อาการปวดศีรษะ
คนทั่วไปจะเคยเกิด อาการปวดศีรษะ ( Headache ) ซึ่งอาการปวดหัวเป็นอาการที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษามากเป็นอันดับต้น ๆ เนื้อสมองไม่สามารถรับความรู้สึกได้เหมือนเส้นประสาทที่บริเวณกะโหลกศีรษะ หรือหนังศีรษะ เส้นเลือดดำ หลอดเลือดแดงและดำขนาดใหญ่ เยื่อหุ้มสมอง แขนงประสาทของเส้นประสาทสมองที่ 5, 9, 10 เส้นประสาทไขสันหลัง และกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะดับต้นคอ แม้อาการปวดศีรษะบางครั้งจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่อาการปวดหัวก็สร้างความทรมานให้กับผู้ป่วยได้
อาการปวดศีรษะ
สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ
1. ปวดศีรษะปฐมภูมิ ( Primary headache )
ปวดศีรษะปฐมภูมิ ได้แก่ migraine, tension type headache ( TTH ), trigerminal autonomic cephalgia ( TAC ) และ myofascial pain syndome คือ อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นโดยไม่มีพยาธิสภาพของสมองหรืออวัยวะข้างเคียง ไม่มีโรคทางกายอื่นๆที่ทำให้เกิด อาการปวดศีรษะ เช่น อาการไข้ ภาวะเลือดข้น เป็นต้น โดยเฉพาะไมเกรนจัดเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะชนิด Primary headache ที่พบได้บ่อย และสาเหตุรองลงมา คือ ปวดศีรษะชนิดตึงตัว
อาการปวดศีรษะที่พบบ่อยในกลุ่มปฐมภูมิ ( Primary headache )
เมื่อผู้ป่วยเข้ามารับการรักษา เรามีแนวทางในการวินิจฉัยโรค โดยเริ่มจากการแยกประเภทของอาการปวดหัวว่าเป็นอาการปวดหัวชนิดใด ซึ่งสามารถแยกได้ดังนี้ ประเภทของ อาการปวดศีรษะ ชนิด Primary headache ที่พบบ่อยในกลุ่มปฐมภูมิ
1. โรคปวดศีรษะไมเกรน
อาการปวดศีรษะโดยเฉพาะไมเกรนจะมีอาการแบบเป็นๆหายๆ เกิดจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ สามารถมีอาการปวดตั้งแต่ 4-72 ชั่วโมง อาการปวดจะมีความรุนแรงตั้งแต่ระดับปานกลางจนถึงมาก อาการปวดจะเกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งเร้าจากภายนอกและภายในร่างกาย เช่น การโดนแสง ความร้อน การเคลื่อนไหวของศีรษะ การมีประจำเดือน เป็นต้น เมื่อมีอาการปวดศีรษะมากจะส่งผลให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติจนมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้ อาการจะเริ่มจากการผู้ป่วยร้อยละ 70 จะมีอาการปวดศีรษะข้างเดียว ทีเหลือจะมีอาการปวดศีรษะทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน ลักษณะเฉพาะของอาการปวดไมเกรน คือ ปวดกระบอกตา โดยเฉพาะเวลากลอกตา เนื่องจากกลไกการปวดจะผ่านการกระตุ้นหลอดเลือดที่บริเวณเยื่อหุ้มสมอง เป็นโรคที่พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ทั้งในวัยรุ่นและผู้สูงอายุ ซึ่งมีผลกระทบต่อสมรรถภาพการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยร้อยละ 50 จะมีอาการรุนแรง ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทได้แก่
- Migrine without aura เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะอย่างเดียว โดยปวดข้างละประมาณ 4 ถึง 7 ชั่วโมง มีอาการปวดตุบๆ ตั้งแต่ระดับปานกลางถึงรุนแรง อาการปวดจะเพิ่มขึ้นเมื่อทำกิจวัตรปกติ มีอาการคลื่น ไส้อาเจียน สู้แสงหรือเสียงไม่ได้ โดยจะเกิดขึ้นซ้ำซ้ำอย่างน้อย 5 ครั้งจึงเข้าเกณฑ์ของ IHS โดยผู้ป่วยอาจมีอาการเตือนที่ไม่จำเพาะ เช่น กระหายน้ำ ความอยากอาหารแล้วจึงเกิดปวดศีรษะข้างเดียวหรือทั้งศีรษะก็ได้ เมื่อมีอาการปวดจะต้องอยู่นิ่งและไม่อยากทำกิจกรรมใด เพราะจะทำให้อาการปวดเพิ่มขึ้น ผ่านไปสักระยะอาการปวดจะบรรเทาลงด้วยการจากยาหรือการนอนหลับ เมื่อหายปวดผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียจนหลับไป หากไม่ได้รับรักษาหรือควบคุมโรคที่ดี จะกลายเป็นไมเกรนชนิดเรื้อรังและมีแนวแนวโน้มในการเกิดภาวะปวดศีรษะจากการใช้ยาเกิน
