แบบทดสอบภาวะซึมเศร้า

โปรดใส่คะแนนให้ตรงกับคำตอบของท่าน
( เกณฑ์ให้คะแนน: ไม่เลย = 0, มีบางวันหรือไม่บ่อย = 1, มีค่อนข้างบ่อย = 2, มีเกือบทุกวัน = 3 )

ในช่วง 2 สัปดาห์ ที่ผ่านมา ท่านมีอาการดังต่อไปนี้บ่อยแค่ไหน ? ระดับคะแนน
เบื่อ ทำอะไร ๆ ก็ไม่เพลิดเพลิน
ไม่สบายใจ ซึมเศร้า หรือท้อแท้
หลับยาก หรือหลับ ๆ ตื่น ๆ หรือหลับมากไป
เหนื่อยง่าย หรือไม่ค่อยมีแรง
เบื่ออาหาร หรือกินมากเกินไป
รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง คิดว่าตัวเองล้มเหลว หรือเป็นคนทำให้ตัวเอง หรือครอบครัวผิดหวัง
สมาธิไม่ดีเวลาทำอะไร เช่น ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ หรือทำงานที่ต้องใช้ความตั้งใจ
พูดหรือทำอะไรช้าจนคนอื่นมองเห็น หรือกระสับกระส่ายจนท่านอยู่ไม่นิ่งเหมือนเคย
คิดทำร้ายตนเอง หรือคิดว่าถ้าตาย ๆ ไปคงจะดี
ผลคะแนนรวม

ค่าการแปรผลและคำแนะนำ
คะแนนรวม 5-8      มีความผิดปกติ แต่ยังไม่มีภาวะซึมเศร้า ( ควรพักผ่อน ออกกำลังกาย หรือหาคนปรึกษา )
คะแนนรวม 9-14    มีภาวะซึมเศร้าเล็กน้อย ( หากมีผลกระทบต่อการทำงาน การดูแลสิ่งต่างๆในบ้าน หรือการเข้ากับผู้อื่น ควรพบแพทย์และให้การช่วยเหลือ )
คะแนนรวม 15-19  มีภาวะซึมเศร้าปานกลาง ( พบแพทย์เพื่อประเมินอาการและให้การช่วยเหลือ )
คะแนนรวม >20     มีภาวะซึมเศร้ารุนแรง ( พบแพทย์เพื่อประเมินอาการและให้การช่วย

แบบทดสอบการประเมินนี้เป็นการประเมินระดับภาวะซึมเศร้าในขั้นต้น ผลการประเมินและคำแนะนำที่ได้รับจึงไม่สามารถใช้แทนการตัดสินใจของแพทย์ได้ การตรวจรักษาเพิ่มเติมหรือการให้ยารักษาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และการปรึกษากันระหว่างแพทย์และตัวท่าน

โรคซึมเศร้านั้นเป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนยุคปัจจุบันนี้ เนื่องจากชีวิตที่เคร่งเครียดและความกดดันจากคนรอบข้าง เราจึงควรใส่ใจดูแลตัวเองและคนรอบข้าง หมั่นสังเกตว่ามีอาการของโรคซึมเศร้าเกิดหรือไม่ ถ้ามีจะได้ทำการรักษาเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อลดความอันตรายของโรคซึมเศร้าที่อาจพรากคนที่เรารักไปจากเราโดยไม่รู้ตัว

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมตามลิ้งค์ด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง

Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (DSM-5), Fifth Edition (5 ed.). American Psychiatric Association. 2013. ISBN 978-0-89042-555-8. 2016-07-22.

Richards, C. Steven; O’Hara, Michael W. (2014). The Oxford Handbook of Depression and Comorbidity (ใน English). Oxford University Press. p. 254. ISBN 9780199797042.