จอก ไม้น้ำในอ่างปลา ทั้งต้นเป็นยา ใบอุดมไปด้วยวิตามิน
จอก เป็นวัชพืชน้ำขนาดเล็ก ลำต้นทอดขนานไปกับผิวน้ำ ใบเดี่ยวเขียวเรียงสลับ ดอกเป็นช่ออยู่กลางต้น

จอก

จอก ( Water lettuec ) เป็นพืชน้ำขนาดเล็กที่ลอยอยู่บนน้ำ สามารถพบได้ตามลำคลองหรือพื้นที่น้ำท่วมขังทั่วไป นิยมนำมาปลูกประดับในอ่างเลี้ยงปลาและใช้ทำปุ๋ยหมัก นอกจากนั้นต้นอ่อนยังนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ และที่สำคัญเป็นต้นที่มีวิตามินเอ วิตามินบีและวิตามินซีสูง ซึ่งเป็นวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกายทั้งสิ้น ส่วนต่าง ๆ ของจอกยังสามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ ถือว่าเป็นต้นที่มีอะไรดีมากกว่าที่เห็นในภายนอก

รู้จักกับชื่อต่าง ๆ ของจอก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pistia stratiotes L.
ชื่อสามัญ : มีชื่อสามัญว่า “Water lettuec”
ชื่อท้องถิ่น : ภาคเหนือเรียกว่า “กากอก” จังหวัดเชียงใหม่เรียกว่า “ผักกอก” จีนแต้จิ๋วเรียกว่า “ไต่ผู้เฟี้ย” จีนกลางเรียกว่า “ต้าฝูผิง” มีชื่ออื่น ๆ ว่า “จอกใหญ่”
ชื่อวงศ์ : วงศ์บอน (ARACEAE)

ลักษณะของต้นจอก

จอก เป็นวัชพืชน้ำขนาดเล็กที่ลอยเป็นกลุ่มอยู่บนผิวน้ำ มีอายุได้หลายปี มักจะพบตามลำคลอง หนองน้ำ นาข้าวและพื้นที่น้ำขังทั่วไป
ลำต้น : ลำต้นทอดขนานไปกับผิวน้ำและมีลักษณะอวบน้ำ ลำต้นมีไหล ซึ่งต้นใหม่จะเกิดจากโคนต้นและเกิดบนไหล
ราก : เป็นระบบรากแก้วและมีรากฝอยเป็นจำนวนมาก มักจะออกเป็นกระจุกอยู่ใต้น้ำ รากมีสีขาว
ใบ : เป็นใบเดี่ยวสีเขียวเรียงสลับกัน รูปร่างของใบมีลักษณะไม่แน่นอนแต่ส่วนมากจะเป็นรูปสามเหลี่ยม ที่ปลายใบจะมนเป็นคลื่น บริเวณฐานใบพองออกและมีลักษณะอ่อนนุ่มคล้ายกับฟองน้ำซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ต้นสามารถลอยน้ำได้
ดอก : ออกดอกเป็นช่ออยู่ตรงกลางต้น มีกาบหุ้มดอกอยู่ประมาณ 2 – 3 ใบ จอกเป็นดอกที่ไม่มีกลีบดอกและกลีบเลี้ยง
ผล : ผลมีลักษณะเป็นแผ่นบาง มีกาบหรือใบประดับสีเขียวอ่อนติดอยู่
เมล็ด : ภายในผลมีเมล็ดอยู่ประมาณ 2 – 3 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอ่อนลักษณะกลมยาว เปลือกเมล็ดจะมีรอยย่น