- Migrine with aura ผู้ป่วยมีอาการนำหรืออาการเตือนก่อนที่จะมี อาการปวดศีรษะพบประมาณร้อยละ 15- 30 ของผู้ป่วยไมเกรน มีอาการทางตามากที่สุด มีอาการปวดระยะเวลาสั้นหายเป็นปกติ มักเห็นแสงกระพริบ เห็นจุด เห็นเส้น มองภาพไม่ชัด เห็นภาพบิดเบี้ยวหรือสีเพี้ยนจากความเป็น มีจุดดำขนาดใหญ่หรือเห็นเส้นซิกแซกที่มีขนาดขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ บางรายประสาทรับความรู้สึกผิดปกติ เช่น เหน็บชา อาการพูดผิดปกติ สับสน โดยอาการเตือนจะเกิดก่อนมากกว่า 5 นาทีและคงอยู่นานถึง 1 ชั่วโมงจึงเริ่มปวดศีรษะ ผู้ป่วยอาจมีอาการเตือนหลายแบบร่วมกัน บางครั้งมีอาการเตือนแต่อาจไม่มีอาการปวดศีรษะตามมา ซึ่งเราสามารถแบ่งชนิดของการปวดศีรษะไมเกรน ได้ดังนี้
1. อาการปวดศีรษะไมเกรนชนิดที่มีอาการนำ
2. อาการปวดศีรษะไมเกรนชนิดที่ไม่มีอาการนำ
3. อาการปวดศีรษะไมเกรนชนิดอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะไมเกรนร่วมกับมีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก หรือปวดศีรษะไมเกรนร่วมกับมีการทำงานของก้านสมองผิดปกติ
4. อาการนำไมเกรนแต่ไม่พบอาการปวดศีรษะมาก แต่ระบบการมองเห็นเกิดความผิดปกติชั่วคราวโดยหลักเกณฑ์อย่างง่ายที่ใช้ในการวินิจฉัยไมเกรนที่เป็นอาการปวดหัวชนิด Primary headache
1.ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะนานต่อเนื่อง 4-72 ชั่วโมง เมื่อทำการตรวจระบบประสาทอยู่ในสภาวะปกติ ไม่มีสาเหตุอื่นๆที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ เช่น อาการไข้
2.ผู้ป่วยจะมีอาการเกิดขึ้นพร้อมกันอย่างน้อย 2 อย่างขึ้นไป- มีอาการอาการปวดศีรษะข้างเดียว
- มีอาการปวดแบบตุ้บๆ ที่บริเวณเบ้าตาหรือศีรษะ
- อาการปวดมีความรุนแรงขึ้นเมื่อมีการกระตุ้นหรือเมื่อมีการเคลื่อนไหว
- อาการปวดมีความรุนแรงตั้งแต่ระดับกลางถึงมาก
3. ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนหรือกลัวเสียงและแสงอย่างใดอย่างหนึ่งในขณะที่มี อาการปวดศีรษะเมื่อทราบแล้วว่าผู้ป่วยมีอาการปวดหัวไมเกรนก็สามารถทำการรักษาอาหารปวดหัวไมเกรน ได้ดังนี้
3.1. การรักษาโดยไม่ใช้ยา
โรคไมเกรนเป็นโรคที่เกิดจากกรรมพันธุ์ จึงไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ผู้ป่วยอาจจะไม่มีอาการปวดศีรษะเกิดขึ้นแม้แต่น้อย เมื่อปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง โดยผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะเช่น ความเครียด ความวิตกกังวล เกสรดอกไม้ แสงสว่างจ้า ๆ เสียดัง ๆ เป็นต้น และทำการจดบันทึกอาการปวดศีรษะในแต่ละวันด้วยถ้าอาการปวดไมเกรนยังไม่ดีขึ้น แม้จะหลีกเลี่ยนปัจจัยกระตุ้น
3.2. การรักษาด้วยการใช้ยา ผู้ป่วยโรคไมเกรนเมื่อมีอาการปวดหัวสามารถรับประทานยาเพื่อระงับอาการปวดเฉียบพลันหรือรับประทานยาเพื่อป้องกันอาการปวดไม่เกรน
เพียงเท่านี้อาการปวดไมเกรนก็จะบรรเทาหรือไม่แสดงอาการออกมาได้
โรคปวดศีรษะไมเกรน อาการปวดจะมีความรุนแรงตั้งแต่ระดับปานกลางจนถึงมาก อาการปวดจะเกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งเร้าจากภายนอกและภายในร่างกาย
2. โรคปวดศีรษะชนิดตึงตัว
