มะเหลี่ยมหิน
มะเหลี่ยมหิน (Rhus chinensis Mill) เป็นต้นที่ผลมีรสเปรี้ยวและชาวเผ่าในเชียงใหม่นิยมนำมารับประทานและใช้เป็นยาสมุนไพร เป็นต้นที่นิยมในชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่ ชาวเขาเผ่าอีก้อ ตำรับยาพื้นบ้านล้านนา ชาวลัวะ ชาวมูเซอและคนเมืองก็นิยมนำมะเหลี่ยมหินมาทาน เป็นไม้ยืนต้นที่ภายนอกไม่ค่อยมีลักษณะโดดเด่นแต่เป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับชาวพื้นเมืองหรือชาวเผ่าทั่วไป
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของมะเหลี่ยมหิน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhus chinensis Mill.
ชื่อท้องถิ่น : จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “มะเหลี่ยมหิน ซุง” จังหวัดชัยภูมิเรียกว่า “สำค้ำ” จังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายเรียกว่า “มะผด ส้มผด” ชาวเย้าเชียงใหม่เรียกว่า “ตะซาย” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “เส่ฉี่” ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียกว่า “เส่ชิ” ชาวลัวะเรียกว่า “ลำยึ ไม้สมโพด แผละยึ เพี๊ยะยึ มักพด”
ชื่อวงศ์ : วงศ์มะม่วง (ANACARDIACEAE)
ชื่อพ้อง : Rhus javanica var. chinensis (Mill.) T.Yamaz.
ลักษณะของมะเหลี่ยมหิน
มะเหลี่ยมหิน เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่มักจะพบในป่าดงดิบหรือที่ชื้นทั่วไป
เปลือก : เปลือกนอกเป็นสีน้ำตาลอมขาวหม่นและมีรูอากาศขนาดใหญ่สีน้ำตาลอมขาวหม่น เมื่อแก่จะมีรูอากาศขนาดใหญ่สีน้ำตาลอมแดงเรียงกันเป็นแถว เปลือกด้านในเป็นสีขาวหม่น มียางสีขาวหม่นหรือขาวอมเหลือง กิ่งเปราะ ตามกิ่งอ่อนมีขนละเอียด
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ออกเรียงสลับระหว่างช่อเวียนรอบกิ่งหรือต้น แกนในร่วมแบนข้างเล็กน้อย แผ่เป็นสันคล้ายปีก ใบย่อยไม่มีก้านใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่กว้าง รูปไข่แกมขอบขนานไปจนถึงรูปใบหอก รูปใบหอกหรือรูปวงรีแกมใบหอก ปลายใบเรียวแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบโค้งมนหรือสอบแคบ สองข้างใบไม่สมมาตรกัน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยขนาดเล็ก ใบอ่อนมีขนละเอียดสีน้ำตาลขึ้นปกคลุมค่อนข้างหนาแน่น เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม แผ่นใบสดมีขนละเอียดสีน้ำตาลเฉพาะบนเส้นใบด้านบน ส่วนล่างมีแบบเดียวกันปกคลุมค่อนข้างหนาแน่น ใบแก่จะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มก่อนจะร่วง ใบมักจะมีแมลงขนาดเล็กคล้ายแมลงหวี่มาทำลาย ทำให้เกิดปมเป็นตุ่มขนาดใหญ่สีแดงงอกออกมาเป็นกลุ่มคล้ายผล ซึ่งจะเห็นกระจายอยู่ทั่วทั้งต้นได้ชัดเจน
ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจะแยกแขนงขนาดใหญ่บริเวณปลายกิ่ง ช่อดอกมีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศหรืออาจแยกเพศแยกช่ออยู่บนต้นเดียวกันหรือต่างต้นกัน ดอกย่อยมีขนาดเล็ก กลีบเลี้ยงสั้นและโคนเชื่อมติดกัน ส่วนปลายแยกออกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยม 5 แฉก กลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปวงรีกว้างหรือรูปขอบขนาน กลีบดอกเป็นสีขาวแกมเหลืองหรือสีเหลืองอ่อนอมเขียวอ่อน มีเกสรเพศผู้ 5 อัน เรียงล้อมรอบหมอนรองดอกที่มี 5 พู รังไข่ค่อนข้างกลมนูนอยู่เหนือฐานวงกลีบรวม มีขนละเอียดขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น ภายในมี 1 ช่อง ก้านเกสร 3 อัน มักจะออกดอกในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน
ผล : เป็นผลสด มีลักษณะเป็นรูปกลมแบน ผลมีกลีบเลี้ยงรองรับ เมื่ออ่อนจะเป็นสีขาวอมเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนจากสีชมพูไปจนถึงสีแดงจัดแกมน้ำตาลเป็นสีขาว ผิวมียางเหนียวและมีขนละเอียดขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น ติดผลในช่วงประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม
เมล็ด : เมล็ดมีชั้นหุ้มแข็ง
