ต้นตะลุมพุก
สมุนไพรพื้นบ้าน ใช้รักษาอาการท้องเสีย แก้บิดมูกเลือด ดอกสีขาวมีกลิ่นหอม ผลสีเขียวเมื่อสุกจะเป็นสีเหลือง รสฝาดสุขุม

ต้นตะลุมพุก

ต้นตะลุมพุก เป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดมาจากหลายประเทศทั้งบังคลาเทศ เวียดนาม ศรีลังกา อินเดียรวมถึงในประเทศไทยเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านใช้ประโยชน์ได้ทั้งผล รากและแก่นไม้ตำรายาไทยใช้สมุนไพรชนิดนี้รักษาอาการท้องเสีย แก้บิดมูกเลือด และใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงเลือด เป็นต้นชื่อทางวิทยาศาสตร์ Tamilnadia uliginosa (Retz.) Tirveng. & Sastre[1] ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ คือ Solena uliginosa (Retz.) D.Dietr., Posoqueria uliginosa (Retz.) Roxb., Gardenia pomifera Wall., Xeromphis uliginosa (Retz.) Maheshw., Randia uliginosa (Retz.) Poir., Catunaregam uliginosa (Retz.) Sivar., Gardenia uliginosa Retz. อยู่วงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1],[2],[4] มีชื่อในท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ลุมปุ๊ก[2] ลุบปุ๊ก[1] (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ลุมพุก ( จังหวัดนครสวรรค์, จังหวัดลพบุรี, จังหวัดกาญจนบุรี, จังหวัดนครราชสีมา), หนามแท่ง (ตาก), มะข้าว (ภาคเหนือ), มะคัง (อุตรดิตถ์), มอกน้ำข้าว (ภาคเหนือ), โรคขาว, กระลำพุก (ภาคกลาง, ภาคตะวันตกเฉียงใต้, จังหวัดราชบุรี, จังหวัดสุโขทัย), มุยขาว, มะคังขาว (ภาคกลาง, ภาคตะวันตกเฉียงใต้, จังหวัดราชบุรี, จังหวัดสุโขทัย) [1],[2]

ลักษณะต้นตะลุมพุก

  • ต้น เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ มีขนาดเล็ก ต้นสูงประมาณ 5-10 เมตร ที่ตามลำต้นและที่ตามปลายกิ่งก้านจะมีหนามแหลมยาว หนามจะพัฒนาเป็นกิ่งเล็ก จะออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ เป็นปมขรุขระ กิ่งอ่อนมีลักษณะเป็นเหลี่ยมมน เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลเข้ม เนื้อไม้เป็นสีขาวปนน้ำตาลอ่อน เนื้อไม้จะมีความละเอียดและสม่ำเสมอมาก ๆ ขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง การเพาะเมล็ด มักจะพบเจอขึ้นที่ตามริมน้ำ ตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ[1],[2],[5] ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-800 เมตร[4] ต้นมีความทนต่อสภาพแวดล้อม ไม่มีโรคและแมลงมากวน ต้นมีรูปทรงไม่แน่นอน ลำต้นไม่ตรง สามารถดัดตัดแต่งได้ไม่ยาก[3]
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงตรงข้ามกัน ใบเป็นรูปไข่กลับ ที่ปลายใบจะเรียบ ส่วนโคนใบจะสอบแหลม ที่ขอบใบเรียบ กว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-14 เซนติเมตร แผ่นใบมีลักษณะเป็นสีเขียวอ่อน ผิวเรียบ หลังใบจะเรียบลื่นและเป็นมัน ท้องใบจะเรียบ เนื้อใบบาง ขาดง่าย ที่แผ่นใบจะมีขนประปรายคลุมอยู่ที่ด้านล่าง ก้านใบมีความยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตร มีหูใบขนาดเล็กอยู่ที่ระหว่างก้านใบ[2]
  • ดอก เป็นดอกเดี่ยว ดอกจะออกที่ตามซอกใบใกล้ปลายยอด เส้นผ่านศูนย์กลางดอกมีขนาดประมาณ 3-5 เซนติเมตร กลีบดอกมีลักษณะเป็นสีขาวมีกลิ่นหอม กลีบดอกกลมใหญ่มีอยู่ 5 กลีบ ที่โคนกลีบดอกจะเชื่อมกัน ส่วนที่ปลายกลีบดอกจะมน กลีบดอกมีลักษณะค่อนข้างหนา หลอดกลีบจะมีความยาวกว่ากลีบดอก มีเกสรเพศผู้อยู่ 5 ก้าน มีอับเรณูสีเหลือง มีเกสรเพศเมียอยู่ 1 ก้าน ก้านเกสรจะเป็นสีขาว ที่ยอดเกสรเพศเมียจะแยกเป็น 2 แฉก ที่ปลายของเกสรเพศเมียจะเป็นรูปถ้วย ยอดเกสรเพศเมียนั้นจะมีน้ำเมือกค่อนข้างเยอะ กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีขาวมีอยู่ 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน ที่ปลายแยกเป็น 5 แฉก[2]
  • ผล เป็นผลสด ผลเป็นรูปไข่ กลมรี ยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร เนื้อจะแน่น แข็ง ผิวผลมีลักษณะเรียบ ผลสดนั้นจะเป็นสีเขียว ผลสุกเป็นสีเหลือง ที่ปลายผลจะมีกลีบเลี้ยงอยู่ มีเมล็ดอยู่ในผลเป็นจำนวนมาก เมล็ดจะมักฝ่อ[2] ติดผลช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม[3]