ปวดศีรษะชนิดตึงตัว คือ โรคปวดศีรษะที่พบได้ประมาณร้อยละ 38-78 ผู้ป่วยจะมี อาการปวดศีรษะ ในขณะที่มีความเครียด โกรธ หรือเหนื่อย มีอาการปวดศีรษะเหมือนมีแถบมารัดแน่นรอบศีรษะทั้ง 2 ด้าน และรู้สึกบีบตื้อๆ ตลอดเวลาที่ปวด ระดับความรุนแรงตั้งแต่น้อยจนถึงปานกลาง ระยะเวลาปวดตังแต่ไม่กี่นาทีจนถึง 1 วัน อาการปวดหัวแบบนี้สามารถพบร่วมกับไมเกรนได้ การวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีอาการปวดหัวไม่บ่อย ผู้ป่วยจะต้องมีอาการปวดศีรษะอย่างน้อย 10 ครั้งมาก่อนภายใน1 เดือนหรือน้อยกว่า 12 ครั้งต่อปี โดยแต่ละครั้งจะมีอาการปวดประมาณ 30 นาทีถึง 7 วัน และมีอาการกดเจ็บที่บริเวณรอบศีรษะที่มีอาการปวดจากการคลำและกด ระหว่างการตรวจร่างกายโดยเฉพาะขณะที่มาการปวดศีรษะเกิดขึ้น ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะชนิดตึงตัวเป็นประจำจะมีอาการปวดอย่างน้อย 10 ครั้งภายใน 2 สัปดาห์ ต่อเนื่อง 3 เดือน ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีอาการไมเกรนชนิดไม่มีอาการเตือนร่วมด้วย สำหรับผู้ป่วยปวดศีรษะชนิดตึงตัวชนิดเรื้อรังจะอาการปวดมากกว่า 15 ครั้งต่อเดือน ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน
3. โรคปวดศีรษะคลัสเตอร์
ปวดศีรษะคลัสเตอร์ คือ โรคปวดศีรษะที่พบได้น้อยที่สุด โดยพบมากในเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง 3 เท่า ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงเพียงข้างเดียวเท่านั้น โดยจะมีอาการมาที่บริเวณตา รอบตาหรือขมับ โดยอาการจะคงอยู่ประมาณ 15 นาทีถึง 3 ชั่วโมง และเกิดขึ้นวันเว้นวันหรือ 8 ครั้งต่อวัน ซึ่งมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวด เช่น ตาแดงกล่ำหรือน้ำตาไหล คัดจมูกหรือน้ำมูกไหล หนังตาบวม หน้าผากหรือใบหน้าบวม ม่านตาหดเล็กหรือหนังตาตก หูอื้อ รู้สึกกระวนกระวายอยู่ไม่นิ่ง เกิดขึ้นร่วมด้วยอย่างน้อย 1 อย่างในบริเวณข้างเดียวกับที่เกิด อาการปวดศีรษะผู้ป่วยจะมีอาการปวดติดต่อกันตั้งแต่หลายวันถึงหลายสัปดาห์ และหยุดปวดไปอีกหลายเดือนหรือเป็นปี แล้วจึงกลับมามีปวดศีรษะอีกครั้งในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับช่วงที่เคยมีอาการปวดมาก่อนด้วย โดยผู้ป่วยร้อยละ 15 จะมีอาการชนิดเรื้อรัง ที่ได้รับการกระตุ้นโดยแอลกอฮอล์ได้
2. ปวดศีรษะทุติยภูมิ ( Secondary headache )
คือ การปวดศีรษะที่มีอาการทางพยาธิสภาพของสมองหรืออวัยวะข้างเคียง เป็นอาการปวดศีรษะที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคทางกายหรือการเป็นโรค เช่น อาการปวดศีรษะจากไข้ อาการปวดศีรษะจากความดันในโพรงสมองสูงขึ้น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดศีรษะ มีดังนี้
1. หลอดเลือดแดงมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการขยายตัวจากการดึง ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกกะโหลกศีรษะ
2. ตำแหน่งของหลอดเลือดดำหรือ venous sinus การเคลื่อนจากการดึงรั้ง
3. เส้นประสาทสมองหรือเส้นประสาทไขสันหลังเกิดการกดทับ การดึงรั้งหรืออาการอักเสบ
4. กล้ามเนื้อบริเวณศีรษะและคอมีการเกร็งตัว รอยโรคหรือการอักเสบ
5. เยื่อหุ้มสมองเกิดการระคายเคืองหรือภายในกะโหลกศีรษะมีความดันสูง
6. สารสื่อประสาทโดยเฉพาะ serotonin เกิดการเปลี่ยนแปลงจากผลของยา อาหาร สารเคมี
อาการปวดศีรษะทุติยภูมิ ( Secondary headache )
การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะแบบ secondary headache ต้องทำการส่งตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ เช่น การเจาะเลือด การส่งเอกซเรย์สมอง เป็นต้น
โดยผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะที่น่าสงสัยว่าจะเป็นอาการปวดหัวแบบ secondary headache มีลักษณะดังนี้
1. มีอาการปวดที่กลางศีรษะ ไม่ปวดศรีษะข้างเดียว
2. เริ่มมีอาการปวดศีรษะที่อายุมากกว่า 50 ปี
3. ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV
4. ผู้ป่วยที่มีปวดศีรษะเรื้อรังลักษณะและตำแหน่งที่ปวดจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ
5. อาการปวดศีรษะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน
6. ระบบประสาทมีความผิดปกติ เช่น มองเห็นภาพซ้อน อ่อนแรงครึ่งซีก ตรวจพบ meningeal signs
7. ความดันโลหิตสูงหรือมีอาการไข้
การซักประวัติผู้ป่วย
1. อาการทั่วไปของผู้ป่วย เช่น อาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดหรือเพิ่ม มีไข้หรือโรคประจำตัวหรือไม่
2. ประวัติของบุคคลในครอบครัวว่ามี อาการปวดศีรษะ แบบไมเกรนหรือไม่
3. เริ่มมีอาการปวดศีรษะเมื่ออายุเท่าใด โดยไมเกรนจะเริ่มมีอาการช่วงวัยรุ่น แต่ถ้าเป็นอาการปวดศีรษะชนิดรุนแรงจะเกิดในผู้ป่วยสูงอายุ ซึ่งมักเป็นอาการปวดศีรษะแบบทุติยภูมิ ให้ทำการส่งตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดต่อไป
4. บริเวณและลักษณะของอาการปวด เช่น ปวดข้างเดียวหรือสองข้าง ปวดแน่น ปวดตื้อ หรือปวดตุบๆ ปวดร้าว เป็นต้น
5. ความถี่ของอาการปวดศีรษะ เช่น จำนวนครั้งต่อสัปดาห์หรือเดือน ปวดติดต่อกัน หรือเป็น ๆ หาย ๆ หรือปวดทุกวัน ถ้ามีอาการปวดทุกวันและมีการกินยาแก้ปวดต่อเนื่อง ผู้ป่วยอาจะเป็นโรคปวดศีรษะจากการกินยาเกินขนาดได้
6. ความยาวนานของอาการปวด เช่น ปวดศีรษะคลัสเตอร์มักจะปวดชั่วคราวไม่กี่นาทีถึงชั่วโมง
7. ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของอาการปวดที่เกิดขึ้น เช่น อาการปวดเริ่มจากถี่น้อยจนถี่มากขึ้นและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเวลาสั้น ๆ แสดงว่ามีภาวะปวดศีรษะทุติยภูมิ
8.ระยะเวลาที่ผู้ป่วยไม่มีอาการปวด
9.ประวัติลักษณะอาการปวดแต่ละครั้ง
10.การกระจายของอาการในช่วงเวลาหนึ่งหนึ่งจะช่วยวินิจฉัยโรคที่จำเพาะได้
11. ความรุนแรงของอาการปวด ว่ามีอาการปวดมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ปวดจนต้องหยุดงานหรือปวดจนทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง คือมีอาการปวดจนกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน
12. อาการที่นำหรืออาการที่เกิดขึ้นหลังจากปวดศีรษะ เช่น เห็นแสงกระพริบ ภาพที่บิดเบี้ยวก่อนอาการปวด หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียนระหว่างมีอาการปวด สำหรับ อาการปวดศีรษะคลัสเตอร์จะมีอาการกระวนกระวาย น้ำมูกไหล น้ำตาไหล หูอื้อ ตาแดงเกิดขึ้นร่วมด้วย
13. ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการหนักขึ้น เช่น การอดนอน อาหารบางชนิด หรือแอลกอฮอล์มากระตุ้นไมเกรน แสงจ้าหรือเสียงดัง
11. ปัจจัยที่ทำให้อาการปวดบรรเทา เช่น การนอนหลับ อาหาร หรือยาบางชนิดที่จำเพาะกับอาการปวดศีรษะนั้นๆ
12. ปัจจัยทางด้านจิตใจและสังคม เช่น ความเครียด อาชีพ งานอดิเรกที่มีผลทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ
โรคปวดศีรษะชนิดตึงตัว ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะในขณะที่มีความเครียด โกรธ หรือเหนื่อย มีอาการเหมือนมีแถบมารัดแน่นรอบศีรษะทั้ง 2 ด้าน และรู้สึกบีบตื้อๆ ตลอดเวลาที่ปวด
