ไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อ สเตรฟโตคอกคัส ซูอิส ( Streptococcus suis )
ไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อ สเตรฟโตคอกคัส ซูอิส ( Streptococcus suis ) คือ เชื้อที่ทำให้สุกรป่วย และตายบ่อย ซึ่งในโรคนี้เป็นการติดต่อจากหมูสู่คนได้

ไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อ สเตรฟโตคอกคัส ซูอิส คือ

ไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อ สเตรฟโตคอกคัส ซูอิส ( Streptococcus suis ) คือ เชื้อที่ทำให้สุกรป่วย และตายบ่อย ซึ่งในโรคไข้หูดับเป็นการติดต่อจากหมูสู่คนได้ ผู้ป่วยที่พบเป็นกลุ่มชายวัยกลางคน และผู้สูงอายุ กว่าครึ่งของผู้ป่วยมีประวัติดื่มสุราเป็นประจำ มักพบว่ามีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ไต มะเร็ง ยังมีประวัติการรับประทานลาบ หลู้ ส้า ดิบ มีรายงานพบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึง 19 ตุลาคม 2561 มีผู้ป่วยโรคไข้หูดับแล้ว 274 ราย เสียชีวิต 26 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาอายุ 45-54 ปี ภาคที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ ภาคเหนือ จำนวน 199 ราย หรือเกือบ 3 ใน 4 ของผู้ป่วยทั้งหมด จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ พะเยา อุตรดิตถ์ กำแพงเพช นครสวรรค์ และสระแก้ว

ผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับ

    1. ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรคโดยตรง เช่น ผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู และผู้ที่รับประทานเนื้อหมูดิบ เป็นต้น
    2. กลุ่มที่เสี่ยงจะมีอาการป่วยรุนแรงหากติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น
    3. การสัมผัสเนื้อหมู เลือดดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ ของหมูที่ป่วย

อาการโรคไข้หูดับ

    • เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะเวลาฟักตัว 3-5 วัน
    • เวียนหัวจนทรงตัวไม่ได้
    • ปวดหัวอย่างรุนแรง
    • ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ
    • อาเจียน
    • หูหนวก
    • คอแข็ง
    • ท้องเสีย
    • กรณีที่เชื้อติดเข้าสู่กระแสเลือดจะส่งผลกระทบไปถึงเยื่อหุ้มสมองจะทำให้เกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ม่านตาอักเสบ
    • ประสาทหูชั้นในทั้ง 2 ข้าง จะทำให้เกิดอาการเป็นหนองบริเวณปลายประสาทรับเสียงและประสาททรงตัว จึงทำให้เกิดอาการหูดับ หูตึง จนถึงขั้นทำให้เกิดอาการหูหนวกตามมาในที่สุด

วิธีป้องกันโรคไข้หูดับ

1. ปรุงอาหารที่ทำจากเนื้อหมูให้สุกจนทั่วต้องไม่มีสีแดง
2. ควรเลือกซื้อเนื้อหมูที่ไม่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์
3. ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้า บู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน
4. หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด
5. ล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง

ข้อควรระวัง หากมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้นให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที และบอกอาการที่เป็นประวัติการกินหรือสัมผัสกับหมูที่เป็นโรค เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง

กรมควบคุมโรค https://ddc.moph.go.th/th/site/newsview/view/978