ผักกาดนอ
ผักกาดนอ (Rosy Milkweed) หรือเรียกกันอีกอย่างว่า “ผักกาดนก” มีดอกสีเหลืองขนาดเล็กจึงทำให้มีอีกชื่อว่า “ผักกาดน้ำดอกเหลือง” เป็นไม้ล้มลุกที่มักจะพบตามข้างทางหรือบริเวณใกล้ลำธาร ทั้งต้นมีรสขมเผ็ดเล็กน้อยและเป็นยาเย็น สามารถนำทั้งต้นมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ ผักกาดนอมีน้ำมันอยู่ภายในเมล็ดและพบสารที่มีความสามารถในการยับยั้งเชื้อโรคต่าง ๆ มักจะนำส่วนของยอดอ่อนมาลวกจิ้มกับน้ำพริกเพื่อทานเป็นอาหาร แต่ผักกาดนอนั้นไม่เหมาะสำหรับคนที่มีธาตุไฟอ่อนสักเท่าไหร่
รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของผักกาดนอ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rorippa indica (L.) Hiern
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Rosy Milkweed”
ชื่อท้องถิ่น : คนไทยเรียกว่า “ผักกาดนก ผักกาดน้ำ ผักกาดน้ำดอกเหลือง” ชาวจีนแต้จิ๋วเรียกว่า “เหล็กเต่าเช่า” ชาวจีนกลางเรียกว่า “ซกไก้ช่าย ลู่โต้วเฉ่า ฮั่นช่าย”
ชื่อวงศ์ : วงศ์ผักกาด (BRASSICACEAE หรือ CRUCIFERAE)
ชื่อพ้อง : Nasturtium montanum Wall. ex Hook. f. & Thomson, Rorippa montana (Wall. ex Hook. f. & Thomson) Small
ลักษณะของผักกาดนอ
ผักกาดนอ เป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็กอายุ 1 ปี มักจะพบขึ้นทั่วไปตามข้างทาง พื้นที่ชายขอบป่าและบริเวณใกล้ริมลำธาร
ลำต้น : ลำต้นอ่อนไหวและเกลี้ยงไม่มีขน ตามกิ่งก้านเป็นเหลี่ยมสีเขียวอมม่วงแดง
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ที่โคนต้นมีก้านใบมน ไม่มีก้านใบ ลักษณะของใบเป็นรูปกลมวงรี รูปไข่กลับ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก โคนใบสอบเรียว ขอบใบหยักไม่สม่ำเสมอ บริเวณยอดต้นขอบใบจะเรียบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็กสีเหลือง มีกลีบดอก 4 กลีบ กลีบเลี้ยงดอก 4 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 6 อัน
ผล : ออกผลเป็นฝักบริเวณยอดต้น ลักษณะของฝักเป็นรูปกลมยาว ภายในมีเมล็ด
สรรพคุณของผักกาดนอ
สรรพคุณจากทั้งต้น ขับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้อาการเจ็บคอและเสียงแหบ แก้หลอดลมอักเสบ รักษาปากลิ้นเปื่อยและแผลมีฝ้า เป็นยาขับลมชื้น ช่วยแก้ตับอักเสบ แก้ดีซ่าน แก้อาการบวมน้ำ แก้ไขข้ออักเสบเฉียบพลัน เป็นยาแก้พิษงูและแมลงสัตว์กัดต่อย แก้ฝีหนอง
– แก้ร้อนในและไข้หวัดตัวร้อน ด้วยการนำผักกาดนอ 35 กรัม และน้ำนมราชสีห์ 35 กรัม มาต้มกับน้ำเพื่อดื่ม
– แก้ไอร้อนในปอด ด้วยการนำต้นสด 70 กรัม และกวยแฉะ 10 กรัม มารวมกันต้มกับน้ำเพื่อดื่ม
– เป็นยาขับปัสสาวะและแก้ปัสสาวะกะปริบกะปรอย ด้วยการนำต้นสด 70 กรัม มาต้มใส่น้ำตาลทรายแดงเล็กน้อยเพื่อรับประทานเป็นยา
ประโยชน์ของผักกาดนอ
เป็นส่วนประกอบของอาหาร ยอดอ่อนนำมาลวกจิ้มกับน้ำพริกเพื่อรับประทานเป็นอาหารได้
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของผักกาดนอ
สารที่พบในผักกาดนอ ในต้นพบสาร Rorifone ส่วนในเมล็ดพบน้ำมัน
ฤทธิ์ของผักกาดนอ เมื่อนำผักกาดนอมาต้มทำให้มีฤทธิ์ละลายเสมหะของกระต่ายที่ทดลองได้ แต่ไม่มีผลต่อการแก้ไอและไม่มีผลต่อคน ถ้าต้องการนำมาใช้ในการแก้ไอนั้นต้องรับประทานวันละ 200 – 300 มิลลิกรัม ติดต่อกันอย่างน้อย 20 วัน นอกจากนั้นสารสกัดจากผักกาดนอยังสามารถยับยั้งเชื้อในหลอดทดลองได้หลายชนิด เช่น เชื้อไวรัสที่ทำให้เป็นหวัด เชื้อ Columbacillus ของลำไส้ เชื้อ Staphelo coccus, Steptro coccus กับเชื้อ Coccus ในปอดที่ทำให้ปอดอักเสบได้
ข้อควรระวังของผักกาดนอ
1. บุคคลที่มีธาตุไฟอ่อน อย่างตัวเย็นและเลือดเย็นนั้นห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นอันขาด
2. ไม่ควรนำผักกาดนอมาผสมเข้ายากับคนทีสอ เพราะจะทำให้เกิดอาการเป็นพิษต่อร่างกายซึ่งทำให้มีอาการมือเท้าและแขนขาชาได้
ผักกาดนอ มีทั้งต้นเป็นยาสมุนไพรเนื่องจากมีรสขมเผ็ดเล็กน้อยและเป็นยาเย็นซึ่งช่วยในเรื่องของการแก้ไข้ตัวร้อนได้ดี สามารถนำยอดอ่อนมาทานในรูปแบบของผักได้ ผักกาดนอนั้นมีฤทธิ์เป็นยาเย็นเพราะฉะนั้นคนตัวเย็นหรือธาตุไฟอ่อนไม่ควรรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ ผักกาดนอมีสรรพคุณทางยาได้จากทั้งต้น มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ ถอนพิษไข้ แก้ไอ แก้อาการเจ็บคอและเสียงแหบ แก้ตับอักเสบ แก้ดีซ่านและอาการบวมน้ำได้ ถือเป็นต้นที่ดีต่อการดับความร้อนในร่างกาย
บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ผักกาดนอ”. หน้า 334.
ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ผักกาดน้ำดอกเหลือง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [30 ส.ค. 2015].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/