พญาดง สมุนไพรของชาวเขาและชาวเผ่า ยาดีต่อระบบขับถ่าย

0
1629
พญาดง สมุนไพรของชาวเขาและชาวเผ่า ยาดีต่อระบบขับถ่าย
พญาดง เป็นพรรณไม้ล้มลุก ดอกเป็นช่อ ผลสดค่อนข้างกลม มีสีน้ำเงินเข้ม
พญาดง สมุนไพรของชาวเขาและชาวเผ่า ยาดีต่อระบบขับถ่าย
พญาดง เป็นพรรณไม้ล้มลุก ดอกเป็นช่อ ผลสดค่อนข้างกลม มีสีน้ำเงินเข้ม

พญาดง

พญาดง (Persicaria chinensis) เป็นต้นที่มีผลสีน้ำเงินเข้มและมีดอกสีขาวหรือสีชมพู สามารถนำผลสุก ยอดอ่อนและใบมารับประทานได้ เป็นอาหารของชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน ชาวลัวะ ชาวปะหล่องและชาวเมี่ยน ถือเป็นต้นยอดนิยมของชนชาวเผ่าอย่างแท้จริง นอกจากนั้นยังเป็นยาสมุนไพรที่ชาวเขาเผ่าแม้ว ชาวเขาเผ่าอีก้อ มูเซอและตำรายาพื้นบ้านล้านนาใช้เป็นส่วนผสมในการปรุงยารักษาอีกด้วย

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของพญาดง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Persicaria chinensis (L.) H. Gross
ชื่อท้องถิ่น : ภาคกลางเรียกว่า “เอื้องเพ็ดม้า” ภาคเหนือเรียกว่า “ผักบังใบ ผักไผ่น้ำ” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “หน่อกล่ะอึ” ชาวลัวะเรียกว่า “มีส้อย ลำถ้อย” ชาวปะหล่องเรียกว่า “ปร้างเจงบั้ว” ชาวเมี่ยนเรียกว่า “โพ้งลิ่น”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักไผ่ (POLYGONACEAE)
ชื่อพ้อง : Polygonum chinense L.

ลักษณะของพญาดง

พญาดง เป็นพรรณไม้ล้มลุกเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่น
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ผิวใบเรียบหรือมีขน มีหูใบเป็นปลอกหุ้มลำต้น
ดอก : ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกตามซอกใบ มีดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีชมพู
ผล : เป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปเกือบกลม มีสีน้ำเงินเข้ม

สรรพคุณของพญาดง

  • สรรพคุณจากราก
    – แก้อาการปวดท้องน้อยสำหรับกามโรค ชาวเขาเผ่าแม้วนำรากมาผสมกับรากสากเหล็ก รากหนามแน่และรากปัวชุนเยแล้วมาต้มกับน้ำเพื่อดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากใบ
    – แก้อาการปัสสาวะขัด ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำเพื่อดื่มเป็นยา แต่ห้ามใช้ในขณะมีรอบเดือน
    – ทำให้หยุดมีประจำเดือน ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำเพื่อดื่มเป็นยา แต่ห้ามใช้กับสตรีที่ยังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์และสตรีมีครรภ์เด็ดขาด
  • สรรพคุณจากเหง้า
    – แก้หนองใน ชาวเขาเผ่าแม้วนำเหง้าผสมกับเหง้าเอื้องหมายนาและว่านกีบแรดมาต้มกับน้ำเพื่อดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากทั้งต้น
    – แก้นิ่ว ด้วยการนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำแล้วดื่มเป็นยา
    – แก้อาการปวดท้องไส้ติ่งที่มีอาการไม่มาก ด้วยการนำทั้งต้นมาทุบห่อผ้าหมดไฟเพื่อใช้เป็นยาประคบ
  • สรรพคุณจากใบและทั้งต้น
    – เป็นยาถ่ายพยาธิ ชาวเขาเผ่าอีก้อ มูเซอนำใบหรือทั้งต้นมาต้มกับน้ำเพื่อดื่มเป็นยา
    – ช่วยห้ามเลือด รักษาแผลสด แผลเปื่อย แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ด้วยการนำใบหรือทั้งต้นมาตำแล้วพอก
    – แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน หูด ฝี หนอง ฆ่าเชื้อโรค ด้วยการนำใบหรือทั้งต้นมาตำหรือคั้นเอาน้ำมาทาหรือพอก
  • สรรพคุณจากรากหรือเหง้า
    – แก้โรคหนองใน ตำรายาพื้นบ้านล้านนานำรากหรือเหง้าผสมกับรากขี้ครอก โดยใช้อย่างละเท่ากันมาหั่นเป็นชิ้นเล็กแล้วนำไปต้ม ทำการเคี่ยวให้ข้นเพื่อใช้ดื่มเป็นยา
  • สรรพคุณจากใบหรือยอด
    – แก้โรคหนองใน ด้วยการนำใบหรือยอดมาผสมกับรากส้มกุ้งแล้วต้มกับน้ำเพื่อดื่มเป็นยา

ประโยชน์ของพญาดง

เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลสุกนำมารับประทานได้ ชาวลัวะนำยอดอ่อนมาทานโดยจิ้มกับเกลือ ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนนำยอดอ่อนไปย่างกับไฟทานกับน้ำพริก ชาวปะหล่องนำใบมาสับให้ละเอียดใช้เป็นส่วนผสมในการทำลาบ ชาวเมี่ยนนำใบมาต้มกับน้ำแล้วนำน้ำที่ได้มาใช้เป็นส่วนผสมในการทำแป้งเหล้า

พญาดง เป็นต้นที่มีผลสุกรสเปรี้ยวและเป็นอาหารยอดนิยมของชาวเขาและชาวเผ่า รวมถึงชาวกะเหรี่ยงด้วย แต่ผู้หญิงที่มีประจำเดือนควรระมัดระวังในการทานพญาดงเพราะอาจจะมีฤทธิ์ทำให้ประจำเดือนชะงักได้ เป็นต้นที่นิยมใช้เป็นยาสมุนไพรในหลายชนเผ่า พญาดงมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะใบและทั้งต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้โรคหนองใน แก้นิ่ว แก้อาการปัสสาวะขัดและเป็นยาถ่ายพยาธิ ถือเป็นต้นที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเกี่ยวกับระบบขับถ่าย

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “พญาดง”. หน้า 175.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “พญาดง, ผักไผ่”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [11 พ.ย. 2014].