สรรพคุณของจอก

  • สรรพคุณจากจอก ช่วยขับเสมหะ แก้หืด แก้บิด รักษาโรคโกโนเรียหรือโรคหนองในแท้
  • สรรพคุณจากใบ เป็นยาฟอกเลือดให้เย็น ออกฤทธิ์ต่อปอดและกระเพาะปัสสาวะ ช่วยขับความชื้นในร่างกาย แก้พิษไข้ ช่วยขับเหงื่อ เป็นยาขับลม แก้โรคผิวหนัง แก้ผดผื่นคัน แก้ฝีหนองภายนอก
    – แก้ท้องมานและอาการบวมน้ำ ด้วยการนำใบสดผสมกับน้ำตาลทรายแล้วนำมาอย่างละ 120 กรัมต่อน้ำ 3 ถ้วย ทำการต้มให้ข้นจนเหลือเพียงถ้วยเดียวแล้วทาน 3 ครั้ง
    – เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ท้องมานและอาการบวมน้ำ ด้วยการนำใบแห้ง 15 – 20 กรัม มาต้มกับน้ำกินเป็นยา
    แก้หัด แก้ผื่นคัน ด้วยการนำใบสด 100 กรัมมาตากแห้งแล้วบดผสมกับน้ำผึ้งเพื่อทำเป็นยาเม็ด ควรทานให้หมดภายใน 1 วัน หรือนำใบแห้งต้มกับน้ำแล้วอบผิวเพื่อใช้เป็นยาต้มมาล้างบริเวณที่มีอาการ
    – บรรเทาอาการฟกช้ำหรือแก้อาการบอบช้ำ ด้วยการนำใบสดมาผสมกับน้ำตาลกรวดดำ ทำการอุ่นให้ร้อนแล้วใช้เป็นยาพอกบริเวณที่มีอาการ หรือนำใบสดมาตำแล้วพอกก็ได้
  • สรรพคุณจากราก เป็นยาระบาย เป็นยาขับปัสสาวะ

ประโยชน์ของจอก

1. เป็นส่วนประกอบของอาหาร คนจีน อินเดียและชาวแอฟริกานำมาใช้เป็นอาหารในเวลาขาดแคลนได้
2. ใช้ในการเกษตร ต้นอ่อนใช้เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู เป็ด ปลา เป็นต้น ทั้งต้นยังนำมาใช้ทำปุ๋ยหมักได้ด้วย
3. ปลูกเป็นไม้ประดับ ใช้ปลูกประดับในอ่างปลาเพื่อให้ลูกปลามีที่กำบัง

คุณค่าทางโภชนาการของใบจอกสด

คุณค่าทางโภชนาการของใบจอกสด ให้วิตามินเอ วิตามินบีและวิตามินซีในปริมาณที่สูง ให้คาร์โบไฮเดรต (2.6%) เส้นใย (0.9%) โปรตีน (1.4%) ไขมัน (0.3%) ความชื้น (92.9%) ธาตุแคลเซียม (0.20%) ธาตุฟอสฟอรัส (0.06%)

ข้อควรระวังของจอก

1. จอกเป็นไม้น้ำที่สามารถดูดพิษได้มาก ดังนั้นหากแม่น้ำลำคลองแห่งนั้นมีสารพิษปนเปื้อนสูง อาจทำให้จอกอุดมไปด้วยพิษได้
2. ต้นจอกที่มีรสขมไม่ควรนำมารับประทานเป็นอันขาด
3. ส่วนของรากจะมีสารพิษเล็กน้อย ดังนั้นก่อนนำมาใช้จะต้องทำการตัดรากออกก่อน ส่วนของใบก็ควรนำมาล้างให้สะอาดก่อนรับประทาน
4. สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานเด็ดขาด

จอก เป็นพืชน้ำที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่าการนำมาประดับในอ่างปลาแบบที่คนทั่วไปรู้จักกัน ทั้งนี้การนำพืชน้ำมารับประทานนั้นก็มีความเสี่ยงสูงเพราะขึ้นอยู่กับการปนเปื้อนของลำคลองที่พืชน้ำเติบโต เนื่องจากประเทศไทยจะมีการปล่อยของเสียและยังไม่ค่อยมีการบำบัดน้ำที่ถูกต้องนัก ลำคลองทั่วไปจึงมักจะสกปรกและไม่สะอาดสักเท่าไหร่ จอกมีสรรพคุณทางยาได้หลายส่วนจากต้นโดยเฉพาะส่วนของใบ มีสรรพคุณที่โดดเด่นเลยก็คือ แก้โรคผิวหนัง เป็นยาขับลม แก้บิดและขับปัสสาวะได้

บทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เอกสารอ้างอิง
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “จอก”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 220-221.
หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “จอก”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 176.
ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “จอก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/. [22 ก.พ. 2014].
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “จอก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [22 ก.พ. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “จอก”. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้น้ำบึงบอระเพ็ด. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org . [22 ก.พ. 2014].
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “Pistia stratiotes L.”. อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรพื้นบ้าน เล่ม 1 (684). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [22 ก.พ. 2014].
ข้อมูลอ้างอิง (Source) : https://medthai.com/