สรรพคุณต้นตะลุมพุก

1. ผลสามารถช่วยแก้อติสารได้ (ผล[1], [2])
2. สามารถนำแก่นมาผสมแก่นตะลุมพุกแดง แล้วต้มดื่มเป็นยาบำรุงร่างกายได้ (แก่น)[1],[2]
3. ใช้รากกับแก่นมาต้มดื่ม แก้ปวดเมื่อย (ราก, แก่น)[2]
4. ผลกับรากจะมีรสฝาดสุขุม สามารถช่วยแก้บิดมูกเลือด แก้ท้องเสีย (ผล, ราก)[1],[2],[4]
5. สามารถนำรากกับแก่นมาต้ม ใช้ดื่มช่วยบำรุงเลือดได้ (ราก, แก่น)[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา

  • พบสารเคมี คือ (-arabinopyranosyl (1-3))-( -D-galactopyranosyl(1-4))-(-D-glucuronopynosyl (1-3)) -3-(-hydroxy: ; olean-12-en-28-oic acid, olean-12-en-28-oic acid, 3-(-hydroxy; methylester)), (-L-arabinopyranosyl(1-3)-)-(-D-galactopyranosyl (1-6))-(-D-galactopyranosyl (1-3))-3-(-hydroxy : methyl ester; olean-12-en-28-oic acid [6]

ประโยชน์ตะลุมพุก

1. ปัจจุบันเห็นได้ว่ามีการปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากต้นสามารถดัดตัดแต่งได้ไม่ยากนัก ขยายพันธุ์ง่าย ปลูกเลี้ยงดูแลง่าย ดอกสวยมีกลิ่นหอม ทนต่อสภาพแวดล้อมได้ เมื่อเติบโตสามารถให้ร่มเงาได้ดีเพราะเป็นต้นไม้ที่มีใบเยอะ[5]
2. คนโบราณนำผลมาทุบให้แหลก เอาไว้ใช้เป็นส่วนผสมสีย้อมผ้าทำให้สีติดทน เช่น จีวรพระ[5]
3. เนื้อไม้เป็นสีขาวปนสีน้ำตาลอ่อน ละเอียดและสม่ำเสมอ นิยมใช้ในงานแกะสลักทั่วไป[1] หรือทำกระสวย ใช้ทำเครื่องใช้สอย ใช้สำหรับงานกลึง ใช้ทำด้ามเครื่องมือ [4],[5]

สั่งซื้อ เนสท์เล่ ออรัลอิมแพค อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วย คลิ๊ก @amprohealth

เอกสารอ้างอิง
1. แมกโนเลีย ไทยแลนด์. “ตะลุกพุก”. (ririka). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.magnoliathailand.com. [10 มี.ค. 2014].
2. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ตะ ลุม พุก”. (นพพล เกตุประสาท). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [10 มี.ค. 2014].
3. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ตะลุมพุก (Talum Phuk)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 127.
4. เว็บไซต์ท่องไทยแลนด์ดอทคอม. “ตะลุกพุก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thongthailand.com. [10 มี.ค. 2014].
5. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ตะลุมพุก”. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [10 มี.ค. 2014].
6. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ตะลุกพุก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [10 มี.ค. 2014].

อ้างอิงรูปจาก
1.https://www.flickr.com/photos/tgerus/26794075712
2.https://efloraofindia.com/2011/04/01/tamilnadia-uliginosa/