สรรพคุณของมะเหลี่ยมหิน
- สรรพคุณจากราก
– เป็นยาแก้ไข้ แก้ปวดแสบลิ้นปี่ แก้อาการปวดท้อง แก้อาการอาหารไม่ย่อยและอาหารเป็นพิษ ด้วยการนำรากมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
– แก้ไอ โดยชาวเขาเผ่าอีก้อนำรากมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
– แก้ไอและมีน้ำมูกข้น โดยตำรับยาพื้นบ้านล้านนานำรากมาผสมกับรากสาบเสือ รากปืนนกไส้ ก้นจ้ำทั้งต้นและผักปลายทั้งต้นมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม - สรรพคุณจากผล
– เป็นยาแก้อาการหวัด โดยชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่นำผลมาแช่ในน้ำแล้วใส่เกลือเพื่อดื่ม
– แก้ไอ โดยชาวลัวะนำผลไปต้มผสมกับขิงเพื่อรับประทาน
– รักษาโรคริดสีดวง ด้วยการนำผลมาเคี้ยวกินแล้วดื่มน้ำตาม - สรรพคุณจากยอดอ่อน
– แก้ท้องเสีย โดยชาวมูเซอนำยอดอ่อนมาผสมกับไข่หมกเพื่อรับประทาน - สรรพคุณจากใบ
– รักษาแผลสดและแผลถลอก ช่วยสมานแผลและช่วยห้ามเลือด รักษาแผลงูกัด ด้วยการนำใบสดมาตำแล้วคั้นเอาน้ำใช้เป็นยาทาหรือพอก
– แก้อาการผื่นคันและตุ่มพอง รักษาโรคผิวหนังตามร่างกาย ดีต่อสตรีหลังคลอดบุตรใหม่ ด้วยการนำใบมาต้มกับน้ำแล้วอาบ - สรรพคุณจากลำต้น
– ช่วยล้างแผล ฝี หนองและแผลติดเชื้อ ด้วยการนำลำต้นมาต้มกับน้ำแล้วล้างแผล - สรรพคุณจากทั้งต้น แก้อาการคันจากพิษยางรัก
- สรรพคุณจากต้นและเมล็ด
– แก้อาการเจ็บคอและหวัด ด้วยการนำต้นและเมล็ดมาต้มกับน้ำแล้วกินแก้อาการ
– แก้บาดแผล ด้วยการนำต้นและเมล็ดมาตำแล้วพอก
ประโยชน์ของมะเหลี่ยมหิน
1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร ผลมีรสเปรี้ยวใช้รับประทานและปรุงรสอาหาร ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่นำผลมาตำใส่เกลือและพริกรับประทาน ชาวลัวะนำผลมาคลุกกับเกลือหรือกะปิหรือรับประทานร่วมกับลำชิเพียร ชาวอีก้อนำใบอ่อนผสมกับหน่อไม้ทานเป็นผัก คนเมืองนำเปลือกต้นมาขูดใส่ลาบเพื่อช่วยให้มีรสชาติดีขึ้น
2. ใช้ในด้านความสะอาดและความงาม ลำต้น รากและใบนำมาต้มแล้วนำน้ำมาทำความสะอาดร่างกายได้ ผลนำมาถูบริเวณส้นเท้าที่แตกได้
3. เก็บรักษาข้าว นำใบ 9 ใบ มาวางบนก้อนหินในยุ้งฉางก่อนจะใส่ข้าวเพื่อเก็บรักษา
4. ใช้ในการก่อสร้าง ลำต้นใช้ทำรั้ว กิ่งก้านใช้ทำฟืน
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมะเหลี่ยมหิน
จากการวิจัยพบว่า ใบมีกรดแทนนิกซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและป้องกันสารบางชนิดที่ทำลายดีเอ็นเอของเม็ดเลือดขาวในหลอดทดลอง สารสกัดน้ำและแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดเริมในหลอดทดลองได้
มะเหลี่ยมหิน เป็นต้นที่ภายนอกไม่โดดเด่นหรือสวยงามแต่มีสรรพคุณทางยาได้หลากหลายและยังมีผลรสเปรี้ยวที่นำมาประยุกต์ในการปรุงอาหารได้ด้วย ถือเป็นที่นิยมในชนเผ่าแถบจังหวัดเชียงใหม่ มะเหลี่ยมหินมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของรากและผล มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ รักษาบาดแผล แก้ไข้และแก้ไอ แก้อาการปวดท้อง รักษาโรคผิวหนังตามร่างกาย ถือเป็นต้นที่แก้อาการพื้นฐานได้เป็นอย่างดี
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “มะเหลี่ยมหิน”. หน้า 185.
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ส้มผด”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [31 ต.ค. 2014].
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “มะเหลี่ยมหิน, ส้มผด”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., องค์ความรู้เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของไทย เล่ม 3 (สุธรรม อารีกุล, จำรัส อินทร, สุวรรณ ทาเขียว, อ่องเต็ง นันทแก้ว). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [31 ต.ค. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ส้มผด”. อ้างอิงใน : หนังสือพืชสมุนไพร เล่ม 2. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [31 ต.ค. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/