สาเหตุของอาการปวดหัวที่มีความรุนแรงสูง
สำหรับผู้ป่วยที่มีประวัติจำเพาะให้ตั้งสมมุติฐานหรือสงสัยว่าผู้ป่วยมีภาวะปวดศีรษะชนิดทุติยภูมิ โดยสาเหตุของอาการปวดหัวที่มีความรุนแรงสูง มักเกิดจากโรคทางกายเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากประวัติของผู้ป่วยดังนี้
1. ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน โดยที่ไม่เคยมีประวัติอาการมาก่อนเกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงแตกหรือรั่ว ทำให้ใต้เยื่อหุ้มอะแร็คนอยด์มีเลือดออก โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
2. อาการปวดที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ก้อนที่มีการขายขนาดขึ้นทำให้ความดันภายในกะโหลกศีรษะเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้อาการปวดศีรษะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกครั้งนั่นเอง
3. อาการปวดศีรษะเกิดขึ้นเมื่อทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น การออกกำลังกาย การไอ การมีเพศสัมพันธ์ หรือการเปลี่ยนแปลงท่าทาง ซึ่งเกิดจากความดันในกะโหลกศีรษะมีการเปลี่ยนแปลง
4. ผู้ป่วยมีอาการปวดจนต้องตื่นขึ้นในขณะที่นอนหรือมีอาการปวดมากในตอนเช้า เนื่องจากความดันในสมองหรือกะโหลกศีรษะสูง
5. ผู้ป่วยมีอาการ เช่น อ่อนเพลียปวดกล้ามเนื้อ-ข้อ ในผู้ป่วยโรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน อาการไข้ ที่เกิดจากการติดเชื้อหรืออาการทางระบบประสาทที่ผิดปกติ เช่น ความรู้คิด ความจำ การพูด การมองเห็น กำลังของแขนขา การทรงตัว ชัก
6. ประวัติโรคเก่าที่เคยเป็น เช่น การติดเชื้อ มะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง
เมื่อทำการวินิจฉัยโรคจาการซักประวัติแล้วสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการปวดหัวแบบ Secondary headache ต้องทำการส่งผู้ป่วยเข้ารับการตรวจร่างกาย โดยการการตรวจร่างกายช่วยหาโรคทางกายและแยกภาวะปวดศีรษะทุติยภูมิออกจากอาการปวดหัวแบบปฐมภูมิ ซึ่งควรเน้นเกี่ยวกับความผิดปกติของสัญญาณชีพ ระดับสติที่ลดลง อาการคอแข็งที่อาจจากการระคายเคืองของเยื่อหุ้มสมอง ความผิดปกติของดวงตาหรือจอประสาทตา โดยดูจากการตอบสนองของม่านตาหรืออาการที่บ่งชี้ถึงพยาธิสภาพเฉพาะจากสมอง เช่น อาการอ่อนแรง การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ทั้งการเดิน การยืน การนั่ง ความผิดปกติของการรับความรู้สึก
เมื่อมี อาการปวดศีรษะเกิดขึ้นผู้ป่วยสามารถรับประทานยาเพื่อระงับอาการปวดได้ แต่ถ้ามีอาการปวดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ควรรับประทานยาแก้ปวดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะเนื่องจากการรับประทานยาเกินขนาดได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการปวดศีรษะต่อเนื่องหรือปวดศีรษะข้างเดียวควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุและแนวการรักษาที่ถูกต้อง
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เอกสารอ้างอิง
ลัลธธิมา ภู่พัฒน์ : อาการวิทยา ฉบับพกพา : ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2560.
ธนกร ลักาณ์สมยา และคณะ : อาการทางอายุรศาสตร์ Medical ymptomatology ฉบับปรับปรุง : พิษณุโลก : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนเรศวร,2559.
Semenov IA. Tension-type headaches. Dis Mon 2015; 61: 233-235.